เอเอฟพี - คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติเป็นเอกฉันท์วานนี้ (20 ก.ค.) รับรองข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ที่อิหร่านทำร่วมกับกลุ่มมหาอำนาจ P5+1 ซึ่งถือเป็นสัญญาณไฟเขียวที่จะนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแก่เตหะราน
มติคว่ำบาตรที่ยูเอ็นสั่งลงโทษอิหร่านถึง 7 ครั้งมาตั้งแต่ปี 2006 จะถูกยกเลิกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขึ้นอยู่กับว่าอิหร่านปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับ 5 ชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นบวกเยอรมนีอย่างจริงจังหรือไม่
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ แถลงว่า ตนหวังว่ามติ UN “จะส่งสัญญาณที่ชัดเจน” ว่าวิธีการทูตนั้น “เป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่จะช่วยป้องกันไม่ให้อิหร่านครอบครองอาวุธนิวเคลียร์”
จากการคาดหมายว่าน้ำมันดิบอิหร่านจะออกสู่ตลาดโลกอีกครั้ง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบร่วงติดต่อกันเป็นวันที่ 4 วานนี้ (20) โดยน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเทอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 74 เซ็นต์ ปิดที่ 50.15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนกันยายน ลดลง 45 เซ็นต์ ปิดที่ 56.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ผู้แทนการทูตในคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นระบุว่า โลกควรยึดถือความสำเร็จที่ได้จากการเจรจากับอิหร่านนานหลายปีเป็น “แม่แบบ” สำหรับแก้ไขวิกฤตการณ์อื่นๆ รวมไปถึงสงครามกลางเมืองในซีเรียและเยเมน
“เมื่อใดที่ทุกชาติร่วมแรงร่วมใจกันเผชิญวิกฤตของโลก พลังของพวกเราจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล” ซาแมนธา เพาเวอร์ ผู้แทนสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติ ระบุ
ข้อตกลงฉบับนี้จะเปิดโอกาสให้อิหร่านได้ติดต่อสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคอื่นๆ มากขึ้น รวมถึงมีบทบาทในการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอิรัก และซีเรีย
ฆอลามาลี โคชรู ผู้แทนอิหร่านประจำองค์การสหประชาชาติ ยืนยันว่า เตหะรานพร้อมที่จะ “ร่วมมืออย่างจริงใจ” กับเพื่อนบ้านในภูมิภาค
“ถึงเวลาที่เราจะต้องร่วมมือต่อสู้ภัยคุกคามที่กำลังเผชิญร่วมกันอยู่ ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใดก็คือลัทธิหัวรุนแรง” เขากล่าว
อิสราเอลซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับอิหร่านยังคงจุดยืนคัดค้านข้อตกลงนิวเคลียร์ ขณะที่สมาชิกสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ (จีซีซี) ทั้ง 6 ชาติ ซึ่งได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ คูเวต บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และโอมาน ก็ได้ออกมาประท้วงวานนี้ (20) ว่าอิหร่านแสดงท่าทีขัดแย้งกับสิ่งที่ได้ให้สัญญาไว้กับมหาอำนาจ P5+1
สหรัฐฯ ได้ส่งรัฐมนตรีกลาโหม แอชตัน คาร์เตอร์ ไปเยือนอิสราเอลเพื่อคลายความกังวล และเน้นย้ำว่าวอชิงตันจะยังสนับสนุนและให้การปกป้องรัฐยิวเหมือนเดิม