เอเอฟพี - รัสเซียและสหรัฐฯ เตรียมเปิดการประชุมฉุกเฉินระดับผู้นำกองทัพเพื่อลดความเสี่ยงในเผชิญหน้าระหว่างกองกำลังทั้งสองชาติ หลังมอสโกเริ่มส่งอากาศยานทางทหารเข้าไปโจมตีทางอากาศในหลายจังหวัดของซีเรีย เมื่อวันพุธ (30 ก.ย.)
เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ ต่างแสดงความกังวลหลังเครื่องบินขับไล่ของรัสเซียถูกส่งออกไปปฏิบัติภารกิจโจมตีนอกประเทศเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่สหภาพโซเวียตได้เข้ายึดครองอัฟกานิสถานเมื่อปี 1979
สหรัฐฯ กล่าวหาว่ารัสเซียยกเรื่องโจมตีกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) มาเป็นข้ออ้าง แต่แท้ที่จริงอาจต้องการบั่นทอนกำลังของกบฏซีเรียที่กำลังต่อสู้กับกองทัพของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด มากกว่า นอกจากนี้ นายพลรัสเซียซึ่งประจำการอยู่ในกรุงแบกแดดยังแจ้งเตือนสหรัฐฯ ก่อนที่ปฏิบัติการทิ้งระเบิดจะเริ่มต้นเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น
จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และเซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ได้ออกคำแถลงร่วมในการประชุมนอกรอบ ณ เวทีสมัชชาใหญ่สหประชาชาติด้วยสีหน้าเคร่งขรึม โดยระบุว่ากองทัพทั้ง 2 ฝ่ายเตรียมจะเปิดประชุมฉุกเฉินเพื่อ “ลดความขัดแย้ง” และได้ร่างข้อเสนอให้มีการเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพในซีเรีย
“เราเห็นตรงกันว่าควรจะมีคำสั่งเรียกประชุมโดยด่วนที่สุด... อาจจะเป็นวันพรุ่งนี้ เพื่อให้กองทัพทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสหารือเพื่อลดความขัดแย้ง” เคร์รีกล่าว
ด้าน ลาฟรอฟ ระบุว่า การพูดคุยกับเคร์รีได้ผลลัพธ์ที่มีประโยชน์ซึ่งรัฐมนตรีทั้งสองก็จะนำแนวคิดต่างๆ ที่ได้รับไปเสนอต่อผู้นำประเทศของตน คือ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ
แม้ทั้งสองชาติจะพยายามหากลไกหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยอุบัติเหตุ แต่ก็ไม่อาจจะปกปิดความขัดแย้งไว้ได้มิด
มอสโกและดามัสกัสยืนยันว่า ปฏิบัติการทางอากาศของรัสเซียพุ่งเป้าไปที่กลุ่มติดอาวุธไอเอสเท่านั้น ทว่าเจ้าหน้าที่อเมริกันแสดงท่าทีไม่เชื่อถือ
แอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ชี้ว่า “อากาศยานรัสเซียเข้าไปในพื้นที่ซึ่งไม่น่าจะมีกองกำลังไอเอสแฝงตัวอยู่” พร้อมกับเตือนว่า การที่มอสโกเข้ามาพัวพันในสงครามซีเรียจะยิ่งก่อให้เกิด “ผลเสียสะท้อนกลับ” และทำให้ความขัดแย้งยืดเยื้อยาวนานต่อไปอีก
เคร์รี แถลงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า หากพบว่าเป้าหมายที่รัสเซียทำลายกลายเป็นฝ่ายกบฏต่อต้านอัสซาด ไม่ใช่ไอเอสหรืออัลกออิดะห์อย่างที่พวกเขาอ้าง จะเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งสำหรับวอชิงตัน
ด้านฝรั่งเศสซึ่งส่งเครื่องบินเข้าไปโจมตีฐานที่มั่นไอเอสในซีเรียเป็นครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ (27) ก็ออกมาตั้งข้อสงสัยต่อจุดประสงค์ที่แท้จริงของรัสเซีย และชี้ว่ามอสโกอาจกำลังช่วยปกป้องฐานอำนาจให้แก่ อัสซาด
กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า อากาศยานทางทหารได้ออกปฏิบัติภารกิจโจมตีรวม 20 เที่ยว และสามารถทำลายเป้าหมายไอเอสไปได้ถึง 8 จุด เมื่อวานนี้ (30) ขณะที่ คอลิด โคจา ผู้นำองค์กรกบฏซีเรีย ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า การทิ้งระเบิดครั้งหนึ่งของรัสเซียในจังหวัดฮอมส์ทำให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตไป 36 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 5 ราย
สงครามกลางเมืองที่ปะทุขึ้นเมื่อต้นปี 2011 ได้คร่าชีวิตพลเมืองซีเรียไปแล้วกว่า 240,000 คน
ตะวันตกเชื่อว่า การสังหารหมู่ชาวซีเรียส่วนใหญ่เป็นฝีมือกองทัพอัสซาด และยืนกรานว่าหาก อัสซาด ยังครองอำนาจต่อไป กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองคงจะเกิดขึ้นไม่ได้
จุดยืนของตะวันตกแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับรัสเซีย ซึ่งเรียกร้องให้หลายประเทศเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรข่าวกรองที่มอสโกก่อตั้งร่วมกับอิรัก อิหร่าน และซีเรีย พร้อมระบุว่าการสนับสนุนรัฐบาลอัสซาดให้เข้มแข็งเป็นหนทางเดียวที่จะหยุดยั้งไอเอสได้
รัฐสภารัสเซียมีมติไฟเขียวให้ประธานาธิบดีปูติน ส่งทหารออกไปสู้รบในซีเรียได้ เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ปฏิบัติการทิ้งระเบิดจะเริ่มขึ้น ซึ่ง ปูติน ก็เตือนว่า มอสโกจะต้องไล่ล่านักรบไอเอสให้จนมุมก่อนที่พวกเขาจะย้อนกลับมาแก้แค้นรัสเซีย
ปูติน ให้คำมั่นว่า รัสเซียไม่มีแผนลากยาวปฏิบัติการทางทหารในซีเรีย ส่วน เซียร์เก อีวานอฟ ประธานคณะเจ้าหน้าที่แห่งทำเนียบประธานาธิบดีหมีขาวก็ยืนยันว่า ภารกิจทางทหารในซีเรียจะมีห้วงเวลาอันจำกัด และจะไม่มีการส่งทหารภาคพื้นดินเข้าไปสู้รบ