เอเอฟพี – รัฐบาลเยอรมนี “เห็นด้วย” กับการนำเงินกองทุนช่วยเหลือของสหภาพยุโรปมาเป็นเงื่อนไขต่อรองให้รัฐสมาชิกต้องยอมแบ่งปันภาระรับผิดชอบผู้อพยพจำนวน 120,000 คน หลังประเทศแถบยุโรปตะวันออกประกาศเสียงแข็งไม่เอาการแบ่งโควตาที่ ฌอง โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เสนอขึ้นมา
“การเจรจาที่ผ่านมาดูเหมือนว่าประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือก็ไม่เดือดร้อนอะไร เราจำเป็นต้องพูดถึงมาตรการกดดันบ้าง เพราะประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับทุนช่วยเหลือเชิงโครงสร้างจากสหภาพยุโรปไปแล้วมากมาย” โทมัส เดอ ไมเซียร์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเยอรมนี ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์ ZDF วันนี้ (15 ก.ย.)
จุงเกอร์ “เสนอมาว่า ถ้าจะตัดเงินทุนช่วยเหลือเชิงโครงสร้างแก่ประเทศเหล่านี้บ้างจะเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งก็ผมเห็นด้วย” เขากล่าว
ความหวังที่สหภาพยุโรปจะได้มติเอกฉันท์เกี่ยวกับการแบ่งปันโควตาผู้ลี้ภัยต้องพังครืน เมื่อมีเสียงคัดค้านอย่างแน่วแน่จากฮังการี, สาธารณรัฐเช็ก, สโลวาเกีย และโรมาเนีย ในการประชุมรัฐมนตรีมหาดไทยอียูที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวานนี้ (14 )
เยอรมนีซึ่งคาดว่าจะต้องรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศเกือบ 1,000,000 คนในปีนี้ พยายามผลักดันให้ชาติยุโรปอื่นๆ ยอมให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัย ตามสัดส่วนที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับแต่ละประเทศ
คลื่นผู้ลี้ภัยที่หลั่งไหลเข้ามาทางพรมแดนตอนใต้ไม่ขาดสายทำให้รัฐบาลเบอร์ลินต้องตัดสินใจใช้มาตรการสกัดกั้นด้วยการตรวจสอบหนังสือเดินทางคนเข้าประเทศ ตั้งแต่วันอาทิตย์(13)
ล่าสุด ฮังการีได้เริ่มบังคับใช้กฎหมายต่อต้านผู้อพยพ และปิดพรมแดนฝั่งที่ติดกับเซอร์เบียแล้วในวันนี้ (15) เพื่อยับยั้งการไหลเข้าของผู้อพยพจำนวนมหาศาล ขณะที่ออสเตรียและสโลวาเกียก็หันมาใช้มาตรการคุมเข้มจุดผ่านแดนเช่นกัน ซึ่งถือเป็นการทำลาย “ข้อตกลงเชงเกน” ที่เปิดให้พลเมืองสหภาพยุโรปสามารถเดินทางไปมาระหว่างกันได้โดยไม่ต้องถือหนังสือเดินทาง