xs
xsm
sm
md
lg

เยอรมนีอัดฉีดงบช่วย 6 พันล้านยูโร ฝรั่งเศสอ้าแขนรับผู้อพยพ 24,000 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตำรวจมาซิโดเนียใช้กระบองตีผู้อยพคนหนึ่งเพื่อบังคับให้อยู่ในระเบียบขณะที่ผู้อพยพทั้งหลายเฝ้ารอคอยรถไฟที่จะพาพวกเขาเดินทางต่อไป จากค่ายพักชั่วคราวแห่งหนึ่งใกล้ๆ เมืองเกฟเกลิจา, มาซิโดเนีย เมื่อวันจันทร์ (7ก.ย.)
เอเจนซีส์ - เบอร์ลินอัดฉีดงบประมาณอีก 6,000 ล้านยูโรช่วยเหลือผู้อพยพ ด้านปารีสก็ประกาศอ้าแขนรับผู้ลี้ภัย 24,000 คนภายในเวลา 2 ปี ขณะที่ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ยังบรรลุข้อตกลงเรื่องกลไกการกระจายความรับผิดชอบในหมู่สมาชิกอียู เพื่อรองรับคลื่นมนุษย์ที่หนีภัยสงครามมาจากตะวันออกกลางและแอฟริกา อย่างไรก็ดี ทางด้านผู้นำฮังการีแย้งว่า ระบบโควตาดังกล่าวไม่มีทางใช้ได้จริง โดยที่นายกรัฐมนตรีตุรกีวิจารณ์ว่า จำนวนผู้อพยพที่ยุโรปยังเกี่ยงกันไม่จบไม่สิ้นนี้ “เล็กน้อยมาก” เมื่อเทียบกับความรับผิดชอบของอังการาในขณะนี้

นายกรัฐมนตรีแมร์เคิล แถลงข่าวในเบอร์ลินเมื่อวันจันทร์ (7 ก.ย.) ว่า เยอรมนีจะรับประกันว่า ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองจะได้รับการคุ้มครอง ส่วนผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติได้รับอนุญาตให้ลี้ภัย จะถูกส่งตัวกลับประเทศทันที

นอกจากนั้น รัฐบาลเยอรมนียังประชุมกันเมื่อคืนวันอาทิตย์ (6) ต่อเนื่องจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น และตกลงจัดสรรเงิน 6,000 ล้านยูโร (6,700 ล้านดอลลาร์) เพื่อใช้ในการดูแลผู้อพยพระลอกใหม่นับแสนคนที่กำลังหลั่งไหลเข้ามา รวมทั้งตกลงออกมาตรการทางกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งกลับผู้ขอลี้ภัย ซึ่งความจริงแล้วเดินทางมาจากประเทศที่ “ปลอดภัย” เช่น มอนเตเนโกร โคโซโว และแอลเบเนีย

เจ้าหน้าที่เยอรมนีคาดว่า จะมีผู้อพยพเดินทางเข้าประเทศรวม 800,000 คนจนถึงสิ้นปี หรือเป็น 4 เท่าตัวของปีที่แล้ว โดยผู้อพยพเหล่านี้จำนวนมากมาจากซีเรีย อิรัก และเอริเทรีย ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือที่จัดเตรียมไว้รองรับครอบคลุมทั้งด้านที่พักอาศัย การเพิ่มกำลังตำรวจ และการสอนภาษา

ถึงแม้เยอรมนีเตรียมการรองรับผู้อพยพจำนวนมากที่สุด แต่แมร์เคิลก็เรียกร้องสมาชิกอื่นๆ ในสหภาพยุโรป (อียู) ร่วมช่วยเหลือผู้ที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น
พลเมืองซีเรียที่หนีสงครามกลางเมืองพยายามฝ่ารั้วเหล็กเข้าไปในพรมแดนตุรกีอย่างผิดกฎหมาย ใกล้ๆ กับจุดผ่านแดนอักคากาเลในจังหวัดซันลิอูร์ฟา เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2015
ทางด้านแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส ข้าหลวงใหญ่ฝ่ายผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ขานรับว่า วิกฤตผู้ลี้ภัยคราวนี้สามารถบริหารจัดการได้ หากทุกประเทศในยุโรปร่วมรับผิดชอบและเห็นพ้องในแนวทางร่วมกัน พร้อมวิจารณ์ว่า ระบบผู้ลี้ภัยของยุโรปขณะนี้พิกลพิการ เนื่องจากมีเพียงบางประเทศที่พยายามทำอะไรตามที่จำเป็น และหลายประเทศไม่พยายามเลย

สำหรับอียูที่ถูกกดดันอย่างหนักจากเบอร์ลินและปารีสนั้น ในที่สุดก็ลุกขึ้นมาเตรียมพร้อมระบบโควตาใหม่ โดยที่ภายใต้ข้อเสนอของฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปนั้น เยอรมนีและฝรั่งเศส 2 ชาติเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่สุดในอียู จะรองรับผู้อพยพเกือบครึ่งหนึ่งของ 120,000 คนที่ขณะนี้อยู่ในกรีซ อิตาลี และฮังการี

ภายใต้ข้อเสนอระบบโควตาภาคบังคับซึ่งจะเปิดเผยในวันพุธนี้ (9) เยอรมนีจะรับผู้อพยพ 31,443 คน, ฝรั่งเศส 24,031 คน และสเปน 14,931 คน

ทว่า นายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ เออร์บันของฮังการี กลับเย้ยหยันความพยายามของอียูในการกระจายความรับผิดชอบต่อผู้อพยพ โดยชี้ว่า ระบบโควตาดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้จริง เนื่องจากขัดแย้งกับข้อตกลงเชนเกนที่อนุญาตให้ประชาชนในอียูเดินทางได้อย่างเสรี พร้อมตอบโต้เสียงวิจารณ์ของผู้นำบางชาติที่ว่า ฮังการีเป็นแกะดำ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีแวร์เนอร์ เฟย์มาน ของออสเตรีย และผู้นำอื่นๆ ในอียูกล่าวหาออร์บันว่า ทำให้ออสเตรียและเยอรมนีไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเปิดพรมแดนรับผู้อพยพนับหมื่น นอกจากนี้ ผู้ลี้ภัยจำนวนมากยังเล่าว่า ถูกเพิกเฉยและละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮังการี
เจ้าหน้าที่เยอรมนีดัดแปลงลานแสดงนิทรรศการแห่งหนึ่งในเมืองมิวนิค เพื่อรองรับผู้อพยพ ด้วยคาดหมายว่าในช่วงบ่ายวันจันทร์(7ก.ย.) จะมีผู้ลี้ภัยเดินทางผ่านออสเตรีย มาถึงเยอรมนีเพิ่มเติมอีกราว 2,500 คน
เฟย์มานยังกล่าวภายหลังหารือกับแมร์เคิลและคุยโทรศัพท์กับออร์บันว่า ออสเตรียได้ช่วยเหลือผู้อพยพมากกว่า 12,000 คน และจำเป็นต้องเริ่มล่าถอยจากมาตรการฉุกเฉินในการเปิดพรมแดนรับผู้อพยพ เพื่อกลับคืนสู่ภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ขณะเดียวกัน ขณะที่ยุโรปกำลังเกี่ยงกันรับผิดชอบคลื่นผู้อพยพ นายกรัฐมนตรีอาเหม็ด ดาวูโตกลู ของตุรกี วิจารณ์ “ป้อมปราการคริสเตียนของยุโรป” อย่างกราดเกรี้ยวผ่านบทความในหนังสือพิมพ์แฟรงค์เฟิร์ตเตอร์ อัลเกอไมน์ ไซตุงว่า ระบบโควตาของอียูเป็นเพียงเศษเสี้ยวน้อยนิด เมื่อเทียบกับผู้หนีภัยสงครามจากซีเรียและอิรักที่ตุรกีรองรับอยู่กว่าสองล้านคนในขณะนี้

คำวิจารณ์นี้มีขึ้นไม่กี่วันหลังจากฮังการีเตือนถึงผลกระทบจากผู้ลี้ภัยที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ซึ่งอาจเกิดกับ “วัฒนธรรมคริสเตียน”

ท่าทีดังกล่าวตรงข้ามกับจุดยืนของวาติกันโดยสิ้นเชิง โดยในระหว่างการเทศนาเมื่อวันอาทิตย์ สันตะปาปาฟรานซิสเรียกร้องให้ชุมชนชาวคริสต์ทั้งหมดในยุโรปอ้าแขนรับผู้อพยพ


กำลังโหลดความคิดเห็น