เอเอฟพี / เอเจนซีส์ / MGR online - คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่ชาวฝรั่งเศสของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกโรงเตือนในวันอาทิตย์ (8 พ.ย.) โดยระบุ ราคาพลังงานในตลาดโลกอาจเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ต่ำเตี้ยต่อไปอีกนานหลายปี และว่าถึงเวลาแล้วที่บรรดารัฐอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซียที่ต้องพึ่งพารายได้หลักจากการส่งออกทรัพยากรพลังงานจะต้องหันมาปรับสมดุลด้านงบประมาณอย่างจริงจัง
บอสหญิงแห่งไอเอ็มเอฟ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวที่กรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ หลังเข้าพบหารือกับบรรดารัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ 6 ประเทศอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซีย ที่เป็นสมาชิกของสภาความร่วมมือแห่งอ่าว (Gulf Cooperation Council : GCC)
โดยเธอระบุว่า ประเทศต่างๆ ไม่อาจหวังพึ่งพารายได้ทางเดียวที่มาจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้อีกต่อไป และถึงเวลาแล้วที่ประเทศที่เคยพึ่งพารายได้หลัก จากทรัพยากรดังกล่าวจะต้องเริ่มเดินหน้ากระบวนการปรับสมดุลด้านงบประมาณ โดยเฉพาะการควบคุมการใช้จ่าย ให้มีความสอดคล้องกับภาวะของราคาพลังงานในตลาดโลกที่ทางไอเอ็มเอฟเชื่อว่าจะยังคงอยู่ในช่วงขาลงหรือในระดับที่ต่ำเตี้ยเช่นนี้ ต่อไปอีกนานหลายปีนับจากนี้
ระหว่างการเยือนกรุงโดฮาของกาตาร์ในครั้งนี้ ลาการ์ดยังเผยด้วยว่า ทางไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศจีซีซีในปี 2016 จะปรับลดลงมาเหลือเพียง 2.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จากที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 3.2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2015 นี้
ท่าทีล่าสุดของบอสใหญ่แห่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มีขึ้นภายหลังจากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกประสบภาวะดิ่งเหวร่วงลงอย่างต่อเนื่องมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ต้นปี 2014 เป็นต้นมา
โดยล่าสุดเมื่อวันศุกร์ (6 พ.ย.) ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบที่ตลาดเบรนท์ในลอนดอนงวดส่งมอบเดือนธันวาคมนี้ ได้ร่วงลงมาแตะระดับ 47.42 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บาร์เรล
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้ออกโรงเตือน ซาอุดีอาระเบีย หนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกว่าอาจประสบภาวะ “ล้มละลายทางเศรษฐกิจ” ภายในปี ค.ศ. 2020 หรือใน 5 ปีข้างหน้า หากรัฐบาลของราชอาณาจักรกลางทะเลทรายแห่งนี้ยังคงไม่ “รักษาวินัยการคลัง”
โดยในรายงานล่าสุดของไอเอ็มเอฟเกี่ยวกับภาพรวม และแนวโน้มทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียจะต้องหันมารักษาวินัยทางการคลังอย่างจริงจัง และยุติการใช้จ่ายงบประมาณ ในระดับที่สูงกว่ารายได้ของประเทศ ก่อนที่จะประสบภาวะ “ถังแตก” ในปี 2020
ข้อมูลของไอเอ็มเอฟระบุว่า ในปีนี้ยอดการขาดดุลงบประมาณของซาอุดีอาระเบีย พุ่งสูงถึง 21.6 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในปี 2016 ก็คาดว่ายอดการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลริยาดห์จะอยู่ที่ราว 19.4 เปอร์เซ็นต์
มาซูด อาเหม็ด ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียกลาง ของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า นอกเหนือจากซาอุดีอาระเบียจะต้องยุติการใช้จ่ายเงินงบประมาณ มากกว่ารายได้ของประเทศ โดยเฉพาะในภาวะที่ราคาน้ำมันที่เป็นสินค้าออกสำคัญของซาอุฯ อยู่ในภาวะดิ่งเหวแล้ว ซาอุฯก็ต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญในการสร้างงาน ให้ประชาชนมากกว่า 10 ล้านตำแหน่งภายใน 5 ปีข้างหน้าด้วยเช่นกัน
ผลพวงจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำในตลาดโลกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียที่ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันในสัดส่วนที่สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดต้องเผชิญกับภาวะขาดดุลงบประมาณเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2009 เป็นต้นมา ขณะเดียวกัน ยอดสินทรัพย์สุทธิในต่างประเทศของซาอุฯได้หดหายไปแล้วกว่า 82,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.91 ล้านล้านบาท ) ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้
ก่อนหน้านี้ ทางการโอมาน ที่เป็นอีกหนึ่งประเทศผู้ส่งออกพลังงานรายสำคัญ เพิ่งออกมายอมรับว่า ประสบภาวะขาดดุลงบประมาณไปแล้วกว่า 6,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 247,185 ล้านบาท) เฉพาะช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้จากผลพวงของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ตกต่ำ ส่งผลกระทบช่องทางหารายได้หลักเข้าประเทศ
รายงานข่าวซึ่งอ้างการเปิดเผยรายงานของกระทรวงการคลังโอมานระบุว่า ตัวเลขการขาดดุลงบประมาณของรัฐสุลต่านแห่งนี้ นับตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้พุ่งสูงแตะระดับ 6,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 247,185 ล้านบาท) สวนทางกับช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อปี 2014 ที่งบประมาณของประเทศประสบภาวะ “เกินดุล” กว่า 534 ล้านดอลลาร์ (ราว 18,945 ล้านบาท)
รายงานของกระทรวงการคลังโอมาน ระบุว่า การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง คือ ปัจจัยสำคัญ ที่นำไปสู่ภาวะการขาดดุลงบประมาณแผ่นดินครั้งมโหฬารนี้
ทั้งนี้ แหล่งข่าวภายในกระทรวงการคลังโอมาน เปิดเผยว่า ในความเป็นจริงแล้วทางการโอมานวางแผนจัดทำงบประมาณแผ่นดินในปี 2015 นี้ โดยคำนวณจากพื้นฐานราคาน้ำมันที่เป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศที่ระดับ 75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ราคาน้ำมันในตลาดโลกช่วงที่ผ่านมากลับลดต่ำลงกว่าระดับที่ทางการโอมานคาดการณ์ไว้ และนี่เป็นที่มาของการขาดดุลงบประมาณครั้งเลวร้ายของรัฐสุลต่านแห่งนี้ที่มี ยอดขาดดุลเฉียด 7,000 ล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลาเพียง 8 เดือน
ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่า ภาวะดิ่งเหวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ซาอุดีอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ โอมาน และบาห์เรน คิดเป็นวงเงินรวมกันไม่น้อยกว่า 215,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 7.62 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 14 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพีรวม ของทั้ง 6 ประเทศในปี 2015 นี้
เมื่อไม่นานมานี้ ชีคห์ ซาบาห์ อัล-อาเหม็ด อัล-ซาบาห์ เจ้าผู้ครองรัฐของคูเวต ทรงออกโรงเตือนถึงภาวะราคาน้ำมันที่ยังคงดิ่งลงอย่างต่อเนื่องในตลาดโลกว่า เปรียบเสมือน “เงามืด” ที่กำลังย่างกรายเข้าปกคลุมเศรษฐกิจของสมาชิกกลุ่ม “โอเปก” พร้อมแนะว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียวในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศ
ชีคห์ ซาบาห์ ในวัย 85 พรรษา ซึ่งทรงก้าวขึ้นครองอำนาจในฐานะ “เจ้าผู้ครองรัฐพระองค์ที่ 5” ของคูเวตตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคมปี 2006 ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่คูเวตและประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปก หรือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมรายใหญ่ของโลกจะต้อง “เลิกพึ่งพา” รายได้จากการขายน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียวในการพัฒนาประเทศ และควรเร่งหาทางสร้างแหล่งรายได้ที่หลากหลายสำหรับใช้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจใน อนาคต
“การดิ่งลงของราคาน้ำมันนั้น ไม่ต่างจากเงามืด ที่กำลังย่างกรายเข้ามาปกคลุมเศรษฐกิจและอนาคตของเรา ถึงเวลาแล้วที่สมาชิกโอเปกทั้งหลายต้องหาหนทางอื่นในการพัฒนาเศรษฐกิจแทนการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน เราต้องเร่งหาทางปกป้องเศรษฐกิจ และสร้างหลักประกันให้กับลูกหลานของเราในอนาคต ในวันที่เราไม่มีน้ำมันเหลืออยู่แล้ว” ชีคห์ ซาบาห์ ตรัส
ท่าทีขององค์เอมีร์แห่งคูเวต มีขึ้นหลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี และส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างหนัก ระหว่างสมาชิกกลุ่มโอเปกในเรื่องการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อให้มีน้ำมันออก สู่ตลาดโลกลดน้อยลง และผลักราคาน้ำมันให้ปรับสูงขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดของรัฐบาลคูเวตที่มีการเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า ในขณะนี้รายได้จากการส่งออกน้ำมันมีสัดส่วนคิดเป็น “เกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพี” ของคูเวต และถือเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดของประเทศ