เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - รายงานล่าสุดซึ่งจัดทำโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อผู้อพยพ (ไอโอเอ็ม) ซึ่งมีฐานอยู่ที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุ จำนวนชาวอิรักที่ต้องอพยพละทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนของตน จากผลพวงของความขัดแย้งละการสู้รบในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศได้เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 3 ล้านคนในปี 2014 ที่ผ่านมา
รายงานฉบับล่าสุดของไอโอเอ็มซึ่งมีการเผยแพร่ในวันอังคาร (23 มิ.ย.) ระบุว่า ชาวอิรักจำนวน 3,087,372 คนต้องอพยพละทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนของตนเพื่อเอาชีวิตรอดจากความขัดแย้งละการสู้รบในพื้นที่ต่างๆของประเทศ นับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2014 ที่ผ่านมา
ข้อมูลจากการศึกษาของไอโอเอ็มพบว่า ในจำนวนชาวอิรักจำนวน 3,087,372 คนที่ต้องกลายสภาพเป็นผู้อพยพเหล่านี้มีถึงกว่า 250,000 คนที่เป็นผู้อพยพหนีตายออกจากเมืองรามาดี เมืองเอกของจังหวัดอันบาร์ทางภาคตะวันตกของประเทศที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม (ไอเอส) อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตั้งแต่เดือนที่แล้ว
ทั้งนี้ จังหวัดอันบาร์ นิเนเวห์ และซาลาฮุดดิน ถือเป็นพื้นที่ 3จังหวัดที่มียอดผู้อพยพพลัดถิ่นสูงที่สุด คือ มีจำนวนผู้อพยพรวมกันสูงถึงราว 2.6 ล้านคน จากการที่จังหวัดเหล่านี้ตกเป็นเขตอิทธิพลของกลุ่มไอเอส หรือไม่ก็เป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบกันอย่างหนักหน่วงระหว่างนักรบกลุ่มไอเอสกับกองทัพรัฐบาลอิรัก
ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน เจด บับบิน อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) เปิดใจให้สัมภาษณ์ผ่านรายการสตีฟ มัลซ์เบิร์ก โชว์ ทางสถานีโทรทัศน์ “นิวส์แม็กซ์ ทีวี” โดยระบุว่าการตัดสินใจ “บุกอิรัก”เมื่อปี 2003 ของรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ถือเป็น “ความผิดพลาดครั้งเลวร้าย” และเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้ประชาชนชาวอิรักต้องรับกรรมจากผลพวงของสภาพบ้านเมืองที่ไร้ขื่อแปจนถึงทุกวันนี้
บับบินซึ่งเคยรับหน้าที่รองปลัดเพนตากอนในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ บุช (George H.W. Bush) ระบุว่า การตัดสินใจกระโจนเข้าสู่สงครามในอิรักเมื่อ 12 ปีก่อนของประธานาธิบดีบุชผู้เป็นลูก (George W. Bush) นั้น ถือเป็น “ความผิดพลาดครั้งเลวร้าย” และว่าบรรดา “สมาชิกสายเหยี่ยว” ผู้กระหายสงครามภายในพรรครีพับลิกันเอง ต่างก็ต้องร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอิรักในเวลานี้ ทั้งภาวะบ้านเมืองที่ระส่ำระสายไร้ขื่อแป การที่ชาวอิรักหลายล้านคนต้องอพยพละทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนของตน รวมถึงการถือกำเนิดของกลุ่มนักรบมุสลิมสุหนี่ที่มีแนวคิดแบบสุดโต่งอย่างกลุ่มไอเอส ที่กลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางและทั่วโลกในเวลานี้
“เราตัดสินใจบุกอิรักในตอนนั้นด้วยข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยว่ารัฐบาลของซัดดัม ฮุสเซน มีอาวุธร้ายแรงจำนวนมากอยู่ในครอบครอง และรัฐบาลของเรายังคิดผิดมหันต์ที่ไปคาดหวังว่าสหรัฐอเมริกาจะประสบความสำเร็จในการสร้างชาติอิรักให้มีเอกภาพ หลังจากสิ้นยุคซัดดัมไปแล้ว” บับบินซึ่งปัจจุบันรับหน้าที่คอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์วอชิงตัน ไทม์ส กล่าว
ทั้งนี้ การเปิดฉากบุกอิรักของรัฐบาลอเมริกันเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ปี ค.ศ. 2003 ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเอาตัวเองเข้าไปพัวพันของสหรัฐฯต่อปัญหาภายใน ของอิรักนานเกือบทศวรรษ ก่อนที่สหรัฐฯ จะถอนตัวออกในปี 2011 โดยที่ชาวอิรักจำนวนมากกว่า 600,000 คนต้องเสียชีวิตจากความขัดแย้งที่ทางวอชิงตันเป็นผู้ก่อขึ้น เช่นเดียวกับการสูญเสียชีวิตของทหารอเมริกันจำนวน 4,425 คน