xs
xsm
sm
md
lg

ตุรกีเสียงแข็ง ย้ำมีหน้าที่ปกป้องทหารของตนเอง หลังอิรักขีดเส้นตาย 48 ชั่วโมง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ตุรกีอ้างมีหน้าที่ต้องปกป้องทหารของตนที่ส่งไปช่วยฝึกและให้คำแนะนำกองกำลังอิรักรอบๆ เมืองโมซุลที่ถูกไอเอสยึดครองอยู่ ด้านแบกแดดยืนยันเส้นตาย 48 ชั่วโมงให้อังการาถอนทหารที่ส่งเข้าไปโดยพลการ ไม่เช่นนั้นอาจใช้มาตรการตอบโต้ทั้งหมดที่มีซึ่งรวมถึงการขอความช่วยเหลือจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็น

อิรักที่ต้องพยายามรักษาสิทธิอธิปไตยควบคู่ไปกับขอรับความช่วยเหลือจากต่างชาติเพื่อจัดการกับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่กำเริบเสิบสานยึดพื้นที่กว้างขวางทั่วประเทศ ระบุว่ากองกำลังพร้อมรถถังและปืนใหญ่ของตุรกีได้เคลื่อนเข้าสู่อิรักโดยไม่ได้รับอนุญาต ทว่า นายกรัฐมนตรีอาเหม็ด ดาวูโตกลูของตุรกี แจ้งไปในจดหมายที่ส่งถึงไฮเดอร์ อัล-อบาดี ผู้นำอิรัก เมื่อวันอาทิตย์ (6) ว่าจะไม่ส่งกำลังเข้าสู่อิรักจนกว่าความกังวลของแบกแดดจะคลี่คลายลง แต่ไม่กล่าวถึงกองกำลังที่ส่งไปแล้วแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ตุรกีมีฐานปฏิบัติการในบริเวณบาชิกาในจังหวัดไนเนเวห์เพื่อฝึกอาสาสมัครชาวสุหนี่ของอิรักที่หมายมั่นชิงเมืองโมซูลคืนจากไอเอส

จดหมายของดาวูโตกลูยังสรุปความคืบหน้าในการฝึกทหารอิรักที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมถึงภารกิจและกิจกรรมของกองกำลังตุรกีในฐานปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยการประสานงานกับกระทรวงกลาโหมอิรัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันเสาร์ (5) ดาวูโตกลูพยายามลดกระแสความขัดแย้งโดยกล่าวว่า การส่งทหารไปประจำการณ์เป็น “กิจกรรมการหมุนเวียนกำลังพลปกติ” ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจฝึกทหารอิรัก และ “การเสริมกำลังเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัย” และยืนยันว่า ไม่มีการตั้งค่ายใหม่

ทว่า เขตปกครองตนเองชาวเคิร์ดที่มีกำลังอยู่ในบริเวณนั้นเช่นกันเผยว่า ตุรกีส่งผู้เชี่ยวชาญทางทหารและเสบียงสำหรับการขยายฐานปฏิบัติการ

ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คาลิด อัล-โอไบดี รัฐมนตรีกลาโหมอิรัก ต่อสายคุยกับอิสเมด ยิลมาซ รัฐมนตรีกลาโหมตุรกี เพื่อขอให้ถอนกำลังออกไป ทว่า ได้รับคำตอบจากยิลมาซว่ากองกำลังดังกล่าวมีหน้าที่ปกป้องครูฝึกตุรกี แต่โอไบดีแย้งกลับไปว่าจำนวนทหารที่ส่งมาเกินความจำเป็น

วันเดียวกันนั้น สำนักนายกรัฐมนตรีอิรักออกแถลงการณ์ความว่า หากตุรกียังไม่ถอนกำลังออกไปภายใน 48 ชั่วโมง อิรักมีสิทธิ์ใช้ทางเลือกต่างๆ ซึ่งรวมถึงการขอความช่วยเหลือจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

แถลงการณ์ยืนยันว่า กองกำลังตุรกีเคลื่อนเข้าสู่อิรักโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือแจ้งให้รัฐบาลอิรักรับรู้ จึงถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของอิรัก

ทว่า เมื่อวันจันทร์ (7) เมฟลัต คาวูโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ให้สัมภาษณ์สถานีทีวีท้องถิ่นว่า อบาดีเฝ้าเรียกร้องให้ตุรกีให้การสนับสนุนในการกวาดล้างไอเอสอย่างจริงจังมากขึ้น และเขาเชื่อว่า ประเทศอื่นๆ ตอบสนองข้อเรียกร้องดังกล่าวของอิรักเช่นเดียวกับตุรกี พร้อมย้ำว่า ตุรกีมีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยทหารที่ส่งไปช่วยฝึกกองกำลังอิรัก

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัตินั้น แบกแดดเลือกแนวทางการทูตเป็นหลัก เนื่องจากตระหนักว่า กำลังของตนยังพัวพันกับการรบรากับนักรบญิฮัดของไอเอส มิหนำซ้ำกองทัพตุรกียังมีแสนยานุภาพมากกว่าหลายเท่า

ความสัมพันธ์ระหว่างแบกแดดกับอังการาดีขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ยังคงปีนเกลียวจากการที่ตุรกีคบค้ากับเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ดในอิรัก และเห็นต่างกันในสงครามกลางเมืองซีเรีย

อบาดีนั้นย้ำมาตลอดว่า อิรักต้องการความช่วยเหลือในการรบกับไอเอส แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างการรับการสนับสนุนกับการปกป้องอธิปไตยของชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น