xs
xsm
sm
md
lg

“ผจก.แอร์ฟรานซ์” หวิดถูกม็อบคนงานรุมสกรัม หลังประกาศปลดพนักงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปิแอร์ ปลิสซอนนีร์ รองผู้จัดการฝ่ายเที่ยวบินระยะไกล
เอเอฟพี - ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของสายการบินแอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็มเกือบถูกรุมประชาทัณฑ์เมื่อวานนี้ (5 ต.ค.) โดยแรงงานที่หยุดงานประท้วง ซึ่งฉุดกระชากเสื้อของเขาจนหลุดในระหว่างการประท้วงคัดค้านแผนการของสายการบินฐานะร่อแร่แห่งนี้ที่จะปรับลดตำแหน่งงาน 2,900 ตำแหน่ง

การประท้วงดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่คณะผู้บริหารของแอร์ฟรานซ์กำลังประกาศแผนปรับโครงสร้างอันใหม่ หลังจากที่บรรดานักบินปฏิเสธข้อเสนอก่อหน้านี้ที่จะขยายเวลาการทำงานให้นานขึ้น

แรงงานหลายร้อยคนบุกมาที่สำนักงานใหญ่ของสายการบินแห่งนี้ที่สนามบินชาร์ล เดอ โกลนอกกรุงปารีส ทำให้การประชุมคณะผู้บริหารต้องถูกยกเลิกกระทันหัน

แอร์ฟรานซ์ระบุว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 7 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรายหนึ่งซึ่งถูกกระแทกจนหมดสติ แต่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว

เซเวียร์ โบรเซตา ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล “เกือบถูกรุมประชาทัณฑ์” ตัวแทนของสหภาพแรงงานระบุ และเสื้อของเขาถูกดึงจนหลุดออกในขณะที่เขากำลังปีนรั้วลวดตาข่ายไปยังที่ปลอดภัย โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ความช่วยเหลือ

ปิแอร์ ปลิสซอนนีร์ ผู้บริหารอีกคนหนึ่ง ซึ่งรับผิดชอบฝ่ายเที่ยวบินระยะไกล ก็ถูกฉีกกระชากเสื้อเชิ้ตและเสื้อสูทในการรุมสกัรมนี้เช่นกัน

เฟรดเดอริก กาแกย์ ประธานบริหารซึ่งหนีออกมาได้อย่างรวดเร็วและคณะบริหารกล่าวว่าการประชุมดังกล่าวจะไม่ถูกจัดขึ้นอีกในวันจันทร์ (5) พวกเขาประณามเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็น “การทำร้ายร่างกาย” และระบุว่าจะเข้าแจ้งความกับตำรวจ
เซเวียร์ โบรเซตา ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล
นายกรัฐมนตรีมานูเอล วาลล์ พูดถึงเหตุการณ์เมื่อวันจันทร์ (5) ขณะเยือนญี่ปุ่นว่า “บริษัทแห่งนี้กำลังอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก แต่นั้นไม่ได้ทำให้การโจมตีเช่นนี้ชอบด้วยเหตุผล”

สายการบินขาดทุนต่อเนื่องแห่งนี้ซึ่งมีพนักงาน 52,000 คน กำลังดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดในการแข่งขันอันดุเดือดกับคู่แข่งทั่วโลก แอร์ฟรานซ์พยายามโน้มน้าวนักบิน ซึ่งมีรายได้สูงสุด 250,000 ยูโรต่อปี ให้ยอมบินเพิ่มอีก 100 ชั่วโมงต่อปีด้วยเงินเดือนเท่าเดิม แต่การเจรจาพังลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วโดยนักบินระบุว่าแผนการดังกล่าวมีค่าเท่ากับการปรับลดค่าจ้าง ดังนั้น ในตอนนี้สายการบินแห่งนี้จึงหันมายื่นข้อเสนอปรับลดตำแหน่งงาน พร้อมกับลดเที่ยวบินระยะไกล และขายเครื่องบิน 14 ลำ รวมทั้งอาจยกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787 ลำใหม่บางลำ

รัฐบาลแดนน้ำหอมซึ่งถือหุ้น 17.6 เปอร์เซ็นต์วิพากษ์วิจารณ์เหล่านักบินว่ายึดติดกับฐานะที่เคยเป็นในอดีต เจ้าหน้าที่สหภาพนายจ้างฝรั่งเศสเอ็มอีดีเอฟเอฟรู้สึกตกใจกับเหตุการณ์เมื่อวันจันทร์ (5) และกล่าวว่า มันจะทำให้ชื่อเสียงของฝรั่งเศสเสื่อมเสีย

ด้านประธานาธิบดีฟรองซัวส์ โอลลองค์ ก็ออกมาประณามการประท้วงดังกล่าวในวันนี้ (6) ว่า “ไม่อาจยอมรับได้” และกล่าวเช่นกันว่ามันคุกคามภาพลักษณ์ของฝรั่งเศส

“การสานเสวนาทางสังคมมีความสำคัญและเมื่อมันถูกความรุนแรงเข้าขัดจังหวะ และการโต้แย้งเริ่มที่จะกลายเป็นรูปแบบที่ไม่อาจยอมรับได้ มันอาจสร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าดึงดูด” ของประเทศนี้ โอลลองด์กล่าวระหว่างการเยือนโรงเรียนนายเรือแห่งหนึ่งในภาคเหนือของฝรั่งเศส

โอลลองด์เรียกร้องให้มี “การเสวนาอย่างมีความรับผิดชอบระหว่างคณะผู้บริหารที่มีอำนาจการตัดสินใจและผู้นำของสหภาพแรงงานที่ดำเนินแผนด้วยการประนีประนอมและการเจรจาเท่านั้น”







กำลังโหลดความคิดเห็น