เอเอฟพี - โตโยต้าประกาศเรียกคืนรถยนต์อีก 6.5 ล้านคันทั่วโลกในวันนี้ (21 ต.ค.) หลังพบข้อบกพร่องในแผงสวิตช์ควบคุมกระจกไฟฟ้าซึ่งทำให้เสี่ยงเกิดเพลิงไหม้
ค่ายรถอันดับ 1 ของญี่ปุ่นมีการเรียกคืนรถยนต์แล้วเกือบ 10 ล้านคันในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาถุงลมนิรภัยบกพร่องจนเป็นเหตุให้ผู้ขับขี่เสียชีวิต
สำหรับกรณีล่าสุด โตโยต้าชี้แจงผ่านอีเมลว่า แผงไฟฟ้าควบคุมกระจกหน้าต่างฝั่งคนขับอาจลัดวงจรจนทำให้ชิ้นส่วนอุปกรณ์เกิดความร้อนจัดและหลอมละลายได้
“สวิตช์ที่หลอมละลายจะก่อให้เกิดควัน และอาจถึงขั้นติดไฟ”
คำสั่งเรียกคืนครั้งนี้ครอบคลุมรถยนต์โตโยต้ารุ่นยาริส, โคโรลล่า, คัมรี่ และรถอเนกประสงค์ RAV4 ที่ผลิตระหว่างปี 2005-2010 โดยเป็นรถที่จำหน่ายในอเมริกาเหนือ 2.7 ล้านคัน และอีก 1.2 ล้านคันในยุโรป
ทั้งนี้ โตโยต้ายังไม่เคยได้รับแจ้งอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องดังกล่าว มีเพียงลูกค้ารายหนึ่งที่ร้องเรียนว่ามือพองเพราะไปแตะถูกสวิตช์ที่ร้อนจัด
ค่ายรถยักษ์ใหญ่จากแดนอาทิตย์อุทัยพยายามกู้ชื่อเสียงด้านความปลอดภัยกลับคืน หลังพบข้อบกพร่องต่างๆ ที่ทำให้ต้องมีการเรียกคืนรถยนต์หลายล้านคัน โดยเฉพาะปัญหาถุงลมนิรภัยซึ่งผลิตโดยซัปพลายเออร์ “ทากาตะ”
ทากาตะซึ่งมีฐานในญี่ปุ่นถูกฟ้องร้องทางกฎหมายหลายคดี และยังถูกสหรัฐฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนฐานรับรู้ว่าถุงลมนิรภัยมีปัญหา แต่พยายามปกปิดข้อบกพร่องและอันตรายที่จะเกิดต่อผู้ใช้รถ
ปัญหานี้คาดว่าเกิดจากสารเคมีขับเคลื่อนซึ่งทำให้ถุงลมนิรภัยกางออกอย่างรุนแรงเกินไป จนส่งผลกระบอกสูบโลหะแตก และพ่นเศษโลหะมีคมปลิวกระจายออกมาเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
ถุงลมนิรภัยของทากาตะเป็นเหตุให้ผู้ใช้รถเสียชีวิตแล้ว 8 ราย บาดเจ็บอีกจำนวนมากในหลายประเทศ และนำมาซึ่งคำสั่งเรียกคืนรถยนต์ล็อตใหญ่เป็นประวัติการณ์ในสหรัฐฯ
นอกจากโตโยต้าแล้ว ปัญหาถุงลมนิรภัยทากาตะยังส่งผลกระทบต่อค่ายรถชั้นนำอื่นๆ ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยู, เจนเนอรัล มอเตอร์ส, ฮอนด้า, นิสสัน และซูบารุ
ปีที่แล้ว โตโยต้ายอมจ่ายเงินชดเชย 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อยุติการสืบสวนทางอาญาของทางการสหรัฐฯ ต่อกรณีที่บริษัทแจ้งข้อมูลเท็จต่อผู้ตรวจสอบด้านความปลอดภัยและสาธารณชน โดยพยายามปกปิดข้อบกพร่องของระบบคันเร่ง ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย
โตโยต้าประกาศเรียกคืนรถยนต์ 12 ล้านคันทั่วโลกระหว่างปี 2009-2012 เนื่องจากปัญหาคันเร่งค้างที่ทำให้รถยนต์ไม่ตอบสนองต่อการแตะเบรก ซึ่งต่อมาบริษัทได้ออกมาชี้แจงว่า ต้นเหตุของปัญหาน่าจะเกิดจาก “พรมปูพื้น” เข้าไปขวางคันเร่ง
การเรียกคืนดังกล่าวทำให้บริษัทต้องสูญเสียเม็ดเงินไปราวๆ 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ