xs
xsm
sm
md
lg

อียูเผย “ระบบโควตา” บังคับให้ชาติสมาชิกต้องร่วมกัน “รับผิดชอบ” ผู้ลี้ภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ฌอง โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) เรียกร้องให้ยุโรปทบทวนประวัติศาสตร์และอย่ากลัวข้อเสนอ “กล้าหาญ” ของตนเกี่ยวกับโควตาภาคบังคับในการรองรับผู้ลี้ภัยที่หนีสงครามมาจากซีเรียและที่อื่นๆ ระหว่างการแถลงนโยบายครั้งแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่งต่อรัฐสภายุโรปเมื่อวันพุธ (9 ก.ย.) (ภาพโดยรอยเตอร์)
เอเจนซีส์ - ประธานบริหารอียูเปิดเผยระบบโควตาภาคบังคับให้สมาชิกทุกชาติร่วมรับผิดชอบผู้ลี้ภัย 160,000 คน และผ่อนคลายสถานการณ์ตึงเครียดของรัฐชายขอบจากวิกฤตผู้อพยพครั้งเลวร้ายที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้าน “แมร์เคิล” เตือนเยอรมนีให้หลีกเลี่ยงความผิดพลาดในอดีตเกี่ยวกับนโยบายการรับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานเพียงชั่วคราวแล้วส่งกลับประเทศ

ในการแถลงนโยบายครั้งแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่งต่อรัฐสภายุโรปเมื่อวันพุธ (9 ก.ย.) ฌอง โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) เรียกร้องให้ยุโรปทบทวนประวัติศาสตร์และอย่ากลัวข้อเสนอ “กล้าหาญ” ของตนเกี่ยวกับโควตาภาคบังคับในการรองรับผู้ลี้ภัยที่หนีสงครามมาจากซีเรียและที่อื่นๆ พร้อมเตือนไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติทางศาสนาในการตัดสินใจรับผู้ลี้ภัย

จุงเกอร์ยังเรียกร้องให้บรรดารัฐมนตรีมหาดไทยอียูที่มีกำหนดประชุมกันในวันจันทร์หน้า (14) สนับสนุนแผนการใหม่นี้ในการกระจายความรับผิดชอบต่อผู้ลี้ภัย 120,000 คนที่อยู่ในฮังการี กรีซ และอิตาลีขณะนี้ และอีก 40,000 คนที่อพยพเข้ามาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม อย่างเสมอภาคกัน โดยพิจารณาจากขนาดเศรษฐกิจ จำนวนประชากร อัตราว่างงาน และการยื่นคำขอลี้ภัยที่ผ่านกรรมวิธีดำเนินการแล้ว โดยประเทศที่ปฏิเสธไม่ยอมรับผู้อพยพตามโควตาจะถูกลงโทษทางการเงินขั้นรุนแรง

ภายใต้แผนการนี้ เยอรมนีจะรับผู้อพยพกว่า 31,000 คน, ฝรั่งเศส 24,000 คน และสเปนเกือบ 15,000 คน

เฉพาะปีนี้ มีผู้อพยพเดินทางทางทะเลเข้าสู่ยุโรปแล้วกว่า 380,000 คน โดย 85% เป็นผู้ที่หนีสงครามมาจากซีเรีย อิรัก และอัฟกานิสถาน

ข้อเสนอนี้ยังประกอบด้วยระบบการย้ายถิ่นฐานถาวรเพื่อจัดการกับวิกฤตผู้ลี้ภัยอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นในอนาคต, การเสนอรายชื่อ “ประเทศปลอดภัย” ที่ผู้ขอลี้ภัยจะต้องถูกส่งตัวกลับ, การเพิ่มความเข้มแข็งของระบบผู้ลี้ภัยร่วมของอียู, การทบทวน “ระบบดับลิน” ซึ่งกำหนดให้ผู้อพยพลงทะเบียนในประเทศแรกที่เดินทางถึง, และการจัดการชายแดนรอบนอกและช่องทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับการย้ายถิ่น

ก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์ (7) ปีเตอร์ ซัทเทอร์แลนด์ ผู้แทนพิเศษด้านการย้ายถิ่นและการพัฒนาของของสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมกันแก้ปัญหาผู้อพยพ โดยเสนอให้มีการจัดประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้

เสียงเรียกร้องดังกล่าวได้รับการขานรับจากออสเตรเลียที่ประกาศเมื่อวันพุธว่า จะรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียและอิรักเพิ่มอีก 12,000 คน เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในอเมริกาใต้ที่ตกลงร่วมให้ความช่วยเหลือ กระทั่งโปแลนด์ก็แถลงยินยอมรับผู้ลี้ภัยเพิ่มจากที่ประกาศไว้เดิมเพียง 2,000 คน

ทางด้านนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ที่คาดหมายว่า จะมีผู้ขอลี้ภัยถึง 800,000 คนในปีนี้ และประกาศพร้อมรองรับผู้ลี้ภัยปีละ 500,000 คนนานหลายปีนั้น แถลงต่อรัฐสภาโดยเรียกร้องให้ยุโรปพยายามมากขึ้น และว่า ระบบโควตาภาคบังคับเป็นทางเดียวที่รับประกันการแบ่งปันความรับผิดชอบอย่างเป็นธรรม

แมร์เคิลยังกล่าวอีกว่า เยอรมนีต้องเรียนรู้ความผิดพลาดจาก “Gastarbeiter” เพื่อหลอมรวมผู้อพยพและผู้ขอลี้ภัยเข้ากับสังคมเมืองเบียร์นับตั้งแต่นาทีแรกที่คนเหล่านั้นเดินทางถึง และสิ่งสำคัญคือ การทำให้ผู้อพยพเรียนรู้ภาษาเยอรมนีและหางานรองรับโดยเร็ว

“Gastarbeiter” คือแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานชั่วคราวในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และต้องเดินทางกลับบ้านเกิดหลังเสร็จสิ้นงานดังกล่าว โดยเป็นนโยบายซึ่งมุ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเยอรมนีเวลานั้น

ผู้นำเมืองเบียร์เสริมว่า เบอร์ลินจำเป็นต้องรับบทนำในการแก้วิกฤตผู้ลี้ภัยในอียู

ขณะที่จุงเกอร์และแมร์เคิลกำลังปราศรัยอยู่นั้น ได้เกิดเหตุชุลมุนขึ้นในเมืองรอซเก ชายแดนทางใต้ของฮังการีติดกับเซอร์เบีย เมื่อผู้อพยพอย่างน้อย 400 คนฝ่าแถวกั้นของตำรวจ บางคนวิ่งไปยังมอเตอร์เวย์ที่มุ่งหน้าสู่กรุงบูดาเปสต์ ทำให้ตำรวจต้องสั่งปิดการจราจร โดยชายหนุ่มคนหนึ่งที่หนีมาจากดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย เผยว่า ค่ายผู้ลี้ภัยในฮังการีมีสภาพแย่มาก


กำลังโหลดความคิดเห็น