xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญชี้สหรัฐฯ บุกอิรักปี 2003 เป็นอาชญากรรมที่เลวร้ายสุดในศตวรรษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ – โนม ชอมสกี ผู้เชี่ยวชาญชื่อดังด้านการเมืองระหว่างประเทศ ออกโรงโจมตีรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ที่ตัดสินใจส่งกำลังทหาร “บุกอิรัก” เมื่อปี 2003 โดยระบุ การตัดสินใจดังกล่าวถือเป็น การก่ออาชญากรรมครั้งที่ “เลวร้ายที่สุด” ในศตวรรษนี้

ศาสตราจารย์ชอมสกี ในวัย 86 ปี แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซ็ตต์ส (เอ็มไอที) เปิดใจให้สัมภาษณ์ในวันจันทร์ ( 26 ต.ค.) ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมชื่อดัง “เตเลซูร์” ของเวเนซุเอลา โดยระบุ การตัดสินใจเปิดฉากบุกอิรักด้วยข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยเมื่อปี 2003 ของรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ทั้งในเรื่องการครอบครองอาวุธร้ายแรงและเกี่ยวข้องกับลัทธิก่อการร้าย ถือเป็นการก่ออาชญากรรมครั้งเลวร้ายที่สุดในศตวรรษปัจจุบัน

ชอมสกีย้ำว่า แม้สหรัฐอเมริกาจะเป็นชาติมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลก ทั้งทางการเมืองและการทหาร แต่สหรัฐฯก็ไม่มีสิทธิและไม่มีความชอบธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ที่จะส่งกำลังเข้าไปรุกรานประเทศอื่น ๆ เพียงเพราะว่า สหรัฐฯ “ไม่ชอบขี้หน้า” ผู้นำหรือระบอบการปกครองของประเทศนั้น

“เราไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะเปิดฉากรุกรานประเทศอื่น เพียงเพราะผู้นำของเรา รู้สึกไม่ดีกับผู้นำของประเทศนั้น หรือไม่พอใจต่อระบอบการปกครองของประเทศนั้น และต่อให้ข้อกล่าวหาจอมปลอมทั้งหมดที่เรายัดเยียดให้อิรักจะกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมา การบุกอิรักในครั้งนั้นก็ยังถือเป็นการก่ออาชญากรรมอยู่ดี” ชอมสกี กล่าวผ่านสื่อของเวเนซุเอลา

ทั้งนี้ สหรัฐฯและอังกฤษตัดสินใจผนึกกำลังกันส่งทหารรุกรานอิรักเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2003 โดยสร้างหลักฐานเท็จโกหกประชาคมโลกว่า รัฐบาลอิรักในเวลานั้นซึ่งอยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน ครอบครองอาวุธเคมี-อาวุธชีวภาพและอาวุธร้ายแรงต่าง ๆ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่เคยมีการตรวจพบอาวุธดังกล่าวในแผ่นดินอิรักเลยแม้แต่ชิ้นเดียว

การเปิดฉากรุกรานอิรักของรัฐบาลอเมริกันในครั้งนั้น ส่งผลให้มีประชาชนชาวอิรัก รวมถึงทหารอิรักเสียชีวิตไปมากกว่า 1 ล้านคน ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยองค์กรสืบสวนเอกชนอย่าง “Project Censored” ที่มีฐานอยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน การทำสงครามในอิรักตั้งแต่ปี 2003 ได้สร้างภาระให้กับผู้เสียภาษีชาวอเมริกันคิดเป็นเงินสูงถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ ยังไม่รวมถึงงบประมาณอีก 490,000 ล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลอเมริกันต้องนำมาใช้ในการดูแลรักษา-เยียวยาทหารผ่านศึกที่ได้รับบาดเจ็บและพิการจากสงครามที่อิรัก