xs
xsm
sm
md
lg

งานเข้า! เอสแอนด์พีลดเครดิตเรตติ้ง ‘ญี่ปุ่น’

เผยแพร่:   โดย: เอเชียอันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Ouch! S&P cuts Japan’s credit rating
By Asia Unhedged
16/09/2015

สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ประกาศในวันพุธ (16 ก.ย.) ลดอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นลงมา 1 ขั้น จาก AA- เหลือ A+ โดยที่ในคำแถลงอธิบายเหตุผล บ่งบอกให้เห็นถึงความไม่ศรัทธาว่า “อาเบะโนมิกส์” หรือยุทธศาสตร์การฟื้นเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ นั้น จะสามารถส่งผลที่ยืนยาว

ถ้าหาก “อาเบะโนมิกส์” (Abenomics) เป็นเก้าอี้สามขาตัวหนึ่ง บริษัทเครดิตเรตติ้ง “สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์” (Standard & Poor’s เรียกย่อๆ ว่า S&P) ก็เพิ่งตัดขาเก้าอี้ตัวนี้ไปขาหนึ่ง

S&P หนึ่งในบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศหั่นเครดิตเรตติ้งของญี่ปุ่นจากระดับ AA- ลง 1 ขั้น มาอยู่ที่ A+ เมื่อวันพุธ (16 ก.ย.) ที่ผ่านมา พร้อมกับบอกว่า เรตติ้งทิศทางแนวโน้มอนาคตระยะยาว (long-term outlook) ของญี่ปุ่นอยู่ที่ “คงที่” (stable) ซึ่งหมายความว่าในช่วงเวลาหลายเดือนจากนี้ไป เอสแอนด์พีจะยังไม่มีการทบทวนปรับเปลี่ยนเครดิตเรตติ้งของแดนอาทิตย์อุทัย (ดูรายละเอียดข่าวเรื่องนี้ได้ที่ http://www.businessinsider.com/standard-and-poors-cut-japans-credit-rating-2015-9?r=UK&IR=T)

“เราเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ลดน้อยลง ที่ญี่ปุ่นจะเกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง จนเพียงพอที่จะเกิดความสนับสนุนทางเศรษฐกิจอันสมน้ำสมเนื้อกับอันดับเครดิตเรตติ้งประเทศ ซึ่งเราได้ทำการประเมินเอาไว้ก่อนหน้านี้” ประกาศของเอสแอนด์พี แจกแจงเหตุผล

อาเบะโนมิกส์ หมายถึงนโยบายเศรษฐกิจที่นายกรัฐมนตรี ซินโซ อาเบะ ประกาศออกมาตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะนำพาญี่ปุ่นให้ก้าวพ้นจากความป่วยไข้ทางเศรษฐกิจซึ่งรุมเร้ามานานปี ขณะที่นโยบายเหล่านี้ประสบความสำเร็จอยู่บ้างบางประการ แต่ก็อยู่ในลักษณะลอกเลียนแบบมาตรการที่เคยทำๆ กันมาเสียมากกว่า หรือไม่ก็ให้ผลแบบขาดไร้ความสม่ำเสมอไร้ความคงทนยั่งยืน

เวลาเดียวกันนั้น ปัญหาด้านต่างๆ ของญี่ปุ่นก็กำลังเติบโตขยายตัว เมื่อไตรมาสที่แล้ว เศรษฐกิจอยู่ในภาวะหดตัว, อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับใกล้ๆ 0 เปอร์เซ็นต์, และระดับหนี้สินยังคงเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ประชากรมีอายุเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประมาณการว่า หนี้สินภาคสาธารณะของแดนอาทิตย์อุทัยจะเพิ่มขึ้นไปสูระดับเท่ากับประมาณ 247% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีหน้า

ความเคลื่อนไหวในคราวนี้ของ S&P เกิดขึ้นเพียงวันเดียวหลังจากแบงก์ชาติของญี่ปุ่น ซึ่งก็คือ ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (Bank of Japan ใช้อักษรย่อว่า BOJ) แถลงว่าจะไม่เพิ่มยอดการรับซื้อสินทรัพย์ ซึ่งก็อยู่ในระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่อยู่แล้ว ทั้งนี้การเปิดรับซื้อสินทรัพย์ของแบงก์ชาตินี้เอง เป็นมาตรการหลักประการหนึ่งในความพยายามที่จะฉุดดึงญี่ปุ่นให้พ้นออกมาจากสภาพของการควงสว่านลงสู่ภาวะเงินฝืดจมลึกลงไปเรื่อยๆ

มาตรการกระตุ้นทางการเงินของ BOJ ถือว่าเป็นขาหนึ่งใน 3 ขาของเก้าอี้อาเบะโนมิกส์ เมื่อเรื่องนี้ถูกนำออกไปจากสมการอย่างน้อยก็ในระยะใกล้เช่นนี้ ย่อมหมายความว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องอนุมัติมาตรการกระตุ้นทางการคลัง เพื่อพยายามทำให้เศรษฐกิจที่ยังปวกเปียกไร้ชีวิตชีวา สามารถกลับเคลื่อนไหวขึ้นมาได้อีกครั้ง

S&P นั้นแทบไม่มีศรัทธาในมาตรการต่างๆ เหล่านี้เอาเลย โดยระบุว่า “ถึงแม้แสดงออกให้เห็นในช่วงต้นๆ ว่าอาจจะเป็นความหวังได้ แต่เราเชื่อว่ายุทธศาสตร์การฟื้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ได้รับสมญาว่า “อาเบะโนมิกส์” นั้น จะไม่สามารถหมุนกลับการเสื่อมถอยนี้ (การที่อัตราเติบโตโดยเฉลี่ยของเศรษฐกิจกำลังอ่อนแอลง และการที่แนวโน้มระดับราคาก็กำลังอ่อนตัวลง) ในช่วงระยะเวลา 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า”

ขณะเดียวกัน มาซากิ คาลาฮาริ (Masaki Kalahari) นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ ซีเคียวริตีส์ (Nomura Securities) ในโตเกียว ให้ความเห็นกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า “แผนการปฏิรูปด้านการคลังของรัฐบาลที่เปิดเผยออกมาในเดือนมิถุนายน ขาดไร้ทั้งรายละเอียดและทั้งจุดเฉพาะเจาะจงต่างๆ มองแล้วไม่น่าเชื่อถือเลยว่าจะสามารถทำให้เกิดความยั่งยืนในด้านการคลังขึ้นมาได้” เขากล่าวด้วยว่า การลดเรตติ้งคราวนี้ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไร ในเมื่อ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s Investors Service) บริษัทเครดิตเรตติ้งยักษ์ใหญ่ระดับโลกอีกรายหนึ่ง ได้ทำเช่นนี้ไปก่อนแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2014 “การลดเกรดในครั้งนี้เป็นการส่งข้อความไปยังรัฐบาลว่า จำเป็นที่จะต้องมีแผนการปฏิรูปทางการคลังซึ่งน่าเชื่อถือมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่”

ความเคลื่อนไหวในคราวนี้ยังหมายความด้วยว่า พวกคู่แข่งทางเศรษฐกิจรายสำคัญที่สุดของญี่ปุ่น 2 ราย ได้แก่ จีน กับ เกาหลีใต้ ต่างก็ได้รับเรตติ้งสูงกว่าญี่ปุ่น จากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของ S&P ทั้งนี้ บริษัทเครดิตเรตติ้งยักษ์ใหญ่แห่งนี้ เพิ่งปรับเลื่อนเกรดของเกาหลีใต้ขึ้นสู่ระดับ AA- เมื่อวันอังคาร (15 ก.ย.) โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะฐานะทางการคลังอันแข็งแรง และผลประกอบการทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเข้มแข็งของแดนโสมขาว

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น