xs
xsm
sm
md
lg

‘ตุรกี’ต้องการ ‘เขตกันชน’ ใน ‘ซีเรีย’เพื่อสร้าง ‘นิคมชาวอุยกูร์จากจีน’?

เผยแพร่:   โดย: คริสตินา ลิน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

A buffer zone for Erdogan’s Turkic settlements in Syria?
By Christina Lin
11/10/2015

ประธานาธิบดี เรเซป ไตยิป เออร์โดกัน ของตุรกี กำลังผลักดันให้ฝ่ายตะวันตกยอมรับแผนการจัดตั้ง “เขตกันชน” และ “เขตห้ามบิน” ขึ้นในซีเรีย โดยอ้างว่าเพื่อวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและเพื่อช่วยเหลือ “กบฏสายกลาง” ต่อสู้กับพวกไอเอสและรัฐบาลอัสซาด อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุผลอื่นๆ เบื้องหลังข้อเสนอเหล่านี้ เป็นต้นว่า เพื่อให้สะดวกแก่การตั้งรัฐเล็กๆ ในคาถาของอังการาขึ้นในพื้นที่ของซีเรียซึ่งประชิดกับตุรกี จะได้ช่วยดูแลสายท่อก๊าซที่เริ่มต้นจากกาตาร์ผ่านซาอุดีอาระเบียและตุรกี เข้าสู่ยุโรป นอกจากนั้น อังการายังกำลังดำเนินแผนการนำเอาชาวอุยกูร์ที่เป็นพวกหัวรุนแรงจากจีน เข้ามาตั้งนิคมอยู่ในพื้นที่ของรัฐเล็กๆ ในซีเรียดังกล่าวนี้อีกด้วย

ประธานาธิบดี เรเซป ไตยิป เออร์โดกัน ของตุรกี อยู่ในกรุงบรัสเซลส์ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคมที่ผ่านมา และพยายามผลักดันให้สหภาพยุโรป (อียู) ยอมรับแผนการ 2 เรื่อง ได้แก่ การจัดตั้งเขตพื้นที่กันชนขึ้นมาเขตหนึ่งในซีเรียเพื่อวัตถุประสงค์ในทางมนุษยธรรม และแผนการในการให้ความคุ้มกันทางอากาศเพื่อสนับสนุน “กบฏสายกลาง” ให้เดินทางเข้าซีเรียเพื่อสู้รบกับทั้ง กลุ่ม ISIS (I) และระบอบปกครอง (ของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-) อัสซาด

ในขณะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่ผู้ลี้ภัยทะลักหลั่งไหลเข้าสู่อียูอย่างฉับพลันในช่วงระยะนี้ เออร์โดกันกล่าวว่า “สาเหตุรากเหง้าของวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยทุกวันนี้ คือสงครามที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในซีเรีย และการกระทำแบบก่อการร้ายที่ได้รับความอุปถัมภ์จากรัฐ ซึ่ง (ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-) อัสซาดกำลังลงมือดำเนินการด้วยตนเอง” จากนั้นเขาก็หยิบยกเสนอประเด็นทั้งเรื่องการจัดตั้ง “เขตพื้นที่ปลอดภัยซึ่งจะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการก่อการร้าย” และ “เขตพื้นที่ห้ามบิน” [1]

ขณะที่เป็นเรื่องจริงที่ทั้งตุรกี, เลบานอน, และจอร์แดน ต่างคนต่างกำลังแบกรับภาระในการต้อนรับผู้ลี้ภัยจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน แต่แหล่งข่าวต่างๆ หลายหลากก็ชี้ให้เห็นถึงเหตุผลเพิ่มเติมประการอื่นๆ ซึ่งอาจสามารถใช้อธิบายได้ว่า ทำไมตุรกีจึงกำลังกระตือรือร้นนักในการเสนอให้จัดตั้งเขตห้ามบินขึ้นในซีเรีย

สร้างรัฐเล็กๆ ของพวกซาลาฟิสต์ขึ้นในซีเรีย เพื่อดูแลสายท่อส่งก๊าซจากกาตาร์-ตุรกีเข้าสู่อียู

ในบทความชิ้นหนึ่งของวารสาร “อาร์มด์ ฟอร์ซส์ เจอร์นัล (Armed Forces Journal) เมื่อปี 2014 [2] มีการถกเถียงอภิปรายประเด็นที่ว่า สงครามกลางเมืองซีเรียในปัจจุบัน ได้รับแรงขับดันอย่างไรจากผลประโยชน์ของ กาตาร์/ตุรกี/ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งกำลังดำเนินการสายท่อส่งก๊าซสายหนึ่งที่จะลำเลียงก๊าซของกาตาร์ ผ่านดินแดนซาอุดีอาระเบีย, ซีเรีย, ตุรกี และเข้าสู่ตลาดอียูที่จะสามารถทำกำไรได้อย่างงาม ทั้งนี้ สายท่อส่งนี้จะวางผ่านพื้นที่จังหวัดอเลปโป (Aleppo) ของซีเรีย ที่ตุรกีเสนอให้ประกาศเป็นเขตพื้นที่ห้ามบินในคราวนี้ [3]

หากสามารถกำจัดอัสซาดลงไป แล้วแทนที่ด้วยระบอบปกครองของชาวซาลาฟิสต์ (salafist) (II) ซึ่งมีความเป็นมิตรต่อพวกเขา ขึ้นมาในซีเรียแล้ว กลุ่ม 3 ชาตินี้ก็จะสามารถต่อสายเชื่อมเข้าสู่ตลาดพลังงานของอียู ในช่วงเวลาที่ยุโรปกำลังเกิดความตึงเครียดกับเจ้าตลาดพลังงานในอียูรายเดิมอย่างรัสเซีย สืบเนื่องจากปัญหายูเครน พร้อมกันนั้น กลุ่ม 3 ชาตินี้ยังจะมีรายรับไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องซึ่งสามารถนำเข้าสู่กองทุนทำสงครามของพวกเขา เพื่อใช้สนับสนุนขบวนการอิสลามิสต์ในภูมิภาคแถบนี้

อันที่จริงเมื่อขบคิดพิจารณากันให้ถ่องแท้แล้ว มันก็ดูไม่น่าเป็นไปได้หรอกที่ระบอบปกครองเผด็จการของกาตาร์ และของซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งระบอบปกครองที่รวบอำนาจมากขึ้นทุกทีของตุรกี จะกลายเป็นผู้ที่กำลังสู้รบเพื่อสร้างอนาคตที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นในซีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดูจากนักรบต่างชาติจำนวนมากและกลุ่มอิสลามิสต์สุดโต่งซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญอยู่ใน “กองทัพแห่งชัยชนะ” (อาร์มี ออฟ คองเกวสต์ Army of Conquest) (III) ของพวกเขา ซึ่งปัจจุบันตั้งกองบัญชาการอยู่ในจังหวัดอิดลิบ (Idlib) ทั้งนี้ “กบฏสายกลาง” เหล่านี้ในทางเป็นจริงแล้วกำลังมีพฤติการณ์ทำลายล้างผู้คนต่างเผ่าพันธุ์ต่างศาสนา ด้วยการเข่นฆ่าหรือขับไล่ทั้งชาวคริสต์, พวกดรูซ (Druze) ตลอดจนชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในเวลาเดียวกับที่นำเอากฎหมายอิสลาม หรือ “ชารีอะห์” (sharia) ออกมาบังคับใช้

สิ่งที่กำลังปรากฏขึ้นมานี้ ยังเป็นการยืนยันสนับสนุนรายงานฉบับหนึ่งเมื่อปี 2012 ของสำนักงานข่าวกรองกลาโหม (Defense Intelligence Agency) ซึ่งแสดงความปรารถนาที่จะจัดตั้งรัฐเล็กๆ ของชาวซาลาฟิสต์ขึ้นมาในซีเรีย ตรงบริเวณด้านตะวันออกของพื้นที่ซึ่งอัสซาดควบคุมอยู่ เพื่อสร้างแรงกดดันต่อระบอบปกครองนี้ (ในรายงานเมื่อปี 2012 นั้น บริเวณที่เสนอกันอยู่ไกลออกไปทางตะวันออก แต่เนื่องจากในปัจจุบันอัสซาดได้สูญเสียพื้นที่ไปเป็นจำนวนมาก รัฐเล็กๆ ที่ว่านี้จึงจะขยับเข้ามาโดยอยู่ประชิดทางตะวันออกของจังหวัดลาตาเกีย (Latakia) ทีเดียว) [4]

เมื่อสามารถตั้งฐานอยู่ในจังหวัดอิดลิบได้เช่นนี้ เวลานี้พันธมิตรกบฎกลุ่มนี้ก็สามารถเปิดเส้นทางลำเลียงตรงมาจากจังหวัดฮาไต (Hatay) ของตุรกี ซึ่งตั้งอยู่ติดๆ กับอิดลิบ และจะยิ่งแผ่ขยายกว้างขวางออกไปด้วยข้อเสนอใหม่ในเรื่องการจัดตั้งเขตพื้นที่กันชนขึ้นที่จังหวัดอาเลปโป (Aleppo) จังหวัด ฮาไต นั้นตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตรงบริเวณด้านเหนือของลาตาเกีย เดิมทีถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของซีเรีย ทั้งนี้ตามที่ระบุอยู่ใน “อาณัติของฝรั่งเศสสำหรับซีเรียและเลบานอน” (French Mandate for Syria and the Lebanon) (IV) ทว่าตุรกีแสดงความสนใจในพื้นที่นี้ซึ่งมีชุมชนผู้พูดภาษาตุรกีขนาดใหญ่ และถึงปี 1936 ก็ผลักดันให้ ฮาไต “รวมชาติ” กับตุรกี [5] ครั้นถึงปี 1939 ตุรกีได้เข้าผนวก ฮาไต กลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนนับแต่นั้น

จาค็อบ เซนน์ (Jacob Zenn) ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ประเมินสถานการณ์ว่า เวลานี้ “พวกกบฏอาจจะมีทรัพยากรต่างๆ เพียงพอสำหรับการจัดตั้งรัฐในทางพฤตินัยขึ้นมา ในบริเวณด้านตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย นำโดย เจเอ็น [JN คำย่อของ Jabhat-al-Nusra จาบัต-อัล-นุสรา หรือที่นิยมเรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า al-Nusra Front] และสนับสนุนโดยกองกำลังอาวุธชาวเอเชียกลางหลายๆ กลุ่ม” ทั้งนี้พันธมิตรกบฎกลุ่มนี้ มีทั้ง พรรคอิสลามเตอร์กิสถาน (Turkistan Islamic Party ใช้อักษรย่อว่า TIP) กลุ่มก่อการร้ายที่นำโดยชาวอุยกูร์จากจีน, กลุ่มที่มีชาวอุซเบกเป็นผู้นำอย่าง กลุ่มอิหม่าม บุคอรี จามาต (Imam Bukhari Jamaat ) และกลุ่มคาติบัต ตอฮิด วัล ญิฮัด (Katibat Tawhid wal Jihad), ตลอดจนกองกำลังอาวุธชาวเชชเนีย (Chechen) ผสมอยู่ด้วย

จากรายงานหลายชิ้นในระยะหลังๆ นี้ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://therightscoop.com/exposed-the-real-cause-of-the-sudden-syrian-migrant-crisis-into-europe/) เปิดเผยให้เห็นว่า ตุรกีกำลังเพิ่มประชากรให้แก่รัฐเล็กๆ ในทางพฤตินัยซึ่งตั้งประชิดอยู่ถัดจากจังหวัดฮาไตแห่งนี้ ด้วยการจัดตั้งนิคมของคนพูดภาษาตระกูลเตอคิก (Turkic) โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเติร์กอุยกูร์จากจีน

กระบวนการแปรภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรียให้กลายเป็นดินแดนชาวเติร์ก

ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนกับตุรกีเกิดการโต้เถียงวิวาทกันในเรื่องชาวอุยกูร์ในจีนเดินทางอพยพออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยอาศัยหนังสือเดินทางตุรกีจนกลายเป็นเรื่องฉาวโฉ่ และในที่สุดแล้วพวกเจ้าหน้าที่จีนก็ออกมาระบุอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนในเดือนกรกฎาคมว่า ตุรกีกำลังระดมรับสมัครชาวอุยกูร์จากจีน และจากนั้นก็ขายคนเหล่านี้เพื่อไปเป็น “เหยื่อกระสุน” ให้กลุ่มญิฮัดในซีเรีย [6]

บทความชิ้นหนึ่งที่นำออกเผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม ของหนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ (Global Times กิจการหนึ่งในเครือของเหรินหมินรึเป้า กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิต์จีน -ผู้แปล) ระบุว่า ตั้งแต่สิ้นปี 2014 เป็นต้นมา มีชาวอุยกูร์ 1,000 คนถูกลักพาตัวเข้าไปในตุรกี และเข้าพำนักอาศัยตามอาคารต่างๆ ของรัฐบาลในเมืองไกเซรี (Kayseri) ซึ่งมีตำรวจท้องถิ่นคอยเฝ้ารักษา [7] นอกจากนั้น บทความของโกลบอลไทมส์ยังอ้างการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนจีนเมื่อปี 2011 ของ มูรัต ซาลิม อีเซนลี (Murat Salim Esenli) เอกอัครราชทูตตุรกีประจำจีน ที่กล่าวว่า ประชากรชาวอุยกูร์ในตุรกีนั้นมีจำนวนราว 300,000 คน ขณะที่ทางการจีนมักระบุตัวเลขอยู่ที่ 100,000 คน

อย่างไรก็ดี บทความชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่เมื่อปี 2009 เขียนโดย มัตตี โนโนเยน (Matti Nonojen) และ อีกอร์ ตอร์บาคอฟ (Igor Torbakov) จากสถาบันกิจการระหว่างประเทศของฟินแลนด์ (Finnish Institute of International Affairs) ก็ได้อ้างคำพูดของ บูเลนต์ อาริงค์ (Bulent Arinc) ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค AKP (พรรครัฐบาลตุรกีในปัจจุบัน –ผู้แปล) และขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกล่าวว่า “เรามีความผูกพันทางประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้งกับพี่น้องของเราในเขตชาวอุยกูร์” ซึ่งรวมถึงชุมชนชาวอุยกูร์ในตุรกีที่มีประชากรจำนวน 300,000 คนด้วย [8] ดังนั้น ในเมื่อมีชาวอุยกูร์เดินทางอพยพเพิ่มเข้าไปแบบพุ่งพรวดในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ จำนวนดังกล่าวนี้ในขณะนี้ก็น่าที่จะสูงขึ้นไปอีกสักเล็กน้อยแล้ว

ย้อนกลับไปในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อตอนที่กรณีอื้อฉาวหนังสือเดินทางตุรกีได้รับความสนอกสนใจจากสื่อมวลชนนั้น ปีเตอร์ ลี (Peter Lee) แห่งเอเชียไทมส์ ได้สันนิษฐานว่ามีความเป็นไปได้ที่ เออร์โดกัน กำลังใช้กำลังพลชาวอุยกูร์ ให้เป็นทรัพย์สินซึ่งเขาเตรียมเอาไว้สำหรับการแผ่ขยายอำนาจที่ซีเรียในอนาคต [9] ถึงแม้เป็นที่รับรู้รับทราบกันว่า ตุรกีแสดงท่าทีเอาใจใส่ปกป้องผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ และปฏิบัติตามแนวคิดของตนที่จะเป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองโลกของประชากรที่พูดภาษาตุรกี แต่จีนน่าจะไม่เห็นดีเห็นงามด้วย ในการที่ตุรกีกำลังพยายามสร้างสายท่อส่งก๊าซ แล้วกระตุ้นส่งเสริมให้ชาวอุยกูร์อพยพออกไปจากแดนมังกร เพื่อเข้าไปเป็นนักรบญิฮัดในซีเรีย และในที่สุดแล้วก็ย้อนกลับมาเป็นนักรบญิฮัดในจีนเองด้วย

ฝีก “กบฏ” ชาวอุยกูร์ก็เพื่อให้เป็นนักรบญิฮัดในซีเรียและในจีน?

ภัยคุกคามนี้ยิ่งดูหนักแน่นเพิ่มขึ้นอีกมากในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เมื่อโทรทัศน์ MEMRI TV นำเอาวิดีโอที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วออกมาเผยแพร่ (ดูรายละเอียดได้ที่http://www.memritv.org/clip/en/5089.htm) โดยวิดีโอดังกล่าวมีเนื้อหาแสดงให้เห็นว่า กลุ่มหัวรุนแรงชาวอุยกูร์จากจีน ของพรรคอิสลามเตอร์กิสถาน (TIP) พร้อมครอบครัวของพวกเขา กำลังจัดตั้งค่ายฝึกอบรมต่างๆ ในจังหวัดอิดลิบ, ซีเรีย ขึ้นมาอย่างไร ขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นนิคมแห่งใหม่แห่งหนึ่งที่มีชาวอุยกูร์พำนักอาศัย 3,500 คนตั้งอยู่ใกล้ๆ กับค่ายฝึกเหล่านี้ [10] พรรค TIP เองก็ได้เผยแพร่ภาพถ่ายค่ายของตนในอิดลิบ ตลอดจนค่ายหลายๆ แห่งที่ใช้สำหรับฝึก “ลูกๆ” ของเหล่านักรบญิฮัด [11]

วิดีโอดังกล่าวเดินเรื่องต่อไป โดยกล่าวว่า “ชาวเตอร์กิสถานในจีนนับหมื่นๆ คน” (thousands of Chinese turkistanis) ที่พากันหลบหนีออกจากจีน ได้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะในหมู่บ้าน “ซันบัก” (Zanbaq) และกำลังเปลี่ยนแปลงสภาพทางประชากรในซีเรีย โดยที่มีกว่า 20,000 คนกำลังเข้ารับการฝึกอบรมจากหน่วยข่าวกรอง MIT ของตุรกีในเมืองอิสตันบุล เพื่อจะได้กลายเป็น “กบฏ” ซึ่งในที่สุดแล้วจะเข้าสู้รบกับอัสซาดในซีเรีย และต่อเนื่องเข้าไปในประเทศจีน

เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการต่างๆ เหล่านี้ ดูเหมือนว่า เออร์โดกัน อาจจะมีความคิดที่จะเพิ่มลักษณะความเป็น “เตอร์คิก” เข้าไปใน อิดลิบ และ อาเลปโป เพื่อให้กลายเป็น ฮาไต ขึ้นมาอีกพื้นที่หนึ่ง โดยที่เขาวาดหวังกระทำกับดินแดนเหล่านี้แบบ “ไครเมีย” ซึ่งก็คือการเข้าผนวกรวมเอามาเป็นของตุรกีในท้ายที่สุด

ถึงแม้เรื่องที่มีชาวเติร์กอุยกูร์จำนวนถึง 20,000 คนกำลังเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อให้กลายเป็นกบฏ ดูน่าจะเป็นตัวเลขที่เกินความเป็นจริง แต่ข้อเท็จจริงยังคงมีอยู่ว่า พรรคอิสลามเตอร์กิสถาน (TIP) กำลังเป็นส่วนหนึ่งของ “กองทัพแห่งชัยชนะ” (Army of Conquest) ของตุรกี จากการที่ TIP ได้เพิ่มทวีการโจมตีแบบผู้ก่อการร้ายขึ้นในแดนมังกรในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งวิวัฒนาการขององค์การนี้ก็มีความละม้ายคล้ายคลึงกับ ISIS นั่นคือจากองค์การก่อการร้ายก็แปรเปลี่ยนมาเป็นกองทัพอาชีพโดยที่มีตุรกีช่วยฝึกฝนอบรม ดังนั้นหากเออร์โดกันยังคงสืบต่อเดินหน้านโยบายเช่นนี้ต่อไป เขาก็น่าจะกลายเป็นผู้กระตุ้นยั่วยุให้จีนต้องเข้าสู่สงครามซีเรีย เพื่อทำหน้าที่ระงับยับยั้งสิ่งที่กำลังกลายเป็นภัยคุกคามต่ออธิปไตยของจีนนี้

หมายเหตุ

[1] http://news.yahoo.com/eu-turkey-thrash-refugee-action-plan-122335353.html

[2] http://www.armedforcesjournal.com/pipeline-politics-in-syria/

[3] http://www.isn.ethz.ch/Digital-Library/Publications/Detail/?id=192741

[4] http://levantreport.com/2015/05/19/2012-defense-intelligence-agency-document-west-will-facilitate-rise-of-islamic-state-in-order-to-isolate-the-syrian-regime/

[5] http://carnegieendowment.org/syriaincrisis/?fa=54340

[6] http://atimes.com/2015/07/uyghurs-being-sold-as-cannon-fodder-for-extremist-groups-china/

[7] http://www.globaltimes.cn/content/938731.shtml; http://www.reuters.com/article/2015/07/27/us-turkey-china-uighurs-insight-idUSKCN0Q10PM20150727

[8] https://www.opendemocracy.net/article/china-turkey-and-xinjiang-a-frayed-relationship

[9] http://www.counterpunch.org/2015/02/24/curtain-coming-down-on-erdogans-excellent-uyghur-adventure/

[10] http://www.memritv.org/clip/en/5089.htm; http://syrianow.sy/index.php?d=72&id=9967 ; http://www.liveleak.com/view?i=e7c_1443611474

[11] https://news.siteintelgroup.com/Jihadist-News/tip-division-in-syria-releases-photos-of-fighters-camp-for-children.html; https://news.siteintelgroup.com/tag/31.html

ดร.คริสตินา ลิน เป็นนักวิจัยของศูนย์เพื่อความสัมพันธ์สองฟากฝั่งแอตแลนติก (Center for Transatlantic Relations) วิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษาชั้นสูงพอล เอช. นิทซ์ (SAIS) มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) เธอเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “The New Silk Road: China’s Energy Strategy in the Greater Middle East” (The Washington Institute for Near East Policy) และเป็นอดีตผู้อำนวยการด้านนโยบายจีน อยู่ที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

หมายเหตุผู้แปล
(I) ISIS ย่อมาจาก Islamic State of Iraq and al-Sham (รัฐอิสลามแห่งอิรักและอัล-ชาม) เป็นชื่อเก่าชื่อหนึ่งของกลุ่มนักรบญิฮัดหัวรุนแรงสุดโต่งกลุ่มนี้ ซึ่งในปัจจุบันได้ประกาศตัวก่อตั้ง “รัฐอิสลาม” ขึ้นตามแบบ “รัฐกาหลิบ” (คอลีฟะห์ ภาษาอังกฤษใช้ว่า Caliphate) ในอาณาบริเวณระหว่างอิรักกับซีเรียซึ่งพวกเขายึดครองอยู่ และเปลี่ยนมาเรียกชื่อกลุ่มตนเองว่า “รัฐอิสลาม” (Islamic State ใช้อักษรย่อว่า IS) อย่างไรก็ตาม หลายๆ ฝ่ายมีความรังเกียจหรือเห็นว่าไม่ถูกต้องที่จะเรียกชื่อกลุ่มนี้ด้วยชื่อใหม่ ดังนั้นจึงยังนิยมเรียกด้วยชื่อเก่า

ทั้งนี้ ชื่อเก่าของกลุ่มนี้นอกจาก “รัฐอิสลามแห่งอิรักและอัล-ชาม” หรือ ISIS แล้ว ยังมี “รัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์” (Islamic State of Iraq and the Levant ใช้อักษรย่อว่า ISIL) สืบเนื่องจาก ดินแดนที่เรียกว่า “อัล-ชาม” ในภาษาอาหรับนั้น ตรงกับดินแดน “เลแวนต์” (Lavant) ในภาษาอังกฤษ

นอกจากนั้น ยังมีผู้ที่นิยมเรียกชื่อกลุ่มนี้ว่า Daesh (ดาเอช) อันเป็นชื่อย่อของกลุ่มนี้ในภาษาอาหรับ

(II) ซาลาฟิสต์ (Salafist) เป็นชื่อขบวนการเคร่งลัทธิอนุรักษนิยมจัดภายในนิกายสุหนี่ของศาสนาอิสลาม ซึ่งอิงอยู่กับหลักคำสอนที่รู้จักกันในชื่อว่า “Salafism” หลักคำสอนดังกล่าวนี้อาจจะสรุปได้ว่า เป็นการใช้วิธีเข้าถึงอิสลามด้วยทัศนะแบบผู้เคร่งจารีตดั้งเดิม (a fundamentalist approach to Islam), การเลียนแบบศาสดามุฮัมมัด และสานุศิษย์รุ่นแรกที่สุดของท่าน Salafism ปฏิเสธนวัตกรรมทางศาสนา และสนับสนุนให้นำเอากฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์) มาใช้ ขบวนการซาลาฟิสต์มักถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ กลุ่ม purists ที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด กลุ่มนี้หลีกเลี่ยงไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง สำหรับกลุ่มที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 คือ activists เป็นพวกที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และกลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มเล็กที่สุด คือพวก jihadists

เมื่อปี 2002 นักวิชาการ ไจลส์ เคเพล (Gilles Kepel) ได้เสนอคำว่า “Salafist jihadists” และ “Jihadist-Salafism” เพื่อใช้บรรยายอุดมการณ์อิสลามิสต์ลูกผสม ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยพวกอาสาสมัครอิสลามิสต์ระหว่างประเทศในสงครามญิฮัดต่อต้านโซเวียตที่อัฟกานิสถาน

กล่าวได้ว่า Salafist jihadism หรือ Jihadist-Salafism เป็นอุดมการณ์ทางศาสนา-การเมืองแบบข้ามชาติ ซึ่งพื้นฐานคือความเชื่อในเรื่องลัทธิญิฮัดแบบรุนแรง (violent jihadism) และความเชื่อของขบวนการซาลาฟิสต์ในเรื่องการกลับคืนไปสู่ อิสลามสุหนี่ “ที่แท้จริง”

ในรายชื่อของกลุ่ม Jihadist-Salafist ซึ่งรวบรวมขึ้น ณ ปี 2014 (ดูรายละเอียดได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Salafi_jihadism) กลุ่มที่คุ้นหู มีดังเช่น อัลกออิดะห์ (ทั้งกลุ่มที่เป็นแกน และเครือข่ายในหลายๆ ประเทศ รวมทั้ง Jabhat al-Nusra หรือ al-Nusra Front ในซีเรีย ) , กลุ่ม ISIS, กลุ่ม JI ในอินโดนีเซีย, กลุ่มอบู ไซยาฟ ในฟิลิปปินส์, ขบวนการอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก (East Turkestan Islamic Movement ใช้อักษรย่อว่า ETIM) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า พรรคอิสลามเตอร์กิสถาน (Turkistan Islamic Party ใช้อักษรย่อว่า TIP) ในจีน เป็นต้น
(ข้อมูลจาก Wikipedia)

(III) “กองทัพแห่งชัยชนะ” (อาร์มี ออฟ คองเกวสต์ Army of Conquest) เป็นกลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฏิบัติการทางทหารในสงครามกลางเมืองซีเรียซึ่งประกาศจัดตั้งขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2015 สมาชิกในกลุ่มพันธมิตรนี้เป็นกลุ่มกบฏอิสลามิสต์ซีเรียจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วเป็นพวกที่เคลื่อนไหวคึกคักอยู่ในจังหวัดอิดลิบ แต่ก็มีบางกลุ่มเคลื่อนไหวคึกคักในจังหวัดฮามา (Hama) และจังหวัดลาตาเกีย “กองทัพแห่งชัยชนะ” สามารถยึดเมืองอิดลิบ เมืองเอกของจังหวัดอิดลิบ ได้ในวันที่ 28 มีนาคม 2015 จากนั้นในเดือนถัดๆ มาก็เป็นหัวหอกเปิดการรุกโจมตีซึ่งขับไล่กองกำลังรัฐบาลอัสซาดออกไปจากจังหวัดนี้จนเกือบหมดสิ้น หลังจากความสำเร็จนี้แล้ว ได้มีการจัดตั้งสาขาของ “กองทัพแห่งชัยชนะ” เพิ่มขึ้นในส่วนอื่นๆ ของซีเรีย

กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดใน “กองทัพแห่งชัยชนะ” คือ อาห์ราร์ อัช-ชาม (Ahrar ash-Sham) กลุ่มอิสลามิสต์สำคัญอื่นๆ ซึ่งมีบทบาทสูงในการวางแผนทางยุทธการ ได้แก่ อัล-นุสรา ฟรอนต์ ที่เป็นเครือข่ายของอัลกออิดะห์ในซีเรีย และ กองกำลังผสมแห่งชาม (Sham Legion) ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิมแห่งซีเรีย (Muslim Brotherhood of Syria) อย่างไรก็ตาม การกำหนดแผนยุทธการนั้นมีการร่วมมือกับกลุ่มต่างๆ ที่เป็นพวกสายกลาง อย่างเช่น กลุ่ม “อัศวินแห่งกองกำลังยุติธรรม” (Knights of Justice Brigade)
(ข้อมูลจาก Wikipedia)

(IV) “อาณัติของฝรั่งเศสสำหรับซีเรียและเลบานอน” (French Mandate for Syria and the Lebanon) เป็นดินแดนในอาณัติดินแดนหนึ่งของสันนิบาตชาติ (League of Nations องค์การโลกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งล่มสลายไปเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีการจัดตั้งสหประชาชาติขึ้นมาแทนที่ -ผู้แปล) ทั้งนี้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง และจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้แพ้สงคราม ได้ถูกตัดแบ่งเฉือนดินแดน โดยดินแดนที่เหลืออยู่กลายเป็นประเทศตุรกีในยุคสมัยใหม่ ส่วนดินแดนอื่นๆ ส่วนใหญ่ถูกฮุบโดยอังกฤษและฝรั่งเศส และสันนิบาตชาติได้จัดทำระบบดินแดนในอาณัติซึ่งเป็นการรับรองการยึดครองนี้กลายๆ โดยที่ฝรั่งเศสได้ดูแลดินแดนที่เรียกกันว่าซีเรียและเลบานอน ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วย ซีเรีย, เลบานอน, และจังหวัดฮาไต
(ข้อมูลจาก Wikipedia)


กำลังโหลดความคิดเห็น