เอเอฟพี - ขณะที่คลื่นผู้ลี้ภัยสงครามนับแสนคนกำลังไหลทะลักเข้าสู่ทวีปยุโรป หลายคนอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่า เหตุใดรัฐอ่าวอาหรับซึ่งมีเศรษฐกิจมั่งคั่งจึงไม่แสดงสปิริตเปิดรับผู้อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานมากกว่านี้ ทั้งๆ ที่มีวัฒนธรรมและความเชื่อคล้ายคลึงกันมากกว่าชาวยุโรปเสียอีก
จนถึงปลายเดือนสิงหาคมปีนี้ มีชาวซีเรียที่อพยพหนีสงครามกลางเมืองออกนอกประเทศแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน ทว่ามีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ถูกรับเข้าไปอาศัยอยู่ใน 6 ประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (จีซีซี)
แม้บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะบริจาคเงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือผู้อพยพ แต่ก็ไม่วายถูกเพ่งเล็งว่าไม่เต็มใจที่จะเปิดพรมแดนรับผู้อพยพเข้าประเทศ
ยิ่งสถานการณ์เลวร้ายลง หลายคนก็ยิ่งเกิดคำถามในใจว่า “ทำไม” ประเทศอาหรับด้วยกันจึงไม่ยอมให้ที่พักพิงแก่ผู้อพยพที่มีวัฒนธรรม ค่านิยม และการนับถือศาสนาแทบจะไม่แตกต่างจากพวกเขา
เสียงวิจารณ์เหล่านี้ไม่ได้มีเฉพาะในโลกตะวันตก แม้แต่คนในภูมิภาคตะวันออกกลางเองก็ไม่เข้าใจ
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในรัฐอ่าวอาหรับเริ่มมีการติดแฮชแท็ก "#Welcoming_Syria's_refugees_is_a_Gulf_duty" เพื่อแสดงความคับข้องใจต่ออาการเพิกเฉยของรัฐบาลกลุ่มจีซีซี
“รัฐอ่าวอาหรับทั้งหลายควรจะอายที่เห็นยุโรปเปิดประตูรับผู้ลี้ภัยจากซีเรีย แต่พวกเขาเองกลับไม่ยอมรับเรา” อบูโมฮัมเหม็ด ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียวัย 30 ปีซึ่งอาศัยอยู่ในจอร์แดน ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
ฤดูร้อนปีนี้มีคลื่นผู้ลี้ภัยจากซีเรียหลั่งไหลเข้าสู่สหภาพยุโรปนับแสนๆ คน เฉพาะเยอรมนีก็คาดว่าจะต้องรับผู้อพยพเข้าประเทศถึง 800,000 คนในปีนี้ ขณะที่ผู้นำชาติยุโรปกำลังเร่งหามาตรการรองรับผู้อพยพอีกหลายหมื่นคนที่กำลังทยอยเข้ามา
กระนั้นก็ดี มาตรการบรรเทาวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ของโลกกลับยังไม่ถูกพูดถึงในกลุ่มประเทศจีซีซี ซึ่งรุ่มรวยด้วยทรัพยากรน้ำมัน
หนังสือพิมพ์กัลฟ์ไทม์สของกาตาร์เขียนไว้ในบทบรรณาธิการเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า “น่าเศร้าเหลือเกินที่กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับซึ่งมีฐานะร่ำรวยยังไม่มีคำแถลงใดๆ เกี่ยวกับวิกฤตการณ์นี้ อย่าว่าแต่จะหายุทธศาสตร์เพื่อช่วยเหลือผู้อพยพซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม”
สุลต่าน อัล-กอสเซมี บล็อกเกอร์ที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐอ่าวอาหรับจะต้องแสดงออกซึ่งความมี “ศีลธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบ” ด้วยการเปลี่ยนนโยบายไปสู่การเปิดรับผู้อพยพ
บิดาของ “อัยลัน กุรดี” เด็กชายชาวซีเรียวัย 3 ขวบที่เสียชีวิตจากเรืออับปางและศพลอยไปติดบนชายหาดตุรกีจนสร้างความสะเทือนใจต่อคนทั้งโลก กล่าวในพิธีศพภรรยาและบุตร 2 คนว่า “ผมอยากให้รัฐบาลชาติอาหรับ ไม่ใช่ยุโรป หันมามองว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกของผม และกรุณาให้ความช่วยเหลือผู้อพยพบ้าง”
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เริ่มดังขึ้นในช่วงนี้คงยังไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในกลุ่มประเทศจีซีซี ซึ่งไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย (UN Convention on Refugees)
“ผมไม่คิดว่าจะมีใครทำอย่าง เดวิด คาเมรอน (นายกรัฐมนตรีอังกฤษ) ที่ตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายภายใน 36 ชั่วโมง” ไมเคิล สตีเฟนส์ นักวิจัยด้านตะวันออกกลางจากสถาบัน RUSI บอกกับเอเอฟพี โดยอ้างถึงข่าวที่ว่าผู้นำอังกฤษจะเปิดรับผู้อพยพจากซีเรียเพิ่มเป็น 15,000 คน
“พลเมืองส่วนใหญ่ในรัฐอ่าวอาหรับยังเชื่อว่า สิ่งที่รัฐบาลของพวกเขาทำในซีเรียเป็นเรื่องถูกต้องเหมาะสมแล้ว”
ที่ผ่านมาใช่ว่ากลุ่มจีซีซีจะเพิกเฉยไม่ยุ่งเกี่ยวกับสงครามในซีเรีย พวกเขาได้มอบความช่วยเหลือทางการเงินอย่างมหาศาลต่อผู้ลี้ภัยที่พำนักอยู่ในเลบานอน จอร์แดน และตุรกี ทั้งยังมีส่วนช่วยสนับสนุนกองกำลังกบฏที่ต้องการโค่นรัฐบาลประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ซึ่งเป็นพันธมิตรของอิหร่าน
จีซีซีได้จัดส่งเงินทุนและอาวุธช่วยเหลือกลุ่มกบฏที่กำลังสู้รบกับกองทัพอัสซาด แต่นั่นก็ทำให้เกิดข้อครหาว่า พวกเขากำลังสนับสนุนพวกอิสลามิสต์หัวรุนแรงทางอ้อม
อย่างไรก็ดี เมื่อมาถึงเรื่องการเปิดรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ ปัญหาภายในที่จะเกิดขึ้นตามมาดูจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีซีซีกังวลมากกว่า แม้ว่าผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิมนิกายสุหนี่เหมือนกับพลเมืองของพวกเขาก็ตาม
รัฐอาหรับขนาดเล็กอย่างยูเออีและกาตาร์มีแรงงานต่างชาติมากกว่าพลเมืองท้องถิ่นอยู่แล้ว จึงกังวลเป็นพิเศษว่าผู้อพยพจะ “ล้นเมือง” ส่วนซาอุดีอาระเบียก็เป็นห่วงเรื่องความมั่นคง เนื่องจากกำลังตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่ปฏิบัติการอยู่ในซีเรียและอิรัก
การไหลเข้าของผู้อพยพจำนวนมหาศาลยังอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของบางประเทศที่กลุ่มคนรากหญ้ายังไม่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมากนัก
“รัฐอ่าวอาหรับมีส่วนแทรกแซงการเมืองในซีเรีย และอาจกังวลว่าจะมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีเล็ดรอดเข้ามากับผู้อพยพหรือไม่ และเมื่อเข้ามาแล้วจะมาวางแผนก่อเหตุอะไรในประเทศ” สุลต่าน บารากัต นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันบรุกกิงส์ในกรุงโดฮา ให้ความเห็น
เขาเสนอว่า หนทางหนึ่งที่จะช่วยผู้อพยพและบรรเทาเสียงติเตียนจากนานาชาติ คือการเปิดรับเฉพาะสมาชิกในครอบครัวของชาวซีเรียที่พำนักอยู่ในกลุ่มประเทศจีซีซีอยู่แล้ว
ปัจจุบันมีชาวซีเรียหลายหมื่นอาศัยอยู่ในรัฐอ่าวอาหรับร่วมกับชาวต่างชาติอีกหลายล้านคน เนื่องจากมีโอกาสที่ดีกว่าในการประกอบอาชีพ ซึ่งประเด็นนี้ถูกคนบางกลุ่มยกมาเป็นข้ออ้างว่า รัฐบาลจีซีซีก็ได้ “ช่วยเหลือ” ชาวซีเรียที่หนีภัยสงครามอยู่แล้ว
เมื่อไม่นานนี้ มีผู้ที่อ้างตัวเป็นชาวซีเรียเขียนไว้ในเฟซบุ๊กว่า “ซาอุดีอาระเบียไม่รับผู้ลี้ภัย แต่ให้ที่พำนักแก่ชาวซีเรียหลายล้านคนที่ถือวีซ่าท่องเที่ยว ไม่รวมชาวซีเรียที่อาศัยอยู่ในซาอุฯ อยู่แล้ว พวกเขาได้รับบริการด้านสาธารณสุข การศึกษา และบางคนยังได้ความช่วยเหลือจากมูลนิธิต่างๆ ด้วย”
พลเมืองจีซีซีบางคนชี้ว่า รัฐบาลตะวันตกต่างหากที่สมควรถูกตำหนิติเตียน เพราะไม่ได้ช่วยสนับสนุนพวกกบฏซีเรียอย่างเต็มกำลังในการโค่นล้ม อัสซาด ซึ่งเป็น “ตัวการ” อยู่เบื้องหลังวิกฤตผู้อพยพครั้งนี้
“เจ้าหน้าที่ยุโรปและอเมริกันที่ใช้นโยบายแบบไม่มองการณ์ไกล จะต้องเป็นฝ่ายยอมรับผู้ลี้ภัยซีเรียมากขึ้น” นัสเซอร์ อัล-คอลีฟา อดีตนักการทูตชาวกาตาร์ เขียนไว้ในทวิตเตอร์ส่วนตัว