xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจชี้คนเยอรมันเกือบ 70% ค้าน “นาโต” ทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดในเยอรมนี พบข้อมูลชวนอึ้งที่ว่าชาวเยอรมันจำนวนมากในเวลานี้ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เลือกจะ “เดินตามก้นสหรัฐอเมริกา” ด้วยการทำตัวเป็น “ศัตรู” กับรัสเซีย

ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดซึ่งจัดทำโดยศูนย์วิจัย “พร็อกโนสิส มีเดีย” และมีการเผยแพร่ในวันอาทิตย์ (23 ส.ค.) พบข้อมูลว่า ร้อยละ 68 ของกลุ่มตัวอย่างจากทั่วประเทศเยอรมนี ไม่เห็นด้วยที่บรรดาผู้มีอำนาจในนาโตปัจจุบัน เลือกที่จะดำเนินนโยบายเป็นปฏิปักษ์ต่อรัสเซีย ตามอย่างรัฐบาลอเมริกันภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา

ผลสำรวจดังกล่าวซึ่งรวมรวมความคิดเห็นจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากกว่า 4,400 คนในเยอรมนีที่ระบุว่า ร้อยละ 68 ไม่เห็นด้วยที่นาโตเลือกทำตัวเป็นศัตรูกับรัสเซียนั้น ถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นในประเด็นเดียวกันของศูนย์วิจัย “พีว รีเสิร์ช” ในสหรัฐฯ ถึง 8 จุด

ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุด ถูกเผยแพร่ออกมาในจังหวะเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปตะวันตกกับรัสเซียก้าวเข้าสู่ภาวะเสื่อมทรามตกต่ำที่สุด ในรอบหลายทศวรรษ จากผลพวงของวิกฤตทางการเมืองและสงครามกลางเมืองในยูเครน ที่สหรัฐฯ และยุโรปตะวันตกกล่าวหารัสเซียว่าละเมิดอธิปไตยของยูเครน และให้การหนุนหลังกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนทางภาคตะวันออกของยูเครน

ทั้งนี้ กำลังทหารจำนวนกว่า 5,000 นายจาก 11 ชาติสมาชิกนาโตในเวลานี้ได้ถูกส่งเข้าร่วมการซ้อมรบตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยการซ้อมรบที่ไม่ต่างจากการยั่วยุรัสเซียนี้ ถูกจัดขึ้นต่อเนื่องทั้งในเยอรมนี อิตาลี บัลแกเรีย และโรมาเนีย

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีรายงานข่าวแพร่สะพัดว่าสหรัฐฯ และนาโตอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในด้านการทหาร เพื่อรับมือการเผชิญหน้ากับรัสเซียซึ่งมีแนวโน้มจะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน ถึงแม้ว่าทางประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียจะสิ้นอำนาจไปแล้วก็ตาม
       
การที่รัสเซียใช้อิทธิพลแทรกแซงสถานการณ์ยูเครนส่งผลให้พันธมิตรนาโต ในยุโรปตะวันออกเริ่มมีการเคลื่อนไหวทางทหาร รวมถึงจัดซ้อมรบและตั้งกองกำลังเคลื่อนที่เร็วขึ้นมาเพื่อตอบสนองวิกฤตการณ์ ทั้งทางการเมืองและความมั่นคงไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้น
       
โดยแอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มออกเดินสายทัวร์ยุโรปเป็นเวลา 1 สัปดาห์ในช่วงเวลาดังกล่าว ระบุว่าสหรัฐฯ หวังที่จะเห็นรัสเซียก้าวไปข้างหน้า และย้ำถึงความร่วมมือทางการทูตที่มีร่วมกันกับมอสโก เช่น การเจรจาเพื่อควบคุมโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน

อย่างไรก็ดี การปรับยุทธศาสตร์ของนาโตซึ่งส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อป้องปรามการแทรกแซงจากรัสเซีย สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความตึงเครียดที่อาจจะยืดเยื้อ
       
“การปรับที่ผมพูดถึงนี้เป็นผลโดยตรงจากการที่เราคาดไว้ว่ารัสเซียคงจะไม่เปลี่ยนไปภายใต้รัฐบาล วลาดิมีร์ ปูติน หรือแม้กระทั่งหลังจากนั้น” คาร์เตอร์ให้สัมภาษณ์เมื่อปลายเดือนมิถุนายน
       
ทั้งนี้ ปูตินก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียสมัยที่ 3 เมื่อปี 2012 โดยมีวาระการบริหารประเทศนาน 6 ปี และเนื่องจากกฎหมายรัสเซียอนุญาตให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งต่อเนื่องได้ไม่เกิน 2 สมัย จึงหมายความ ปูติน ยังสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2018 เพื่อที่จะกุมอำนาจลากยาวต่อไปอีก 6 ปีได้
       
การไปเยือนยุโรปของคาร์เตอร์ครั้งล่าสุดจึงถูกมองว่า มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันการปรับยุทธศาสตร์ของนาโต โดยเริ่มจากการไปตรวจเยี่ยมกองกำลังเคลื่อนที่เร็วในเยอรมนี และเดินทางต่อไปยังเอสโตเนียเพื่อเยี่ยมเรือรบสหรัฐฯ ที่เพิ่งกลับจากภารกิจซ้อมรบในทะเลบอลติก


กำลังโหลดความคิดเห็น