xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติคูเวตยอมรับ ศก.ประสบภาวะ “หดตัว” ครั้งแรกนับแต่ปี 2010 จากผลพวงราคาน้ำมันดิ่งเหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี / เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ – เศรษฐกิจของคูเวตประสบภาวะหดตัวในปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการหดตัวของเศรษฐกิจดินแดนเศรษฐีน้ำมันแห่งนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา จากผลพวงของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาลง ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยของธนาคารกลางคูเวต ในวันพฤหัสบดี ( 29 ต.ค.)

รายงานสรุปภาพรวมภาวะเศรษฐกิจประจำปีของธนาคารกลางคูเวต ที่มีการเผยแพร่ออกมาล่าสุด ระบุว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของคูเวต ในปี 2014 ที่ผ่านมามีการหดตัวลงที่ระดับ 1.6 เปอร์เซ็นต์ จากสาเหตุหลักของการหดตัวของจีดีพีในส่วนที่เป็นรายได้จากน้ำมัน

นักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างออกโรงเตือนก่อนหน้านี้ ถึงผลกระทบที่บรรดาประเทศที่ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันจะได้รับ ในภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดต่ำลงมากกว่าครึ่ง จนแตะระดับต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บาร์เรล ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้ว

ที่ผ่านมาคูเวตก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับบรรดาชาติเพื่อนบ้านอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซีย ในการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ เพื่อชดเชยรายได้ที่หดหายไปจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ

ข้อมูลของแบงก์ชาติคูเวตระบุด้วยว่า ในปี 2014 ที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของจีดีพีของประเทศตนในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ นอกเหนือจากอุตสาหกรรมน้ำมันนั้น มีการเติบโตในระดับที่ต่ำเตี้ยเพียงแค่ 2.1 เปอร์เซ็นต์

ก่อนหน้านี้ ธนาคารโลกเคยระบุว่า เศรษฐกิจของคูเวตในเวลานี้ กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังจากเคยประสบภาวะหดตัวทางเศรษฐกิจถึงระดับ 7.1 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2009 และหดตัวอีก 2.4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2010 ก่อนที่จะกลับมาเติบโตได้ที่ระดับ 1.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2013

ทั้งนี้ คูเวตซึ่งเป็นบ้านของประชากรราว 1.3 ล้านคน และเป็นที่อาศัยของชาวต่างชาติอีกราว 2.9 ล้านคนถือเป็นประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ในบรรดารัฐอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซีย รองจากซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และกาตาร์ โดยคูเวตมีศักยภาพในการผลิตน้ำมันได้วันละประมาณ 2.8 ล้านบาร์เรล

ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ( ยูเออี ) แสดงความเชื่อมั่นในวันจันทร์ ( 26 ต.ค.) โดยระบุ แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก น่าจะกลับไปอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ได้อีกครั้งในปี 2016 ที่กำลังจะมาถึง หลังดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดไปแล้วในรอบ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา

ซูฮาอิล บิน โมฮัมเหม็ด อัล-มัซรูอี รัฐมนตรีน้ำมันของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แสดงความเชื่อมั่นต่อทิศทางขาขึ้นในปีหน้าของราคาน้ำมันในตลาดโลก ระหว่างร่วมการประชุมด้านธุรกิจระหว่างประเทศในนครดูไบ โดยระบุ ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ดิ่งลงสู่ระดับต่ำเตี้ยที่สุดแล้วตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา และถึงเวลาที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะกลับไปอยู่ในขาขึ้นอีกครั้งในปี 2016


รัฐมนตรีน้ำมันของยูเออีเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาเชื่อมั่นว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะกลับไปอยู่ในช่วงขาขึ้นได้อีกครั้งในปีหน้านั้น ส่วนหนึ่งถือเป็นผลพวงมาจากภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น “เร็วกว่า” ที่เคยมีการคาดการณ์กันไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป หรือญี่ปุ่น ที่ต่างได้ชื่อว่าเป็นผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ของโลก



อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีน้ำมันแห่งยูเออีเผยว่า ทางกลุ่ม “โอเปก” ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่จะไม่ดำเนินมาตรการใด ๆ เพื่อแทรกแซงกลไกตลาด หากราคาน้ำมันยังไม่กลับสู่ช่วงขาขึ้นในปี 2016 อย่างที่คาดการณ์เอาไว้


ขณะเดียวกันรัฐมนตรีน้ำมันยูเออียังระบุการกลับเข้าสู่ตลาดน้ำมันอีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้ของอิหร่าน หลังการบรรลุข้อตกลงเรื่องโครงการพัฒนานิวเคลียร์กับบรรดาชาติมหาอำนาจ ถือเป็นสิ่งที่กลุ่มโอเปกคาดการณ์เอาไว้แล้ว และว่าทางกลุ่ม มีกลไกการบริหารจัดการที่สามารถรับมือกับน้ำมันจำนวนมากของอิหร่าน ที่จะถูกส่งออกสู่ตลาดโลก หลังหลุดพ้นจากมาตรการ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติมหาอำนาจ


“อิหร่านก็เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปก และเราเชื่อว่าทุกประเทศย่อมมีเสรีภาพในเรื่องการผลิตน้ำมันตามศักยภาพของตัวเอง แต่ถึงกระนั้น ข้าพเจ้ายังเชื่อมั่นว่า ทางกลุ่มฯ จะสามารถรับมือกับการกลับเข้าสู่ตลาดน้ำมันอีกครั้งของอิหร่านได้ ผ่านทางกลไลต่างๆ ที่เรามีอยู่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การกำหนดโควต้าหรือเพดานการผลิตน้ำมันนั่นเอง” ซูฮาอิล บิน โมฮัมเหม็ด อัล-มัซรูอี รัฐมนตรีน้ำมันของยูเออี กล่าว


ท่าทีล่าสุดของรัฐมนตรีน้ำมันยูเออีมีขึ้นเพียง 1 สัปดาห์ หลังจากที่รัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านอย่างโอมานออกมายอมรับเมื่อ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า ประสบภาวะขาดดุลงบประมาณไปแล้วกว่า 6,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 247,185 ล้านบาท) เฉพาะช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ จากผลพวงของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ตกต่ำ จนส่งผลกระทบช่องทางหารายได้หลักเข้าประเทศ


รายงานข่าวซึ่งอ้างการเปิดเผยรายงานของกระทรวงการคลังโอมานระบุว่า ตัวเลขการขาดดุลงบประมาณของรัฐสุลต่านแห่งนี้ นับตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้พุ่งสูงแตะระดับ 6,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 247,185 ล้านบาท) สวนทางกับช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อปี 2014 ที่งบประมาณของประเทศประสบภาวะ “เกินดุล” กว่า 534 ล้านดอลลาร์ (ราว 18,945 ล้านบาท)



รายงานของกระทรวงการคลังโอมานระบุว่า การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในรอบ 1 ปีกว่าที่ผ่านมา คือ ปัจจัยสำคัญ ที่นำไปสู่ภาวะการขาดดุลงบประมาณแผ่นดินครั้งมโหฬารนี้



ทั้งนี้แหล่งข่าวภายในกระทรวงการคลังโอมานเปิดเผยว่าในความเป็นจริงแล้วทางการโอมานวางแผนจัดทำงบประมาณแผ่นดินในปี 2015 นี้ โดยคำนวณจากพื้นฐานราคาน้ำมันที่เป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศที่ระดับ 75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ราคาน้ำมันในตลาดโลกช่วงที่ผ่านมากลับลดต่ำลงกว่าระดับที่ทางการโอมานคาดการณ์ไว้ และนี่เป็นที่มาของการขาดดุลงบประมาณครั้งเลวร้ายของรัฐสุลต่านแห่งนี้ ที่มียอดขาดดุลเฉียด 7,000 ล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลาเพียง 8 เดือน



ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่า ภาวะดิ่งเหวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ซาอุดีอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ โอมาน และบาห์เรน คิดเป็นวงเงินรวมกันไม่น้อยกว่า 215,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 7.62 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 14 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีรวม ของทั้ง 6 ประเทศในปี 2015 นี้


เมื่อไม่นานมานี้ ชีคห์ ซาบาห์ อัล-อาเหม็ด อัล-ซาบาห์ เจ้าผู้ครองรัฐของคูเวต ทรงออกโรงเตือนถึงภาวะราคาน้ำมันที่ยังคงดิ่งลงอย่างต่อเนื่องในตลาดโลกว่าเปรียบเสมือน “เงามืด”ที่กำลังย่างกรายเข้าปกคลุมเศรษฐกิจของสมาชิกกลุ่ม “โอเปก” พร้อมแนะว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียวในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศ


ชีคห์ ซาบาห์ ในวัย 85 พรรษา ซึ่งทรงก้าวขึ้นครองอำนาจในฐานะ “เจ้าผู้ครองรัฐพระองค์ที่ 5” ของคูเวตตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคมปี 2006 ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่คูเวตและประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปก หรือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมรายใหญ่ของโลกจะต้อง “เลิกพึ่งพา” รายได้จากการขายน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียวในการพัฒนาประเทศ และควรเร่งหาทางสร้างแหล่งรายได้ที่หลากหลายสำหรับใช้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในอนาคต



“การดิ่งลงของราคาน้ำมันไม่ต่างจากเงามืดที่กำลังย่างกราย เข้าปกคลุมเศรษฐกิจและอนาคตของเรา ถึงเวลาแล้วที่สมาชิกโอเปกทั้งหลาย ต้องหาหนทางอื่นในการพัฒนาเศรษฐกิจแทนการ พึ่งพารายได้จากน้ำมัน เราต้องเร่งหาทางปกป้องเศรษฐกิจและสร้างหลักประกันให้กับลูกหลานของเราในอนาคต ในวันที่เราไม่มีน้ำมันเหลืออยู่แล้ว” ชีคห์ ซาบาห์ ตรัส



ท่าทีล่าสุดขององค์เอมีร์แห่งคูเวต มีขึ้นหลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี และส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างหนัก ระหว่างสมาชิกกลุ่มโอเปกในเรื่องการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อให้มีน้ำมันออกสู่ตลาดโลกลดน้อยลง และผลักราคาน้ำมันให้ปรับสูงขึ้น


ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดของรัฐบาลคูเวตที่มีการเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า ในขณะนี้รายได้จากการส่งออกน้ำมันมีสัดส่วนคิดเป็น“เกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพี” ของคูเวตและถือเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดของประเทศ