xs
xsm
sm
md
lg

“รัสเซีย-อิหร่าน” จับขั้วเป็นพันธมิตรหนุน “อัสซาด” ป้องกันไอเอสยึดซีเรีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีฮัสซัน รอฮานี แห่งอิหร่าน กล่าวต่อที่ประชุมซัมมิตยูเอ็นว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 26 ก.ย.
เอเอฟพี - รัสเซียและอิหร่านประกาศสร้างกลุ่มพันธมิตรใหม่เพื่อช่วยปกป้องรัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย และกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ซึ่งถือเป็นการหยิบยื่นชัยชนะครั้งใหญ่ให้แก่อัสซาด ก่อนที่การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติจะเปิดฉากขึ้น

แม้ อัสซาด จะไม่ได้เดินทางมาประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นที่นิวยอร์กเช่นผู้นำอีกหลายสิบประเทศ แต่ก็ได้กำลังใจไปมากโข เมื่อชาติพันธมิตรสำคัญอย่างรัสเซียและอิหร่านลงทุนเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องให้ทั่วโลกหันมามุ่งเน้นที่การขจัดภัยคุกคามจากนักรบญิฮาดหัวรุนแรง

“ผมเชื่อว่าวันนี้ทุกท่านคงยอมรับแล้วว่า ประธานาธิบดีอัสซาดจะต้องปกครองซีเรียต่อไป เราจึงจะสกัดกั้นอิทธิพลของกลุ่มก่อการร้ายได้” ประธานาธิบดีฮัสซัน รอฮานี แห่งอิหร่าน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น

ผู้นำอิหร่านยังกล่าวต่อบรรดานักวิชาการและสื่อมวลชนในนิวยอร์กว่า “หากเราต้องการขจัดลัทธิก่อการร้ายให้สำเร็จ รัฐบาลดามัสกัสจะอ่อนแอไม่ได้ พวกเขาต้องมีกำลังพอที่จะสู้ต่อไป... หากรัฐบาลซีเรียถูกกีดกันออกจากสมการข้อนี้ ผู้ก่อการร้ายจะบุกเข้าไปถึงกรุงดามัสกัส และทั้งประเทศจะกลายเป็นเขตอิทธิพล เป็นแหล่งซ่องสุมของพวกเขา”

สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรยังคงยืนกรานว่า อัสซาดคือต้นเหตุของสงครามกลางเมืองที่คร่าชีวิตชาวซีเรียไปกว่า 240,000 คนในช่วงเวลา 4 ปีเศษ และยังสร้างเงื่อนไขให้ลัทธิหัวรุนแรงเบ่งบานขึ้นมาได้

อย่างไรก็ตาม พร้อมๆ กับที่ฝรั่งเศสเริ่มใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถล่มเป้าหมายไอเอสในซีเรีย ดูเหมือนสถานการณ์ต่างๆ จะยิ่งส่งเสริมแนวคิดที่ว่าให้ อัสซาด คงอยู่ในอำนาจต่อไปก่อน ระหว่างที่ทุกฝ่ายยังคงมองหาวิธีทางการเมืองที่จะยุติสงคราม

นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ เห็นด้วยกับสหรัฐฯ ที่ว่า อัสซาด “ไม่อาจเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตซีเรียได้” แต่มีรายงานจากสื่ออังกฤษว่า ในการแถลงต่อที่ประชุมยูเอ็นครั้งนี้ คาเมรอน อาจ “ละวาง” ข้อเรียกร้องให้ อัสซาด ต้องลงจากอำนาจ ก่อนที่จะมีการเจรจาเกิดขึ้น

จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แสดงความเป็นห่วงต่อรัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เก ลาฟรอฟ ของรัสเซีย โดยเตือนว่า การที่มอสโกยังหนุนหลัง อัสซาด เช่นนี้จะยิ่งบั่นทอนกระบวนการสร้างสันติภาพในซีเรีย และยังไม่สอดคล้องกับปฏิบัติการต่อต้านไอเอสที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรดำเนินการอยู่

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการสนับสนุนที่รัสเซียให้แก่ อัสซาด ไม่ใช่แค่เพียงคำพูด หรือกลยุทธ์ทางการทูตเท่านั้น

ลาฟรอฟ ออกมายืนยันคำประกาศจากรัฐบาลอิรักที่ว่า เจ้าหน้าที่รัสเซีย ซีเรีย อิรัก และอิหร่าน ได้จับมือก่อตั้ง “ศูนย์ข่าวกรอง” ขึ้นในกรุงแบกแดด เพื่อแบ่งปันข้อมูลและวางยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กลุ่มไอเอส
เลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มุน จับมือทักทายประธานาธิบดี ฮัสซัน รอฮานี แห่งอิหร่าน
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส ก็ได้เรียกร้องให้นานาชาติร่วมมือกับรัสเซียกวาดล้างนักรบญิฮาด

“เราเต็มใจที่จะประสานงานกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือบางอย่างขึ้น... และยินดีหากจะมีนโยบายร่วมในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย” ปูตินกล่าว

ผู้นำรัสเซียย้ำว่า กองทัพอัสซาด “เป็นกองทัพตามแบบแผนเพียงหนึ่งเดียวที่มีอำนาจชอบธรรม” ในซีเรีย

จุดยืนที่แตกต่างคนละขั้วระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ทำให้การเผชิญหน้ากันในเวทีสมัชชาใหญ่ยูเอ็นระหว่าง โอบามา และปูติน เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

คาดกันว่า ปูติน จะใช้เวทียูเอ็นกล่าวโทษการแทรกแซงทางทหารของชาติตะวันตกว่าเป็นตัวการบั่นทอนเสถียรภาพในตะวันออกกลาง และเรียกร้องให้ภารกิจใดๆ ในอนาคตต้องได้รับการประสานงานและมีมติรับรองจากองค์การสหประชาชาติเสียก่อน

แม้วอชิงตันและพันธมิตรตะวันตกจะโทษว่า อัสซาด เป็นต้นตอเหตุจลาจลทางการเมืองในซีเรีย แต่ก็ยังปฏิเสธที่จะส่งทหารภาคพื้นดินเข้าไปทำสงครามโดยตรง ในขณะที่รัสเซียนั้นเริ่มขยายบทบาททางทหารเข้าไปในซีเรียเพิ่มขึ้น เห็นได้ชัดจากการส่งทหาร เครื่องบินโจมตี และรถถังจำนวนหนึ่ง เข้าไปยังฐานทัพอากาศในจังหวัดลาตาเกียซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของรัฐบาลอัสซาด และหลังจากนี้ก็จะมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับรัฐบาลอิรัก

ปูตินยอมรับว่า ตนได้เริ่มพูดคุยกับผู้นำบางประเทศที่อยู่ในกลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ เช่น ประธานาธิบดีรีเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน แห่งตุรกี และสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย เพื่อนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรของรัสเซีย

ทั้งมอสโกและเตหะรานต่างช่วยสนับสนุนอาวุธให้แก่รัฐบาลซีเรีย ซึ่งประธานาธิบดีรอฮานี แห่งอิหร่านก็ได้ออกมาประกาศจุดยืนที่ไม่แตกต่างจาก ปูติน

“เป้าหมายแรกของเราในซีเรียคือการขับไล่กลุ่มก่อการร้าย และกวาดล้างพวกเขาจนพ่ายแพ้ราบคาบ ซึ่งการจะทำให้สำเร็จได้ไม่มีวิธีอื่น นอกเสียจากจะสนับสนุนรัฐบาลกลางให้มีความเข้มแข็ง” รอฮานีให้สัมภาษณ์ต่อซีเอ็นเอ็น

ปูตินกล่าวย้ำกับพิธีกรรายการ 60 Minutes ทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส ถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับอัสซาด เพื่อสกัดภัยคุกคามจากนักรบญิฮาด ขณะเดียวกันก็เย้ยหยันโครงการฝึกยุทธวิธีและติดอาวุธให้แก่ “กบฏซีเรียสายกลาง” ที่รัฐบาลบารัค โอบามา ริเริ่มขึ้น โดยตั้งวงเงินงบประมาณไว้ถึง 500 ล้านดอลลาร์ ทว่าจนบัดนี้แทบไม่มีความคืบหน้าอะไร
ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ให้สัมภาษณ์พิธีกร ชาร์ลี โรส ในรายการ 60 Minutes ทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส

กำลังโหลดความคิดเห็น