xs
xsm
sm
md
lg

‘ไต้หวัน’ ขยับห่างอีกก้าวหนึ่งจากการแยกตัวเป็นเอกราช หลัง‘ซัมมิตสี -หม่า’

เผยแพร่:   โดย: จอร์จ คู

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Xi-Ma summit has changed the status quo
By George Koo
09/11/2015

จากการพบปะหารือครั้งประวัติศาสตร์ที่สิงคโปร์ระหว่าง สี จิ้นผิง กับ หม่า อิงจิ่ว ความคิดที่จะรักษาสถานะเดิมของไต้หวันเอาไว้ด้วยการประกาศแยกตัวเป็นประเทศเอกราชนั้น ก็เท่ากับได้ถูกผลักให้ห่างไกลออกไปอีกขั้นหนึ่ง ถึงแม้ ไช่ อิงเหวิน ผู้สมัครของพรรคฝ่ายค้านซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะชนะการเลือกตั้งในต้นปีหน้าด้วยคะแนนถล่มทลายและได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีไต้หวันคนคนต่อไป รีบออกมาวิจารณ์การประชุมซัมมิตคราวนี้ว่า “ล้มเหลวในทุกกรณี” แต่เมื่อเธอขึ้นเป็นรัฐบาล เธอย่อมตระหนักดีว่าจะประสบชะตากรรมเช่นไร หากล้มเหลวไม่สามารถประคับประคองให้เศรษฐกิจเติบโตสดใสได้ โดยที่เธอจะประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ ก็มีแต่จะต้องทำงานร่วมกับปักกิ่ง

เพื่อนมิตรดีงามของผมคนหนึ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และเป็นผู้สังเกตการณ์การเมืองไต้หวันที่เฉียบคม ได้ชี้ให้ผมมองเห็นว่า สืบเนื่องจากการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ระหว่าง สี จิ้นผิง กับ หม่า อิงจิ่ว ได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ดังนั้นจุดมุ่งหมายของการรักษาสถานะเดิมของไต้หวันเอาไว้ ก็ได้ถูกขยับให้ห่างไกลออกไปอีกขั้นหนึ่ง จากเรื่องการคิดประกาศแยกตัวเป็นประเทศเอกราช

ในอดีตที่ผ่านมา ผู้นำจากปักกิ่งไม่มีทางยินยอมเห็นพ้องที่จะพบปะหารือกับผู้นำจากไทเป เพราะมันจะส่อนัยให้เห็นว่าเป็นการพบปะเจรจากันระหว่างบุคคลผู้เสมอกัน แต่ในสิงคโปร์เมื่อวันเสาร์ (7 พ.ย.) ที่แล้ว การพบปะหารือเช่นนั้นได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ดังนั้นจึงเป็นการทำลายข้อห้ามอันแข็งตัวเย็นชาดังกล่าวไปตลอดกาล

การประชุมซัมมิตคราวนี้ ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นเรื่องของการเชิดชูความหมายเชิงสัญลักษณ์เป็นสำคัญ และไม่มีพัฒนาการเชิงรูปธรรมใดๆ ออกมาจากการพบปะหารือครั้งนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองฝ่ายได้ค้นพบพื้นที่ร่วม ดังเห็นได้จากการที่ทั้ง สี และ หม่า ต่างเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน หรือที่เรียกขานกันว่า “ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ” (cross-straits relations) บนพื้นฐานของ “ฉันทามติปี 1992” (the 1992 consensus)

แน่นอนทีเดียว จากทัศนะมุมมองของ สี นั้น ส่วนสำคัญของฉันทามติปี 1992 คือส่วนที่ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายยอมรับรองว่า จีนมีอยู่เพียงจีนเดียว และไต้หวันก็เป็นส่วนหนึ่งของจีนดังที่กล่าวถึงนั้น ขณะที่ในความคิดเห็นของ หม่า ก็คือ ใช่ครับ จีนมีเพียงจีนเดียว ทว่าจีนดังกล่าวนี้จะเป็นเช่นไรย่อมขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละฝ่าย สำหรับทางด้านพรรค DPP ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านในไต้หวัน และ ไช่ อินเหวิน ผู้นำของพรรคนี้ ไม่ยอมรับเลยแม้กระทั่งการมีอยู่ของฉันทามติปี 1992

ตามรายงานของนักหนังสือพิมพ์หลายร้อยคนซึ่งไปเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์คราวนี้ การพบปะหารือที่สิงคโปร์ดำเนินไปอย่างอบอุ่นและเป็นมิตร เมื่อถึงเวลาที่กำหนดเอาไว้ ผู้นำทั้งสองต่างก้าวเดินเข้าหากัน ใบหน้าประดับด้วยรอยยิ้มแย้มแจ่มใส และ สี เป็นคนแรกที่ยื่นมือของเขาออกมา

การจับมือกันกินเวลานานกว่า 1 นาที ในขณะที่บุรุษทั้งสองคนนี้ค่อยๆ หันอย่างช้าๆ ไปทางขวาและมาทางซ้าย เพื่อให้ช่างภาพทุกผู้ทุกคนได้มุมจับภาพที่ถูกจิตที่สุด บรรยากาศเช่นนี้ย่อมห่างไกลเหลือเกินจากภาษากายอันขึงตึงของ สี เมื่อตอนที่เขาจับมืออย่างอิหลักอิเหลื่อกับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น เมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้ในปีนี้

การแถลงต่อสาธารณชนของ สี ในวาระพูดจาหารือที่สิงคโปร์นี้ เป็นไปอย่างสั้นๆ และกว้างๆ เขากล่าวว่าเลือดต้องเข้มข้นกว่าน้ำ และจะต้องไม่ซ้ำรอยโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นมาในอดีต ขอให้การพบปะหารือคราวนี้เป็นสัญลักษณ์ของการที่ผู้นำทั้งสองพร้อมอกพร้อมใจกันเปิดพลิกเข้าสู่หน้าใหม่ในประวัติศาสตร์แห่งสายสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ

หม่าเป็นผู้กล่าวตั้งข้อสังเกตทีหลัง และคำพูดของเขานั้นยาวกว่า โดยใช้เวลาพอสมควรในการทบทวนถึงความสำเร็จต่างๆ ภายใต้คณะบริหารของเขา อันได้แก่ ข้อตกลงข้ามช่องแคบที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจรวม 23 ฉบับ, นักศึกษาจำนวน 40,000 คนที่เวลานี้กำลังศึกษาอยู่ที่อีกฟากฝั่งหนึ่งของช่องแคบไต้หวัน, นักท่องเที่ยวจำนวน 8 ล้านคนที่เดินทางไปเยือนอีกฝ่ายหนึ่ง (ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากแผ่นดินใหญ่ที่ไปเยือนไต้หวัน และอีกครึ่งหนึ่งมาจากทิศทางตรงกันข้าม), และการค้าทวิภาคีซึ่งมูลค่าในแต่ละปีเวลานี้เลยขีด 170,000 ล้านดอลลาร์แล้ว โดยที่ไต้หวันเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบดุลการค้า

ยังมีความสำเร็จเฉพาะเจาะจงบางอย่างบางประการออกมาจากการประชุมหารือแบบปิดประตูสนทนากันระหว่างทั้งสองฝ่ายในคราวนี้ด้วย หม่าได้เสนอให้ติดตั้งสายโทรศัพท์ฮอตไลน์ข้ามช่องแคบ รวมทั้งเพิ่มขยายการพบปะแลกเปลี่ยนทวิภาคีทั้งในแง่ของขนาดขอบเขตและในแง่ของความถี่ สี ได้ตอบตกลงและส่งเรื่องให้สำนักงานกิจการไต้หวัน (Taiwan Affairs Office) ของฝ่ายจีน นำไปปฏิบัติ

หม่า ยังขอให้ไต้หวันสามารถเข้าถึงประชาคมระหว่างประเทศได้มากขึ้น จากที่ในเวลานี้ถูกจำกัดอย่างเข้มงวดสืบเนื่องจากปักกิ่งได้รับการรับรองให้เป็นรัฐบาลอธิปไตยเพียงหนึ่งเดียวของจีน สีตอบตกลงที่จะพิจารณาเรื่องนี้ในลักษณะเป็นกรณีๆ ไป ในทางกลับกัน สีแสดงท่าทีว่าไต้หวันจะได้รับการต้อนรับให้เข้าเป็นสมาชิกรายหนึ่งของธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank) ตลอดจนได้เข้าร่วมในแผนการริเริ่ม “หนึ่งแถบเศรษฐกิจ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road initiatives) ที่ สี เองเป็นตัวตั้งตัวตี

ก่อนหน้าซัมมิตคราวนี้ ไช่ อิงเหวิน ผู้ได้รับการคาดหมายว่าจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันคราวหน้าด้วยคะแนนถล่มทลาย ได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า การพบปะหารือระหว่าง สี กับ หม่า จะสามารถพิจารณาว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ ก็ต่อเมื่อ หม่า ได้รับการปฏิบัติด้วยความเสมอภาคเท่าเทียมและด้วยความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน รวมทั้งไต้หวันต้องสามารถรักษาสถานะปัจจุบันของตนเอาไว้ได้โดยปราศจากการถูกตั้งเงื่อนไขล่วงหน้าใดๆ ไม่เช่นนั้นแล้ว มันก็จะเป็นเพียงการประชุมพบปะครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง

แล้วก็ไม่มีใครรู้สึกแปลกใจหรอกที่ ไช่ ได้รีบออกมาตราหน้ามองเมินซัมมิตคราวนี้ในทันทีว่า “ประสบความล้มเหลวในทุกกรณี” หลังการประชุมแบบปิดประตูสนทนากันของทั้งสองฝ่ายยุติลง

สมมุติว่า ไช่ ชนะการเลือกตั้งตามที่คาดหมายกันอย่างกว้างขวาง และรับไม้ผลัดขึ้นเป็นรัฐบาลไต้หวันในปีหน้า ถึงตอนนั้นบางทีเธออาจจะค่อยรู้สึกซาบซึ้งกับมรดกที่ หม่า ทิ้งไว้ให้เธอ –มรดกแห่งการสร้างสะพานสำหรับให้พวกผู้นำในอนาคตสามารถพบปะกันและประชุมพูดจากันได้

ครั้งสุดท้ายที่พรรค DPP ถูกขับไล่ออกจากอำนาจนั้น เฉิน สุยเปี่ยน คือผู้ที่นั่งตำแหน่งประธานาธิบดี และเขาทำความผิดพลาดอย่างเลวร้ายในการบริหารจัดการเศรษฐกิจของไต้หวัน ไช่ ย่อมทราบดีว่าเธอจะต้องประสบชะตากรรมเดียวกันนี้ ถ้าเธอก็ล้มเหลวไม่สามารถประคับประคองให้เศรษฐกิจเติบโตสดใสได้ เพื่อที่จะทำเช่นนั้นให้ได้ ไม่ช้าก็เร็วเธอก็จะต้องทำงานร่วมกับปักกิ่ง

ในทศวรรษ 1990 นั้น เศรษฐกิจของไต้หวันยังอยู่ในระดับที่สามารถเทียบเคียงเศรษฐกิจของแผ่นดินใหญ่ได้ และธุรกิจไต้หวันตลอดจนกิจการด้านอุตสาหกรรมการผลิตของไต้หวัน รวมๆ กันแล้วคือกลุ่มนักลงทุนโดยตรงชาวต่างประเทศกลุ่มใหญ่ที่สุดในแผ่นดินใหญ่ ปักกิ่งแสดงความยินดีต้อนรับการลงทุนเหล่านี้ และให้สิทธิเงื่อนไขพิเศษที่สุดแก่ “ไถซาง” (Taishang นักธุรกิจไต้หวัน)

หลี่ เติ้งฮุย (Lee Teng-hui) ประธานาธิบดีของไต้หวันในเวลานั้น เกิดความวิตกกังวลว่าไต้หวันกำลังนำเอาไข่ของตนทั้งหมดไปวางในตะกร้าแผ่นดินใหญ่ เขาจึงเรียกร้องให้ ไถซาง กระจายกิจการ โดยไปสร้างโรงงานของตนตามที่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่จีนแผ่นดินใหญ่

นักธุรกิจไต้หวันจำนวนมากเชื่อฟังคำแนะนำของหลี่ และพากันไปลงทุนในทีอื่นๆ เป็นต้นว่า ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม แต่แล้วด้วยความขาดไร้ข้อได้เปรียบในเรื่องความคุ้นเคยใกล้ชิดทางวัฒนธรรมและการใช้ภาษาเดียวกัน การลงทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่จบลงด้วยการขาดทุนผลประกอบการออกมาเป็นตัวเลขแดง ประสบการณ์ด้านลบเช่นนั้นจึงรังแต่จะยิ่งทำให้พวกเขามุ่งมั่นโฟกัสไปที่จีนมากขึ้นอีก

ทุกวันนี้เศรษฐกิจของจีนมีขนาดใหญ่กว่าของไต้หวันประมาณ 20 เท่า การไปปรากฏตัวและประสบความสำเร็จบนแผ่นดินใหญ่ของ ไถซาง ในขณะนี้ มีความสำคัญต่อไต้หวันยิ่งกว่ามีความสำคัญต่อจีนนักหนา ถ้า ไช่ พยายามที่จะรื้อถอนการที่ไต้หวันเข้าบูรณาการทางเศรษฐกิจกับจีน และมุ่งหวังจะกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไต้หวันให้ออกห่างจากจีนแล้ว เธอก็น่าจะสะดุดหกล้มแบบเดียวกับที่ หลี่ เติ้งฮุย เคยประสบ

ผมเชื่อว่า วันหนึ่งจะมาถึงเมื่อ ไช่ จะต้องยอมละทิ้งความฝันต่างหากออกไปของเธอ และแสวงหาทางเข้าร่วมกับ “ความฝันของจีน” (China Dream) ตามที่ สี ประกาศผลักดัน เมื่อถึงเวลานั้น เธอจะรู้สึกยินดีที่ได้เดินทางไปบนสะพานทอดสู่จีนซึ่ง หม่า สร้างขึ้นมา

(ความคิดเห็นที่ปรากฏในข้อเขียนนี้เป็นของผู้เขียนเอง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการสะท้อนทัศนะของเอเชียไทมส์)

ดร. จอร์จ คู เพิ่งเกษียณอายุเมื่อไม่นานมานี้จากสำนักงานให้บริการด้านคำปรึกษาระดับโลกแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการดำเนินการทางธุรกิจ ของพวกเขาในประเทศจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก MIT, Stevens Institute, และ Santa Clara University และเป็นผู้ก่อตั้งตลอดจนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ International Strategic Alliances เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ the Committee of 100, the Pacific Council for International Policy และเป็นกรรมการคนหนึ่งของ New America Media


กำลังโหลดความคิดเห็น