รอยเตอร์ - เครื่องบินขับไล่ F-16 ของโมร็อกโกลำหนึ่งสูญหายไปขณะเข้าร่วมปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในเยเมนที่มีซาอุอาระเบียเป็นผู้นำวานนี้ (10 พ.ค.) โดยกองทัพอากาศโมร็อกโกกำลังเร่งติดตาม
ซาอุฯ และประเทศพันธมิตรซึ่งมีสหรัฐฯ คอยหนุนหลังได้ส่งเครื่องบินเข้าไปโจมตีฐานที่มั่นของกบฏฮูตีและหน่วยทหารที่ยังภักดีต่ออดีตประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ เยเมน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. โดยหวังที่จะคืนอำนาจปกครองอันชอบธรรมให้แก่ประธานาธิบดีอับดุร-รับบูห์ มันซูร์ ฮาดี ที่ถูกพวกกบฏยึดเมืองหลวง และตามไล่ล่าจนต้องหนีออกนอกประเทศ
โมร็อกโกประกาศสนับสนุนซาอุดีอาระเบียมาตั้งแต่ต้น และได้ส่งฝูงบินขับไล่ F-16 ไปประจำการอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพื่อคอยช่วยเหลือ
“เครื่องบิน F-16 ลำหนึ่งของกองทัพอากาศที่เข้าร่วมกับพันธมิตรซาอุดีอาระเบียเพื่อฟื้นคืนอำนาจปกครองอันชอบธรรมในเยเมน ได้สูญหายไปเมื่อเวลา 18.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นของวันอาทิตย์” สำนักข่าว MAP ของโมร็อกโกอ้างถ้อยแถลงของกองทัพอากาศ
นักบินซึ่งขับเครื่องบินลำที่สองในฝูงบินเดียวกันไม่เห็นว่านักบินเจ้าของเครื่อง F-16 ที่หายไปดีดตัวออกจากเครื่องหรือไม่
เมื่อวานนี้ (10) กบฏฮูตีนิกายชีอะห์ประกาศยอมรับข้อตกลงหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมเป็นเวลา 5 วันตามที่ซาอุดีอาระเบียเสนอ แต่ขู่จะตอบโต้ทันทีถ้ามีการละเมิดข้อตกลง
รัฐบาลซาอุฯ แถลงว่า ข้อตกลงหยุดยิงจะเริ่มมีผลบังคับในวันอังคาร (12) หากกบฏฮูตียอมปฏิบัติตาม ซึ่งจะเปิดโอกาสให้องค์กรบรรเทาทุกข์สามารถนำอาหาร ยารักษาโรค และเครื่องมือแพทย์ เข้าไปยังพื้นที่ซึ่งกำลังขาดแคลนอย่างหนัก
เครื่องบินขับไล่ของกลุ่มประเทศอาหรับได้ทิ้งระเบิดใส่บ้านพักของอดีตประธานาธิบดีซาเลห์ ในกรุงซานาต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 วานนี้ (10) โดย ซาเลห์ ถือเป็นผู้เล่นคนสำคัญในวิกฤตการณ์เยเมน เนื่องจากทหารที่ยังภักดีต่อเขาได้หันไปช่วยพวกกบฏฮูตีโค่นล้มรัฐบาลฮาดี
โมร็อกโกและอียิปต์ถือเป็นพันธมิตรจากแอฟริกาเหนือที่มีความใกล้ชิดกับสภาความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (จีซีซี) มากเป็นพิเศษ และ 4 ชาติสมาชิกจีซีซี ซึ่งได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ คูเวต และยูเออี ก็ได้สัญญาจะมอบความช่วยเหลือต่อโมร็อกโกเป็นวงเงินถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี 2012-2017 เพื่อช่วยให้กรุงราบัตเอาชนะเหตุจลาจลวุ่นวายอันมีต้นตอจากกระแสเรียกร้องประชาธิปไตย “อาหรับสปริง”
โมร็อกโกได้ส่งฝูงบิน F-16 ไปยังยูเออีเมื่อปีที่แล้ว เพื่อร่วมมือกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอิรักและซีเรีย ซึ่งถือได้ว่าเป็นภารกิจแรกของฝูงบินโมร็อกโก หลังจากที่ได้สั่งซื้อเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่จากสหรัฐฯ จำนวน 24 ลำ เมื่อปี 2011