เอเจนซีส์ - รัฐบาลอิรักประกาศเปิดเขต “กรีนโซน” ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งมีมาตรการป้องกันหนาแน่นใจกลางกรุงแบกแดด ให้ประชาชนทั่วไปสามารถสัญจรผ่านได้เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ท่ามกลางความกังวลของสหรัฐฯ ที่เกรงจะกระทบต่อความมั่นคงของหน่วยงานนานาชาติซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
นายกรัฐมนตรี ไฮเดอร์ อัล-อาบาดี แห่งอิรัก อธิบายว่า คำสั่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปที่ตน “ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน” แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลก็จะยังคงมาตรการรักษาความปลอดภัยไว้บางส่วน โดยถนนหลายสายในกรีนโซนจะอนุญาตให้เฉพาะผู้ที่มีบัตรผ่านพิเศษเท่านั้น
พื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตรใจกลางเมืองหลวงอิรักซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานรัฐบาลและสถานทูตนานาชาติ กลายเป็นพื้นที่หวงห้ามสำหรับประชาชนทั่วไป นับตั้งแต่สหรัฐฯ ส่งกองกำลังบุกอิรักในปี 2003
“การเปิดกรีนโซนเป็นคำมั่นสัญญาข้อหนึ่งที่เราให้ไว้กับประชาชน... นายกรัฐมนตรีจึงตัดสินใจอนุญาตให้พลเมืองเข้าไปใช้เส้นทางได้” คำแถลงจากสำนักนายกรัฐมนตรีอิรักเมื่อวันอาทิตย์ (4 ต.ค.) ระบุ
การเปิดพื้นที่กรีนโซนซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไทกริส ถือเป็นมาตรการริเริ่มล่าสุดที่ อาบาดี หวังจะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างพลเมืองต่างนิกาย และปราบปรามการทุจริตคอรัปชัน
หลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีชาวอิรักจำนวนมากออกมาชุมนุมประท้วงบริการสาธารณะที่ด้อยคุณภาพ และการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ
หน่วยงานรัฐและองค์กรนานาชาติในเขตกรีนโซนได้รับการป้องกันอย่างแน่นหนาด้วยกำแพงคอนกรีต รั้วลวดหนาม และมีการตั้งจุดตรวจหลายแห่ง แต่ก็ยังไม่วายตกเป็นเป้าหมายโจมตีของกลุ่มติดอาวุธมาแล้วหลายครั้ง
ชาวอิรักส่วนใหญ่มองว่า กรีนโซนเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกประชาชนทั่วไปกับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง
สหรัฐฯ ได้ออกมาทักท้วงเรื่องนี้เมื่อวันจันทร์ (5) และแสดงความกังวลต่อการเปิดกรีนโซนให้ประชาชนเข้าถึงได้เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี
“เราได้ชี้แจงความกังวลต่อรัฐบาลอิรักมาแล้วหลายครั้งเรื่องการผ่อนคลายข้อจำกัดในกรีนโซน” มาร์ก โทเนอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์
“เราจะเฝ้าดูสถานการณ์ความมั่นคงต่อไปอย่างใกล้ชิด หลังจากที่อิรักได้ผ่อนคลายข้อจำกัดและเปิดพื้นที่แล้ว และจะมีการปรับแผนคุ้มกันให้รัดกุมยิ่งขึ้นหากมีความจำเป็น”
โทเนอร์ยอมรับว่า ทางการอิรักได้แจ้งให้วอชิงตันทราบอย่างสม่ำเสมอทุกๆ ขั้นตอนในการเปิดพื้นที่กรีนโซน
แม้สหรัฐฯ จะถอนทหารออกจากอิรักตั้งแต่ช่วงปลายปี 2011 แต่สถานทูตอเมริกันในกรุงแบกแดดและเจ้าหน้าที่วอชิงตันซึ่งเดินทางเยือนอิรัก ยังคงมีทหารจากกองทัพสหรัฐฯ คุ้มกันอย่างเข้มงวด