รอยเตอร์ - รัฐมนตรีต่างประเทศอิรักระบุในวันพุธ (30 ธ.ค.) ว่ารัฐบาลอาจเลือกใช้ปฏิบัติการทางทหารหากถูกบีบให้ต้องปกป้องตนเอง จากสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “การรุกราน” เข้าสู่ดินแดนทางเหนือของประเทศโดยกองกำลังตุรกี ที่ยังไม่ยอมถอนกำลังพลออกไปแม้มีเสียงเรียกร้องจากสหรัฐฯ
ตุรกีอ้างว่าพวกเขาส่งหน่วยปกป้องกองกำลังเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าวเมื่อต้นเดือนธันวาคม โดยอ้างถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยระดับสูงสุดใกล้ค่ายแห่งหนึ่ง ซึ่งทหารของพวกเขากำลังช่วยฝึกฝนนักรบอิรักเพื่อต่อสู้กับพวกรัฐอิสลาม (ไอเอส)
อิรักบอกว่าทหารเหล่านั้นเข้ามาในประเทศของพวกเขาอย่างผิดกฎหมายและเรียกร้องให้ถอนกำลังออกไป ขณะที่อังการายอมรับว่าสื่อสารกับแบกแดดผิดพลาดเกี่ยวกับการประจำการกำลังพลดังกล่าว
มีกองกำลังด้านความมั่นคงของอิรักแค่จำนวนเล็กน้อยที่ยังประจำการอยู่ในจังหวัดนิเนเวห์ จุดที่ค่ายดังกล่าวตั้งอยู่ นับตั้งแต่ถูกพวกไอเอสจู่โจมสายฟ้าแลบบุกยึดไปในเดือนมิถุนายน 2014
อิบราฮิม อัล-จาฟารี รัฐมนตรีต่างประเทศอิรักบอกว่าอิรักมุ่งมั่นใช้ลู่ทางด้านการทูตแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตกับชาติเพื่อนบ้านอย่างตุรกี แต่ยืนยันไม่ปิดตายในทุกทางเลือก “หากเราถูกบีบให้สู้เพื่อปกป้องอำนาจปธิปไตยและความมั่งคั่งของเรา เราก็จะสู้” เขาบอกกับผู้สื่อข่าวในแบกแดด
นายอาห์เมต ดาวูโตกลู นายกรัฐมนตรีตุรกีเรียกร้องนายไฮเดอร์ อัล-อาบาดี นายกรัฐมนตรีอิรักในวันพุธ (30 ธ.ค.) ว่าทั้งสองประเทศจะเดินหน้าทำงานร่วมกันและร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการสู้รบกับพวกไอเอส
ในถ้อยแถลงที่เผยแพร่โดยสำนักนายกรัฐมนตรีตุรกียังแสดงความยินดีกับนายอาบาดี ที่กองกำลังอิรักยึดเมืองรามาดีคืนมาได้สำเร็จเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ชัยชนะที่อาจช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูกองทัพของผู้นำอิรัก หลังก่อนหน้านี้ประสบความปราชัยอย่างน่าตกตะลึงหลายต่อหลายครั้ง
ช่วงต้นดือนธันวาคม ตุรกีส่งทหารราว 150 นายเข้าไปยังฐานทัพบาชิกา ทางเหนือของอิรัก กระตุ้นให้แบกแดดกล่าวหาอังการาว่าละเมิดอธิปไตยและยื่นร้องเรียนอย่างเป็นทางการต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ต่อมาตุรกีถอนทหารบางส่วนไปยังฐานทัพอีกแห่งภายในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน และบอกว่าจะเดินหน้าถอนกำลังพลออกจากจังหวัดนิเนเวห์ แต่ไม่ได้บอกว่าจะเคลื่อนย้ายกองกำลังมากน้อยแค่ไหนและไปที่ใด
เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อสายตรงถึงนายดาวูโตกลู แสดงความยินดีต่อการถอนทหารและเรียกร้องตุรกีพยายามให้ความร่วมมือกับแบกแดดอย่างไม่ลดละ ขณะที่นายไบเดน มีกำหนดเดินทางเยือนตุรกีในวันที่ 23 มกราคมปีหน้า และจะเข้าพบกับประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน และนายดาวูโตกลู ด้วยคาดหมายว่าประเด็นนี้จะเป็นหนึ่งในหัวข้อของการหารือ