xs
xsm
sm
md
lg

ปรบมือลั่น! “แซนเดอร์ส” สวมบทพระเอกช่วย “ฮิลลารี คลินตัน” ดับกระแสอีเมลฉาวในศึกดีเบตประชันวิสัยทัศน์รอบแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ฮิลลารี คลินตัน (ขวา) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จับมือกับ ส.ว.เบอร์นี แซนเดอร์ส จากรัฐเวอร์มอนต์ คู่แข่งเบอร์หนึ่ง ระหว่างการดีเบตประชันวิสัยทัศน์ครั้งแรกของบรรดาผู้สมัครชิงตัวแทนพรรคเดโมแครต เมื่อวานนี้ (13 ต.ค.) ที่นครลาสเวกัส
เอเจนซีส์ - ฮิลลารี คลินตัน และ เบอร์นี แซนเดอร์ส สองผู้สมัครตัวเก็งในศึกชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคเดโมแครต เริ่มเปิดศึกฉะฝีปากกันบนเวทีดีเบตรอบแรกที่นครลาสเวกัส รัฐเนวาดา เมื่อวานนี้ (13 ต.ค.) โดยต่างแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่สำคัญ เช่น การควบคุมอาวุธปืน ระบบทุนนิยม ปัญหาผู้อพยพ เรื่อยไปจนถึงวิกฤตการณ์ในซีเรีย เพื่อหวังเรียกคะแนนจากกลุ่มชาวอเมริกันหัวเสรีนิยม

คลินตัน พยายามอย่างยิ่งที่จะขวางกระแสของคู่แข่งเบอร์หนึ่งอย่างแซนเดอร์ส ที่มาแรงขึ้นทุกที โดยวิจารณ์คำพูดของ ส.ว.จากรัฐเวอร์มอนต์ ที่ว่าสหรัฐฯ ควรยึดแบบอย่างเศรษฐกิจของชาติยุโรปอย่างเดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์

“ดิฉันคิดว่าสิ่งที่ ส.ว.แซนเดอร์ส กล่าวก็ฟังดูมีเหตุผลในแง่ของความไม่เท่าเทียมที่เราเผชิญอยู่ แต่เราไม่ใช่เดนมาร์ก ถึงดิฉันจะชอบประเทศเดนมาร์ก แต่เราคือสหรัฐอเมริกา”

แซนเดอร์ส ซึ่งประกาศตัวเป็น “นักสังคมนิยมประชาธิปไตย” ชี้ว่า ระบบทุนนิยมเป็นสิ่งที่เขาไม่ให้ความศรัทธา

“ใช่หรือเปล่าที่ผมมองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทุนนิยมกาสิโนที่คนรวยมีแค่หยิบมือ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยากจนกันหมด... ระบบที่ทำให้ความโลภและความประมาทของวอลล์สตรีททำลายเศรษฐกิจสหรัฐฯ... ไม่นะ ผมไม่คิดแบบนั้น”

ผลโพลหลายสำนักชี้ว่า คะแนนนิยมของแซนเดอร์ส ขยับแซงหน้าคลินตันในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ และสามารถดึงดูดผู้ฟังได้ล้มหลามระหว่างเดินทางไปปราศรัยหาเสียงทั่วสหรัฐฯ

ผู้สมัครตัวเก็งทั้งสองยังยกเหตุผลมาประชันกันในเรื่องกฎหมายควบคุมอาวุธปืนซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่หลายฝ่ายจับตามอง หลังชาวอเมริกันต้องขวัญผวากับเหตุกราดยิงในโรงเรียนที่เกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ

คลินตัน วัย 67 ปี ชี้ว่าแซนเดอร์สไม่มีนโยบายจริงจังเท่าที่ควรในเรื่องนี้ และยังเคยโหวตต่อต้านกฎหมายซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตอาวุธปืนต้องมีส่วนรับผิดชอบมากขึ้น

ส.ว.รัฐเวอร์มอนต์ วัย 74 ปี พยายามชูแนวทางควบคุมอาวุธปืนแบบ “มีเหตุมีผล” และเคยโหวตคัดค้านกฎหมายปืนพกแบรดี (Brady handgun bill) ที่อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ประกาศใช้เมื่อปี 1993

ในประเด็นนี้ แซนเดอร์สอธิบายว่า เขาสนับสนุนมาตรการตรวจสอบประวัติผู้ซื้อปืน และขอให้แก้กฎหมายที่ยังมีช่องโหว่ปล่อยให้มีการซื้อขายปืนกันได้ง่ายๆ ในงานแสดงอาวุธ

ผู้สมัครสายเดโมแครตคนอื่นๆ ที่ขึ้นเวทีประชันวิสัยทัศน์ในรอบแรกนี้ ได้แก่ มาร์ติน โอมัลลีย์ ผู้ว่าการรัฐแมริแลนด์, ลินคอล์น ชาฟี อดีตผู้ว่าการรัฐโรดส์ไอแลนด์ และอดีต ส.ว.เจมส์ เว็บบ์ จากรัฐเวอร์จิเนีย โดยยังเหลือการดีเบตอีก 6 ครั้งก่อนที่จะตัดสินเลือกบุคคลที่จะเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016

อีกบุคคลหนึ่งซึ่งแม้จะไม่ได้ขึ้นเวทีดีเบตในรอบนี้ แต่ก็เป็นที่จับตามองอย่างยิ่ง คือ รองประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะประกาศตัวลงสมัครหรือไม่

ศึกดีเบตรอบแรกเปิดฉากขึ้นในช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับคลินตัน หลังคะแนนนิยมของเธอที่เคยนำโด่งเป็นอันดับ 1 เริ่มจะแผ่วลง เพราะกระแสวิจารณ์เรื่องที่เธอใช้อีเมลส่วนตัวขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ

คลินตัน ได้รับความช่วยเหลืออย่างไม่คาดฝันจากคู่แข่งเบอร์หนึ่งของเธอ โดย แซนเดอร์ส กล่าวว่า “ขอผมพูดอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่การเมืองใหญ่โตอะไรนัก แต่ผมคิดว่าท่านอดีตรัฐมนตรีพูดถูก... ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เหนื่อยหน่ายที่จะต้องฟังเรื่องอีเมลส่วนตัวของท่านแล้ว”

คำพูดของแซนเดอร์ส เรียกเสียงฮือฮาจากผู้ฟังทั้งฮอลล์ ขณะที่ คลินตัน ยิ้มหน้าบาน พร้อมทั้งกล่าว “ขอบคุณเบอร์นี” และจับมือกับ ส.ว.เวอร์มอนต์ อย่างอบอุ่น

คลินตัน ได้เอ่ยย้ำสิ่งที่เคยพูดไปแล้วว่า เธอรู้สึกเสียใจและยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่ใช้บัญชีอีเมลซึ่งรัฐบาลออกให้ แต่เวลานี้เธอต้องการทุ่มเทพลังทั้งหมดไปกับเรื่องนโยบายซึ่งสำคัญต่อประชาชนมากกว่า

คลินตัน ได้ปรับจุดยืนของเธอด้วยการประกาศคัดค้านข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) ซึ่งเป็นผลงานด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศชิ้นโบแดงของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ทั้งๆ ที่เธอเองเคยมีส่วนช่วยผลักดันเรื่องนี้มาก่อนสมัยที่ยังเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ นอกจากนี้ยังต่อต้านโครงการท่อส่งน้ำมันแคนาดา “คีย์สโตน XL” ที่เธอเคยแสดงท่าทีสนับสนุนเมื่อปี 2010

แซนเดอร์สประกาศจุดยืนต่อต้านทั้ง 2 เรื่องนี้มาโดยตลอด

คลินตัน ชี้ว่า “การสะสมอาวุธนิวเคลียร์” และ “วัสดุนิวเคลียร์ซึ่งอาจจะไปตกอยู่กับคนที่ไม่สมควรครอบครอง” ถือเป็นภัยคุกคามอับดับ 1 ต่อความมั่นคงของประเทศ ในขณะที่ แซนเดอร์ส มองว่าปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด

“ประชาคมนักวิทยาศาสตร์กำลังเตือนเราว่า หากเราไม่หาวิธียับยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือเปลี่ยนระบบพลังงานของเราจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล คนรุ่นลูกหลานอาจไม่สามารถอาศัยอยู่ในโลกนี้ได้อีกต่อไป” แซนเดอร์สกล่าว

ในส่วนของปัญหาผู้อพยพ คลินตันชี้ว่า ควรอนุญาตให้ผู้อพยพไร้ทะเบียนสามารถซื้อประกันสุขภาพในโครงการ “โอบามาแคร์” แต่หากจะให้สวัสดิการอย่างเต็มรูปแบบ สหรัฐฯ จะต้องมีการปฏิรูประบบคนเข้าเมืองอย่างจริงจัง

คลินตัน พยายามแก้ต่างเรื่องที่เธอเคยมีส่วนผลักดันให้สหรัฐฯ “รีเซต” ความสัมพันธ์กับรัสเซีย และระบุว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมากหลังจากที่ วลาดิมีร์ ปูติน กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2012

เธอชี้ว่า สหรัฐฯ ควรยืนหยัดต่อต้านการข่มขู่ของ ปูติน และต้อง “แสดงบทบาทผู้นำ” ในการช่วยยุติสงครามนองเลือดในซีเรีย

แซนเดอร์ส แย้งว่า สงครามซีเรียกำลังกลายเป็น “หล่มโคลนในหล่มโคลน” และชี้ว่าความขัดแย้งทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นมาจากสงครามอิรัก ซึ่งเป็นการจี้จุดอ่อนของคลินตันที่เคยโหวตสนับสนุนให้สหรัฐฯ ส่งทหารบุกกรุงแบกแดดในช่วงปลายปี 2002 ขณะที่เธอยังดำรงตำแหน่ง ส.ว.รัฐนิวยอร์ก

ทั้ง แซนเดอร์ส และ โอมัลลีย์ ต่างคัดค้านเรื่องการประกาศ “เขตห้ามบิน” ในซีเรียที่คลินตันเสนอ โดยโอมัลลีย์ชี้ว่า หากทำเช่นนั้นอาจเกิดการกระทบกระทั่งกับกองกำลังรัสเซียซึ่งปฏิบัติการอยู่ในซีเรียเช่นกัน และหากตนได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็จะไม่ใช้ “วิธีทางทหาร” เข้าแก้ปัญหาอย่างที่คลินตันอาจจะทำ



กำลังโหลดความคิดเห็น