Obama cuts loose Syria’s civil war
By M K Bhadrakumar
10/10/2015
“คำแถลงว่าด้วยซีเรีย” ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเมื่อวันศุกร์ (9 ต.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งออกมาภายหลังที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ทำการตัดสินใจนโยบายเรื่องนี้ด้วยตนเอง ถูกมองว่าคือการประกาศถอนตัวออกจากโซ่ตรวนพันธการของสงครามกลางเมืองในซีเรียนั่นเอง ทั้งนี้สิ่งที่วอชิงตันกระทำอยู่ก่อนหน้านี้ได้แก่การระดมหาสมัครพรรคพวกให้แก่พวกกบฎ “สายกลาง” กลุ่มต่างๆ และฝึกอบรมกองกำลังอาวุธกบฏเหล่านี้เพื่อโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด อย่างไรก็ตาม ด้วยการประเมินอย่างคำนึงถึงความเป็นจริง เกี่ยวกับความจำกัดต่างๆ ในศักยภาพของอเมริกา โดยที่วอชิงตันก็ไม่ได้คิดที่จะกระทำการแทรกแซงในซีเรียในระดับเดียวกับที่รัสเซียกำลังกระทำอยู่ในตอนนี้ ดังนั้นจากนี้ไปสหรัฐฯจะหันมารวมศูนย์ที่เรื่องการปราบปรามกลุ่มไอเอส และปรับเปลี่ยนโยกย้ายความเคลื่อนไหวของตน ไปเน้นหนักในบริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับอิรัก
สิ่งที่เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) แถลงเมื่อวันศุกร์ (9 ต.ค.) ที่ผ่านมา (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.defense.gov/News/News-Releases/News-Release-View/Article/622610/statement-on-syria หรือดูฉบับแปลเก็บความเป็นภาษาไทยได้ที่ “หมายเหตุผู้แปล” ตอนท้ายของข้อเขียนชิ้นนี้) [1] ในความเป็นจริงแล้วคือการประกาศถอนตัวออกจากสงครามกลางเมืองในซีเรีย
เท่าที่ผ่านมา บทบาทสำคัญที่สุดที่วอชิงตันกระทำอยู่ ได้แก่การระดมหาสมัครพรรคพวกให้แก่พวกกบฎ “สายกลาง” กลุ่มต่างๆ และฝึกอบรมกองกำลังอาวุธกบฏเหล่านี้ เพื่อโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แต่ต่อจากนี้ไป สหรัฐฯจะหันมารวมศูนย์ทุ่มเทพลังงานและทรัพยากรของตนไปที่การสู้รบปราบปรามกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (Islamic State ใช้อักษรย่อว่า IS) เพนตากอนออกประกาศดังกล่าวนี้ ภายหลังจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ตัดสินใจเรื่องนี้ด้วยตัวเขาเองแล้ว
ไม่มีสัญญาณใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ก่อนจะทำการตัดสินใจครั้งสำคัญคราวนี้ โอบามาได้พูดจาหารือกับพวกพันธมิตรและหุ้นส่วนของเขา ไม่ว่าจะเป็นตุรกี, อิสราเอล, หรือพวกรัฐอาหรับ –โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี), และจอร์แดน ถ้าหากเป็นอย่างที่กล่าวมานี้จริงๆ แล้ว มันก็เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นถึงแนวความคิดแบบใหม่ซึ่งมุ่งเน้นหนักให้ความสำคัญลำดับต้นๆ แก่สิ่งที่เป็นผลประโยชน์แกนกลางของสหรัฐฯ และสิ่งที่เป็นความวิตกห่วงใยอันสำคัญยิ่งยวดของอเมริกา ทั้งนี้หลังจากที่ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้เข้าไปเกี่ยวข้องพัวพัน ให้ความสำคัญในการร่วมไม้ร่วมมือกับพวกชาติพันธมิตรในภูมิภาคตะวันออกกลางของตน ในการฝึกฝนอบรมและติดอาวุธให้แก่กองกำลังกบฎชาวซีเรียกลุ่มต่างๆ
การที่โอบามาตัดสินใจกระทำสิ่งที่เรียกได้ว่า เป็นการสลัดโซ่ตรวนพันธการในคราวนี้ ถึงแม้ต้องถือว่าสายไปมากแต่ก็ยังดีกว่าไม่ลงมือกระทำเลย ความเคลื่อนไหวคราวนี้อิงอยู่บนการประเมินอย่างคำนึงถึงความเป็นจริง เกี่ยวกับความจำกัดต่างๆ ในศักยภาพของสหรัฐฯที่จะส่งอิทธิพลต่อเหตุการณ์และพัฒนาการต่างๆ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในซีเรีย สหรัฐฯนั้นไม่ได้คิดที่จะกระทำการแทรกแซงในซีเรียในระดับเดียวกับที่รัสเซียกำลังกระทำอยู่ในตอนนี้ และต่อจากนี้ไป สหรัฐฯตัดสินใจแล้วที่จะปรับเปลี่ยนโยกย้ายปริมณฑลแวดวงความเคลื่อนไหวของตน ไปโฟกัสยังบริเวณพื้นที่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับอิรัก
โอบามานั้นได้รับมรดกนโยบายว่าด้วยซีเรียของสหรัฐฯ ซึ่งได้ใช้กันมาราว 10 ปีแล้ว วัตถุประสงค์สำคัญของนโยบายนี้ ก็คือการบังคับให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง” ขึ้นในซีเรีย เขามิได้เป็นผู้ประดิษฐ์นโยบายนี้ด้วยตนเอง คณะบริหารชุดก่อนของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งชุ่มโชกไปด้วยอุดมการณ์ “นีโอคอน” (neocon ย่อมาจาก neoconservative พวกอนุรักษนิยมใหม่ -ผู้แปล) นั้น มีวาระสำคัญอยู่ประการหนึ่ง ได้แก่การทำให้อิหร่านอ่อนแอ แล้วจากนั้นก็โค่นล้มทำลายอิหร่านลงไปในที่สุด โดยที่แรกสุดจะต้องมีการจัดตั้งระบอบการปกครองที่เป็นปรปักษ์ต่อกรุงเตหะรานขึ้นในกรุงดามัสกัส ถัดจากนั้นจึงทำการโดดเดี่ยวและทำการปฏิเสธ “ความลึกในเชิงยุทธศาสตร์” (strategic depth) ของเตหะราน ก่อนที่จะเข้าโจมตีอิหร่านอย่างซึ่งๆ หน้า และโค่นล้มระบอบปกครองแบบอิสลามของประเทศนี้ลงไป อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านไปเรียบร้อยแล้ว “สหสัมพันธ์ของกลุ่มพลังต่างๆ” (co-relation of forces) ในการเมืองตะวันออกกลาง ก็ได้เกิดการปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างน่าตื่นเต้นเร้าใจ และทำให้แนวความคิดเช่นนี้ของพวกนีโอคอน ดูเหมือนกับเป็นแนวความคิดของยุคน้ำแข็ง (Ice Age) ไปเลย โดยที่เวลานี้สหรัฐฯแสดงท่าทีให้ความสนใจกับการมีปฏิสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับอิหร่าน
การเข้าแทรกแซงในซีเรียอย่างห้าวหาญของรัสเซีย เมื่อกล่าวถึงที่สุดแล้วกำลังทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้มาถึงบทสรุป โอบามานั้นไม่ปรารถนาที่จะเสี่ยงภัยให้สหรัฐกระทำเลียนแบบความเคลื่อนไหวทางการทหารของแดนหมีขาวในซีเรีย มิหนำซ้ำเขายังสงสัยข้องใจว่าการตัดสินใจเช่นนี้ของมอสโกเป็นการกระทำที่ฉลาดแล้วหรือ แต่เขาก็จะไม่สกัดขวางกั้นเส้นทางเดินนี้ของรัสเซีย อีกทั้งจะไม่เข้าไปบ่อนทำลายมันด้วย นี่แหละคือประเด็นอันแท้จริงในประกาศของเพนตากอนเมื่อวันศุกร์ (9 ต.ค.) หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า โอบามากำลังปล่อยให้รัสเซียทำอะไรตามใจชอบ โดยที่คิดอยู่ว่ามันน่าจะประสบความล้มเหลวและสร้างความเสียหายให้แก่หมีขาวเองในท้ายที่สุด ขณะเดียวกันนั้น โอบามาก็จะยึดถือเอาตามคำพูดคำสัญญาของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่ว่า เมื่อการเข้าแทรกแซงของรัสเซียบังเกิดความคืบหน้าอย่างสมเหตุสมผลแล้ว มันจะกลายเป็นแรงเหวี่ยงซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนถ่ายทางการปกครองอย่างแท้จริงขึ้นในซีเรีย
แต่ก็นั่นแหละ ในอีกด้านหนึ่ง โอบามายังมองเห็นกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่กำลังโบกสะบัดอยู่ในความคิดของพรรคพวกทางยุโรปอีกด้วย ดังที่สะท้อนให้เห็นในคำแถลงอันชวนตะลึงงันของ ฌอง-โคลด จุงเกอร์ (Jean-Claude Juncker) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission คณะกรรมาธิการนี้ก็คือฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป -ผู้แปล) ในกรุงเบอร์ลินเมื่อวันพฤหัสบดี (8 ต.ค.) ที่ผ่านมา โดยที่จุงเกอร์กล่าวว่า
“พวกเราต้องใช้ความพยายามให้มากในการมีความสัมพันธ์เชิงปฏิบัติกับรัสเซีย มันจะไม่เซ็กซี่หรอก แต่นี่คือสิ่งที่จะต้องทำ พวกเรา [ฝ่ายตะวันตก] ไม่สามารถที่จะเดินหน้าอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ... รัสเซียจักต้องได้รับการปฏิบัติต่ออย่างถูกต้องเหมาะสม พวกเรา [ยุโรป] ไม่สามารถปล่อยให้ความสัมพันธ์ที่พวกเรามีอยู่กับรัสเซีย ต้องถูกบงการชี้นิ้วโดยวอชิงตัน”
จริงๆ แล้วสังเวียนซีเรียนั้นยังคงมีผู้เล่นอยู่อย่างแออัด และด้วยเหตุนี้คำถามใหญ่ที่ยังต้องการคำตอบก็คือ พวกชาติพันธมิตรในภูมิภาคตะวันออกกลางของสหรัฐฯจะทำอะไรต่อไป ภายหลังการตัดสินใจของวอชิงตันที่จะถอนตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับวาระแห่งการใช้กำลังเข้าโค่นล้มระบอบปกครองอัสซาดเสียแล้วเช่นนี้? ในความคิดของผมนั้น ไม่น่าเป็นไปได้ที่พวกพันธมิตรในภูมิภาคของสหรัฐฯเหล่านี้จะอยู่ในฐานะซึ่งสามารถก่อตั้งพลังรวมหมู่อะไรขึ้นมาแทนที่ เมื่อพิจารณาจากสภาวการณ์ต่างๆ ที่อยู่เฉพาะหน้าในเวลานี้ มิหนำซ้ำผลประโยชน์ในเกมนี้ของชาติเหล่านี้ก็มีความแตกต่างกัน รวมทั้งความสัมพันธ์ในระหว่างพวกเขาก็มีความขัดแย้งกันอยู่หลายๆ คู่ นี่คือเรื่องหนึ่ง
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ประเทศเหล่านี้ –ซึ่งได้แก่ ตุรกี, อิสราเอล, จอร์แดน, และพวกรัฐในคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council ใช้อักษรย่อว่า GCC ชาติสมาชิกของ GCC มีทั้งสิ้น 6 ราย ได้แก่ บาห์เรน, คูเวต, โอมาน, กาตาร์, ซาอุดีอาระเบีย, และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ -ผู้แปล) ต่างไม่มีความอาจหาญกล้าที่จะเข้าเผชิญหน้ากับรัสเซียด้วยตัวของพวกเขาเอง อย่าได้หลงเข้าใจผิดทีเดียว ปูตินไม่ได้ยิง จรวดร่อน เข้าใส่เป้าหมายในซีเรียจากเรือรบในอ่าวแคสเปียนซึ่งอยู่ห่างออกไปเป็นระยะทาง 1,500 กิโลเมตร ด้วยความหุนหันพลันแล่นหรอก หากแต่เป็นการจงใจสำแดงแสนยานุภาพให้ประจักษ์ตลอดทั่วทั้งมหาภูมิภาคตะวันออกกลาง [2] มันเป็นการส่งข้อความทางการเมืองแบบบิ๊กเบิ้มเอิกเกริก ไปถึงพวกตัวชูโรงทั้งหลายที่กำลังแสดงบทบาทอย่างกระตือรือร้นอยู่ในซีเรีย อย่างไรก็ดี เราต้องตระหนักว่ารัสเซียนั้นเป็นผู้ที่สามารถเคลื่อนไหวทางการทูตได้อย่างชำนิชำนาญ หลังจากที่ได้แสดงฤทธิ์เดชให้เห็นกันไปเรียบร้อยแล้ว ถึงตอนนี้มอสโกจะเร่งรีบเข้ามี “ปฏิสัมพันธ์” กับพวกพันธมิตรในภูมิภาคของสหรัฐฯ ทั้งเพื่อที่จะอธิบายให้พวกเขาทราบถึงมูลเหตุจูงใจต่างๆ ของฝ่ายรัสเซีย, แก้ไขคลี่คลายความวิตกกังวลอย่างแท้จริงของชาติเหล่านี้ (ถ้ามี), เกลี้ยกล่อมให้ชาติเหล่านี้อยู่ในความสงบและเพิ่มพูน “ระดับความรู้สึกสบายใจ” ของพวกเขา, และท้ายที่สุด ถ้าหากสถานการณ์ถึงขั้นหน้าสิ่วหน้าขวาน ก็จะได้ทัดทานตักเตือนชาติเหล่านี้ อย่าได้กระทำสิ่งใดๆ อย่างไม่ยั้งใจในท่ามกลางความร้อนแรงของช่วงขณะเวลานี้
ในการคาดคำนวณของฝ่ายรัสเซียนั้น ถือว่าอิสราเอลกับตุรกีมีจุดยืนและผลประโยชน์ที่แตกต่างออกไปจากชาติพันธมิตรในภูมิภาคของสหรัฐฯรายอื่นๆ เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้กำลังเข้าแทรกแซงทางทหารโดยตรงอยู่ในซีเรีย (แตกต่างจากบรรดาท่านชีคของรัฐริมอ่าวอาหรับทั้งหลาย) และการใช้การทูตแบบกดดันบีบบังคับในบางระดับดูจะมีความจำเป็น เพื่อทำให้อิสราเอลกับตุรกีเกิดความตระหนักว่า อะไรคือสิ่งที่ดีที่พวกเขาพึงกระทำ ส่วนสำหรับรัฐริมอ่าวอาหรับ (รวมทั้งจอร์แดนด้วย) อยู่ในสถานการณ์ยุ่งยากลำบากอีกประเภทหนึ่ง พวกเขากำลังรู้สึกสับสนงุนงงเมื่อปราศจากสหรัฐฯที่คอยจูงมือพวกเขาอยู่ในซีเรีย ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาทางด้านมอสโกได้ลงแรงใช้ความพยายามอย่างมากในการสร้างสะพานเชื่อมต่อกับรัฐเหล่านี้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เมื่อความพยายามทางการทูตของรัสเซียในภูมิภาคอ่าวอาหรับขณะนี้ กำลังอยู่ในโหมดกระตือรือร้นกระดี๊กระด๊า (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่ http://www.thenational.ae/world/middle-east/russia-woos-sceptical-gulf-arab-states-over-syria-intervention)
ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีคณะผู้แทนทางการทหารของรัสเซียเดินทางไปยังอิสราเอลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มอสโกยังเสนอที่จะจัดการหารือพูดคุยทำนองเดียวกันนี้กับตุรกีด้วย เวลานี้กล่าวได้ว่าอิสราเอลกำลังอยู่ในอาการสงบเสงี่ยมอย่างผิดปกติวิสัย ตุรกีก็เช่นกันมีการลดระดับถ้อยคำของตนเอง สำนักข่าว “อนาโดลู” (Anadolu) ของทางการตุรกี รายงานว่า รองนายกรัฐมนตรี นูมาน เคอร์ตุลมุส (Numan Kurtulmus) ได้ออกมาพูดเมื่อวันศุกร์ (9 ต.ค.) ว่า
“ตุรกีไม่ควรยอมสูญเสียความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับรัสเซีย เพียงเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางการเมืองใดๆ ในซีเรียเท่านั้น ตุรกีกับรัสเซียสามารถที่จะอยู่ด้วยกันอย่างสันติมาเป็นเวลานานปีแล้ว ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันแข็งแรงมากทั้งในทางการเมือง, เศรษฐกิจ, และการค้า ทว่าตุรกีก็เป็นประเทศที่พร้อมจะเข้าพิทักษ์ปกป้องชายแดนของตน นี่คือเหตุผลที่ทำไมเราจึงคาดหมายว่ารัสเซียจะยอมล่าถอยออกไป และยุติการละเมิดชายแดนของเรา ถ้าหากรัสเซียบอกว่านั่นเป็นสิ่งที่กระทำไปด้วยความผิดพลาด”
แน่นอนทีเดียว ในบรรดาชาติพันธมิตรในภูมิภาคของสหรัฐฯ ผู้ที่สามารถทำให้เกิดบทสรุปขึ้นมาได้ ย่อมจะต้องเป็นซาอุดีอาระเบีย ในด้านหนึ่งนั้น ซาอุดีอาระเบียยังคงแสดงให้เห็นความหมกมุ่นครุ่นคิดแต่จะ “ปิดล้อม” อิหร่าน ตลอดจนหมกมุ่นครุ่นคิดแต่จะทำลายการเชื่อมต่อผูกพันโยงใยกันระหว่างเตหะรานกับดามัสกัส ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ริยาดก็กำลังหมดความสามารถที่จะประคับประคอง “การจับจ่ายใช้สอยจนเกินตัว” ทั้งในทางการเงินและในทางการเมืองของตน ให้เนิ่นนานออกไปอีก เป็นเรื่องลำบากที่จะวัดกันได้อย่างชัดเจนว่าโอบามารู้สึกได้มากน้อยแค่ไหนแล้ว ว่าระบอบปกครองอันแสนเร่อร่าล้าสมัยของซาอุดีอาระเบียนั้น กำลังอยู่ในอาการอ่อนล้าเต็มที (ขอเชิญอ่านบทวิเคราะห์อันยอดเยี่ยมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ของวารสาร “Foreign Policy” ได้ที่ http://foreignpolicy.com/2015/10/07/will-the-united-states-help-if-saudi-arabia-starts-to-fall-apart/)
(จากบล็อก Indian Punchline)
เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา
หมายเหตุผู้แปล
[1] คำแถลงเรื่องซีเรีย ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม มีเนื้อความดังนี้:
คำแถลงว่าด้วยซีเรีย (Statement on Syria)
วันที่ 9 ตุลาคม 2015
เลขานุการฝ่ายหนังสือพิมพ์ของเพนตากอน ปีเตอร์ คุก (Peter Cook) ได้ให้ถ้อยแถลงดังต่อไป:
เมื่อปีที่แล้ว กระทรวงกลาโหมได้รับมอบอำนาจจากรัฐสภาให้ฝึกอบรมและติดอาวุธแก่กองกำลังฝ่ายค้านที่เป็นพวกแนวคิดสายกลางกลุ่มต่างๆ ในซีเรีย โดยถือเป็นหนึ่งในความพยายามหลายๆ แนวทางเพื่อทำการสู้รบกับกลุ่ม “รัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์” (Islamic State of Iraq and the Levant ใช้อักษรย่อว่า ISIL) [3] ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการนี้เป็นต้นมา เราได้มีการทบทวนความก้าวหน้าของเรา, ยอมรับความท้าทายต่างๆ ที่ต้องประสบ, และดำเนินการเพื่อวินิจฉัยว่าทำอย่างไรเราจึงจะสามารถปรับปรุงยกระดับความพยายามของเราในการสนับสนุนเหล่าหุ้นส่วนของเราทางภาคพื้นดิน
ตลอดระยะเวลาดังกล่าวนี้ ด้วยการทำงานกับบรรดาหุ้นส่วนในกลุ่มพันธมิตรของเรา เรายังได้ดำเนินความพยายามอย่างอื่นๆ เพื่อเข้ามีส่วนร่วมและเพิ่มขีดความสามารถของกองกำลังต่างๆ ทางภาคพื้นดินที่มีศักยภาพ ให้เกิดแรงจูงใจที่จะตีชิงดินแดนของซีเรียคืนมาจาก ISIL ตัวอย่างเช่น เราให้การสนับสนุนพวกนักรบต่อต้าน ISIL ในเมืองโคบานี (Kobane) จนเปิดทางให้พวกเขาสามารถชิงจุดข้ามแดนแห่งสำคัญจุดหนึ่งคืนมาได้ แล้วยังสามารถกดดันลึกเข้าไปในพื้นที่ของซีเรียซึ่งควบคุมโดย ISIL อีกด้วย
เพื่อเป็นการสร้างเสริมต่อยอดจากความก้าวหน้าดังกล่าว ขณะนี้รัฐมนตรีกลาโหม แอช คาร์เตอร์ (Ash Carter) กำลังสั่งการให้กระทรวงกลาโหมจัดหาชุดยุทโธปกรณ์และอาวุธต่างๆ ให้แก่ผู้นำจำนวนหนึ่งที่ผ่านการคัดกรองแล้วตลอดจนหน่วยของพวกเขา เพื่อที่ว่าเมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาจะสามารถดำเนินการส่งแรงผลักดันอย่างสอดประสานกัน เข้าไปในดินแดนซึ่งยังคงควบคุมโดย ISIL เราจะเฝ้าติดตามความก้าวหน้าที่กลุ่มเหล่านี้สามารถกระทำได้ และคอยให้ความสนับสนุนทางอากาศแก่พวกเขาในขณะที่พวกเขาทำการสู้รบกับ ISIL การเน้นหนักโฟกัสไปที่การให้อาวุธยุทโธปกรณ์และการเพิ่มขีดความสามารถเช่นนี้ จะทำให้เราสามารถเสริมเติมเพิ่มพูนต่อยอดความก้าวหน้าที่ได้กระทำสำเร็จไปแล้วในการต่อสู้ปราบปราม ISIL ในซีเรีย
“ผมยังคงมีความมั่นใจว่า ความปราชัยอย่างถาวรของ ISIL ในซีเรียนั้น ส่วนหนึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับความสำเร็จของกองกำลังภาคพื้นดินท้องถิ่น ซึ่งมีแรงกระตุ้นและมีความสามารถ” รัฐมนตรีคาร์เตอร์ กล่าว “ผมเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เรากำลังทำให้เป็นระบบอยู่ในเวลานี้ เมื่อเวลาผ่านมา จะสามารถเพิ่มพูนอำนาจสู้รบของกองกำลังต่อต้าน ISIL กลุ่มต่างๆ ในซีเรีย และในที่สุดแล้วจะช่วยเหลือการรณรงค์ของเราที่มุ่งยังความปราชัยอย่างถาวรให้แก่ ISIL”
เราขอขอบคุณบรรดาหุ้นส่วนในกลุ่มพันธมิตรของเรา ซึ่งได้ให้การสนับสนุนความพยายามในการต่อสู้ปราบปราม ISIL เรื่อยมา และเราก็จะทำงานกับพวกเขาต่อไป บนหนทางต่างๆ ซึ่งเราสามารถที่จะขยายความร่วมมือของเราให้กว้างขวางยิ่งขึ้นและลึกซึ้งยิ่งขึ้น เราจะยังคงประเมินค่าโครงการของเรา และคาดหมายที่จะทำการปรับรายละเอียด ตลอดจนทำการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้เหมาะสม อย่างต่อเนื่องอยู่เป็นระยะๆ เมื่อเห็นว่าเป็นการสมควร ดังที่เรากล่าวเอาไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นแล้ว การสู้รบปราบปราม ISIL นั้นจะต้องใช้เวลา การทำงานกับหุ้นส่วนท้องถิ่นเพื่อช่วงชิงเอาดินแดนต่างๆ ที่ถูก ISIL แย่งยึดไปกลับคืนมา ก็จะดำเนินต่อไป ในฐานะเป็นกระบวนการที่ยาวนานและลำบากหนักหน่วง.
สำนักข่าวต่างๆ ได้รายงานคำแถลงของเพนตากอนฉบับนี้ โดยเพิ่มเติมภูมิหลังตลอดจนส่วนประกอบอื่นๆ ซึ่งทำให้เข้าใจเรื่องราวได้รอบด้านมากขึ้น ผู้แปลจึงขอเก็บความรายงานบางชิ้นมานำเสนอในที่นี้:
สหรัฐฯถอดปลั๊กยุติการฝึกอบรมกบฎซีเรีย หันไปเน้นการส่งอาวุธให้
ลอนดอน, 9 ต.ค. – สหรัฐฯตัดสินใจที่จะยกเลิกความพยายามอันประสบความล้มเหลว ในการฝึกอบรมพวกกบฏซีเรียสายกลาง ทำการสู้รบกับ “รัฐอิสลาม” และหันไปใช้วิธีจัดหาอาวุธตลอดจนยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้แก่พวกผู้นำกบฏตลอดจนหน่วยของพวกเขาในสมรภูมิโดยตรง ทั้งนี้ตามการแถลงของคณะบริหารโอบามาในวันศุกร์ (9)
ประกาศของสหรัฐฯในครั้งนี้ มีผลเท่ากับยุติโครงการมูลค่า 580 ล้านดอลลาร์ที่ดำเนินมาได้เพียงช่วงสั้นๆ ในการจัดฝึกอบรมและติดอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่หน่วยนักรบต่างๆ ตามสถานที่ซึ่งอยู่นอกซีเรีย ทั้งนี้หลังจากการเปิดตัวโครงการดังกล่าวนี้ในปีนี้ ปรากฏว่าต้องเผชิญกับความหายนะ และทำให้ยุทธศาสตร์การทำสงครามของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง
ตามคำแถลงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯในครั้งนี้ สหรัฐฯจะปรับเปลี่ยนโฟกัสจากเรื่องจัดฝึกอบรม ไปเป็นการจัดหาอาวุธและยุทโธปกรณ์อื่นๆ ไปให้กลุ่มกบฎต่างๆ ซึ่งผู้นำของกลุ่มสามารถผ่านกระบวนการคัดเลือกของสหรัฐฯ เพื่อให้เป็นที่แน่ใจได้ว่าพวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกลุ่มอิสลามิสต์หัวรุนแรง
การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในครั้งนี้ บังเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่คณะบริหารโอบามาต้องดิ้นรนรับมือให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ของภูมิทัศน์ในสงครามกลางเมืองซีเรียที่ดำเนินมา 4 ปี สืบเนื่องจากการที่รัสเซียเข้ามาแทรกแซงทางการทหารเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด โดยที่การแทรกแซงของมอสโกกำลังเร่งทวีให้เกิดความสงสัยข้องใจต่อยุทธศาสตร์ในซีเรียของโอบามา ตลอดจนก่อให้เกิดคำถามต่างๆ เกี่ยวกับอิทธิพลของสหรัฐฯในภูมิภาคดังกล่าว
มอสโกนั้น กำลังเพิ่มการโจมตีทางอากาศและการถล่มด้วยขีปนาวุธ ซึ่งฝ่ายนี้อ้างว่ามีจุดมุ่งหมายทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนอัสซาดที่เป็นพันธมิตรของแดนหมีขาวมาอย่างยาวนาน และก็เป็นการสู้รบกับกลุ่มรัฐอิสลามไปด้วย ขณะที่วอชิงตันบอกว่าการโจมตีทางอากาศในขณะนี้ของฝ่ายรัสเซียในซีเรีย ไม่ได้ถือพวกรัฐอิสลามเป็นเป้าหมายสำคัญเบื้องต้น หากเล็งไปที่กลุ่มกบฏกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งพวกที่ได้รับความสนับสนุนจากสหรัฐฯด้วย
ก่อนหน้านี้ โอบามาเคยตั้งคำถามแสดงความไม่ค่อยมั่นใจกับความคิดที่ว่า การติดอาวุธให้พวกกบฏจะสามารถเปลี่ยนแปลงเส้นทางของสงครามซีเรียได้ ในการให้สัมภาษณ์นิวยอร์กไทมส์เมื่อเดือนสิงหาคม 2014 เขากล่าวว่าแนวความคิดแบบที่เห็นว่าการติดอาวุธให้แก่ฝ่ายค้านชาวซีเรียที่เป็นพวกสายกลาง จะสามารถทำให้เกิดความแตกต่างอย่างมากขึ้นในสมรภูมินั้น ในอดีตที่ผ่านมา เป็นแนวความคิดที่ “มักจะกลายเป็นแฟนตาซีอยู่เรื่อย”
ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงทักท้วงว่า นโยบายใหม่ของสหรัฐฯที่จะทำการคัดกรองเฉพาะในขั้นผู้บังคับบัญชาของพวกกบฏนั้น มีความเสี่ยงที่จะทำให้อาวุธซึ่งอเมริกันจัดหามาให้ กลับตกไปอยู่ในมือของนักรบรายบุคคลซึ่งเป็นพวกต่อต้านโลกตะวันตก
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ คริสทีน วอร์มูธ (Christine Wormuth) ปลัดกระทรวงกลาโหมฝ่ายนโยบาย ได้ออกมาแถลงยืนยันว่า สหรัฐฯ “มีความมั่นอกมั่นใจอย่างสูงลิ่ว” ต่อพวกกบฏชาวซีเรียที่ตนเองจะส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ เธอสำทับด้วยว่า ยุทโธปกรณ์ดังกล่าวนี้จะไม่มีอาวุธ “ระดับสูงๆ ขึ้นมา” อย่างเช่น จรวดต่อสู้รถถัง หรือ จรวดต่อสู้อากาศยานแบบยิงประทับบ่า
เพนตากอนจะจัดหา “พวกยุทโธปกรณ์ชนิดพื้นฐาน” ให้แก่พวกผู้นำของกลุ่มเหล่านี้เท่านั้น วอร์มูธ เจ้าหน้าที่พลเรือนหมายเลข 3 ของกระทรวงแห่งนี้บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบขาว
กบฏซีเรียกลุ่มต่างๆ ซึ่งชนะใจวอชิงตันในช่วงหลังๆ นี้ มีทั้งที่เป็นชาวอาหรับนับถืออิสลามนิกายสุหนี่, ชาวเคิร์ด, ตอลดจนชาวซีเรียนับถือคริสต์ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯหลายคนเปิดเผย
วอร์มุธยังพยายามกล่าวปกป้องแก้ต่างให้แก่โครงการก่อนหน้านี้ของเพนตากอนที่เพิ่งเปิดตัวในเดือนพฤษภาคม แล้วปรากฏผลว่าสามารถฝึกอบรมนักรบชาวซีเรียได้เพียง 60 คน ห่างไกลสุดกู่กับจำนวนเป้าหมาย 5,400 คนที่ตั้งไว้ในตอนแรก และเมื่อคำนวณออกมาแล้วจะเท่ากับต้องสิ้นค่าใช้จ่ายเกือบๆ 10 ล้านดอลลาร์ทีเดียวในการฝึกอบรมนักรบคนหนึ่งๆ
“ดิฉันไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นกรณีของการดำเนินการอย่างย่ำแย่ไปเสียทั้งหมด” วอร์มูธ กล่าว “เพราะโดยเนื้อแท้แล้วมันเป็นภารกิจที่ยุ่งยากซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง”
ทางด้าน เบน โรดส์ (Ben Rhodes) รองที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว แถลงเสริมว่า การที่ต้องหันมาให้วิธีการใหม่ ย่อมแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า มี “ความบกพร่อง” ในโครงการฝึกอบรมและติดอาวุธ จนกระทั่งต้องมีการแก้ไข
เมื่อตอนที่เริ่มเปิดดำเนินการนั้น โครงการนี้ถูกมองว่าเป็นบททดสอบยุทธศาสตร์ของโอบามาซึ่งเน้นหนักเรื่องการมีหุ้นส่วนในท้องถิ่นมาทำการสู้รบกับพวกหัวรุนแรงรัฐอิสลาม โดยที่ทหารสหรัฐฯยังไม่ต้องเข้าสู่แนวหน้าโดยตรง แต่ปรากฏว่าโครงการนี้ประสบความลำบากยุ่งยากตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียว โดยในพวกนักรบที่ผ่านการอบรมเป็นรุ่นแรกนั้น ปรากฏว่ามีบางรายตกเป็นเป้าโจมตีจากกลุ่มอัล-นุสรา ซึ่งเป็นเครือข่ายในซีเรียของอัลกออิดะห์ ตั้งแต่การเข้าสู่สมรภูมิเป็นครั้งแรกของพวกเขา
เพนตากอนออกมาแถลงยืนยันในเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า มีกบฏชาวซีเรียที่ผ่านการอบรมจากสหรัฐฯกลุ่มหนึ่ง ได้ยอมมอบเครื่องกระสุนและยุทโธปกรณ์ให้แก่กลุ่มอัล-นุสรา โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่พวกเขาจะสามารถผ่านเขตของอัล-นุสราได้อย่างปลอดภัย
ปัญหาในการระดมหาคนมาเข้ากลุ่ม
คณะบริหารโอบามายอมรับว่า ความพยายามในการดึงดูดผู้คนให้สนใจเข้าร่วมการฝึกอบรมและติดอาวุธเป็นกลุ่มฝ่ายค้านซีเรียแนวคิดปานกลางนั้น เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก เพราะโครงการนี้มุ่งให้อำนาจในการทำการสู้รบกับพวกรัฐอิสลามเท่านั้น แทนที่จะเป็นการมุ่งทำการสู้รบกับระบอบปกครองอัสซาด
“ไม่มีใครในซีเรียสักคนที่คิดเพียงแค่ต้องการจะสู้รบกับ ISIL มันจึงมีแต่จะต้องประสบความล้มเหลวอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้” วุฒิสมาชิก ลินซีย์ แกรฮ์ม (Linsey Graham) ซึ่งสังกัดอยู่กับพรรครีพับลิกัน บอกกับสื่อ MSNBC โดยใช้ชื่อย่อเก่าของกลุ่มรัฐอิสลาม แกรฮ์ม นั้นเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์ชั้นแนวหน้าคนหนึ่งต่อนโยบายซีเรียของโอบามา ซึ่งเป็นชาวพรรคเดโมแครต
ในคำแถลงเมื่อวันศุกร์ (9) ซึ่งพูดถึงแผนการที่สหรัฐฯจะดำเนินการต่อจากนี้ไป ปีเตอร์ คุก (Peter Cook) โฆษกของเพนตากอน ระบุว่าต้องเน้นเรื่องจัดหาอาวุธและยุทโธปกรณ์ให้แก่พวกกบฎกลุ่มต่างๆ ซึ่งผู้นำของพวกเขาผ่านกระบวนการคัดกรองแล้ว เพื่อให้กบฎเหล่านี้ “สามารถดำเนินการส่งแรงผลักดันอย่างสอดประสานกัน เข้าไปในดินแดนซึ่งยังคงควบคุมโดย ISIL”
คุกบอกด้วยว่า สหรัฐฯยังจะคอยให้ความสนับสนุนทางอากาศแก่พวกกบฎ ในขณะที่พวกเขาทำการสู้รบกับรัฐอิสลาม
ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหม แอช คาร์เตอร์ ของสหรัฐฯ ก็กล่าวในคำแถลงดังกล่าวว่า เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในคราวนี้ “เมื่อเวลาผ่านมา จะสามารถเพิ่มพูนอำนาจสู้รบของกองกำลังต่อต้าน ISIL กลุ่มต่างๆ ในซีเรีย”
ทางด้านเจ้าหน้าที่เพนตากอนอีกผู้หนึ่ง เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์โดยขอไม่ให้เปิดเผยนาม ว่าในตอนนี้ความสนับสนุนของสหรัฐฯจะมุ่งโฟกัสไปที่เรื่องอาวุธ, อุปกรณ์การสื่อสาร, และเครื่องกระสุนต่างๆ พร้อมกับบอกอีกว่า โครงการที่มีการวางวิสัยทัศน์กันใหม่แล้วนี้ จะเริ่มต้นได้ใน “ระยะเวลาไม่กี่วัน” อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ผู้นี้ไม่ยอมบอกว่าผู้นำกบฎชาวซีเรียที่ผ่านการคัดกรองนั้นจะมีจำนวนเท่าใด
นอกจากนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่สหรัฐฯอีกผู้หนึ่งบอกกับรอยเตอร์ว่า อาวุธใหม่ๆ ที่จะดำเนินการจัดส่งให้นี้ลงท้ายแล้วจะมีการส่งผ่านจากพวกหัวหน้านักรบที่ผ่านการคัดสรร ไปสู่มือนักรบนับเป็นจำนวนพันๆ ทว่าเจ้าหน้าที่ผู้นี้ไม่ขอระบุเรื่องตัวเลขให้ชัดเจนกว่านี้
เพนตากอนยังไม่ได้มีการระบุชื่อว่ากลุ่มใดบ้างที่จะได้รับความสนับสนุน
สำนักข่าวรอยเตอร์ได้เคยรายงานเอาไว้ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วว่า คณะรัฐบาลโอบามากำลังพิจารณาที่จะขยายความสนับสนุนออกไปให้ครอบคลุมถึงนักรบกบฎชาวซีเรียหลายพันคน รวมทั้งพวกที่กำลังปฏิบัติการอยู่ตามแนวชายแดนระหว่างตุรกีกับซีเรีย ทั้งนี้โดยถือเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนทางวิธีการซึ่งผ่านการปรับปรุงยกเครื่องกันใหม่ ในการรับมือกับปัญหาซีเรีย
ภายใต้แผนการนี้ สหรัฐฯยังจะให้ความสนับสนุนพวกสมาชิกของ “พันธมิตรอาหรับชาวซีเรีย” (Syrian Arab Coalition) อีกด้วย
การช่วยเหลือกลุ่มชาวเคิร์ด คือตัวอย่าง “วิธีการที่ใช้ได้ผล”
ในขณะพูดกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์ (9) ระหว่างการเดินทางไปเยือนกรุงลอนดอน รัฐมนตรีคาร์เตอร์ระบุว่า ในแผนการใหม่ของสหรัฐฯนั้น จะมุ่งหาทางเพิ่มขีดความสามารถให้แก่พวกกบฎชาวซีเรีย ด้วยหนทางที่คล้ายคลึงอยู่มากกับวิธีการที่สหรัฐฯใช้ช่วยเหลือกองกำลังชาวเคิร์ด จนประสบความสำเร็จในการสู้รบกับพวกรัฐอิสลามในซีเรีย
“ผลงานที่เราทำกับชาวเคิร์ดในภาคเหนือของซีเรีย คือตัวอย่างหนึ่งของหนทางวิธีการที่ใช้ได้ผล ในเมื่อคุณมีกลุ่มอยู่ทางภาคพื้นดินซึ่งมีศักยภาพและมีแรงจูงใจ คุณก็สามารถเพิ่มพูนความสำเร็จของพวกเขาได้” คาร์เตอร์กล่าวในการประชุมแถลงข่าว
“นี่คือตัวอย่างชนิดที่เราปรารถนาจะนำมาใช้กับกลุ่มอื่นๆ ในส่วนอื่นๆ ของซีเรียต่อไป นี่กำลังจะกลายเป็นแกนกลางแห่งแนวความคิดของท่านประธานาธิบดี (โอบามา) ทีเดียว”
(เก็บความจาก
http://www.reuters.com/article/2015/10/09/us-mideast-crisis-syria-usa-idUSKCN0S31BR20151009
และ http://www.abc.net.au/news/2015-10-10/us-changes-tack-on-support-to-syria-rebels/6843518)
[2] มหาภูมิภาคตะวันออกกลาง (Greater Middle East) เป็นวลีทางการเมืองซึ่งคิดขึ้นโดยคณะบริหารสมัยที่ 2 ของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในช่วงทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 21 เพื่อให้หมายความครอบคลุมถึงโลกมุสลิมซึ่งอยู่ชายขอบของตะวันออกกลางด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิหร่าน, ตุรกี, อัฟกานิสถาน, และปากีสถาน นอกจากนั้นในบางครั้งยังรวมเอาประเทศต่างๆ ใน คอเคซัสใต้ (South Caucasus) และ เอเชียกลาง เข้าไว้ด้วย คำว่า “มหาภูมิภาคตะวันออกกลาง” บางทีก็แทนที่ด้วยคำว่า “ตะวันออกกลางใหม่” (The New Middle East) หรือ “โครงการมหาภูมิภาคตะวันออกกลาง” (The Great Middle East Project)
“มหาภูมิภาคตะวันออกกลาง” ในความหมายที่ขยายออกไปนี้ ปรากฏครั้งแรกๆ ในเอกสารเตรียมการประชุมสำหรับการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี8 ปี 2004 ของคณะบริหารสหรัฐฯ โดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ ในวิธีการที่โลกตะวันตกปฏิบัติต่อตะวันออกกลาง
(ข้อมูลจาก Wikipedia)
[3] “รัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์” (Islamic State of Iraq and the Levant ใช้อักษรย่อว่า ISIL) เป็นชื่อเก่าชื่อหนึ่งของกลุ่มนักรบญิฮัดหัวรุนแรงสุดโต่งกลุ่มนี้ ซึ่งในปัจจุบันได้ประกาศตัวก่อตั้ง “รัฐอิสลาม” ขึ้นตามแบบ “รัฐกาหลิบ” (คอลีฟะห์ ภาษาอังกฤษใช้ว่า Caliphate) ในอาณาบริเวณระหว่างอิรักกับซีเรียซึ่งพวกเขายึดครองอยู่ และเปลี่ยนมาเรียกชื่อกลุ่มตนเองว่า “รัฐอิสลาม” (Islamic State ใช้อักษรย่อว่า IS) อย่างไรก็ตาม หลายๆ ฝ่ายมีความรังเกียจหรือเห็นว่าไม่ถูกต้องที่จะเรียกชื่อกลุ่มนี้ด้วยชื่อใหม่ ดังนั้นจึงยังนิยมเรียกด้วยชื่อเก่า
ทั้งนี้ ชื่อเก่าของกลุ่มนี้นอกจาก “รัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์” หรือ ISIL แล้ว ยังมี “รัฐอิสลามแห่งอิรักและอัล-ชาม” (Islamic State of Iraq and al-Sham ใช้อักษรย่อว่า ISIS) สืบเนื่องจาก ดินแดนที่เรียกว่า “อัล-ชาม” ในภาษาอาหรับนั้น ตรงกับดินแดน “เลแวนต์” (Lavant) ในภาษาอังกฤษ
นอกจากนั้น ยังมีผู้ที่นิยมเรียกชื่อกลุ่มนี้ว่า Daesh (ดาเอช) อันเป็นชื่อย่อของกลุ่มนี้ในภาษาอาหรับ
By M K Bhadrakumar
10/10/2015
“คำแถลงว่าด้วยซีเรีย” ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเมื่อวันศุกร์ (9 ต.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งออกมาภายหลังที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ทำการตัดสินใจนโยบายเรื่องนี้ด้วยตนเอง ถูกมองว่าคือการประกาศถอนตัวออกจากโซ่ตรวนพันธการของสงครามกลางเมืองในซีเรียนั่นเอง ทั้งนี้สิ่งที่วอชิงตันกระทำอยู่ก่อนหน้านี้ได้แก่การระดมหาสมัครพรรคพวกให้แก่พวกกบฎ “สายกลาง” กลุ่มต่างๆ และฝึกอบรมกองกำลังอาวุธกบฏเหล่านี้เพื่อโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด อย่างไรก็ตาม ด้วยการประเมินอย่างคำนึงถึงความเป็นจริง เกี่ยวกับความจำกัดต่างๆ ในศักยภาพของอเมริกา โดยที่วอชิงตันก็ไม่ได้คิดที่จะกระทำการแทรกแซงในซีเรียในระดับเดียวกับที่รัสเซียกำลังกระทำอยู่ในตอนนี้ ดังนั้นจากนี้ไปสหรัฐฯจะหันมารวมศูนย์ที่เรื่องการปราบปรามกลุ่มไอเอส และปรับเปลี่ยนโยกย้ายความเคลื่อนไหวของตน ไปเน้นหนักในบริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับอิรัก
สิ่งที่เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) แถลงเมื่อวันศุกร์ (9 ต.ค.) ที่ผ่านมา (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.defense.gov/News/News-Releases/News-Release-View/Article/622610/statement-on-syria หรือดูฉบับแปลเก็บความเป็นภาษาไทยได้ที่ “หมายเหตุผู้แปล” ตอนท้ายของข้อเขียนชิ้นนี้) [1] ในความเป็นจริงแล้วคือการประกาศถอนตัวออกจากสงครามกลางเมืองในซีเรีย
เท่าที่ผ่านมา บทบาทสำคัญที่สุดที่วอชิงตันกระทำอยู่ ได้แก่การระดมหาสมัครพรรคพวกให้แก่พวกกบฎ “สายกลาง” กลุ่มต่างๆ และฝึกอบรมกองกำลังอาวุธกบฏเหล่านี้ เพื่อโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แต่ต่อจากนี้ไป สหรัฐฯจะหันมารวมศูนย์ทุ่มเทพลังงานและทรัพยากรของตนไปที่การสู้รบปราบปรามกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (Islamic State ใช้อักษรย่อว่า IS) เพนตากอนออกประกาศดังกล่าวนี้ ภายหลังจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ตัดสินใจเรื่องนี้ด้วยตัวเขาเองแล้ว
ไม่มีสัญญาณใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ก่อนจะทำการตัดสินใจครั้งสำคัญคราวนี้ โอบามาได้พูดจาหารือกับพวกพันธมิตรและหุ้นส่วนของเขา ไม่ว่าจะเป็นตุรกี, อิสราเอล, หรือพวกรัฐอาหรับ –โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี), และจอร์แดน ถ้าหากเป็นอย่างที่กล่าวมานี้จริงๆ แล้ว มันก็เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นถึงแนวความคิดแบบใหม่ซึ่งมุ่งเน้นหนักให้ความสำคัญลำดับต้นๆ แก่สิ่งที่เป็นผลประโยชน์แกนกลางของสหรัฐฯ และสิ่งที่เป็นความวิตกห่วงใยอันสำคัญยิ่งยวดของอเมริกา ทั้งนี้หลังจากที่ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้เข้าไปเกี่ยวข้องพัวพัน ให้ความสำคัญในการร่วมไม้ร่วมมือกับพวกชาติพันธมิตรในภูมิภาคตะวันออกกลางของตน ในการฝึกฝนอบรมและติดอาวุธให้แก่กองกำลังกบฎชาวซีเรียกลุ่มต่างๆ
การที่โอบามาตัดสินใจกระทำสิ่งที่เรียกได้ว่า เป็นการสลัดโซ่ตรวนพันธการในคราวนี้ ถึงแม้ต้องถือว่าสายไปมากแต่ก็ยังดีกว่าไม่ลงมือกระทำเลย ความเคลื่อนไหวคราวนี้อิงอยู่บนการประเมินอย่างคำนึงถึงความเป็นจริง เกี่ยวกับความจำกัดต่างๆ ในศักยภาพของสหรัฐฯที่จะส่งอิทธิพลต่อเหตุการณ์และพัฒนาการต่างๆ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในซีเรีย สหรัฐฯนั้นไม่ได้คิดที่จะกระทำการแทรกแซงในซีเรียในระดับเดียวกับที่รัสเซียกำลังกระทำอยู่ในตอนนี้ และต่อจากนี้ไป สหรัฐฯตัดสินใจแล้วที่จะปรับเปลี่ยนโยกย้ายปริมณฑลแวดวงความเคลื่อนไหวของตน ไปโฟกัสยังบริเวณพื้นที่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับอิรัก
โอบามานั้นได้รับมรดกนโยบายว่าด้วยซีเรียของสหรัฐฯ ซึ่งได้ใช้กันมาราว 10 ปีแล้ว วัตถุประสงค์สำคัญของนโยบายนี้ ก็คือการบังคับให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง” ขึ้นในซีเรีย เขามิได้เป็นผู้ประดิษฐ์นโยบายนี้ด้วยตนเอง คณะบริหารชุดก่อนของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งชุ่มโชกไปด้วยอุดมการณ์ “นีโอคอน” (neocon ย่อมาจาก neoconservative พวกอนุรักษนิยมใหม่ -ผู้แปล) นั้น มีวาระสำคัญอยู่ประการหนึ่ง ได้แก่การทำให้อิหร่านอ่อนแอ แล้วจากนั้นก็โค่นล้มทำลายอิหร่านลงไปในที่สุด โดยที่แรกสุดจะต้องมีการจัดตั้งระบอบการปกครองที่เป็นปรปักษ์ต่อกรุงเตหะรานขึ้นในกรุงดามัสกัส ถัดจากนั้นจึงทำการโดดเดี่ยวและทำการปฏิเสธ “ความลึกในเชิงยุทธศาสตร์” (strategic depth) ของเตหะราน ก่อนที่จะเข้าโจมตีอิหร่านอย่างซึ่งๆ หน้า และโค่นล้มระบอบปกครองแบบอิสลามของประเทศนี้ลงไป อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านไปเรียบร้อยแล้ว “สหสัมพันธ์ของกลุ่มพลังต่างๆ” (co-relation of forces) ในการเมืองตะวันออกกลาง ก็ได้เกิดการปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างน่าตื่นเต้นเร้าใจ และทำให้แนวความคิดเช่นนี้ของพวกนีโอคอน ดูเหมือนกับเป็นแนวความคิดของยุคน้ำแข็ง (Ice Age) ไปเลย โดยที่เวลานี้สหรัฐฯแสดงท่าทีให้ความสนใจกับการมีปฏิสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับอิหร่าน
การเข้าแทรกแซงในซีเรียอย่างห้าวหาญของรัสเซีย เมื่อกล่าวถึงที่สุดแล้วกำลังทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้มาถึงบทสรุป โอบามานั้นไม่ปรารถนาที่จะเสี่ยงภัยให้สหรัฐกระทำเลียนแบบความเคลื่อนไหวทางการทหารของแดนหมีขาวในซีเรีย มิหนำซ้ำเขายังสงสัยข้องใจว่าการตัดสินใจเช่นนี้ของมอสโกเป็นการกระทำที่ฉลาดแล้วหรือ แต่เขาก็จะไม่สกัดขวางกั้นเส้นทางเดินนี้ของรัสเซีย อีกทั้งจะไม่เข้าไปบ่อนทำลายมันด้วย นี่แหละคือประเด็นอันแท้จริงในประกาศของเพนตากอนเมื่อวันศุกร์ (9 ต.ค.) หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า โอบามากำลังปล่อยให้รัสเซียทำอะไรตามใจชอบ โดยที่คิดอยู่ว่ามันน่าจะประสบความล้มเหลวและสร้างความเสียหายให้แก่หมีขาวเองในท้ายที่สุด ขณะเดียวกันนั้น โอบามาก็จะยึดถือเอาตามคำพูดคำสัญญาของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่ว่า เมื่อการเข้าแทรกแซงของรัสเซียบังเกิดความคืบหน้าอย่างสมเหตุสมผลแล้ว มันจะกลายเป็นแรงเหวี่ยงซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนถ่ายทางการปกครองอย่างแท้จริงขึ้นในซีเรีย
แต่ก็นั่นแหละ ในอีกด้านหนึ่ง โอบามายังมองเห็นกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่กำลังโบกสะบัดอยู่ในความคิดของพรรคพวกทางยุโรปอีกด้วย ดังที่สะท้อนให้เห็นในคำแถลงอันชวนตะลึงงันของ ฌอง-โคลด จุงเกอร์ (Jean-Claude Juncker) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission คณะกรรมาธิการนี้ก็คือฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป -ผู้แปล) ในกรุงเบอร์ลินเมื่อวันพฤหัสบดี (8 ต.ค.) ที่ผ่านมา โดยที่จุงเกอร์กล่าวว่า
“พวกเราต้องใช้ความพยายามให้มากในการมีความสัมพันธ์เชิงปฏิบัติกับรัสเซีย มันจะไม่เซ็กซี่หรอก แต่นี่คือสิ่งที่จะต้องทำ พวกเรา [ฝ่ายตะวันตก] ไม่สามารถที่จะเดินหน้าอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ... รัสเซียจักต้องได้รับการปฏิบัติต่ออย่างถูกต้องเหมาะสม พวกเรา [ยุโรป] ไม่สามารถปล่อยให้ความสัมพันธ์ที่พวกเรามีอยู่กับรัสเซีย ต้องถูกบงการชี้นิ้วโดยวอชิงตัน”
จริงๆ แล้วสังเวียนซีเรียนั้นยังคงมีผู้เล่นอยู่อย่างแออัด และด้วยเหตุนี้คำถามใหญ่ที่ยังต้องการคำตอบก็คือ พวกชาติพันธมิตรในภูมิภาคตะวันออกกลางของสหรัฐฯจะทำอะไรต่อไป ภายหลังการตัดสินใจของวอชิงตันที่จะถอนตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับวาระแห่งการใช้กำลังเข้าโค่นล้มระบอบปกครองอัสซาดเสียแล้วเช่นนี้? ในความคิดของผมนั้น ไม่น่าเป็นไปได้ที่พวกพันธมิตรในภูมิภาคของสหรัฐฯเหล่านี้จะอยู่ในฐานะซึ่งสามารถก่อตั้งพลังรวมหมู่อะไรขึ้นมาแทนที่ เมื่อพิจารณาจากสภาวการณ์ต่างๆ ที่อยู่เฉพาะหน้าในเวลานี้ มิหนำซ้ำผลประโยชน์ในเกมนี้ของชาติเหล่านี้ก็มีความแตกต่างกัน รวมทั้งความสัมพันธ์ในระหว่างพวกเขาก็มีความขัดแย้งกันอยู่หลายๆ คู่ นี่คือเรื่องหนึ่ง
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ประเทศเหล่านี้ –ซึ่งได้แก่ ตุรกี, อิสราเอล, จอร์แดน, และพวกรัฐในคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council ใช้อักษรย่อว่า GCC ชาติสมาชิกของ GCC มีทั้งสิ้น 6 ราย ได้แก่ บาห์เรน, คูเวต, โอมาน, กาตาร์, ซาอุดีอาระเบีย, และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ -ผู้แปล) ต่างไม่มีความอาจหาญกล้าที่จะเข้าเผชิญหน้ากับรัสเซียด้วยตัวของพวกเขาเอง อย่าได้หลงเข้าใจผิดทีเดียว ปูตินไม่ได้ยิง จรวดร่อน เข้าใส่เป้าหมายในซีเรียจากเรือรบในอ่าวแคสเปียนซึ่งอยู่ห่างออกไปเป็นระยะทาง 1,500 กิโลเมตร ด้วยความหุนหันพลันแล่นหรอก หากแต่เป็นการจงใจสำแดงแสนยานุภาพให้ประจักษ์ตลอดทั่วทั้งมหาภูมิภาคตะวันออกกลาง [2] มันเป็นการส่งข้อความทางการเมืองแบบบิ๊กเบิ้มเอิกเกริก ไปถึงพวกตัวชูโรงทั้งหลายที่กำลังแสดงบทบาทอย่างกระตือรือร้นอยู่ในซีเรีย อย่างไรก็ดี เราต้องตระหนักว่ารัสเซียนั้นเป็นผู้ที่สามารถเคลื่อนไหวทางการทูตได้อย่างชำนิชำนาญ หลังจากที่ได้แสดงฤทธิ์เดชให้เห็นกันไปเรียบร้อยแล้ว ถึงตอนนี้มอสโกจะเร่งรีบเข้ามี “ปฏิสัมพันธ์” กับพวกพันธมิตรในภูมิภาคของสหรัฐฯ ทั้งเพื่อที่จะอธิบายให้พวกเขาทราบถึงมูลเหตุจูงใจต่างๆ ของฝ่ายรัสเซีย, แก้ไขคลี่คลายความวิตกกังวลอย่างแท้จริงของชาติเหล่านี้ (ถ้ามี), เกลี้ยกล่อมให้ชาติเหล่านี้อยู่ในความสงบและเพิ่มพูน “ระดับความรู้สึกสบายใจ” ของพวกเขา, และท้ายที่สุด ถ้าหากสถานการณ์ถึงขั้นหน้าสิ่วหน้าขวาน ก็จะได้ทัดทานตักเตือนชาติเหล่านี้ อย่าได้กระทำสิ่งใดๆ อย่างไม่ยั้งใจในท่ามกลางความร้อนแรงของช่วงขณะเวลานี้
ในการคาดคำนวณของฝ่ายรัสเซียนั้น ถือว่าอิสราเอลกับตุรกีมีจุดยืนและผลประโยชน์ที่แตกต่างออกไปจากชาติพันธมิตรในภูมิภาคของสหรัฐฯรายอื่นๆ เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้กำลังเข้าแทรกแซงทางทหารโดยตรงอยู่ในซีเรีย (แตกต่างจากบรรดาท่านชีคของรัฐริมอ่าวอาหรับทั้งหลาย) และการใช้การทูตแบบกดดันบีบบังคับในบางระดับดูจะมีความจำเป็น เพื่อทำให้อิสราเอลกับตุรกีเกิดความตระหนักว่า อะไรคือสิ่งที่ดีที่พวกเขาพึงกระทำ ส่วนสำหรับรัฐริมอ่าวอาหรับ (รวมทั้งจอร์แดนด้วย) อยู่ในสถานการณ์ยุ่งยากลำบากอีกประเภทหนึ่ง พวกเขากำลังรู้สึกสับสนงุนงงเมื่อปราศจากสหรัฐฯที่คอยจูงมือพวกเขาอยู่ในซีเรีย ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาทางด้านมอสโกได้ลงแรงใช้ความพยายามอย่างมากในการสร้างสะพานเชื่อมต่อกับรัฐเหล่านี้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เมื่อความพยายามทางการทูตของรัสเซียในภูมิภาคอ่าวอาหรับขณะนี้ กำลังอยู่ในโหมดกระตือรือร้นกระดี๊กระด๊า (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่ http://www.thenational.ae/world/middle-east/russia-woos-sceptical-gulf-arab-states-over-syria-intervention)
ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีคณะผู้แทนทางการทหารของรัสเซียเดินทางไปยังอิสราเอลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มอสโกยังเสนอที่จะจัดการหารือพูดคุยทำนองเดียวกันนี้กับตุรกีด้วย เวลานี้กล่าวได้ว่าอิสราเอลกำลังอยู่ในอาการสงบเสงี่ยมอย่างผิดปกติวิสัย ตุรกีก็เช่นกันมีการลดระดับถ้อยคำของตนเอง สำนักข่าว “อนาโดลู” (Anadolu) ของทางการตุรกี รายงานว่า รองนายกรัฐมนตรี นูมาน เคอร์ตุลมุส (Numan Kurtulmus) ได้ออกมาพูดเมื่อวันศุกร์ (9 ต.ค.) ว่า
“ตุรกีไม่ควรยอมสูญเสียความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับรัสเซีย เพียงเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางการเมืองใดๆ ในซีเรียเท่านั้น ตุรกีกับรัสเซียสามารถที่จะอยู่ด้วยกันอย่างสันติมาเป็นเวลานานปีแล้ว ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันแข็งแรงมากทั้งในทางการเมือง, เศรษฐกิจ, และการค้า ทว่าตุรกีก็เป็นประเทศที่พร้อมจะเข้าพิทักษ์ปกป้องชายแดนของตน นี่คือเหตุผลที่ทำไมเราจึงคาดหมายว่ารัสเซียจะยอมล่าถอยออกไป และยุติการละเมิดชายแดนของเรา ถ้าหากรัสเซียบอกว่านั่นเป็นสิ่งที่กระทำไปด้วยความผิดพลาด”
แน่นอนทีเดียว ในบรรดาชาติพันธมิตรในภูมิภาคของสหรัฐฯ ผู้ที่สามารถทำให้เกิดบทสรุปขึ้นมาได้ ย่อมจะต้องเป็นซาอุดีอาระเบีย ในด้านหนึ่งนั้น ซาอุดีอาระเบียยังคงแสดงให้เห็นความหมกมุ่นครุ่นคิดแต่จะ “ปิดล้อม” อิหร่าน ตลอดจนหมกมุ่นครุ่นคิดแต่จะทำลายการเชื่อมต่อผูกพันโยงใยกันระหว่างเตหะรานกับดามัสกัส ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ริยาดก็กำลังหมดความสามารถที่จะประคับประคอง “การจับจ่ายใช้สอยจนเกินตัว” ทั้งในทางการเงินและในทางการเมืองของตน ให้เนิ่นนานออกไปอีก เป็นเรื่องลำบากที่จะวัดกันได้อย่างชัดเจนว่าโอบามารู้สึกได้มากน้อยแค่ไหนแล้ว ว่าระบอบปกครองอันแสนเร่อร่าล้าสมัยของซาอุดีอาระเบียนั้น กำลังอยู่ในอาการอ่อนล้าเต็มที (ขอเชิญอ่านบทวิเคราะห์อันยอดเยี่ยมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ของวารสาร “Foreign Policy” ได้ที่ http://foreignpolicy.com/2015/10/07/will-the-united-states-help-if-saudi-arabia-starts-to-fall-apart/)
(จากบล็อก Indian Punchline)
เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา
หมายเหตุผู้แปล
[1] คำแถลงเรื่องซีเรีย ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม มีเนื้อความดังนี้:
คำแถลงว่าด้วยซีเรีย (Statement on Syria)
วันที่ 9 ตุลาคม 2015
เลขานุการฝ่ายหนังสือพิมพ์ของเพนตากอน ปีเตอร์ คุก (Peter Cook) ได้ให้ถ้อยแถลงดังต่อไป:
เมื่อปีที่แล้ว กระทรวงกลาโหมได้รับมอบอำนาจจากรัฐสภาให้ฝึกอบรมและติดอาวุธแก่กองกำลังฝ่ายค้านที่เป็นพวกแนวคิดสายกลางกลุ่มต่างๆ ในซีเรีย โดยถือเป็นหนึ่งในความพยายามหลายๆ แนวทางเพื่อทำการสู้รบกับกลุ่ม “รัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์” (Islamic State of Iraq and the Levant ใช้อักษรย่อว่า ISIL) [3] ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการนี้เป็นต้นมา เราได้มีการทบทวนความก้าวหน้าของเรา, ยอมรับความท้าทายต่างๆ ที่ต้องประสบ, และดำเนินการเพื่อวินิจฉัยว่าทำอย่างไรเราจึงจะสามารถปรับปรุงยกระดับความพยายามของเราในการสนับสนุนเหล่าหุ้นส่วนของเราทางภาคพื้นดิน
ตลอดระยะเวลาดังกล่าวนี้ ด้วยการทำงานกับบรรดาหุ้นส่วนในกลุ่มพันธมิตรของเรา เรายังได้ดำเนินความพยายามอย่างอื่นๆ เพื่อเข้ามีส่วนร่วมและเพิ่มขีดความสามารถของกองกำลังต่างๆ ทางภาคพื้นดินที่มีศักยภาพ ให้เกิดแรงจูงใจที่จะตีชิงดินแดนของซีเรียคืนมาจาก ISIL ตัวอย่างเช่น เราให้การสนับสนุนพวกนักรบต่อต้าน ISIL ในเมืองโคบานี (Kobane) จนเปิดทางให้พวกเขาสามารถชิงจุดข้ามแดนแห่งสำคัญจุดหนึ่งคืนมาได้ แล้วยังสามารถกดดันลึกเข้าไปในพื้นที่ของซีเรียซึ่งควบคุมโดย ISIL อีกด้วย
เพื่อเป็นการสร้างเสริมต่อยอดจากความก้าวหน้าดังกล่าว ขณะนี้รัฐมนตรีกลาโหม แอช คาร์เตอร์ (Ash Carter) กำลังสั่งการให้กระทรวงกลาโหมจัดหาชุดยุทโธปกรณ์และอาวุธต่างๆ ให้แก่ผู้นำจำนวนหนึ่งที่ผ่านการคัดกรองแล้วตลอดจนหน่วยของพวกเขา เพื่อที่ว่าเมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาจะสามารถดำเนินการส่งแรงผลักดันอย่างสอดประสานกัน เข้าไปในดินแดนซึ่งยังคงควบคุมโดย ISIL เราจะเฝ้าติดตามความก้าวหน้าที่กลุ่มเหล่านี้สามารถกระทำได้ และคอยให้ความสนับสนุนทางอากาศแก่พวกเขาในขณะที่พวกเขาทำการสู้รบกับ ISIL การเน้นหนักโฟกัสไปที่การให้อาวุธยุทโธปกรณ์และการเพิ่มขีดความสามารถเช่นนี้ จะทำให้เราสามารถเสริมเติมเพิ่มพูนต่อยอดความก้าวหน้าที่ได้กระทำสำเร็จไปแล้วในการต่อสู้ปราบปราม ISIL ในซีเรีย
“ผมยังคงมีความมั่นใจว่า ความปราชัยอย่างถาวรของ ISIL ในซีเรียนั้น ส่วนหนึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับความสำเร็จของกองกำลังภาคพื้นดินท้องถิ่น ซึ่งมีแรงกระตุ้นและมีความสามารถ” รัฐมนตรีคาร์เตอร์ กล่าว “ผมเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เรากำลังทำให้เป็นระบบอยู่ในเวลานี้ เมื่อเวลาผ่านมา จะสามารถเพิ่มพูนอำนาจสู้รบของกองกำลังต่อต้าน ISIL กลุ่มต่างๆ ในซีเรีย และในที่สุดแล้วจะช่วยเหลือการรณรงค์ของเราที่มุ่งยังความปราชัยอย่างถาวรให้แก่ ISIL”
เราขอขอบคุณบรรดาหุ้นส่วนในกลุ่มพันธมิตรของเรา ซึ่งได้ให้การสนับสนุนความพยายามในการต่อสู้ปราบปราม ISIL เรื่อยมา และเราก็จะทำงานกับพวกเขาต่อไป บนหนทางต่างๆ ซึ่งเราสามารถที่จะขยายความร่วมมือของเราให้กว้างขวางยิ่งขึ้นและลึกซึ้งยิ่งขึ้น เราจะยังคงประเมินค่าโครงการของเรา และคาดหมายที่จะทำการปรับรายละเอียด ตลอดจนทำการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้เหมาะสม อย่างต่อเนื่องอยู่เป็นระยะๆ เมื่อเห็นว่าเป็นการสมควร ดังที่เรากล่าวเอาไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นแล้ว การสู้รบปราบปราม ISIL นั้นจะต้องใช้เวลา การทำงานกับหุ้นส่วนท้องถิ่นเพื่อช่วงชิงเอาดินแดนต่างๆ ที่ถูก ISIL แย่งยึดไปกลับคืนมา ก็จะดำเนินต่อไป ในฐานะเป็นกระบวนการที่ยาวนานและลำบากหนักหน่วง.
สำนักข่าวต่างๆ ได้รายงานคำแถลงของเพนตากอนฉบับนี้ โดยเพิ่มเติมภูมิหลังตลอดจนส่วนประกอบอื่นๆ ซึ่งทำให้เข้าใจเรื่องราวได้รอบด้านมากขึ้น ผู้แปลจึงขอเก็บความรายงานบางชิ้นมานำเสนอในที่นี้:
สหรัฐฯถอดปลั๊กยุติการฝึกอบรมกบฎซีเรีย หันไปเน้นการส่งอาวุธให้
ลอนดอน, 9 ต.ค. – สหรัฐฯตัดสินใจที่จะยกเลิกความพยายามอันประสบความล้มเหลว ในการฝึกอบรมพวกกบฏซีเรียสายกลาง ทำการสู้รบกับ “รัฐอิสลาม” และหันไปใช้วิธีจัดหาอาวุธตลอดจนยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้แก่พวกผู้นำกบฏตลอดจนหน่วยของพวกเขาในสมรภูมิโดยตรง ทั้งนี้ตามการแถลงของคณะบริหารโอบามาในวันศุกร์ (9)
ประกาศของสหรัฐฯในครั้งนี้ มีผลเท่ากับยุติโครงการมูลค่า 580 ล้านดอลลาร์ที่ดำเนินมาได้เพียงช่วงสั้นๆ ในการจัดฝึกอบรมและติดอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่หน่วยนักรบต่างๆ ตามสถานที่ซึ่งอยู่นอกซีเรีย ทั้งนี้หลังจากการเปิดตัวโครงการดังกล่าวนี้ในปีนี้ ปรากฏว่าต้องเผชิญกับความหายนะ และทำให้ยุทธศาสตร์การทำสงครามของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง
ตามคำแถลงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯในครั้งนี้ สหรัฐฯจะปรับเปลี่ยนโฟกัสจากเรื่องจัดฝึกอบรม ไปเป็นการจัดหาอาวุธและยุทโธปกรณ์อื่นๆ ไปให้กลุ่มกบฎต่างๆ ซึ่งผู้นำของกลุ่มสามารถผ่านกระบวนการคัดเลือกของสหรัฐฯ เพื่อให้เป็นที่แน่ใจได้ว่าพวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกลุ่มอิสลามิสต์หัวรุนแรง
การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในครั้งนี้ บังเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่คณะบริหารโอบามาต้องดิ้นรนรับมือให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ของภูมิทัศน์ในสงครามกลางเมืองซีเรียที่ดำเนินมา 4 ปี สืบเนื่องจากการที่รัสเซียเข้ามาแทรกแซงทางการทหารเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด โดยที่การแทรกแซงของมอสโกกำลังเร่งทวีให้เกิดความสงสัยข้องใจต่อยุทธศาสตร์ในซีเรียของโอบามา ตลอดจนก่อให้เกิดคำถามต่างๆ เกี่ยวกับอิทธิพลของสหรัฐฯในภูมิภาคดังกล่าว
มอสโกนั้น กำลังเพิ่มการโจมตีทางอากาศและการถล่มด้วยขีปนาวุธ ซึ่งฝ่ายนี้อ้างว่ามีจุดมุ่งหมายทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนอัสซาดที่เป็นพันธมิตรของแดนหมีขาวมาอย่างยาวนาน และก็เป็นการสู้รบกับกลุ่มรัฐอิสลามไปด้วย ขณะที่วอชิงตันบอกว่าการโจมตีทางอากาศในขณะนี้ของฝ่ายรัสเซียในซีเรีย ไม่ได้ถือพวกรัฐอิสลามเป็นเป้าหมายสำคัญเบื้องต้น หากเล็งไปที่กลุ่มกบฏกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งพวกที่ได้รับความสนับสนุนจากสหรัฐฯด้วย
ก่อนหน้านี้ โอบามาเคยตั้งคำถามแสดงความไม่ค่อยมั่นใจกับความคิดที่ว่า การติดอาวุธให้พวกกบฏจะสามารถเปลี่ยนแปลงเส้นทางของสงครามซีเรียได้ ในการให้สัมภาษณ์นิวยอร์กไทมส์เมื่อเดือนสิงหาคม 2014 เขากล่าวว่าแนวความคิดแบบที่เห็นว่าการติดอาวุธให้แก่ฝ่ายค้านชาวซีเรียที่เป็นพวกสายกลาง จะสามารถทำให้เกิดความแตกต่างอย่างมากขึ้นในสมรภูมินั้น ในอดีตที่ผ่านมา เป็นแนวความคิดที่ “มักจะกลายเป็นแฟนตาซีอยู่เรื่อย”
ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงทักท้วงว่า นโยบายใหม่ของสหรัฐฯที่จะทำการคัดกรองเฉพาะในขั้นผู้บังคับบัญชาของพวกกบฏนั้น มีความเสี่ยงที่จะทำให้อาวุธซึ่งอเมริกันจัดหามาให้ กลับตกไปอยู่ในมือของนักรบรายบุคคลซึ่งเป็นพวกต่อต้านโลกตะวันตก
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ คริสทีน วอร์มูธ (Christine Wormuth) ปลัดกระทรวงกลาโหมฝ่ายนโยบาย ได้ออกมาแถลงยืนยันว่า สหรัฐฯ “มีความมั่นอกมั่นใจอย่างสูงลิ่ว” ต่อพวกกบฏชาวซีเรียที่ตนเองจะส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ เธอสำทับด้วยว่า ยุทโธปกรณ์ดังกล่าวนี้จะไม่มีอาวุธ “ระดับสูงๆ ขึ้นมา” อย่างเช่น จรวดต่อสู้รถถัง หรือ จรวดต่อสู้อากาศยานแบบยิงประทับบ่า
เพนตากอนจะจัดหา “พวกยุทโธปกรณ์ชนิดพื้นฐาน” ให้แก่พวกผู้นำของกลุ่มเหล่านี้เท่านั้น วอร์มูธ เจ้าหน้าที่พลเรือนหมายเลข 3 ของกระทรวงแห่งนี้บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบขาว
กบฏซีเรียกลุ่มต่างๆ ซึ่งชนะใจวอชิงตันในช่วงหลังๆ นี้ มีทั้งที่เป็นชาวอาหรับนับถืออิสลามนิกายสุหนี่, ชาวเคิร์ด, ตอลดจนชาวซีเรียนับถือคริสต์ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯหลายคนเปิดเผย
วอร์มุธยังพยายามกล่าวปกป้องแก้ต่างให้แก่โครงการก่อนหน้านี้ของเพนตากอนที่เพิ่งเปิดตัวในเดือนพฤษภาคม แล้วปรากฏผลว่าสามารถฝึกอบรมนักรบชาวซีเรียได้เพียง 60 คน ห่างไกลสุดกู่กับจำนวนเป้าหมาย 5,400 คนที่ตั้งไว้ในตอนแรก และเมื่อคำนวณออกมาแล้วจะเท่ากับต้องสิ้นค่าใช้จ่ายเกือบๆ 10 ล้านดอลลาร์ทีเดียวในการฝึกอบรมนักรบคนหนึ่งๆ
“ดิฉันไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นกรณีของการดำเนินการอย่างย่ำแย่ไปเสียทั้งหมด” วอร์มูธ กล่าว “เพราะโดยเนื้อแท้แล้วมันเป็นภารกิจที่ยุ่งยากซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง”
ทางด้าน เบน โรดส์ (Ben Rhodes) รองที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว แถลงเสริมว่า การที่ต้องหันมาให้วิธีการใหม่ ย่อมแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า มี “ความบกพร่อง” ในโครงการฝึกอบรมและติดอาวุธ จนกระทั่งต้องมีการแก้ไข
เมื่อตอนที่เริ่มเปิดดำเนินการนั้น โครงการนี้ถูกมองว่าเป็นบททดสอบยุทธศาสตร์ของโอบามาซึ่งเน้นหนักเรื่องการมีหุ้นส่วนในท้องถิ่นมาทำการสู้รบกับพวกหัวรุนแรงรัฐอิสลาม โดยที่ทหารสหรัฐฯยังไม่ต้องเข้าสู่แนวหน้าโดยตรง แต่ปรากฏว่าโครงการนี้ประสบความลำบากยุ่งยากตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียว โดยในพวกนักรบที่ผ่านการอบรมเป็นรุ่นแรกนั้น ปรากฏว่ามีบางรายตกเป็นเป้าโจมตีจากกลุ่มอัล-นุสรา ซึ่งเป็นเครือข่ายในซีเรียของอัลกออิดะห์ ตั้งแต่การเข้าสู่สมรภูมิเป็นครั้งแรกของพวกเขา
เพนตากอนออกมาแถลงยืนยันในเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า มีกบฏชาวซีเรียที่ผ่านการอบรมจากสหรัฐฯกลุ่มหนึ่ง ได้ยอมมอบเครื่องกระสุนและยุทโธปกรณ์ให้แก่กลุ่มอัล-นุสรา โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่พวกเขาจะสามารถผ่านเขตของอัล-นุสราได้อย่างปลอดภัย
ปัญหาในการระดมหาคนมาเข้ากลุ่ม
คณะบริหารโอบามายอมรับว่า ความพยายามในการดึงดูดผู้คนให้สนใจเข้าร่วมการฝึกอบรมและติดอาวุธเป็นกลุ่มฝ่ายค้านซีเรียแนวคิดปานกลางนั้น เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก เพราะโครงการนี้มุ่งให้อำนาจในการทำการสู้รบกับพวกรัฐอิสลามเท่านั้น แทนที่จะเป็นการมุ่งทำการสู้รบกับระบอบปกครองอัสซาด
“ไม่มีใครในซีเรียสักคนที่คิดเพียงแค่ต้องการจะสู้รบกับ ISIL มันจึงมีแต่จะต้องประสบความล้มเหลวอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้” วุฒิสมาชิก ลินซีย์ แกรฮ์ม (Linsey Graham) ซึ่งสังกัดอยู่กับพรรครีพับลิกัน บอกกับสื่อ MSNBC โดยใช้ชื่อย่อเก่าของกลุ่มรัฐอิสลาม แกรฮ์ม นั้นเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์ชั้นแนวหน้าคนหนึ่งต่อนโยบายซีเรียของโอบามา ซึ่งเป็นชาวพรรคเดโมแครต
ในคำแถลงเมื่อวันศุกร์ (9) ซึ่งพูดถึงแผนการที่สหรัฐฯจะดำเนินการต่อจากนี้ไป ปีเตอร์ คุก (Peter Cook) โฆษกของเพนตากอน ระบุว่าต้องเน้นเรื่องจัดหาอาวุธและยุทโธปกรณ์ให้แก่พวกกบฎกลุ่มต่างๆ ซึ่งผู้นำของพวกเขาผ่านกระบวนการคัดกรองแล้ว เพื่อให้กบฎเหล่านี้ “สามารถดำเนินการส่งแรงผลักดันอย่างสอดประสานกัน เข้าไปในดินแดนซึ่งยังคงควบคุมโดย ISIL”
คุกบอกด้วยว่า สหรัฐฯยังจะคอยให้ความสนับสนุนทางอากาศแก่พวกกบฎ ในขณะที่พวกเขาทำการสู้รบกับรัฐอิสลาม
ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหม แอช คาร์เตอร์ ของสหรัฐฯ ก็กล่าวในคำแถลงดังกล่าวว่า เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในคราวนี้ “เมื่อเวลาผ่านมา จะสามารถเพิ่มพูนอำนาจสู้รบของกองกำลังต่อต้าน ISIL กลุ่มต่างๆ ในซีเรีย”
ทางด้านเจ้าหน้าที่เพนตากอนอีกผู้หนึ่ง เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์โดยขอไม่ให้เปิดเผยนาม ว่าในตอนนี้ความสนับสนุนของสหรัฐฯจะมุ่งโฟกัสไปที่เรื่องอาวุธ, อุปกรณ์การสื่อสาร, และเครื่องกระสุนต่างๆ พร้อมกับบอกอีกว่า โครงการที่มีการวางวิสัยทัศน์กันใหม่แล้วนี้ จะเริ่มต้นได้ใน “ระยะเวลาไม่กี่วัน” อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ผู้นี้ไม่ยอมบอกว่าผู้นำกบฎชาวซีเรียที่ผ่านการคัดกรองนั้นจะมีจำนวนเท่าใด
นอกจากนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่สหรัฐฯอีกผู้หนึ่งบอกกับรอยเตอร์ว่า อาวุธใหม่ๆ ที่จะดำเนินการจัดส่งให้นี้ลงท้ายแล้วจะมีการส่งผ่านจากพวกหัวหน้านักรบที่ผ่านการคัดสรร ไปสู่มือนักรบนับเป็นจำนวนพันๆ ทว่าเจ้าหน้าที่ผู้นี้ไม่ขอระบุเรื่องตัวเลขให้ชัดเจนกว่านี้
เพนตากอนยังไม่ได้มีการระบุชื่อว่ากลุ่มใดบ้างที่จะได้รับความสนับสนุน
สำนักข่าวรอยเตอร์ได้เคยรายงานเอาไว้ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วว่า คณะรัฐบาลโอบามากำลังพิจารณาที่จะขยายความสนับสนุนออกไปให้ครอบคลุมถึงนักรบกบฎชาวซีเรียหลายพันคน รวมทั้งพวกที่กำลังปฏิบัติการอยู่ตามแนวชายแดนระหว่างตุรกีกับซีเรีย ทั้งนี้โดยถือเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนทางวิธีการซึ่งผ่านการปรับปรุงยกเครื่องกันใหม่ ในการรับมือกับปัญหาซีเรีย
ภายใต้แผนการนี้ สหรัฐฯยังจะให้ความสนับสนุนพวกสมาชิกของ “พันธมิตรอาหรับชาวซีเรีย” (Syrian Arab Coalition) อีกด้วย
การช่วยเหลือกลุ่มชาวเคิร์ด คือตัวอย่าง “วิธีการที่ใช้ได้ผล”
ในขณะพูดกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์ (9) ระหว่างการเดินทางไปเยือนกรุงลอนดอน รัฐมนตรีคาร์เตอร์ระบุว่า ในแผนการใหม่ของสหรัฐฯนั้น จะมุ่งหาทางเพิ่มขีดความสามารถให้แก่พวกกบฎชาวซีเรีย ด้วยหนทางที่คล้ายคลึงอยู่มากกับวิธีการที่สหรัฐฯใช้ช่วยเหลือกองกำลังชาวเคิร์ด จนประสบความสำเร็จในการสู้รบกับพวกรัฐอิสลามในซีเรีย
“ผลงานที่เราทำกับชาวเคิร์ดในภาคเหนือของซีเรีย คือตัวอย่างหนึ่งของหนทางวิธีการที่ใช้ได้ผล ในเมื่อคุณมีกลุ่มอยู่ทางภาคพื้นดินซึ่งมีศักยภาพและมีแรงจูงใจ คุณก็สามารถเพิ่มพูนความสำเร็จของพวกเขาได้” คาร์เตอร์กล่าวในการประชุมแถลงข่าว
“นี่คือตัวอย่างชนิดที่เราปรารถนาจะนำมาใช้กับกลุ่มอื่นๆ ในส่วนอื่นๆ ของซีเรียต่อไป นี่กำลังจะกลายเป็นแกนกลางแห่งแนวความคิดของท่านประธานาธิบดี (โอบามา) ทีเดียว”
(เก็บความจาก
http://www.reuters.com/article/2015/10/09/us-mideast-crisis-syria-usa-idUSKCN0S31BR20151009
และ http://www.abc.net.au/news/2015-10-10/us-changes-tack-on-support-to-syria-rebels/6843518)
[2] มหาภูมิภาคตะวันออกกลาง (Greater Middle East) เป็นวลีทางการเมืองซึ่งคิดขึ้นโดยคณะบริหารสมัยที่ 2 ของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในช่วงทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 21 เพื่อให้หมายความครอบคลุมถึงโลกมุสลิมซึ่งอยู่ชายขอบของตะวันออกกลางด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิหร่าน, ตุรกี, อัฟกานิสถาน, และปากีสถาน นอกจากนั้นในบางครั้งยังรวมเอาประเทศต่างๆ ใน คอเคซัสใต้ (South Caucasus) และ เอเชียกลาง เข้าไว้ด้วย คำว่า “มหาภูมิภาคตะวันออกกลาง” บางทีก็แทนที่ด้วยคำว่า “ตะวันออกกลางใหม่” (The New Middle East) หรือ “โครงการมหาภูมิภาคตะวันออกกลาง” (The Great Middle East Project)
“มหาภูมิภาคตะวันออกกลาง” ในความหมายที่ขยายออกไปนี้ ปรากฏครั้งแรกๆ ในเอกสารเตรียมการประชุมสำหรับการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี8 ปี 2004 ของคณะบริหารสหรัฐฯ โดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ ในวิธีการที่โลกตะวันตกปฏิบัติต่อตะวันออกกลาง
(ข้อมูลจาก Wikipedia)
[3] “รัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์” (Islamic State of Iraq and the Levant ใช้อักษรย่อว่า ISIL) เป็นชื่อเก่าชื่อหนึ่งของกลุ่มนักรบญิฮัดหัวรุนแรงสุดโต่งกลุ่มนี้ ซึ่งในปัจจุบันได้ประกาศตัวก่อตั้ง “รัฐอิสลาม” ขึ้นตามแบบ “รัฐกาหลิบ” (คอลีฟะห์ ภาษาอังกฤษใช้ว่า Caliphate) ในอาณาบริเวณระหว่างอิรักกับซีเรียซึ่งพวกเขายึดครองอยู่ และเปลี่ยนมาเรียกชื่อกลุ่มตนเองว่า “รัฐอิสลาม” (Islamic State ใช้อักษรย่อว่า IS) อย่างไรก็ตาม หลายๆ ฝ่ายมีความรังเกียจหรือเห็นว่าไม่ถูกต้องที่จะเรียกชื่อกลุ่มนี้ด้วยชื่อใหม่ ดังนั้นจึงยังนิยมเรียกด้วยชื่อเก่า
ทั้งนี้ ชื่อเก่าของกลุ่มนี้นอกจาก “รัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์” หรือ ISIL แล้ว ยังมี “รัฐอิสลามแห่งอิรักและอัล-ชาม” (Islamic State of Iraq and al-Sham ใช้อักษรย่อว่า ISIS) สืบเนื่องจาก ดินแดนที่เรียกว่า “อัล-ชาม” ในภาษาอาหรับนั้น ตรงกับดินแดน “เลแวนต์” (Lavant) ในภาษาอังกฤษ
นอกจากนั้น ยังมีผู้ที่นิยมเรียกชื่อกลุ่มนี้ว่า Daesh (ดาเอช) อันเป็นชื่อย่อของกลุ่มนี้ในภาษาอาหรับ