รอยเตอร์ - ราชนาวีออสเตรเลียเตรียมส่งเรือหลวง 2 ลำเดินทางไปยังแดนมังกรเพื่อร่วมภารกิจซ้อมรบในทะเลจีนใต้สัปดาห์หน้า รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมแดนจิงโจ้แถลงวันนี้ (29 ต.ค.) ภายหลังจากที่สหรัฐฯ เพิ่งจะล่องเรือพิฆาตเฉียดเกาะเทียมท้าทายจีนไปหมาดๆ เมื่อไม่กี่วันก่อน
มารีส เพย์น รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย ระบุว่า เรือหลวง เอชเอ็มเอเอส สจวร์ต (HMAS Stuart) และเรือหลวง เอชเอ็มเอเอส อรุนตา (HMAS Arunta) จะถูกส่งไปยังฐานทัพเรือในเมืองซานเจียง มณฑลกวางตุ้ง ก่อนที่ปฏิบัติการซ้อมรบจะเปิดฉากขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์หน้า
“ราขนาวีออสเตรเลียมีประวัติความร่วมมือกับกองทัพเรือในภูมิภาคมาอย่างยาวนาน โดยมีการไปเยี่ยมเยียน และจัดภารกิจฝึกซ้อมร่วมกันอยู่เป็นประจำ รวมถึงในจีนด้วย” เพย์น ระบุในคำแถลง
“กำหนดการเดินทางของเรือรบหลวง เอชเอ็มเอเอส อรุนตา และ เอชเอ็มเอเอส สจวร์ต จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือถูกเลื่อนออกไป แม้สหรัฐฯ จะดำเนินกิจกรรมในทะเลจีนใต้เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2015 ก็ตาม”
ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมออสเตรเลียยังไม่ได้ระบุสถานที่ที่จัดการซ้อมรบร่วมกับจีน ขณะที่สื่อแดนจิงโจ้รายงานว่าจะมีการซ้อมยิงกระสุนจริงด้วย
ปักกิ่งแสดงท่าทีโกรธเกรี้ยว หลังจากสหรัฐฯ ส่งเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถีเข้าไปเฉียดใกล้แนวปะการังซูบี (Subi Reef) ในหมู่เกาะสแปรตลีย์เมื่อวันอังคาร (27)
จีนระบุว่า ได้มีการแจ้งเตือนไปยังเรือ ยูเอสเอส ลาสเซ็น และเรียกเอกอัครราชทูตอเมริกันเข้าพบเพื่อประท้วงการกระทำของวอชิงตัน
ออสเตรเลียซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ในภูมิภาค ออกมาประกาศสนับสนุนเสรีภาพในการเดินเรือ แต่ก็ไม่ถึงกับเชียร์การยั่วยุของเรือพิฆาตสหรัฐฯ จนออกนอกหน้า
ยวน เกรแฮม ผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงระหว่างประเทศ สถาบันโลวีในนครซิดนีย์ ชี้ว่า รัฐบาลออสเตรเลียไม่ต้องการถูกมองว่าเป็น “ผู้แทน” ของสหรัฐฯในภูมิภาค
“ถ้าออสเตรเลียยืนยันเสรีภาพในการเดินเรือผ่านจุดยืนทางการเมืองและปฏิบัติการของตนเอง ย่อมจะดีกว่าไปถือหางสหรัฐฯ” เขากล่าว
เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ส.ว.อาร์เธอร์ ไซโนดินอส ยืนยันผ่านสำนักข่าวสกายนิวส์ว่า ออสเตรเลียยังไม่มีแผน “ทำตามอย่างสหรัฐฯ” เพื่อยืนยันเสรีภาพในการใช้น่านน้ำทะเลจีนใต้
เพยน์ ชี้ว่า “ออสเตรเลียมีความปรารถนาโดยชอบธรรมที่จะรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ การเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ การค้าที่ปราศจากมาตรการกีดกัน ตลอดจนเสรีภาพในการเดินเรือและทำการบินผ่านทะเลจีนใต้”
จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแต่ละปี ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ก็อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกับจีนอยู่