เอเอฟพี - บริษัทนอร์ธร็อป กรัมแมน ผู้สร้างเครื่องบินทิ้งระเบิด “ล่องหน” บี-2 สเตลธ์ เบียดแซงคู่แข่งรายใหญ่อย่าง โบอิ้ง และ ล็อกฮีดมาร์ติน คว้าสัญญามูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์จากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพื่อผลิตสุดยอดเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นใหม่ที่สามารถเดินทางไปโจมตีเป้าหมายได้ในระยะไกล วานนี้ (27 ต.ค.)
สัญญาดังกล่าวซึ่งมีมูลค่ากว่า 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะช่วยให้กองทัพอากาศอเมริกันได้เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์รุ่นใหม่สูงสุดถึง 100 ลำ มาแทนที่ฝูงบิน B-52 และ B-1 ซึ่งใช้งานมายาวนาน
“เราเชื่อว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ” เดบราห์ ลี เจมส์ รัฐมนตรีทบวงกองทัพอากาศสหรัฐฯ แถลงต่อสื่อมวลชนที่อาคารเพนตากอน
เครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นใหม่คาดว่าจะมีมูลค่าราวๆ ลำละ 564 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากที่กองทัพประเมินไว้ 606 ล้านดอลลาร์สหรัฐก่อนหน้านี้ และเนื่องจากรายละเอียดเกือบทั้งหมดของโครงการยังถือเป็นความลับ จึงยากจะคาดเดาได้ว่าอากาศยานรุ่นใหม่จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
แอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า โครงการพัฒนาซูเปอร์บอมเบอร์จะเน้นลงทุนในด้านเทคโนโลยีสอดแนม สมรรถนะการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ และระบบอาวุธที่ล้ำสมัย
“สัญญาฉบับนี้คือตัวอย่างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เราจำเป็นต้องแสวงหา เพื่อรักษาไว้ซึ่งแสนยานุภาพที่เหนือกว่า”
คาร์เตอร์ เผยด้วยว่า เครื่องบิ้นทิ้งระเบิดรุ่นใหม่ซึ่งมีชื่อว่า “ลอง เรนจ์ สไตรค์ บอมเบอร์” (LRSB) หรือ B-3 จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยรับประกันว่า “อเมริกาจะยังคงเข้มแข็ง และสามารถแสดงแสนยานุภาพไปทั่วโลกได้อีกนานแสนนาน”
ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า โครงการพัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิด B-3 อาจรุดหน้าไปไกลมากแล้ว แต่คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะนำออกมาใช้งานได้จริง โดยคาดว่าการทดสอบบินครั้งแรกๆ น่าจะมีขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2020 ซึ่งก็หมายความว่า ในช่วงนี้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จะยังไม่มีเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นอื่นๆ มาทดแทนฝูงบิน B-52 ซึ่งเริ่มพัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950
นอร์ธร็อป กรัมแมน เป็นบริษัทกลาโหมของสหรัฐฯ ที่มีประสบการณ์ผลิตเครื่องบินทิ้งระเบิด มาแล้วหลายรุ่น รวมไปถึงฝูงบิน “B-2 สปิริต สเตลธ์” อันโด่งดัง ซึ่งนอกจากจะหลบหลีกเรดาร์ได้ชะงัดแล้ว ยังมีรูปทรงเหมือนปีกค้างคาวซึ่งทำให้มันดูคล้ายกับบูมเมอแรงในภาพยนตร์ไซ-ไฟ
“ในฐานะผู้พัฒนาและผลิตเครื่องบินทิ้งระเบิด B-2 สปิริต เราคาดหวังที่จะมีโอกาสส่งมอบเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลรุ่นอนาคตที่มีประสิทธิภาพสูง และราคาพอสมน้ำสมเนื้อ ให้แก่กองทัพอากาศสหรัฐฯ” เวส บุช ซีอีโอของ นอร์ธร็อป กรัมแมน ระบุในคำแถลง
จากประวัติการพัฒนาเครื่องบินของนอร์ธร็อปทำให้ผู้สังเกตการณ์เชื่อว่า บอมเบอร์ตัวใหม่ของสหรัฐฯ คงจะถูกออกแบบให้มีรูปทรงเตี้ย เพรียวลม และปีกขนาดใหญ่ ไม่มีส่วนหาง คล้ายๆ กับ B-2
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังต้องการเครื่องบินทิ้งระเบิดที่สามารถออกปฏิบัติภารกิจโดยไม่ต้องใช้นักบิน และเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศได้
“LRSB จะช่วยให้กองทัพอากาศสามารถปฏิบัติภารกิจในสภาพแวดล้อมทางความเสี่ยงขั้นสูงสุด นอกจากนี้ ยังทำให้เรามีความยืดหยุ่นและศักยภาพเพิ่มขึ้นในการส่งเครื่องบินจากฐานทัพบนแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ เพื่อไปโจมตีเป้าหมายที่ใดก็ได้ในโลก” เจมส์ กล่าว
ริชาร์ด อบูลาเฟีย นักวิเคราะห์ด้านการบิน ยอมรับว่า รู้สึกแปลกใจพอสมควรที่ นอร์ธร็อป คว้าสัญญาผลิต LRSB ทั้งที่เป็นบริษัทขนาดเล็กกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง ล็อกฮีด และ โบอิ้ง
“นี่คือสัญญาล็อตใหญ่ที่จะเป็นการพลิกโฉม นอร์ธร็อป” เขากล่าว
สำหรับฝูงบินทิ้งระเบิด B-52 ซึ่งถูกใช้งานในกองทัพสหรัฐฯ มาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 51 ปี ขณะที่ B-1 ซึ่งเริ่มปฏิบัติภารกิจทางทหารในทศวรรษ 1980 มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 29 ปี
ปัจจุบัน ยังคงมีเครื่องบิน B-52 ใช้งานอยู่ 76 ลำ และฝูงบิน B-1 อีก 63 ลำ