วิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ในยุโรปกลายเป็นกระแสข่าวที่ทั่วโลกเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด หลังจากสัปดาห์นี้หลายประเทศในยุโรปเริ่มงัดมาตรการตรวจสอบหนังสือเดินทางและคุมเข้มด่านพรมแดนขึ้นมาใช้ เพื่อสกัดกั้นคลื่นผู้อพยพนับแสนที่ลี้ภัยสงครามมาจากตะวันออกกลาง แต่ในขณะเดียวกันมาตรการที่ว่านี้ก็กำลังบ่อนทำลายข้อตกลงเปิดเสรีพรมแดนซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเสาหลักของสหภาพยุโรป
นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี เคยประกาศว่าเมืองเบียร์ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่และเข้มแข็งที่สุดในยุโรป พร้อมที่จะอ้าแขนรับผู้ลี้ภัยมากถึง 800,000 คนในปีนี้ แต่ท้ายที่สุดก็ต้อง “กลับลำ” หลังมีคลื่นผู้อพยพไหลทะลักเข้าประเทศอย่างไม่ขาดสาย จนรัฐบาวาเรียที่อยู่ติดพรมแดนทางใต้ไม่สามารถรับมือได้
ทางการเยอรมนีสั่งระงับการเดินรถไฟทั้งไปและกลับจากออสเตรียเป็นการชั่วคราว และเริ่มใช้มาตรการตรวจสอบหนังสือเดินทางตั้งแต่วันอาทิตย์ (13 ก.ย.) ส่งผลให้ผู้อพยพหลายพันที่เดินทางจากฮังการีเข้าไปยังออสเตรียเพื่อรอข้ามพรมแดนไปยังเมืองเบียร์ไม่สามารถเดินหน้าไปต่อได้
สัญญาณ “ยูเทิร์น” ของ แมร์เคิล กลายเป็นตัวกระตุ้นให้ออสเตรีย ฮังการี และสโลวาเกีย หันมาบังคับใช้มาตรการคุมเข้มด่านพรมแดน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ “ข้อตกลงเชงเกน” ที่อำนวยความสะดวกให้พลเมืองสหภาพยุโรปสามารถเดินทางระหว่างกันโดยไม่ต้องถือหนังสือเดินทาง และเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่สหภาพยุโรปยึดถือมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990
ตามกฎหมายของสหภาพยุโรป ประเทศแรกที่ผู้อพยพเดินทางมาถึงมีหน้าที่จะต้องดำเนินการรับคำร้องขอลี้ภัย ทว่า แมร์เคิล ได้ขอให้งดเว้นขั้นตอนดังกล่าวสำหรับชาวซีเรียที่หนีภัยสงครามกลางเมืองมา
ท่าทีใจกว้างของนายกฯหญิงเมืองเมืองเบียร์เรียกเสียงชื่นชมเป็นอันมาก แต่ท้ายที่สุดกลับสร้างภาระหนักให้แก่รัฐบาลส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องจัดการกับคลื่นผู้อพยพหลายหมื่นคนที่ไหลทะลักเข้าพรมแดนอย่างปัจจุบันทันด่วน
เมืองมิวนิกในรัฐบาวาเรียยอมรับว่าหมดปัญญาที่จะรับผู้ลี้ภัยเพิ่มอีก หลังจากวันเสาร์ (12 ก.ย.) แค่วันเดียวมีผู้อพยพไหลเข้ามามากกว่า 13,000 คน
รัฐบาลฮังการีซึ่งรับผู้อพยพเข้าประเทศแล้วกว่า 200,000 คนในปีนี้ประกาศปิดพรมแดนฝั่งที่ติดกับเซอร์เบียตั้งแต่วันอังคาร (15 ก.ย.) และได้สร้างรั้วเหล็กสูง 4 เมตรตลอดแนวพรมแดน 175 กิโลเมตร พร้อมกันนั้นก็เริ่มบังคับใช้กฎหมายลงโทษผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยกำหนดระวางโทษจำคุกเอาไว้ถึง 3 ปี
ผู้อพยพซึ่งล่องเรือมาขึ้นที่กรีซจะเดินทางผ่านรัฐบอลข่านตะวันตกเข้ามายังฮังการี เพื่ออาศัยเป็นประตูเชื่อมต่อไปยังออสเตรียและเยอรมนี
โปแลนด์ยอมรับว่าอาจตัดสินใจใช้มาตรการสกัดกั้นผู้อพยพเช่นกัน ขณะที่เนเธอร์แลนด์เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ความมั่นคงออกลาดตระเวนตามแนวพรมแดนเข้มงวดยิ่งขึ้น
ข้อตกลงเชงเกนอนุญาตให้รัฐสมาชิกอียูใช้มาตรการควบคุมพรมแดนชั่วคราวในกรณีที่มีการจัดกิจกรรมหรืออีเวนต์ใหญ่ๆ ที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ทว่าหลายฝ่ายเริ่มหวั่นเกรงว่า วิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดนี้อาจทำให้ค่านิยม “ยุโรปไร้พรมแดน” ต้องล่มสลาย
ฌอง โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เสนอแผนให้รัฐสมาชิกอียูแบ่งโควตารับผู้อพยพจำนวน 120,000 จากประเทศต่างๆ ที่เป็นรัฐด่านหน้า ทว่าความหวังที่ยุโรปจะได้มติเอกฉันท์เกี่ยวกับการแบ่งปันโควตาผู้ลี้ภัยต้องพังครืน เมื่อมีเสียงคัดค้านอย่างแน่วแน่จากฮังการี, สาธารณรัฐเช็ก, สโลวาเกีย และโรมาเนีย
ในการประชุมรัฐมนตรีมหาดไทยอียูวาระฉุกเฉินเมื่อวันจันทร์ (14 ก.ย.) กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกโต้แย้งว่า แผนการของ จุงเกอร์ จะดึงดูดผู้อพยพให้หลั่งไหลมาเพิ่มเติม นำไปสู่การเคลื่อนย้ายของมวลชนจำนวนมหาศาลซึ่งจะเป็นภัยคุกคามต่อระบบชายแดนเสรีของยุโรป
หลังการเจรจาถกเถียงกันนานกว่า 6 ชั่วโมง บรรดารัฐมนตรียุโรปก็ได้ระงับการตัดสินใจไว้ชั่วคราว โดยหวังว่าในการประชุมวันที่ 8 ตุลาคมนี้จะสามารถบรรลุข้อตกลงในการหาสถานที่พักพิงให้แก่ผู้ประสงค์ขอลี้ภัยได้
อย่างไรก็ตาม เหล่ารัฐมนตรีเห็นพ้องให้เพิ่มกำลังพลและทรัพยากรต่างๆ เพื่อปกป้องประเทศด่านหน้าชั้นนอก และมอบความช่วยเหลือแก่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ
ซิกมาร์ กาเบรียล รองนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ชี้ว่าการที่บรรดารัฐมนตรีมหาดไทยอียูไม่สามารถตกลงเรื่องโควตาผู้อพยพได้เป็นสิ่งที่ “น่าอับอายขายหน้า” ขณะที่ โทมัส เดอ ไมเซียร์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเยอรมนี ก็แสดงท่าทีสนับสนุนให้อียูตัดเงินช่วยเหลือรัฐสมาชิกที่ไม่ยอมรับผู้อพยพตามแผนที่ จุงเกอร์ เสนอ
“ที่ผ่านมาดูเหมือนประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือก็ไม่เดือดร้อนอะไร เราจำเป็นต้องพูดถึงมาตรการกดดันบ้าง เพราะประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับทุนช่วยเหลือเชิงโครงสร้างจากสหภาพยุโรปไปแล้วมากมาย” เดอ ไมเซียร์ ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์ ZDF
อย่างไรก็ตาม นายกฯ แมร์เคิล กลับออกมาแถลงในวันเดียวกันว่า “การข่มขู่” ไม่ใช่วิธีที่จะช่วยให้ยุโรปบรรลุฉันทามติเกี่ยวกับการคลี่คลายวิกฤตผู้อพยพ
รัฐบาลเยอรมนีซึ่งคาดว่าจะรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศเกือบ 1,000,000 คนในปีนี้ ต้องการให้แต่ละประเทศในยุโรปยอมรับผู้ลี้ภัยตามสัดส่วนที่เหมาะสมและเป็นธรรม
ผู้อพยพจำนวนมากเปลี่ยนไปใช้เส้นทางจากเซอร์เบียมุ่งหน้าสู่โครเอเชีย หลังถูกทางการฮังการีปิดกั้นไม่ให้ใช้เป็นทางผ่านไปยังยุโรปตะวันตก ซึ่งล่าสุดนายกรัฐมนตรี โซราน มิลาโนวิช แห่งโครเอเชีย ประกาศจุดยืนเมื่อวันพุธ (16 ก.ย.) ว่า พร้อมเปิดพรมแดนให้ผู้อพยพใช้เป็นทางผ่านได้อย่างเสรี
“ผู้อพยพเหล่านี้สามารถเดินทางผ่านโครเอเชียได้ เรากำลังเตรียมมาตรการรองรับในจุดนี้อย่างเต็มที่... และพร้อมที่จะส่งต่อพวกเขาไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสแกนดิเนเวียหรือเยอรมนี โดยไม่คำนึงว่าพวกเขาเป็นคนเชื้อชาติหรือศาสนาใด”
องค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) วิจารณ์ความแตกแยกของยุโรปในการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยระบุว่ารัฐมนตรีอียู “ล้มเหลวในการแสดงออกซึ่งภาวะผู้นำร่วม” ขณะที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) ก็เตือนว่าความลังเลของอียูกำลังทำให้ผู้ลี้ภัยเสี่ยงต่อการจมน้ำตายในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พร้อมเรียกร้องให้ยุโรป “หาข้อตกลงร่วม และยอมแบ่งปันความรับผิดชอบ”
สำนักงานกำกับดูแลพรมแดนรอบนอกของสหภาพยุโรป (Frontex) แถลงเมื่อวันอังคาร (15 ก.ย.) ว่า ในช่วง 8 เดือนของปีนี้มีคลื่นผู้อพยพไหลบ่าเข้าสู่สหภาพยุโรปแล้วมากกว่า 500,000 คน