(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
China’s new diplomatic moves put US on the back foot
BY Francesco Sisci
04/11/2015
หลังได้รับผลอย่างไม่สู้น่าพอใจนักจากการที่ สี จิ้นผิง ไปเยือนสหรัฐฯในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปักกิ่งก็พยายามทุ่มเทกำลังฝีมือเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปโฉมการเดินงานทางการทูตของตน และในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็ดูจะประสบความสำเร็จสามารถนำเสนอทิศทางความเป็นไปได้ที่แตกต่างออกไป ซึ่งก็เป็นการทัดทานความเคลื่อนไหวของวอชิงตัน ที่ดูมีความเพียรพยายามมุ่งหวังโอบล้อมจีนในทางเศรษฐกิจตลอดจนในทางการทหาร
ไม่นานนักหลังจากการไปเยือนอเมริกาในเดือนสิงหาคมของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทางสหรัฐฯก็ประกาศข่าวสำคัญที่ดูเป็นลางร้ายสำหรับแดนมังกร ได้แก่ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่โตมหึมาขึ้นในพื้นที่สองฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก (ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Partnership ใช้อักษรย่อว่า TPP -ผู้แปล) โดยที่จะกีดกันจีนออกไป นี่เป็นอะไรที่พิจารณากันแล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมพื้นฐานสำหรับการปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่อปักกิ่ง
สำหรับทางฝ่าย สี นั้น ได้เดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักร และสามารถทำคะแนนได้ดีชนิดบรรลุสัมฤทธิผลอย่างสำคัญ ณ ที่นั้น โดยเป็นครั้งแรกที่สามารถสถาปนา “ความเป็นพันธมิตรอย่างสมบูรณ์และในระดับทั่วโลก” (“complete and global alliance”) กับลอนดอน ซึ่งยังคงมีความสัมพันธ์ระดับที่ดีเยี่ยมอยู่กับวอชิงตัน การเดินหมากตานี้ย่อมทำให้การป่าวร้องของสหรัฐฯที่จะให้ใช้จุดยืนอันแข็งกร้าวมุ่งเล่นงานจีน ต้องตกอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากนั้นในเดือนตุลาคม ขณะที่การประชุมเต็มคณะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งมักจัดขึ้นปีละครั้งเพิ่งสิ้นสุดลงยังไม่ทันไร เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถีของอเมริกันก็เข้าท้าทายการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของปักกิ่งเหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้ซึ่งพิพาทอยู่กับ 6 ชาติเพื่อนบ้าน ด้วยการแล่นล่วงล้ำสู่อาณาเขต 12 ไมล์ทะเลห่างจากชายฝั่งเกาะเทียมเล็กๆ ที่จีนสร้างขึ้น
ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ ถ้าเป็นในอดีตแล้วคงจะก่อให้เกิดกระแสลุกฮือแบบชาตินิยมอย่างปั่นป่วนวุ่นวายใหญ่โตขึ้นในแดนมังกร ทว่าในคราวนี้การท้าทายของอเมริกันกลับเผชิญการตอบโต้ชนิดแทบไม่ได้มากไปกว่าโวหารเยาะเย้ยถากถาง นี่เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า สี มีความสามารถที่จะควบคุมกระแสพลุ่งพล่านของลัทธิชาตินิยมในจีน อันเป็นอะไรบางอย่างซึ่งดูเป็นไปไม่ได้เอาเลยสำหรับ หู จิ่นเทา ผู้นำแดนมังกรคนก่อนหน้าเขา ดังที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากเมื่อตอนที่ หู พยายามหาทางประนีประนอมกับญี่ปุ่นในเรื่องหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ ที่สองประเทศพิพาทช่วงชิงกันอยู่
ครั้นถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน ได้พบปะหารือกับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นในกรุงโซล, เกาหลีใต้ และทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะสมานสายสัมพันธ์อันร้าวฉาน ไม่เพียงเท่านั้น ณ การประชุมซัมมิตที่โซล หลี่, อาเบะ, และประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย แห่งเกาหลีใต้ผู้เป็นเจ้าภาพ ยังประกาศการเดินหน้าข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งอาจเป็นภัยอันตรายต่อสถาปัตยกรรมแห่งข้อตกลงการค้าเสรีแปซิฟิกที่สปอนเซอร์โดยสหรัฐฯดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
การที่จีนพูดจาหารือกับญี่ปุ่น ซึ่งจวบจนถึงขณะนี้ถือว่าเป็นปรปักษ์รายใหญ่ของตนในภูมิภาคนั้น ยังอาจกลายเป็นการสร้างความปั่นป่วนอีกอย่างหนึ่งให้แก่กระแสแสดงความเป็นศัตรูต่อแดนมังกรภายในอเมริกา ถึงแม้เรายังไม่ทราบผลลัพธ์รูปธรรมของการประชุมซัมมิตหลี่-อาเบะคราวนี้ ตลอดจนเรื่องที่ว่าจีนมีความตั้งใจจะไปไกลถึงแค่ไหนในการคลี่คลายปัญหาเตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ
ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้นเอง สำนักข่าวของฝ่ายคาทอลิกได้ปล่อยข่าวรั่วไหลเกี่ยวกับความสำเร็จของคณะผู้แทนสำนักวาติกันที่เดินทางมาเยือนจีน คณะผู้แทนชุดดังกล่าวซึ่งรายงานบอกว่ามีจำนวน 6 คน (ในคณะผู้แทนชุดก่อนๆ ล้วนแต่มีขนาดเล็กกว่านี้) ยังได้รับอนุญาตให้พบปะกับ บิช็อปแห่งปักกิ่ง ซึ่งเลือกเลื่อนขึ้นมาโดยได้รับความเห็นชอบจากวาติกัน ตลอดจนได้พบปะกับหัวหน้าสมาคมชาวคาทอลิกรักชาติ (Catholic Patriotic Association) หม่า อิงหลิน (Ma Yinglin) ผู้เป็นบิช็อปที่ปักกิ่งแต่งตั้งขึ้นตามอำเภอใจฝ่ายเดียว
ผลการเยือนคราวนี้อาจจะทรงความสำคัญเป็นพิเศษ หากพิจารณาว่าการไปเยือนสหรัฐฯของ สี นั้น ถูกบดบังรัศมีจากการทัวร์อเมริกาของพระสันตะปาปาฟรานซิส และอิทธิพลในขอบเขตทั่วโลกของโป๊ปองค์นี้ก็กำลังเพิ่มทวีขึ้น
สุดท้ายก็มาถึงข่าวเรื่องการพบปะกันครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามกลางเมืองในประเทศจีนยุติลง ระหว่างผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับผู้นำของพรรคก๊กมิ่นตั๋ง นั่นคือระหว่าง สี กับ หม่า อิงจิ่ว ในวันเสาร์ที่ 7 พ.ย. ณ ประเทศสิงคโปร์
สำนักข่าวของทางการปักกิ่งเรียกการพบปะคราวนี้ว่าเป็น “หลักบอกระยะทาง” หลักหนึ่งในความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับไทเป เรื่องนี้ยังน่าจะส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่น, สหรัฐฯ, และบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กำลังแข่งขันกับปักกิ่งอยู่ในทะเลจีนใต้อีกด้วย
ความสำเร็จที่ติดตามมาต่อเนื่องกันเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ปักกิ่งก็สามารถซ่อมแซมสมานรอยร้าวความตึงเครียดในสายสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่กับประเทศต่างๆ เหล่านี้ แต่ถึงอย่างไรมันก็ยังคงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เป็นเรื่องยากลำบากทีเดียวที่จะต้อน สี ให้จนมุม และตัวเขาเองนั้นมีความปรารถนาตลอดจนมีศักยภาพที่จะก้าวออกมาจากกรอบเพื่อแก้ไขซ่อมแซมความสัมพันธ์ที่หลุดลุ่ยรุ่งริ่ง
นี่คือการสร้างสถานการณ์อย่างใหม่ให้แก่ประเทศจีน การบ่มเพาะและเฝ้าถนอมความสัมพันธ์ที่เพิ่งแตกหน่อใหม่เหล่านี้ให้เบ่งบานต่อไปนั้น ยังคงเป็นงานที่ลำบากยากเย็นทีเดียว ในเมื่อชาติเหล่านี้จำนวนมากอาจมีความโน้มเอียงลดน้อยลงเสียแล้วที่จะเพิกเฉยมองเมินความผิดพลาดที่จีนอาจจะสร้างขึ้นมาได้ และถ้าหากปักกิ่งมีอันล้มเหลวในเรื่องเช่นนี้ ความน่าเชื่อถือในระยะยาวของแดนมังกรก็จะต้องเสียหายร้ายแรงทีเดียว
ในทีนี้ มีเรื่องร้องเรียนกันอยู่ทั่วไปเรื่องหนึ่งซึ่งควรต้องหยิบยกขึ้นมาพูดกัน ได้แก่เสียงบ่มพึมที่ว่าเจ้าหน้าที่บางคนของปักกิ่งนั้นช่างยโสโอหัง, ใจดำ, และไม่แยแสต่อผลประโยชน์ของคนอื่นๆ เรื่องนี้ไม่ควรถือว่าเป็นเพียงกริยาท่าทีส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น หากแต่เป็นภาพสะท้อนของท่าทีทางการเมืองที่จีนมีต่อประเทศอื่นๆ โดยรวมทีเดียว
กระนั้นก็ตามที ผลลัพธ์จากความพยายามทางการทูตเหล่านี้ ไม่ว่าได้รับมาด้วยการเที่ยวหว่านโปรยเงินทองผลประโยชน์ไปทั่ว หรือด้วยการเตรียมการทางการเมืองอย่างระมัดระวัง ก็อาจจะส่องประกายฉายแสงที่แตกต่างออกไปสู่ห้วงความคิดบางส่วนของอเมริกันในเวลาพิจารณาถึงจีน และนี่อาจจะนำไปสู่การขบคิดทบทวนกันอย่างลึกซึ้งจริงจังบางอย่างบางประการก็ได้
ในอีกด้านหนึ่ง อาจจะพิจารณาได้เช่นกันว่าการเดินงานการทูตอย่างขะมักเขม้นของจีนในระยะหลังๆ มานี้ น่าจะมีสาเหตุจากการที่สหรัฐฯใช้ท่าทีเย็นชาต่อปักกิ่ง องค์ประกอบหลังสุดนี้สามารถที่จะมองว่าคือความสำเร็จของงานการทูตของฝ่ายอเมริกัน และทำให้ฝ่ายจีนเองจำเป็นต้องขบคิดทบทวนกันอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศของตน
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมองกันในวันนี้ มันก็ดูเหมือนว่าทั้งจีนและทั้งสหรัฐฯต่างไม่ได้เป็นอย่างที่อีกฝ่ายหนึ่งคิดว่าเป็น ทั้งคู่ต่างกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่อะไรบางอย่างซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งประสบความยากลำบากในการหยั่งวัดคาดคำนวณ เรื่องนี้อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในอนาคตสำหรับทุกๆ คน
ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นนักวิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยไชน่าเหรินหมิน (China Renmin University) เป็นเจ้าของคอลัมน์ “ซิโนกราฟ” (Sinograph) ของเอเชียไทมส์ และเคยเป็นบรรณาธิการด้านเอเชียให้แก่หนังสือพิมพ์รายวันอิตาลี ลา สตัมปา (La Stampa) และผู้สื่อข่าวประจำกรุงปักกิ่งให้แก่ อิล โซเล ดิ 24 โอเร (Il Sole di 24 Ore) เขาเป็นชาวต่างประเทศคนแรกที่ได้เข้าโปรแกรมบัณฑิตศึกษาของบัณฑิตสถานทางสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Social Sciences) เขาเขียนหนังสือว่าด้วยจีนมาแล้ว 8 เล่ม และได้รับเชิญเป็นนักวิจารณ์จากทางสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (CCTV) อยู่บ่อยครั้ง
หมายเหตุผู้แปล
ก่อนหน้าเผยแพร่ข้อเขียนชิ้นนี้ ผู้เขียน (ฟรานเชสโก ซิสซี) ได้เคยเผยแพร่ข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งว่าด้วยการที่สี จิ้นผิง ไปเยือนอังกฤษ ซึ่งมีเนื้อหาพัวพันเกี่ยวเนื่องกันอยู่ ดังนั้น จึงขอเก็บความข้อเขียนชิ้นก่อนมาตีพิมพ์ไว้ในที่นี้
หลังการเยือนของ ‘สี’ ตอนนี้ ‘อังกฤษ’ ก็สามารถช่วย ‘จีน’ ให้เป็นมหาอำนาจของโลกที่แท้จริง
โดย ฟรานเชสโก ซิสซี
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
After Xi’s visit, UK could now help China to become a true global power
BY Francesco Sisci
26/10/2015
เวลาเดียวกับที่ปักกิ่งและโลกต่างกำลังเฝ้ารอคอยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อเรือรบอเมริกันท้าทายแดนมังกรด้วยการแล่นเข้าสู่น่านน้ำในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนกับอีก 6 ชาติเพื่อนบ้านช่วงชิงกันอยู่ การเดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักรของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ได้เผยให้เห็นถึงพัฒนาการทางการเมืองอย่างใหม่ๆ ที่มีศักยภาพจะปรากฏเป็นความจริงรูปธรรมอันเด่นชัดขึ้นมาได้
กระนั้นก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหราชอาณาจักรนั้น มี 2 ด้านอย่างชัดเจนยิ่งกว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีอื่นๆ กล่าวคือ สายสัมพันธ์นี้มีทั้งด้านที่มองเห็นอย่างชัดเจนได้ง่ายกว่า แต่พัฒนาต่อไปได้ลำบาก โดยเฉพาะเมื่อมองจากมุมของปักกิ่ง เวลาเดียวกันสายสัมพันธ์นี้ก็มีด้านซึ่งมองเห็นอย่างชัดเจนได้ยากกว่า แต่สามารถพัฒนาต่อไปได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อมองจากมุมของลอนดอน
สำหรับจีนแล้ว รางวัลที่จะได้รับจากการมีความสัมพันธ์ทวิภาคีอันดีกับสหราชอาณาจักร เป็นสิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนง่ายดายมาก มันสามารถชดเชยผลลัพธ์อันไม่ค่อยน่าพึงพอใจจากการเดินทางไปเยือนอเมริกาของ สี เมื่อเร็วๆ นี้ และเป็นการเปิดหน้าต่างบานใหญ่สู่โลกตะวันตก –ไม่ใช่ด้วยการผูกพันกับสหรัฐฯผู้แข็งแกร่งและเต็มไปด้วยพลัง ซึ่งมีความระมัดระวังคอยเฝ้าดูการขยายตัวของจีนอย่างไม่ไว้วางใจ ทว่าเป็นการผูกพันกับชาติเก่าแก่อย่างอังกฤษ ซึ่งไม่ได้มีฐานะเป็นจักรวรรดิใหญ่อีกต่อไปแล้ว ทว่ายังคงมีความรอบรู้เป็นอันดีเกี่ยวกับกลเม็ดเคล็ดลับทั้งหลายทั้งปวงของจักรวรรดิตะวันตกในยุคเก่า รวมทั้งยังเคยเป็นทั้งคู่แข่งและเป็นทั้งพี่เลี้ยงผู้คอยประคับประคองสหรัฐอเมริกามาแล้ว
ดังนั้นสหราชอาณาจักรจึงสามารถช่วยเหลือจีนในเรื่องสายสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนที่ปักกิ่งมีอยู่กับอเมริกา ตลอดจนสามารถที่จะเป็นติวเตอร์ให้จีนเกี่ยวกับศิลปะอันยากลำบากในการก้าวผงาดกลายเป็นมหาอำนาจระดับโลกที่แท้จริงรายหนึ่งขึ้นมา
สำหรับจีนแล้ว นี่แหละคือความหมายของถ้อยคำในคำแถลงร่วมอังกฤษ-จีน ที่เน้นย้ำว่า ประเทศทั้งสองเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในระดับโลกที่สมบูรณ์รอบด้าน สำหรับยุคศตวรรษที่ 21”
จีนไม่ได้เคยลงนามเป็นหุ้นส่วน “ในระดับโลกที่สมบูรณ์รอบด้าน” กับประเทศอื่นใดเลย ถึงแม้เราเองยังไม่ทราบขนาดขอบเขตที่แท้จริงของข้อตกลงกับสหราชอาณาจักรนี้ ตัวอย่างเช่น มันครอบคลุมไปถึงความร่วมมือทางการทหารและด้านข่าวกรองด้วยหรือไม่ และหากว่าครอบคลุมด้วย มันมีขนาดขอบเขตสักแค่ไหน
ยิ่งกว่านั้น ข้อความในคำแถลงร่วมตอนหนึ่งระบุเอาไว้ว่า ประเทศทั้งสอง “ยอมรับระบบการเมืองของแต่ละฝ่าย” สำหรับปักกิ่งแล้ว นี่ต้องถือเป็นสัมฤทธิผลอันใหญ่โตมโหฬารประการหนึ่งทีเดียว ในความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับประเทศตะวันตกรายหนึ่ง เนื่องจากเท่าที่ผ่านมาชาติตะวันตกทั้งหลายอย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีเงาของความรังเกียจต่อระบบการเมืองของฝ่ายจีนโผล่แพล็มออกมาให้เห็น และปักกิ่งก็มีความกังวลเสมอมาว่าฝ่ายตะวันตกมีความพยายามที่จะโค่นล้มรัฐบาลของตน
ในประเทศจีน คำแถลงเช่นนี้หมายความว่าอย่างน้อยที่สุดก็มีประเทศตะวันตกรายหนึ่งแล้ว ซึ่งไม่คิดที่จะบีบคั้นไม่ว่าอย่างเปิดเผยหรืออย่างซ่อนเร้น ให้แดนมังกรต้องเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองของตน เรื่องนี้ยังส่งผลกระทบไปถึงฮ่องกง ซึ่งสหราชอาณาจักรยังคงมีอิทธิพลอยู่ และปักกิ่งก็วิตกเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวประท้วงของพวกนักศึกษาที่นั่น รวมทั้งยังอาจส่งผลกระทบไปถึงพวกประเทศตะวันตกรายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป
เมื่อสหราชอาณาจักรกระทำเช่นนี้ได้ ชาติอื่นๆ ก็อาจจะเดินตามอย่าง และจุดยืนอย่างแน่วแน่ยืนกรานของอเมริกาเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็อาจจะถูกนำมาทบทวนพิจารณาด้วยแง่มุมที่แตกต่างออกไป
ความสำเร็จของ สี อยู่ในลักษณะที่ถือได้ว่าไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย เขาเป็นผู้นำคนแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งได้รับการยอมรับจากประเทศตะวันตกรายหนึ่ง ในสิ่งที่ดูมีความหมายเท่ากับเป็นการรับรองการปกครองประเทศจีนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่เคยมีผู้นำคนอื่นใดเลยที่สามารถกระทำเช่นนี้ได้ แม้กระทั่งในช่วงเวลาที่สหรัฐฯกับจีนจับมือเป็นกึ่งๆ พันธมิตรกันเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียตในสมัยสงครามเย็น วอชิงตันก็ไม่เคยหยุดยั้งแสดงความระแวงสงสัยต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน
กระนั้นก็ตาม ในมุมมองของจีนแล้ว สถานการณ์โดยรวมกำลังมีความชัดเจนน้อยลงและมีความลำบากมากขึ้น ขณะที่ตนกำลังเคลื่อนเข้าสู่น่านน้ำที่ยังไม่เคยทำการสำรวจหยั่งวัดมาก่อนเลย และไม่มีความมั่นใจว่าควรดำเนินการอย่างไรในการเดินหน้าเข้าไปในเวทีทางการเมืองซึ่งครอบงำโดยค่านิยมต่างๆ ของตะวันตก ชนิดที่ความคิดจิตใจแบบเก่าของจีนไม่รู้จัก ถึงแม้มาถึงตอนนี้ปักกิ่งอาจสามารถที่จะได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอังกฤษที่เก่าแก่
แน่นอนทีเดียว ควรที่จะต้องย้ำด้วยว่า สายสัมพันธ์อย่างใหม่ๆ กับลอนดอนนี้ มีความหมายเพียงแค่เป็นการใช้ความพยายามในยุทธศาสตร์นโยบายด้านการต่างประเทศอีกคำรบหนึ่ง ถึงแม้มันยังจะส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯและพวกชาติเพื่อนบ้านของจีนในเอเชียด้วย ทั้งนี้จีนอาจจำเป็นต้องเรียนรู้จากสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับศิลปะในการสร้างดุลแห่งอำนาจ อันเป็นคุณสมบัติซึ่งแฝงฝังอยู่ในขนบประเพณีของตะวันตก ทว่าเป็นเรื่องแปลกแยกไม่ค่อยมีให้เห็นในมรดกทางการเมืองของชาวจีน
คราวนี้หันมาพิจารณาจากมุมมองของฝ่ายสหราชอาณาจักรบ้าง ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากความสัมพันธ์แบบใหม่กับจีนนี้ อาจจะมีความชัดเจนน้อยกว่า นอกเหนือจากแรงจูงใจทางธุรกิจที่เห็นกันได้โต้งๆ ในรูปของเม็ดเงินลงทุนของฝ่ายจีนมูลหลายหลายหมื่นล้านดอลลาร์ และการค้าทวิภาคีซึ่งในไม่ช้าไม่นานจากนี้ไปยอดรวมควรจะแตะระดับ 100,000 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว จากการมีสายสัมพันธ์ทางการเมืองใหม่ๆ กับจีนนี้ อาจจะทำให้ลอนดอนมีชิปใหม่ๆ สำหรับใช้ต่อรองวางเดิมพัน สหราชอาณาจักรเวลานี้ถูกบีบคั้นอยู่ตรงกลางระหว่างสหรัฐอเมริกา กับสหภาพยุโรปที่ครอบงำโดยเยอรมนี และสูญเสียจักรวรรดิเก่าของตนไปแล้ว จึงกำลังลื่นไถลอยู่บนทางลาดต่ำลงไปสู่ภาวะไร้ความสำคัญทางการเมือง และพุ่งทะลึ่งตัวขึ้นมาได้บ้างด้วยการลงทุนของปัจเจกบุคคลผู้มั่งคั่งและบางครั้งก็คลุมเครือน่าเคลือบแคลง ซึ่งมุ่งเสาะแสวงหาดินแดนที่เป็นกึ่งสวรรค์ในด้านการเงิน (และฐานะความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของลอนดอน ยังอาจเอื้ออำนวยให้ได้ –ผู้แปล)
ก่อนการไปเยือนของ สี คราวนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าสหราชอาณาจักรกำลังอยู่บนเส้นทางที่จะกลายเป็นสวิตเซอร์แลนด์ เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศดั้งเดิมเจ้าของนามนี้ และกำลังถูกปิดล้อมถูกโจมตีจากการข่มขู่แบล็กเมล์ทางการเมืองนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นชาวสกอตที่ข่มขู่จะทอดทิ้งอังกฤษแยกตัวออกไปเป็นประเทศเอกราช อีกทั้งนำเอาทรัพยากรน้ำมันที่สหราชอาณาจักรมีอยู่ไปกับพวกเขาด้วย, สหภาพยุโรปก็คุกคามที่จะยึดเอาฐานะความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของลอนดอนไปถ้าหากสหราชอาณาจักรกล้าที่จะถอนตัวจากอียู, และวอชิงตันก็ได้ละเลยเพิกเฉยความนิยมยินดีซึ่งเคยกระทำมาก่อนหน้านี้ในการหมั่นพูดจาสนทนาหารือกับลอนดอน แล้วหันไปหาเบอร์ลินผู้ทรงอำนาจ ซึ่งกำลังกลายเป็นเมืองหลวงในทางเป็นจริงของอียู
มาถึงตอนนี้ การได้เป็น “พันธมิตร” พิเศษกับจีน ย่อมกลายเป็นแรงดีดส่งให้สหราชอาณาจักรได้กลับเข้าสู่ศูนย์กลางของเอเชีย ซึ่งกำลังเป็นเครื่องไดนาโมผลิตพลังงานทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของโลก ฐานะเช่นนี้ย่อมทำให้กลับได้รับความสนใจจากอียูและสหรัฐฯใหม่ และแน่นอนทีเดียวว่าลอนดอนยังจะได้รับความสนอกสนใจมากขึ้นจากพวกเพื่อนบ้านในเอเชียของจีนอีกด้วย ในเรื่องนี้ เรายังไม่ทราบกระจ่างชัดเจนว่าลอนดอนกับวอชิงตันมีการแลกเปลี่ยนอะไรขนาดไหน และพวกเขาบอกเล่ากันและกันอย่างไรเกี่ยวกับการไปเยือนของ สี
อนาคตของสหราชอาณาจักรน่าจะมีความกระจ่างชัดเจนมากกว่า โดยที่แผนที่ลายแทงทางการเมืองก็มีอยู่แล้ว แผนที่ลายแทงดังกล่าวนี้ได้ถูกใช้สอยมายาวนานหลายร้อยปีโดยนครรัฐเวนิส ซึ่งเที่ยวเคลื่อนไหวติดต่อสัมพันธ์ไปทั่วในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไม่ว่าจะเป็นราชอาณาจักรคริสเตียนหรือราชอาณาจักรมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์คริสเตียนอันศักดิ์สิทธิ์แห่งสเปน หรือจะเป็นมหาสุลต่านชาวเติร์กที่เป็นพวกนอกศาสนา
เวนิส ซึ่งเล็กกระจิ๋ว แต่เจ้าเล่ห์และเจ้าความคิด ใช้ความพยายามอย่างประสบความสำเร็จมาหลายศตวรรษในการเล่นเกมดุลแห่งอำนาจในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และยังคงสามารถรักษาอำนาจของตนเองเอาไว้ได้กระทั่งหลังจากหนทางทำมาหากินสายหลักของตน (การค้าในเมดิเตอร์เรเนียน) ถูกแทนที่ด้วยเส้นทางทำเงินทำทองสายใหม่ๆ ซึ่งแล่นผ่านมหาสมุทรแอตแลนติก และเกินเลยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์สำหรับนครรัฐอิตาเลียนแห่งนี้
อันที่จริงแล้ว ลอนดอนกับเวนิสมักถูกผูกเอาไว้ด้วยเงื่อนปมที่มองไม่เห็นแต่เหนียวแน่นเสมอมา ดูจะไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความบังเอิญเล็กๆ น้อยๆ หรอกที่ในตอนอังกฤษเริ่มต้นก้าวผงาดขึ้นเป็นจักรวรรดิระดับโลกนั้น วิลเลียม เชคสเปียร์ กวีและผู้วางรากฐานวรรณกรรมคนสำคัญของอังกฤษ คงพิจารณาเห็นว่าควรต้องถือเอา สาธารณรัฐเวนิส มาเป็นแบบอย่างเป็นแน่ ดังเห็นได้จากการที่บทละครชั้นเยี่ยมที่สุดของเขาจำนวนมากจะมีท้องเรื่องอยู่ที่นั่น (เวนิสวาณิช, โรเมโอ และ จูเลียต, โอเทลโล ฯลฯ)
มาถึงตอนนี้ลอนดอนสามารถที่จะฉีกหน้ากระดาษจากปูมบันทึกของเวนิสมาเป็นเครื่องนำทาง และแสดงบทบาทในระดับโลกอย่างที่เวนิสเคยแสดงอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน –นั่นคือเป็นชาวตะวันตกอย่างหนักแน่นมั่นคง แต่ก็พร้อมทำการซื้อทำการขายต่อรองแลกเปลี่ยนกับใครหน้าไหนก็ได้
แน่นอนทีเดียว สหรัฐฯและอียูยังคงมีไพ่เหนือกว่าที่สามารถเอาชนะไพ่จีนในมือของสหราชอาณาจักรได้ แต่การเอาไพ่เช่นนั้นออกมาเล่นไม่ว่าในทางการเมืองและในทางเศรษฐกิจต้องถือว่ามีราคาแพงลิบลิ่ว เนื่องจากจีนนั้นไม่ได้เป็นแค่ผู้เล่นรายเล็กๆ แถมลงท้ายลอนดอนก็จะกลายเป็นผู้ชนะจนได้ เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1560 และทศวรรษ 1570 ก่อนหน้ายุทธการแห่งเลปันโต (Battle of Lepanto) เมื่อเวนิสหันหลังให้พวกเติร์ก (ซึ่งได้เข้าโจมตีทรัพย์สินในเมดิเตอร์เรเนียนของเวนิส) และกลับมาอยู่ข้าง เจนัว และสเปน ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของตุรกี พร้อมๆ กับที่คอยปิดช่องจำกัดความทะเยอทะยานของฝรั่งเศสเอาไว้เป็นบางส่วน ทว่าหลังจากสามารถต้านทานการบุกเข้ามาของพวกเติร์กแล้ว เวนิสก็ได้ละทิ้งความเป็นพันธมิตรกับสเปน และหวนกลับไปทำการค้ากับอิสตันบูล โดยวางฐานะตนเองว่าเป็นกลางไม่เข้าข้างใด
แน่นอนทีเดียว ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยตนเองหรอก กระทั่งหากลอนดอนคือเวนิสในปัจจุบัน ก็ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจนว่า ใครคือ สเปน, เจนัว, ฝรั่งเศส, หรือจักรวรรดิเติร์กในยุคสมัยนี้ ในเมื่อสิ่งต่างๆ จำนวนมากยังกำลังเพิ่งเริ่มคลี่คลายตัว กระนั้นในอีกด้านหนึ่ง ประวัติศาสตร์ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเพิกเฉยละเลยอย่างไม่ใยดีได้
สิ่งที่จะต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปก็คือ “ความเป็นพันธมิตร” ที่เพิ่งงอกเงยขึ้นมาใหม่นี้ มีความหวังใดๆ ที่จะรอดชีวิตและเจริญเติบโตต่อไปหรือไม่
ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นนักวิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยไชน่าเหรินหมิน (China Renmin University) เป็นเจ้าของคอลัมน์ “ซิโนกราฟ” (Sinograph) ของเอเชียไทมส์ และเคยเป็นบรรณาธิการด้านเอเชียให้แก่หนังสือพิมพ์รายวันอิตาลี ลา สตัมปา (La Stampa) และผู้สื่อข่าวประจำกรุงปักกิ่งให้แก่ อิล โซเล ดิ 24 โอเร (Il Sole di 24 Ore) เขาเป็นชาวต่างประเทศคนแรกที่ได้เข้าโปรแกรมบัณฑิตศึกษาของบัณฑิตสถานทางสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Social Sciences) เขาเขียนหนังสือว่าด้วยจีนมาแล้ว 8 เล่ม และได้รับเชิญเป็นนักวิจารณ์จากทางสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (CCTV) อยู่บ่อยครั้ง
China’s new diplomatic moves put US on the back foot
BY Francesco Sisci
04/11/2015
หลังได้รับผลอย่างไม่สู้น่าพอใจนักจากการที่ สี จิ้นผิง ไปเยือนสหรัฐฯในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปักกิ่งก็พยายามทุ่มเทกำลังฝีมือเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปโฉมการเดินงานทางการทูตของตน และในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็ดูจะประสบความสำเร็จสามารถนำเสนอทิศทางความเป็นไปได้ที่แตกต่างออกไป ซึ่งก็เป็นการทัดทานความเคลื่อนไหวของวอชิงตัน ที่ดูมีความเพียรพยายามมุ่งหวังโอบล้อมจีนในทางเศรษฐกิจตลอดจนในทางการทหาร
ไม่นานนักหลังจากการไปเยือนอเมริกาในเดือนสิงหาคมของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทางสหรัฐฯก็ประกาศข่าวสำคัญที่ดูเป็นลางร้ายสำหรับแดนมังกร ได้แก่ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่โตมหึมาขึ้นในพื้นที่สองฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก (ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Partnership ใช้อักษรย่อว่า TPP -ผู้แปล) โดยที่จะกีดกันจีนออกไป นี่เป็นอะไรที่พิจารณากันแล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมพื้นฐานสำหรับการปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่อปักกิ่ง
สำหรับทางฝ่าย สี นั้น ได้เดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักร และสามารถทำคะแนนได้ดีชนิดบรรลุสัมฤทธิผลอย่างสำคัญ ณ ที่นั้น โดยเป็นครั้งแรกที่สามารถสถาปนา “ความเป็นพันธมิตรอย่างสมบูรณ์และในระดับทั่วโลก” (“complete and global alliance”) กับลอนดอน ซึ่งยังคงมีความสัมพันธ์ระดับที่ดีเยี่ยมอยู่กับวอชิงตัน การเดินหมากตานี้ย่อมทำให้การป่าวร้องของสหรัฐฯที่จะให้ใช้จุดยืนอันแข็งกร้าวมุ่งเล่นงานจีน ต้องตกอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากนั้นในเดือนตุลาคม ขณะที่การประชุมเต็มคณะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งมักจัดขึ้นปีละครั้งเพิ่งสิ้นสุดลงยังไม่ทันไร เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถีของอเมริกันก็เข้าท้าทายการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของปักกิ่งเหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้ซึ่งพิพาทอยู่กับ 6 ชาติเพื่อนบ้าน ด้วยการแล่นล่วงล้ำสู่อาณาเขต 12 ไมล์ทะเลห่างจากชายฝั่งเกาะเทียมเล็กๆ ที่จีนสร้างขึ้น
ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ ถ้าเป็นในอดีตแล้วคงจะก่อให้เกิดกระแสลุกฮือแบบชาตินิยมอย่างปั่นป่วนวุ่นวายใหญ่โตขึ้นในแดนมังกร ทว่าในคราวนี้การท้าทายของอเมริกันกลับเผชิญการตอบโต้ชนิดแทบไม่ได้มากไปกว่าโวหารเยาะเย้ยถากถาง นี่เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า สี มีความสามารถที่จะควบคุมกระแสพลุ่งพล่านของลัทธิชาตินิยมในจีน อันเป็นอะไรบางอย่างซึ่งดูเป็นไปไม่ได้เอาเลยสำหรับ หู จิ่นเทา ผู้นำแดนมังกรคนก่อนหน้าเขา ดังที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากเมื่อตอนที่ หู พยายามหาทางประนีประนอมกับญี่ปุ่นในเรื่องหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ ที่สองประเทศพิพาทช่วงชิงกันอยู่
ครั้นถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน ได้พบปะหารือกับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นในกรุงโซล, เกาหลีใต้ และทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะสมานสายสัมพันธ์อันร้าวฉาน ไม่เพียงเท่านั้น ณ การประชุมซัมมิตที่โซล หลี่, อาเบะ, และประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย แห่งเกาหลีใต้ผู้เป็นเจ้าภาพ ยังประกาศการเดินหน้าข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งอาจเป็นภัยอันตรายต่อสถาปัตยกรรมแห่งข้อตกลงการค้าเสรีแปซิฟิกที่สปอนเซอร์โดยสหรัฐฯดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
การที่จีนพูดจาหารือกับญี่ปุ่น ซึ่งจวบจนถึงขณะนี้ถือว่าเป็นปรปักษ์รายใหญ่ของตนในภูมิภาคนั้น ยังอาจกลายเป็นการสร้างความปั่นป่วนอีกอย่างหนึ่งให้แก่กระแสแสดงความเป็นศัตรูต่อแดนมังกรภายในอเมริกา ถึงแม้เรายังไม่ทราบผลลัพธ์รูปธรรมของการประชุมซัมมิตหลี่-อาเบะคราวนี้ ตลอดจนเรื่องที่ว่าจีนมีความตั้งใจจะไปไกลถึงแค่ไหนในการคลี่คลายปัญหาเตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ
ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้นเอง สำนักข่าวของฝ่ายคาทอลิกได้ปล่อยข่าวรั่วไหลเกี่ยวกับความสำเร็จของคณะผู้แทนสำนักวาติกันที่เดินทางมาเยือนจีน คณะผู้แทนชุดดังกล่าวซึ่งรายงานบอกว่ามีจำนวน 6 คน (ในคณะผู้แทนชุดก่อนๆ ล้วนแต่มีขนาดเล็กกว่านี้) ยังได้รับอนุญาตให้พบปะกับ บิช็อปแห่งปักกิ่ง ซึ่งเลือกเลื่อนขึ้นมาโดยได้รับความเห็นชอบจากวาติกัน ตลอดจนได้พบปะกับหัวหน้าสมาคมชาวคาทอลิกรักชาติ (Catholic Patriotic Association) หม่า อิงหลิน (Ma Yinglin) ผู้เป็นบิช็อปที่ปักกิ่งแต่งตั้งขึ้นตามอำเภอใจฝ่ายเดียว
ผลการเยือนคราวนี้อาจจะทรงความสำคัญเป็นพิเศษ หากพิจารณาว่าการไปเยือนสหรัฐฯของ สี นั้น ถูกบดบังรัศมีจากการทัวร์อเมริกาของพระสันตะปาปาฟรานซิส และอิทธิพลในขอบเขตทั่วโลกของโป๊ปองค์นี้ก็กำลังเพิ่มทวีขึ้น
สุดท้ายก็มาถึงข่าวเรื่องการพบปะกันครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามกลางเมืองในประเทศจีนยุติลง ระหว่างผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับผู้นำของพรรคก๊กมิ่นตั๋ง นั่นคือระหว่าง สี กับ หม่า อิงจิ่ว ในวันเสาร์ที่ 7 พ.ย. ณ ประเทศสิงคโปร์
สำนักข่าวของทางการปักกิ่งเรียกการพบปะคราวนี้ว่าเป็น “หลักบอกระยะทาง” หลักหนึ่งในความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับไทเป เรื่องนี้ยังน่าจะส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่น, สหรัฐฯ, และบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กำลังแข่งขันกับปักกิ่งอยู่ในทะเลจีนใต้อีกด้วย
ความสำเร็จที่ติดตามมาต่อเนื่องกันเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ปักกิ่งก็สามารถซ่อมแซมสมานรอยร้าวความตึงเครียดในสายสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่กับประเทศต่างๆ เหล่านี้ แต่ถึงอย่างไรมันก็ยังคงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เป็นเรื่องยากลำบากทีเดียวที่จะต้อน สี ให้จนมุม และตัวเขาเองนั้นมีความปรารถนาตลอดจนมีศักยภาพที่จะก้าวออกมาจากกรอบเพื่อแก้ไขซ่อมแซมความสัมพันธ์ที่หลุดลุ่ยรุ่งริ่ง
นี่คือการสร้างสถานการณ์อย่างใหม่ให้แก่ประเทศจีน การบ่มเพาะและเฝ้าถนอมความสัมพันธ์ที่เพิ่งแตกหน่อใหม่เหล่านี้ให้เบ่งบานต่อไปนั้น ยังคงเป็นงานที่ลำบากยากเย็นทีเดียว ในเมื่อชาติเหล่านี้จำนวนมากอาจมีความโน้มเอียงลดน้อยลงเสียแล้วที่จะเพิกเฉยมองเมินความผิดพลาดที่จีนอาจจะสร้างขึ้นมาได้ และถ้าหากปักกิ่งมีอันล้มเหลวในเรื่องเช่นนี้ ความน่าเชื่อถือในระยะยาวของแดนมังกรก็จะต้องเสียหายร้ายแรงทีเดียว
ในทีนี้ มีเรื่องร้องเรียนกันอยู่ทั่วไปเรื่องหนึ่งซึ่งควรต้องหยิบยกขึ้นมาพูดกัน ได้แก่เสียงบ่มพึมที่ว่าเจ้าหน้าที่บางคนของปักกิ่งนั้นช่างยโสโอหัง, ใจดำ, และไม่แยแสต่อผลประโยชน์ของคนอื่นๆ เรื่องนี้ไม่ควรถือว่าเป็นเพียงกริยาท่าทีส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น หากแต่เป็นภาพสะท้อนของท่าทีทางการเมืองที่จีนมีต่อประเทศอื่นๆ โดยรวมทีเดียว
กระนั้นก็ตามที ผลลัพธ์จากความพยายามทางการทูตเหล่านี้ ไม่ว่าได้รับมาด้วยการเที่ยวหว่านโปรยเงินทองผลประโยชน์ไปทั่ว หรือด้วยการเตรียมการทางการเมืองอย่างระมัดระวัง ก็อาจจะส่องประกายฉายแสงที่แตกต่างออกไปสู่ห้วงความคิดบางส่วนของอเมริกันในเวลาพิจารณาถึงจีน และนี่อาจจะนำไปสู่การขบคิดทบทวนกันอย่างลึกซึ้งจริงจังบางอย่างบางประการก็ได้
ในอีกด้านหนึ่ง อาจจะพิจารณาได้เช่นกันว่าการเดินงานการทูตอย่างขะมักเขม้นของจีนในระยะหลังๆ มานี้ น่าจะมีสาเหตุจากการที่สหรัฐฯใช้ท่าทีเย็นชาต่อปักกิ่ง องค์ประกอบหลังสุดนี้สามารถที่จะมองว่าคือความสำเร็จของงานการทูตของฝ่ายอเมริกัน และทำให้ฝ่ายจีนเองจำเป็นต้องขบคิดทบทวนกันอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศของตน
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมองกันในวันนี้ มันก็ดูเหมือนว่าทั้งจีนและทั้งสหรัฐฯต่างไม่ได้เป็นอย่างที่อีกฝ่ายหนึ่งคิดว่าเป็น ทั้งคู่ต่างกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่อะไรบางอย่างซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งประสบความยากลำบากในการหยั่งวัดคาดคำนวณ เรื่องนี้อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในอนาคตสำหรับทุกๆ คน
ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นนักวิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยไชน่าเหรินหมิน (China Renmin University) เป็นเจ้าของคอลัมน์ “ซิโนกราฟ” (Sinograph) ของเอเชียไทมส์ และเคยเป็นบรรณาธิการด้านเอเชียให้แก่หนังสือพิมพ์รายวันอิตาลี ลา สตัมปา (La Stampa) และผู้สื่อข่าวประจำกรุงปักกิ่งให้แก่ อิล โซเล ดิ 24 โอเร (Il Sole di 24 Ore) เขาเป็นชาวต่างประเทศคนแรกที่ได้เข้าโปรแกรมบัณฑิตศึกษาของบัณฑิตสถานทางสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Social Sciences) เขาเขียนหนังสือว่าด้วยจีนมาแล้ว 8 เล่ม และได้รับเชิญเป็นนักวิจารณ์จากทางสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (CCTV) อยู่บ่อยครั้ง
หมายเหตุผู้แปล
ก่อนหน้าเผยแพร่ข้อเขียนชิ้นนี้ ผู้เขียน (ฟรานเชสโก ซิสซี) ได้เคยเผยแพร่ข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งว่าด้วยการที่สี จิ้นผิง ไปเยือนอังกฤษ ซึ่งมีเนื้อหาพัวพันเกี่ยวเนื่องกันอยู่ ดังนั้น จึงขอเก็บความข้อเขียนชิ้นก่อนมาตีพิมพ์ไว้ในที่นี้
หลังการเยือนของ ‘สี’ ตอนนี้ ‘อังกฤษ’ ก็สามารถช่วย ‘จีน’ ให้เป็นมหาอำนาจของโลกที่แท้จริง
โดย ฟรานเชสโก ซิสซี
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
After Xi’s visit, UK could now help China to become a true global power
BY Francesco Sisci
26/10/2015
เวลาเดียวกับที่ปักกิ่งและโลกต่างกำลังเฝ้ารอคอยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อเรือรบอเมริกันท้าทายแดนมังกรด้วยการแล่นเข้าสู่น่านน้ำในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนกับอีก 6 ชาติเพื่อนบ้านช่วงชิงกันอยู่ การเดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักรของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ได้เผยให้เห็นถึงพัฒนาการทางการเมืองอย่างใหม่ๆ ที่มีศักยภาพจะปรากฏเป็นความจริงรูปธรรมอันเด่นชัดขึ้นมาได้
กระนั้นก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหราชอาณาจักรนั้น มี 2 ด้านอย่างชัดเจนยิ่งกว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีอื่นๆ กล่าวคือ สายสัมพันธ์นี้มีทั้งด้านที่มองเห็นอย่างชัดเจนได้ง่ายกว่า แต่พัฒนาต่อไปได้ลำบาก โดยเฉพาะเมื่อมองจากมุมของปักกิ่ง เวลาเดียวกันสายสัมพันธ์นี้ก็มีด้านซึ่งมองเห็นอย่างชัดเจนได้ยากกว่า แต่สามารถพัฒนาต่อไปได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อมองจากมุมของลอนดอน
สำหรับจีนแล้ว รางวัลที่จะได้รับจากการมีความสัมพันธ์ทวิภาคีอันดีกับสหราชอาณาจักร เป็นสิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนง่ายดายมาก มันสามารถชดเชยผลลัพธ์อันไม่ค่อยน่าพึงพอใจจากการเดินทางไปเยือนอเมริกาของ สี เมื่อเร็วๆ นี้ และเป็นการเปิดหน้าต่างบานใหญ่สู่โลกตะวันตก –ไม่ใช่ด้วยการผูกพันกับสหรัฐฯผู้แข็งแกร่งและเต็มไปด้วยพลัง ซึ่งมีความระมัดระวังคอยเฝ้าดูการขยายตัวของจีนอย่างไม่ไว้วางใจ ทว่าเป็นการผูกพันกับชาติเก่าแก่อย่างอังกฤษ ซึ่งไม่ได้มีฐานะเป็นจักรวรรดิใหญ่อีกต่อไปแล้ว ทว่ายังคงมีความรอบรู้เป็นอันดีเกี่ยวกับกลเม็ดเคล็ดลับทั้งหลายทั้งปวงของจักรวรรดิตะวันตกในยุคเก่า รวมทั้งยังเคยเป็นทั้งคู่แข่งและเป็นทั้งพี่เลี้ยงผู้คอยประคับประคองสหรัฐอเมริกามาแล้ว
ดังนั้นสหราชอาณาจักรจึงสามารถช่วยเหลือจีนในเรื่องสายสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนที่ปักกิ่งมีอยู่กับอเมริกา ตลอดจนสามารถที่จะเป็นติวเตอร์ให้จีนเกี่ยวกับศิลปะอันยากลำบากในการก้าวผงาดกลายเป็นมหาอำนาจระดับโลกที่แท้จริงรายหนึ่งขึ้นมา
สำหรับจีนแล้ว นี่แหละคือความหมายของถ้อยคำในคำแถลงร่วมอังกฤษ-จีน ที่เน้นย้ำว่า ประเทศทั้งสองเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในระดับโลกที่สมบูรณ์รอบด้าน สำหรับยุคศตวรรษที่ 21”
จีนไม่ได้เคยลงนามเป็นหุ้นส่วน “ในระดับโลกที่สมบูรณ์รอบด้าน” กับประเทศอื่นใดเลย ถึงแม้เราเองยังไม่ทราบขนาดขอบเขตที่แท้จริงของข้อตกลงกับสหราชอาณาจักรนี้ ตัวอย่างเช่น มันครอบคลุมไปถึงความร่วมมือทางการทหารและด้านข่าวกรองด้วยหรือไม่ และหากว่าครอบคลุมด้วย มันมีขนาดขอบเขตสักแค่ไหน
ยิ่งกว่านั้น ข้อความในคำแถลงร่วมตอนหนึ่งระบุเอาไว้ว่า ประเทศทั้งสอง “ยอมรับระบบการเมืองของแต่ละฝ่าย” สำหรับปักกิ่งแล้ว นี่ต้องถือเป็นสัมฤทธิผลอันใหญ่โตมโหฬารประการหนึ่งทีเดียว ในความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับประเทศตะวันตกรายหนึ่ง เนื่องจากเท่าที่ผ่านมาชาติตะวันตกทั้งหลายอย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีเงาของความรังเกียจต่อระบบการเมืองของฝ่ายจีนโผล่แพล็มออกมาให้เห็น และปักกิ่งก็มีความกังวลเสมอมาว่าฝ่ายตะวันตกมีความพยายามที่จะโค่นล้มรัฐบาลของตน
ในประเทศจีน คำแถลงเช่นนี้หมายความว่าอย่างน้อยที่สุดก็มีประเทศตะวันตกรายหนึ่งแล้ว ซึ่งไม่คิดที่จะบีบคั้นไม่ว่าอย่างเปิดเผยหรืออย่างซ่อนเร้น ให้แดนมังกรต้องเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองของตน เรื่องนี้ยังส่งผลกระทบไปถึงฮ่องกง ซึ่งสหราชอาณาจักรยังคงมีอิทธิพลอยู่ และปักกิ่งก็วิตกเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวประท้วงของพวกนักศึกษาที่นั่น รวมทั้งยังอาจส่งผลกระทบไปถึงพวกประเทศตะวันตกรายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป
เมื่อสหราชอาณาจักรกระทำเช่นนี้ได้ ชาติอื่นๆ ก็อาจจะเดินตามอย่าง และจุดยืนอย่างแน่วแน่ยืนกรานของอเมริกาเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็อาจจะถูกนำมาทบทวนพิจารณาด้วยแง่มุมที่แตกต่างออกไป
ความสำเร็จของ สี อยู่ในลักษณะที่ถือได้ว่าไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย เขาเป็นผู้นำคนแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งได้รับการยอมรับจากประเทศตะวันตกรายหนึ่ง ในสิ่งที่ดูมีความหมายเท่ากับเป็นการรับรองการปกครองประเทศจีนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่เคยมีผู้นำคนอื่นใดเลยที่สามารถกระทำเช่นนี้ได้ แม้กระทั่งในช่วงเวลาที่สหรัฐฯกับจีนจับมือเป็นกึ่งๆ พันธมิตรกันเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียตในสมัยสงครามเย็น วอชิงตันก็ไม่เคยหยุดยั้งแสดงความระแวงสงสัยต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน
กระนั้นก็ตาม ในมุมมองของจีนแล้ว สถานการณ์โดยรวมกำลังมีความชัดเจนน้อยลงและมีความลำบากมากขึ้น ขณะที่ตนกำลังเคลื่อนเข้าสู่น่านน้ำที่ยังไม่เคยทำการสำรวจหยั่งวัดมาก่อนเลย และไม่มีความมั่นใจว่าควรดำเนินการอย่างไรในการเดินหน้าเข้าไปในเวทีทางการเมืองซึ่งครอบงำโดยค่านิยมต่างๆ ของตะวันตก ชนิดที่ความคิดจิตใจแบบเก่าของจีนไม่รู้จัก ถึงแม้มาถึงตอนนี้ปักกิ่งอาจสามารถที่จะได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอังกฤษที่เก่าแก่
แน่นอนทีเดียว ควรที่จะต้องย้ำด้วยว่า สายสัมพันธ์อย่างใหม่ๆ กับลอนดอนนี้ มีความหมายเพียงแค่เป็นการใช้ความพยายามในยุทธศาสตร์นโยบายด้านการต่างประเทศอีกคำรบหนึ่ง ถึงแม้มันยังจะส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯและพวกชาติเพื่อนบ้านของจีนในเอเชียด้วย ทั้งนี้จีนอาจจำเป็นต้องเรียนรู้จากสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับศิลปะในการสร้างดุลแห่งอำนาจ อันเป็นคุณสมบัติซึ่งแฝงฝังอยู่ในขนบประเพณีของตะวันตก ทว่าเป็นเรื่องแปลกแยกไม่ค่อยมีให้เห็นในมรดกทางการเมืองของชาวจีน
คราวนี้หันมาพิจารณาจากมุมมองของฝ่ายสหราชอาณาจักรบ้าง ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากความสัมพันธ์แบบใหม่กับจีนนี้ อาจจะมีความชัดเจนน้อยกว่า นอกเหนือจากแรงจูงใจทางธุรกิจที่เห็นกันได้โต้งๆ ในรูปของเม็ดเงินลงทุนของฝ่ายจีนมูลหลายหลายหมื่นล้านดอลลาร์ และการค้าทวิภาคีซึ่งในไม่ช้าไม่นานจากนี้ไปยอดรวมควรจะแตะระดับ 100,000 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว จากการมีสายสัมพันธ์ทางการเมืองใหม่ๆ กับจีนนี้ อาจจะทำให้ลอนดอนมีชิปใหม่ๆ สำหรับใช้ต่อรองวางเดิมพัน สหราชอาณาจักรเวลานี้ถูกบีบคั้นอยู่ตรงกลางระหว่างสหรัฐอเมริกา กับสหภาพยุโรปที่ครอบงำโดยเยอรมนี และสูญเสียจักรวรรดิเก่าของตนไปแล้ว จึงกำลังลื่นไถลอยู่บนทางลาดต่ำลงไปสู่ภาวะไร้ความสำคัญทางการเมือง และพุ่งทะลึ่งตัวขึ้นมาได้บ้างด้วยการลงทุนของปัจเจกบุคคลผู้มั่งคั่งและบางครั้งก็คลุมเครือน่าเคลือบแคลง ซึ่งมุ่งเสาะแสวงหาดินแดนที่เป็นกึ่งสวรรค์ในด้านการเงิน (และฐานะความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของลอนดอน ยังอาจเอื้ออำนวยให้ได้ –ผู้แปล)
ก่อนการไปเยือนของ สี คราวนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าสหราชอาณาจักรกำลังอยู่บนเส้นทางที่จะกลายเป็นสวิตเซอร์แลนด์ เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศดั้งเดิมเจ้าของนามนี้ และกำลังถูกปิดล้อมถูกโจมตีจากการข่มขู่แบล็กเมล์ทางการเมืองนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นชาวสกอตที่ข่มขู่จะทอดทิ้งอังกฤษแยกตัวออกไปเป็นประเทศเอกราช อีกทั้งนำเอาทรัพยากรน้ำมันที่สหราชอาณาจักรมีอยู่ไปกับพวกเขาด้วย, สหภาพยุโรปก็คุกคามที่จะยึดเอาฐานะความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของลอนดอนไปถ้าหากสหราชอาณาจักรกล้าที่จะถอนตัวจากอียู, และวอชิงตันก็ได้ละเลยเพิกเฉยความนิยมยินดีซึ่งเคยกระทำมาก่อนหน้านี้ในการหมั่นพูดจาสนทนาหารือกับลอนดอน แล้วหันไปหาเบอร์ลินผู้ทรงอำนาจ ซึ่งกำลังกลายเป็นเมืองหลวงในทางเป็นจริงของอียู
มาถึงตอนนี้ การได้เป็น “พันธมิตร” พิเศษกับจีน ย่อมกลายเป็นแรงดีดส่งให้สหราชอาณาจักรได้กลับเข้าสู่ศูนย์กลางของเอเชีย ซึ่งกำลังเป็นเครื่องไดนาโมผลิตพลังงานทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของโลก ฐานะเช่นนี้ย่อมทำให้กลับได้รับความสนใจจากอียูและสหรัฐฯใหม่ และแน่นอนทีเดียวว่าลอนดอนยังจะได้รับความสนอกสนใจมากขึ้นจากพวกเพื่อนบ้านในเอเชียของจีนอีกด้วย ในเรื่องนี้ เรายังไม่ทราบกระจ่างชัดเจนว่าลอนดอนกับวอชิงตันมีการแลกเปลี่ยนอะไรขนาดไหน และพวกเขาบอกเล่ากันและกันอย่างไรเกี่ยวกับการไปเยือนของ สี
อนาคตของสหราชอาณาจักรน่าจะมีความกระจ่างชัดเจนมากกว่า โดยที่แผนที่ลายแทงทางการเมืองก็มีอยู่แล้ว แผนที่ลายแทงดังกล่าวนี้ได้ถูกใช้สอยมายาวนานหลายร้อยปีโดยนครรัฐเวนิส ซึ่งเที่ยวเคลื่อนไหวติดต่อสัมพันธ์ไปทั่วในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไม่ว่าจะเป็นราชอาณาจักรคริสเตียนหรือราชอาณาจักรมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์คริสเตียนอันศักดิ์สิทธิ์แห่งสเปน หรือจะเป็นมหาสุลต่านชาวเติร์กที่เป็นพวกนอกศาสนา
เวนิส ซึ่งเล็กกระจิ๋ว แต่เจ้าเล่ห์และเจ้าความคิด ใช้ความพยายามอย่างประสบความสำเร็จมาหลายศตวรรษในการเล่นเกมดุลแห่งอำนาจในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และยังคงสามารถรักษาอำนาจของตนเองเอาไว้ได้กระทั่งหลังจากหนทางทำมาหากินสายหลักของตน (การค้าในเมดิเตอร์เรเนียน) ถูกแทนที่ด้วยเส้นทางทำเงินทำทองสายใหม่ๆ ซึ่งแล่นผ่านมหาสมุทรแอตแลนติก และเกินเลยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์สำหรับนครรัฐอิตาเลียนแห่งนี้
อันที่จริงแล้ว ลอนดอนกับเวนิสมักถูกผูกเอาไว้ด้วยเงื่อนปมที่มองไม่เห็นแต่เหนียวแน่นเสมอมา ดูจะไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความบังเอิญเล็กๆ น้อยๆ หรอกที่ในตอนอังกฤษเริ่มต้นก้าวผงาดขึ้นเป็นจักรวรรดิระดับโลกนั้น วิลเลียม เชคสเปียร์ กวีและผู้วางรากฐานวรรณกรรมคนสำคัญของอังกฤษ คงพิจารณาเห็นว่าควรต้องถือเอา สาธารณรัฐเวนิส มาเป็นแบบอย่างเป็นแน่ ดังเห็นได้จากการที่บทละครชั้นเยี่ยมที่สุดของเขาจำนวนมากจะมีท้องเรื่องอยู่ที่นั่น (เวนิสวาณิช, โรเมโอ และ จูเลียต, โอเทลโล ฯลฯ)
มาถึงตอนนี้ลอนดอนสามารถที่จะฉีกหน้ากระดาษจากปูมบันทึกของเวนิสมาเป็นเครื่องนำทาง และแสดงบทบาทในระดับโลกอย่างที่เวนิสเคยแสดงอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน –นั่นคือเป็นชาวตะวันตกอย่างหนักแน่นมั่นคง แต่ก็พร้อมทำการซื้อทำการขายต่อรองแลกเปลี่ยนกับใครหน้าไหนก็ได้
แน่นอนทีเดียว สหรัฐฯและอียูยังคงมีไพ่เหนือกว่าที่สามารถเอาชนะไพ่จีนในมือของสหราชอาณาจักรได้ แต่การเอาไพ่เช่นนั้นออกมาเล่นไม่ว่าในทางการเมืองและในทางเศรษฐกิจต้องถือว่ามีราคาแพงลิบลิ่ว เนื่องจากจีนนั้นไม่ได้เป็นแค่ผู้เล่นรายเล็กๆ แถมลงท้ายลอนดอนก็จะกลายเป็นผู้ชนะจนได้ เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1560 และทศวรรษ 1570 ก่อนหน้ายุทธการแห่งเลปันโต (Battle of Lepanto) เมื่อเวนิสหันหลังให้พวกเติร์ก (ซึ่งได้เข้าโจมตีทรัพย์สินในเมดิเตอร์เรเนียนของเวนิส) และกลับมาอยู่ข้าง เจนัว และสเปน ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของตุรกี พร้อมๆ กับที่คอยปิดช่องจำกัดความทะเยอทะยานของฝรั่งเศสเอาไว้เป็นบางส่วน ทว่าหลังจากสามารถต้านทานการบุกเข้ามาของพวกเติร์กแล้ว เวนิสก็ได้ละทิ้งความเป็นพันธมิตรกับสเปน และหวนกลับไปทำการค้ากับอิสตันบูล โดยวางฐานะตนเองว่าเป็นกลางไม่เข้าข้างใด
แน่นอนทีเดียว ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยตนเองหรอก กระทั่งหากลอนดอนคือเวนิสในปัจจุบัน ก็ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจนว่า ใครคือ สเปน, เจนัว, ฝรั่งเศส, หรือจักรวรรดิเติร์กในยุคสมัยนี้ ในเมื่อสิ่งต่างๆ จำนวนมากยังกำลังเพิ่งเริ่มคลี่คลายตัว กระนั้นในอีกด้านหนึ่ง ประวัติศาสตร์ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเพิกเฉยละเลยอย่างไม่ใยดีได้
สิ่งที่จะต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปก็คือ “ความเป็นพันธมิตร” ที่เพิ่งงอกเงยขึ้นมาใหม่นี้ มีความหวังใดๆ ที่จะรอดชีวิตและเจริญเติบโตต่อไปหรือไม่
ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นนักวิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยไชน่าเหรินหมิน (China Renmin University) เป็นเจ้าของคอลัมน์ “ซิโนกราฟ” (Sinograph) ของเอเชียไทมส์ และเคยเป็นบรรณาธิการด้านเอเชียให้แก่หนังสือพิมพ์รายวันอิตาลี ลา สตัมปา (La Stampa) และผู้สื่อข่าวประจำกรุงปักกิ่งให้แก่ อิล โซเล ดิ 24 โอเร (Il Sole di 24 Ore) เขาเป็นชาวต่างประเทศคนแรกที่ได้เข้าโปรแกรมบัณฑิตศึกษาของบัณฑิตสถานทางสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Social Sciences) เขาเขียนหนังสือว่าด้วยจีนมาแล้ว 8 เล่ม และได้รับเชิญเป็นนักวิจารณ์จากทางสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (CCTV) อยู่บ่อยครั้ง