เอเอฟพี - ราคาหุ้นของบริษัทผลิตถุงลมนิรภัย “ทากาตะ” ดิ่งรูดเกือบ 20% ในช่วงบ่ายวันนี้ (4 พ.ย.) หลังมีกระแสข่าวว่า ค่ายรถฮอนด้ากำลังเตรียมมองหาซัพพลายเออร์รายใหม่ ขณะที่ผู้ตรวจสอบด้านความปลอดภัยของสหรัฐฯ ก็มีคำสั่งปรับผู้ผลิตถุงลมนิรภัยยี่ห้อนี้เป็นเงินถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7,100 ล้านบาท จากการใช้สารแอมโมเนียมไนเตรตซึ่งเป็นต้นเหตุให้ถุงลมนิรภัยเกิดการระเบิดอย่างรุนแรง
หุ้นทากาตะปิดตลาดที่ 1,189 เยน ลดลง 13.4% ซึ่งนับเป็นสถิติต่ำสุดของปีนี้ เนื่องจากนักลงทุนต่างเป็นกังวลกับข่าวร้ายของผู้ผลิตถุงลมนิรภัยสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้ใช้รถยนต์เสียชีวิตอย่างน้อย 8 ราย และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมากในหลายประเทศ
ทากาตะถูกฟ้องร้องทางกฎหมายหลายคดี และยังถูกสหรัฐฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนฐานรับรู้ว่าถุงลมนิรภัยมีปัญหา แต่พยายามปกปิดข้อบกพร่องและอันตรายที่จะเกิดต่อผู้ใช้รถ
ความบกพร่องดังกล่าวคาดว่าเกิดจากสารเคมีขับเคลื่อน แอมโมเนียมไนเตรต ซึ่งทำให้ถุงลมนิรภัยกางออกอย่างรุนแรงเกินไป จนส่งผลกระบอกสูบโลหะแตก และพ่นเศษโลหะมีคมปลิวกระจายออกมาใส่ร่างผู้ขับขี่และผู้โดยสาร บางรายถึงขั้นเสียชีวิต หรือไม่ก็บาดเจ็บสาหัส
ยานพาหนะราว 19 ล้านคันในสหรัฐฯ และอีกหลายล้านคันทั่วโลกติดตั้งถุงลมนิรภัยของทากาตะ ส่งผลให้ต้องมีการเรียกคืนรถยนต์มากมายเป็นประวัติการณ์
คณะกรรมการด้านความปลอดภัยของสหรัฐฯ มีคำสั่งปรับทากาตะเป็นเงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในวันนี้ (4) ฐานพยายามปิดบังปัญหามานานหลายปี ส่วน ฮอนด้า ก็ยืนยันว่า จะไม่นำถุงลมนิรภัยยี่ห้อนี้มาติดตั้งในยานพาหนะรุ่นใหม่ๆ อีก
“รถยนต์ฮอนด้าและอาคูรารุ่นที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จะไม่ติดตั้งถุงลมนิรภัยทากาตะไว้บริเวณด้านหน้าคนขับและเบาะข้างคนขับอีกต่อไป” ฮอนด้า แถลง
ฮิโรชิ ชิมิซุ รองประธานฝ่ายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ของทากาตะ ระบุว่า บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาการตัดสินใจของฮอนด้า ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่มียอดซื้อคิดเป็นสัดส่วนถึง 10% ของยอดขายทั่วโลกของทากาตะ
“เราอยากทราบว่าฮอนด้ามีเจตนาอย่างไร” ชิมิซุ เผย
โตโยต้า ค่ายยานยนต์อันดับ 1 ของโลกซึ่งสั่งผลิตถุงลมนิรภัยจากทากาตะเช่นกัน ยืนยันว่าบริษัทยังคงเฝ้าติดตามความคืบหน้าของปัญหานี้ และ “พร้อมจะมีมาตรการตอบสนองที่จำเป็น” ส่วน นิสสัน ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับทากาตะในอนาคต