เอเอฟพี - ทางการญี่ปุ่นเปิดเผยในวันอังคาร (29 ก.ย.) ว่าได้สั่งบรรดาค่ายรถในประเทศให้ทำรายงานแจ้งว่ารถเครื่องยนต์ดีเซลของแต่ละค่ายผ่านมาตรฐานของญี่ปุ่นหรือไม่ นับเป็นการตื่นตัวหลังข่าวอื้อฉาวของ “โฟล์คสวาเกน” ที่ยอมรับว่าโกงการทดสอบวัดค่าปล่อยมลพิษ
กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นได้สั่งให้ค่ายรถ 4 รายที่ขายรถเครื่องยนต์ดีเซลภายในประเทศ ได้แก่ โตโยต้า นิสสัน มาสด้า มิตซูบิชิ รวมถึงบรรดาผู้นำเข้ารถยนต์จากยุโรป ให้ทำรายงานแจ้งมาภายในวันศุกร์ว่ารถของพวกเขานั้นมีการติดตั้งซอฟต์แวร์ที่โกงการวัดค่าปล่อยมลพิษหรือไม่
อากิฮิโระ โอตะ รัฐมนตรีคมนาคม ระบุว่า หลังจากได้รับรายงาน เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้กำหนดว่าจะเปลี่ยนแปลงการทดสอบหรือใช้กระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่
“เรากำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นในภาพรวมทั้งหมด ด้วยการศึกษาระบบตรวจสอบของเรา เรากำลังจะได้เห็นว่าระบบที่เราใช้อยู่ในตอนนี้มันเพียงพอหรือไม่” รัฐมนตรีคมนาคมของญี่ปุ่นบอกเอเอฟพี
ก่อนหน้านี้ประเทศอื่นๆ ก็มีคำสั่งคล้ายกันออกมา เช่น เกาหลีใต้ อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ
ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกต้องตกตะลึงจากเรื่องอื้อฉาวของ “โฟล์คสวาเกน” หนึ่งในค่ายรถยนต์ที่ใหญ่สุดของโลก ที่แสดงให้เห็นว่ามีการตั้งโปรแกรมให้รถเครื่องยนต์ดีเซลแบบ 4 สูบ ทำผลงานได้ดีในการทดสอบวัดค่าปล่อยมลพิษ แต่จะปล่อยมลพิษออกมามากเกินระดับควบคุม เพื่อให้รถแรงขึ้นในยามวิ่งบนท้องถนนจริง
ค่ายรถ “โฟล์คสวาเกน” เปิดเผยว่า รถเครื่องยนต์ดีเซลของตนประมาณ 11 ล้านคันทั่วโลก มีการติดตั้งอุปกรณ์ซอฟต์แวร์ดังกล่าว
ด้านอัยการเยอรมนีได้เปิดการสืบสวนคดีอาญาต่อ “มาร์ติน วินเตอร์คอร์น” อดีตนายใหญ่โฟล์ค ผู้ลาออกจากบริษัทเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ส่วนทางการสหรัฐฯ ได้สั่งห้ามขายรถเครื่องยนต์ดีเซลของโฟล์คสวาเกนไปจนถึงปี 2016 ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์สั่งระงับการขายรถรุ่นใหม่ๆ ของโฟล์คสวาเกน
ค่ายรถเมืองเบียร์รายนี้กำลังเผชิญกับความเป็นไปได้ที่จะโดนปรับเงินในสหรัฐฯ สูงถึง 18 พันล้านดอลลาร์
ข่าวคราวอื้อฉาวครั้งนี้ทำให้สหภาพยุโรปต้องเรียกร้องต่อ 28 ชาติสมาชิกให้ทำการตรวจสอบว่ารถยนต์ในแต่ละประเทศปฏิบัติตามกฏเรื่องมลพิษของยุโรปหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวที่อื้อฉาวไปทั่วโลกครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อญี่ปุ่น เนื่องจากค่ายรถเยอรมนี “โฟล์คสวาเกน” ไม่ได้ส่งออกบรรดารถยนต์รุ่นที่ได้รับผลกระทบไปสู่ชาติเอเชีย
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีรถของโฟล์คสวาเกนที่อยู่ในข่ายได้รับผลกระทบราว 230 คันที่ทราบมาว่าถูกนำเข้าประเทศญี่ปุ่นโดยบุคคลทั่วไป
ในญี่ปุ่น เครื่องยนต์ดีเซลมักถูกใช้ในรถคันใหญ่ อาทิ รถบรรทุกและอุปกรณ์การเกษตร แต่หาได้น้อยในรถยนต์ทั่วไป