เซาท์ไชน่ามอร์นิ่โพสต์ - การประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำจีนกับไต้หวันครั้งแรกในประวัติศาสตร์เป็นข่าวใหญ่ ที่สร้างความตกตะลึงแก่บรรดานักวิเคราะห์ แต่เมื่อมีการเปิดเผยว่าสิงคโปร์เป็นสถานที่จัดการประชุม กลับไม่มีใครตื่นเต้น เพราะไม่ใช่เรื่อง ที่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด
เมื่อครั้งที่จีนยิงขีปนาวุธตกในทะเลใกล้เกาะไต้หวันในปีพ.ศ. 2539 นั้น นาย ลี กวนยู รัฐบุรุษของสิงคโปร์ได้ออกมาขอร้องว่า ให้พวกลื้อทั้งสองใจเย็น ๆ
“ พวกผู้นำจีนเอ่ยถึงผมว่า เป็นเพื่อนเก่า ผมเป็นเพื่อน ที่คบหากับไต้หวันมานานกว่านั้น ” อดีตผู้นำสิงคโปร์เล่าความหลังไว้ในบันทึกความทรงจำ
“ หากฝ่ายใดพินาศ สิงคโปร์ก็จะพลอยสูญเสียไปด้วย หากทั้งสองฝ่ายพัง สิงคโปร์ก็ยิ่งสูญเสียเป็นเท่าทวีคูณ เมื่อทั้งสองฝ่ายเจริญรุ่งเรือง ร่วมมือกัน และช่วยกันสร้างความมั่งคั่งแล้ว สิงคโปร์ย่อมได้รับประโยชน์”
การทักท้วงของลีคราวนั้นถูกนายเฉียน ชิเฉิน รองนายกรัฐมนตรีปฏิเสธอย่างนุ่มนวลว่า นี่เป็นเรื่องภายในประเทศ ที่ไม่เกี่ยวกับคนภายนอก
จุดยืนที่รัฐบาลปักกิ่งแสดงมาโดยตลอดต่อสาธารณชนก็คือลีและสิงคโปร์ไม่ใช่คนในครอบครัวของจีน ทว่าในส่วนตัว จีนกลับถือว่าสิงคโปร์เป็นมิตรสนิทของครอบครัว
ความเป็นกลางของสิงค์โปร์เป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุด ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ในการเลือกสรรสถานที่จัดการประชุมอย่างเหมาะเจาะลงตัว
นาย หลี่ หมิงเจียง นักวิเคราะห์ของสถาบันการระหว่างประเทศศึกษาเอส. ราชารัตนัม มองว่า การประชุมระดับผู้นำสูงสุดทางการเมืองเช่นนี้ ไม่มีสถานที่ให้จีนและไต้หวันเลือกมากนัก โดยการให้ทั้งสองฝ่ายยอมเดินทางไปประชุมที่แผ่นดินใหญ่ หรือที่ไต้หวัน คงเป็นเรื่องยาก
นาย เฉิน กัง นักวิชาการชาวจีนประจำสถาบันเอเชียตะวันออกของสิงคโปร์ระบุว่า ฮ่องกงเป็นตัวเลือกหนึ่ง ที่มีความเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ดินแดนแห่งนี้ในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงไม่มีใครมองว่า ฮ่องกงมีความเป็นกลางอีกต่อไป
นายหลี่ชี้ว่า ประชาชนไต้หวันเชื่อมากขึ้นเรื่อนๆ ว่า ฮ่องกงถูกจีนแผ่นดินใหญ่กดขี่ทางการเมือง ถ้าประธานาธิลดีหม่า อิงจิ่ว ของไต้หวันพบกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิงที่นี่ก็จะส่งผลเสียทางการเมืองต่อพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล
ประชากรของสิงคโปร์มีเชื้อสายจีนมากกว่าเชื้อสายอื่น ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในความเห็นของเหล่านักวิเคราะห์
" พวกเขาไม่ต้องการพูดเรื่องในครอบครัวท่ามกลางสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ได้เกี่ยวกันเลยกับจีน" นายเฉินกล่าว
บรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อฝีมือสิงคโปร์มานานในเรื่องความชำนิชำนาญในการถ่วงดุลระหว่างพญามังกรกับมังกรน้อย
นายจอร์จ เยียว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ระบุว่า การเลือกสิงคโปร์เป็นสถานที่จัดซัมมิตมิได้เป็นเรื่องบังเอิญ เพราะสิงคโปร์มีความสัมพันธ์กับชาติทั้งสองทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสายเลือด อีกทั้งสิงคโปร์ยังยึดมั่นในนโยบายจีนเดียว
นักวิเคราะห์ยกตัวอย่างความเก๋าของสิงคโปร์ ที่สามารถสนิทสนมได้ทั้งกับจีนและไต้หวัน ดังเช่นเหตุการณ์เมื่อปีพ.ศ. 2518 ที่สิงคโปร์เริ่มการฝึกทหาร รวมทั้งการส่งกองทหารไปยังเกาะมังกรน้อย แม้สร้างความหวาดระแวงแก่จีนในตอนแรกก็ตาม
ในสมัยสงครามเย็น นายลี กวนยูยังได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจให้เป็นคนเดินสารระหว่างนายเติ้ง เสี่ยวเผิง ผู้นำแดนมังกร กับนาย เจียง จิ้งกั๋ว ผู้นำไต้หวันในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2523-2533 อีกด้วย
มาจนกระทั่งในปีพ.ศ. 2549 ความไว้วางใจนี้ก็ไม่เคยเสื่อมคลาย ดังจะเห็นได้จากคำยกย่องที่นายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่าของจีนในเวลานั้นกล่าวกับนายลี กวนยูว่า สิงคโปร์มี "บทบาทพิเศษเฉพาะตัว" ในการสร้างเสริมเสถียรภาพข้ามช่องแคบไต้หวัน เนื่องจากสิงคโปร์มีความเข้าอกเข้าใจผู้เล่นสำคัญ 3 ฝ่ายได้แก่ จีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ ซึ่งนายลีได้ตอบกลับไปว่า สิงคโปร์มุ่งมั่นที่จะธำรงรักษาเสถียรภาพนี้ไว้ เพราะสิงคโปร์เองก็มีส่วนได้ส่วนเสียจากสิ่งนี้ด้วย