xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานทาสญี่ปุ่นยุคสงครามโลก: อะไรทำให้ ‘มิตซูบิชิ’ ออกมาขอโทษ

เผยแพร่:   โดย: จอร์จ คู

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

WW II Japan slave labor: What to make of Mitsubishi Materials’ apology?
By George Koo
01/08/2015

เมื่อเร็วๆ นี้ มิตซูบิชิ แมตทีเรียลส์ ได้จัดพิธีขออภัยเชลยศึกชาวอเมริกันที่เคยถูกบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาสในเหมืองแร่ที่ตั้งอยู่ในญี่ปุ่นของบริษัท ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โฆษกของมิตซูบิชิยังแถลงว่าบริษัทหวังจะแสดงการขอโทษต่อเชลยศึกที่เป็นคนสัญชาติอื่นๆ รวมทั้งกำลังเจรจากับกลุ่มชาวจีนต่างๆ เพื่อจัดทำข้อตกลงที่จะมีการระบุถึงเรื่องการให้เงินชดเชยด้วย อะไรทำให้มิตซูบิชิลุกขึ้นมาทำสิ่งเหล่านี้ในตอนนี้ หลังจากที่สงครามคราวนั้นสิ้นสุดลงไปแล้วเป็นเวลาถึง 70 ปี

เวลาผ่านพ้นไป 70 ปีภายหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 มิตซูบิชิ แมตทีเรียลส์ (Mitsubishi Materials) จึงได้ฤกษ์จัดงานอย่างเป็นข่าวใหญ่โต (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่ http://www.japantimes.co.jp/news/2015/07/15/national/history/mitsubishi-materials-apologize-u-s-forced-labor-70-years-later/#.Vbl30mBV_KN) เพื่อแสดงการขอโทษ เจมส์ เมอร์ฟีย์ (James Murphy) ชาวอเมริกันที่เคยตกเป็นเชลยศึกของญี่ปุ่น ซึ่งเวลานี้ยังมีชีวิตอยู่โดยมีอายุล่วงเข้า 94 ปีแล้ว พิธีคราวนี้จัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ ณ พิพิธภัณฑ์แห่งขันติธรรม (Museum of Tolerance) ของศูนย์ไซมอน วีเซนธัล (Simon Wiesenthal Center) ในนครลอสแองเจลีส ซึ่งก็ดูเหมาะเจาะเหมาะสม เนื่องจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเตือนใจให้โลกไม่หลงลืมเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุโรป

ดูเหมือนว่าทางตัวแทนของบริษัทมิตซูบิชิ ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวอดีตเชลยศึกชาวอเมริกันผู้นี้ให้เห็นว่าเขามีความสำนึกผิดอย่างล้ำลึก และเขามีความสลดเสียใจจริงๆ จนกระทั่ง เมอร์ฟีย์ บังเกิดความชื่นชมยินดี และยอมรับการขอโทษนี้ในนามของเชลยชาวอเมริกันทั้งมวลที่ได้ถูกบังคับใช้งานเยี่ยงทาสในญี่ปุ่นยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ประมาณการกันว่ามีเชลยศึกชาวอเมริกันราว 12,000 คนถูกส่งไปยังญี่ปุ่น เพื่อเข้าเติมเต็มแก้ไขสภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานในตอนนั้น และประมาณ 10% ของคนเหล่านี้ ไม่อาจรอดชีวิตยืนยาวนานพอที่จะได้ถูกส่งตัวกลับบ้านเมื่อสงครามสงบลง

เหตุการณ์ที่ได้รับการรายงานข่าวอย่างกว้างขวางคราวนี้ ทำให้ มิตซูบิชิ ได้รับคำยกย่องชมเชย (ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากพวกสื่อมวลชนฝ่ายตะวันตก) ในฐานะที่เป็นบริษัทญี่ปุ่นรายแรกซึ่งกล้าก้าวออกมาข้างหน้า และกล่าวยอมรับกล่าวขออภัยต่อความผิดต่างๆ ที่ญี่ปุ่นได้กระทำเอาไว้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สื่อบางรายถึงขนาดเรียกขานเหตุการณ์คราวนี้ว่า เป็นการขออภัย “ที่เป็นหลักหมายสำคัญ” หลายๆ รายแสดงความหวังว่าจะมีบริษัทญี่ปุ่นรายอื่นๆ กระทำตาม และบางทีอาจจะสามารถโน้มน้าวให้รัฐบาล (นายกรัฐมนตรีชินโซ) อาเบะ กระทำอย่างเดียวกันด้วย

โฆษกของมิตซูบิชิยังเดินหน้าทำแต้มต่อไปอีก ด้วยการแถลงว่าบริษัทหวังที่จะแสดงการขอโทษต่อเชลยศึกที่เป็นคนสัญชาติอื่นๆ รวมทั้งกำลังเจรจากับกลุ่มชาวจีนต่างๆ เพื่อจัดทำข้อตกลงที่จะมีการระบุถึงเรื่องการให้เงินชดเชย โดยตามตัวเลขที่ปรากฏออกมา มีชาวจีนทั้งสิ้นประมาณ 39,000 คนถูกนำตัวไปยังญี่ปุ่นเพื่อใช้เป็นทาสแรงงาน และเกือบๆ 20% เสียชีวิตไปในค่ายแรงงานแห่งต่างๆ

จากจำนวนทั้งหมดเหล่านี้ มีเชลยศึกชาวจีน 3,765 คนซึ่งทราบกันว่าถูกนำตัวไปทำงานในเหมืองซึ่งเป็นของบริษัทที่เป็นบรรพบุรุษของค่ายมิตซูบิชิในปัจจุบัน โดยที่อย่างน้อยที่สุด 722 คนไม่สามารถอยู่รอดจนสงครามเลิกได้ ตามรายงานข่าวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์เจแปนไทมส์ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.japantimes.co.jp/news/2015/07/24/national/history/mitsubishi-materials-apologize-settle-3765-chinese-wwii-forced-labor-redress-claims/#.Vbl2gGBV_KN) ตลอดจนในสื่ออื่นๆ มิตซูบิชิได้เสนอให้เงินชดเชยเป็นจำนวน 100,000 เหรินหมินปี้ (ประมาณ 500,000 บาท) แก่ผู้รอดชีวิตแต่ละราย หรือแก่ทายาทของพวกเขา เนื่องจากคงไม่เหลือสักกี่คนแล้วที่ยังมีชีวิตอยู่ภายหลังวันเวลาผ่านพ้นไปถึง 70 ปีเช่นนี้

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ดูแล้วมีแต่เรื่องดีๆ ทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหานี้ไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างที่ทำท่าเหมือนเป็นเช่นนั้น ตามการเล่าพรรณนามาข้างต้นนี้หรอก ถึงแม้ยังคงเป็นความจริงที่ มิตซูบิชิ น่าจะเป็นบริษัทญี่ปุ่นแห่งแรกซึ่งออกมาแสดงการขออภัย รวมทั้งเสนอที่จะให้การชดเชย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงไปแล้ว 70 ปี ทว่ามีสัญญาณเครื่องบ่งชี้จำนวนมากซึ่งบ่งบอกให้ทราบว่า พวกเขาไม่ได้ทำเรื่องนี้ด้วยความเต็มอกเต็มใจอะไรหรอก

การที่ต้องใช้เวลายาวนานเหลือเกินถึง 70 ปี ก็เพราะทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นและพวกบริษัทญี่ปุ่นต่างพยายามบ่ายเบี่ยงหลบซ่อนตัวอยู่ข้างหลังสนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโกปี 1951 (San Francisco Peace Treaty of 1951) และข้อตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ขั้นปกติระหว่างจีนกับญี่ปุ่นที่ได้ลงนามกันในปี 1972

ญี่ปุ่นมักอ้างอยู่เป็นประจำว่า สนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโกปี 1951 ได้ปลดพวกเขาออกจากเบ็ดโดยทำให้พวกเขาปลอดพ้นจากพันธกรณีผูกพันในอนาคตที่จะต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามใดๆ ทั้งสิ้น แล้วก็มีกรณีตัวอย่างแสดงให้เห็นเช่นนั้นจริงๆ โดยเมื่อมีอดีตเชลยศึกชาวอเมริกันยื่นฟ้องร้องเรียกค่าชดเชย ทางศาลทั้งหลายของสหรัฐฯก็ตัดสินยกฟ้อง เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ ของสนธิสัญญาสันติภาพฉบับดังกล่าว ระบุอย่างชัดเจนว่า ให้ยกเลิกสิทธิของพลเมืองชาวอเมริกันในการเรียกร้องค่าเสียหาย อย่างไรก็ดี หลักเหตุผลในเรื่องนี้ไม่สามารถนำมาใช้กับอดีตเชลยศึกชาวจีนได้ เนื่องจากไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนของจีน ไม่ว่าจะที่ปักกิ่งหรือที่ไทเป ต่างไม่เคยได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมเจรจาจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโก รวมทั้งรัฐสภาไม่ว่าของจีนไหนก็ไม่เคยให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาดังกล่าว

ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง พวกประเทศสัมพันธมิตรได้เคยทำการสอบสวนและทำการประเมินความเสียหายจากสงครามซึ่งเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของญี่ปุ่น คณะกรรมการชุดนั้นมีข้อสรุปว่าค่าปฏิกรรมสงครามที่ญี่ปุ่นจะต้องจ่ายชดเชยชาติอื่นๆ นั้นรวมแล้วควรจะอยู่ที่ 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จีนในฐานะเป็นชาติที่ต่อสู้กันญี่ปุ่นอยู่นานที่สุดและต้องประสบความวิบัติหายนะหนักหน่วงสาหัสที่สุด ได้พยายามที่จะเรียกร้องให้ได้ส่วนแบ่งค่าปฏิกรรมสงครามก้อนโตที่สุด ทว่าข้อเรียกร้องเหล่านี้ของพวกเขาโดยพื้นฐานแล้วได้ถูกละเลยเพิกเฉย อันที่จริงแล้วเพียงแค่นำเอาข้อเรียกร้องของพวกมหาอำนาจตะวันตกที่ละโมบโลภมาก ซึ่งได้แก่ สหราชอาณาจักร, สหรัฐฯ, สหภาพโซเวียต, ฝรั่งเศส, และออสเตรเลีย มาบวกรวมเข้าด้วยกัน ก็จะเกินยอดค่าปฏิกรรมสงครามที่จะเรียกจากญี่ปุ่นอยู่แล้ว ต้องถือเป็นตลกร้ายเรื่องหนึ่ง ในการที่พวกชาติสัมพันธมิตรได้ต่อสู้ร่วมเป็นร่วมตายกันมา แต่กลับไม่สามารถตกลงกันได้ว่าทรัพย์โจรจากสงครามซึ่งช่วงชิงมาได้นั้นจะแบ่งสรรกันอย่างไร การสอบสวนคาดคำนวณและข้อสรุปต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวง โดยพื้นฐานแล้วจึงถูกปล่อยทิ้งเอาไว้และถูกหลงลืมกันไป

พัฒนาการซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อถึงตอนที่มีการประชุมเจรจาที่ซานฟรานซิสโก ญี่ปุ่นก็ได้กลายเป็นชาติซึ่งมีศักยภาพที่จะเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ในสงครามเย็น (Cold War) ที่กำลังพัฒนาขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว และเรื่องค่าปฏิกรรมสงครามจึงถูกนำมาพิจารณากันอย่างลวกๆ พอเป็นพิธีเท่านั้น พวกประเทศเอเชียที่เข้าร่วมการประชุมเจรจาคราวนั้น ได้รับค่าชดเชยบ้างในระดับไม่กี่ร้อยล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนและไต้หวันซึ่งต่างไม่ได้ร่วมการประชุมด้วย (เพราะเวลานั้นในประเทศจีนเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ กับพรรคก๊กมิ่นตั๋ง ซึ่งสิ้นสุดลงในปี 1949 ด้วยชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ และพรรคก๊กมิ่นตั๋งต้องหลบหนีไปตั้งหลักตั้งฐานที่เกาะไต้หวัน -ผู้แปล) ได้รับมอบอย่างเป็นทางการให้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองทรัพย์สินต่างๆ ของญี่ปุ่นที่ถูกทิ้งเอาไว้โดยชาวญี่ปุ่นที่หลบหนีจากไป แม้กระทั่ง ชิเงรุ โยชิดะ (Shigeru Yoshida) นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในขณะนั้นยังถึงกับเอ่ยปากว่าญี่ปุ่นหลุดออกจากเบ็ดได้อย่างง่ายดายเหลือเกิน

เปรียบเทียบแล้วจะเห็นได้ว่า ช่างตัดแย้งกันอย่างยิ่งกับเมื่อตอนที่จีนพ่ายแพ้ในการทำสงครามเป็นเวลา 2 เดือนกับญี่ปุ่นในปี 1894 โดยในครั้งนั้นญี่ปุ่นหยิบฉวยเอาทั้ง ไต้หวัน และหมู่เกาะอื่นๆ ไปครอบครอง อีกทั้งยังเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามอย่างโหดๆ ดังที่ระบุเอาไว้ในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (Treaty of Shimonoseki) ซึ่งมีการลงนามกันในปี 1895 โดยรวมแล้ว จีนต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นมูลค่าเท่ากับโลหะเงินหนัก 10,000 ตันภายในระยะเวลา 3 ปี ด้วยการผจญภัยทางทหารเพียงช่วงสั้นๆ ครั้งหนึ่ง ญี่ปุ่นสามารถสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ท้องพระคลังได้มากกว่า 4 เท่าตัวของรายรับในแต่ละปีของพวกเขาในตอนนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเมื่อตอนที่ญี่ปุ่นรุกรานจีนในปี 1937 พวกผู้นำที่ยึดมั่นในแนวความคิด “ลัทธิทหาร” (militarism) ของพวกเขา ต้องคาดหวังว่าจะได้เป็นเจ้าของแดนมังกรทั้งประเทศภายในเวลาไม่กี่เดือน

พร้อมๆ กับที่ญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโก ญี่ปุ่นก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคงฉบับหนึ่งกับสหรัฐฯด้วย สนธิสัญญาความมั่นคงฉบับนั้นมีเนื้อหาสั้นมาก ประกอบด้วยมาตราต่างๆ แค่ 5 มาตรา และรวมทั้งฉบับบรรจุคำไม่กี่ร้อยคำ โดยที่เนื้อหาสาระพื้นฐานคือการให้สหรัฐฯได้รับสิทธิที่จะตั้งกองทหารประจำอยู่ในแดนญี่ปุ่น แลกเปลี่ยนกับการที่สหรัฐฯจะทำหน้าที่พิทักษ์คุ้มครองความมั่นคงของญี่ปุ่นจาก “ลัทธิทหารที่ขาดความรับผิดชอบ” (irresponsible militarism) ซึ่งกำลังปรากฏอยู่ในโลก สนธิสัญญาดังกล่าวเปิดช่องทางอันกว้างขวางยิ่งให้ชาติผู้ลงนามทั้งสอง สามารถที่จะตีความ ตลอดจนตีความต่อเนื่องต่อไปอีก

ทำนองเดียวกับสนธิสัญญา 2 ฉบับที่ลงนามกันไปในปี 1951 ได้ปกป้องคุ้มครองญี่ปุ่นให้รอดปลอดพ้นจากความเจ็บช้ำส่วนตัวของชาวอเมริกันที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากความทารุณเหี้ยมโหดของญี่ปุ่น ข้อตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ที่เป็นปกติระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในปี 1972 ก็ถูกญี่ปุ่นฉวยเอาไปใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการปฏิเสธไม่ยอมรับการเรียกร้องใดๆ จากฝ่ายจีน พูดกันอย่างเข้าใจง่ายๆ ก็คงต้องพูดว่า ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งอยู่ในรูปเอกสาร “แถลงการณ์ร่วมปี 1972” นี้ มีลักษณะเป็น “หนึ่งเอกสาร สองการตีความ” (one document, two interpretations) การตีความอย่างเป็นทางการของจีนก็คือ รัฐบาลจีนได้ยกเลิกสิทธิในการเรียกร้องค่าชดเชยในสงครามโลกครั้งที่ 2 จากญี่ปุ่น ทว่าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสิทธิของประชาชนจีนที่จะยื่นข้อเรียกร้องเพื่อได้ค่าชดเชยจากญี่ปุ่นเลย

คำฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยของฝ่ายจีนในนามของบุคคลและกลุ่มบุคคลต่างๆ เริ่มถูกยื่นต่อศาลในญี่ปุ่นอย่างเอาจริงเอาจังในช่วงทศวรรษ 1990 กระทั่งถึงปี 2007 ศาลสูงสุดของญี่ปุ่นจึงได้มีคำตัดสินสุดท้ายซึ่งให้ยกฟ้องคดีความเหล่านี้ทั้งหมด ด้วยเหตุผลทางกฎหมายที่ว่าแถลงการณ์ร่วมปี 1972 ทำให้การฟ้องร้องเหล่านี้เป็นโมฆะ อย่างไรก็ตาม ศาลสูงสุดของญี่ปุ่นพบว่า การกระทำอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนที่ทางโจทก์ผู้ฟ้องร้องบรรยายฟ้องเอาไว้นั้น มีความสยดสยองเพียงพอที่จะทำให้ศาลต้องเสนอแนะต่อพวกบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นจำเลย ให้ประนีประนอมยอมความในข้อพิพาทเหล่านี้กันแบบฉันมิตร และหาวิธีที่จะสามารถชดเชยแก่ผู้ฟ้องร้องได้ตามสมควร ช่างโชคร้ายแต่ก็ไม่ถึงกับน่าประหลาดใจอะไรนัก ที่ต่อจากนั้นมาไม่ค่อยได้มีการเคลื่อนไหวกระทำตามข้อเสนอแนะของศาลกันเลย

เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2008 ทนายความบางรายที่เป็นตัวแทนของพวกเหยื่อชาวจีน ได้เริ่มยื่นคำฟ้องร้องพวกบริษัทญี่ปุ่นต่อศาลต่างๆ ในประเทศจีน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ศาลต่างๆ ในจีนมองเห็นตัวการใหญ่ๆ ของข้อพิพาท และตกลงรับฟ้องรับพิจารณาตัดสินคดีเช่นนี้ ฉับพลันทันทีนั้นเอง พวกบริษัทอย่างมิตซูบิชิก็รีบให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิตซูบิชิ แมตทีเรียลส์ ได้เริ่มต้นเสนอที่จะประนีประนอมยอมความ

เห็นได้ชัดเจนว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาแล้ว ในวิธีคำนวณความเสี่ยงและรางวัลผลตอบแทนที่จะได้รับ จากการเตะถ่วงและไม่สนใจใยดีกับเหยื่อชาวจีน ปัจจุบันจีนได้กลายเป็นหรือเกือบๆ จะกลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกแล้ว และพวกบริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้ก็มีเดิมพันอยู่ในตลาดแห่งนี้อย่างมากมายมหาศาลจนเกินกว่าที่จะยอมเสี่ยงค้าความในศาลจีน นอกจากนั้น การได้รับไมตรีจิตมิตรภาพจากประชาชนจีนเวลานี้ ก็กลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่ามีราคาขึ้นมาแล้ว

ตอนที่ มิตซูบิชิ แมตทีเรียลส์ เริ่มต้นโฆษณาป่าวร้องความปรารถนาของพวกเขาที่จะประนีประนอมยอมความในคดีที่ชาวจีนเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นภายในประเทศจีนอยู่ในสภาพผสมปนเปไม่ชัดเจนไปในทางใดทางหนึ่ง โดยมีทั้งผู้ที่แสดงความตื่นเต้นยินดี ไปจนถึงผู้ที่ออกมาประณามวิพากษ์วิจารณ์ มีบางรายออกมายกย่องเจตนารมณ์ที่แสดงออกต่อภายนอกของบริษัท ในการยินยอมจ่ายเงินก้อนใหญ่พอดูให้แก่เหยื่อเหล่านี้ และมองเรื่องนี้ว่าเป็นการผ่าทางตันให้แก่ประเด็นปัญหาที่ได้ชะงักงันมานานแล้ว (ดูรายงานข่าวเรื่องนี้ได้จาก
http://www.bloomberg.com/news/articles/2015-07-21/china-slams-mitsubishi-s-selective-wartime-slave-labor-apology)

แต่ก็มีคนอื่นๆ ที่ท้าทายความจริงใจเบื้องหลังข้อเสนอนี้ โดยชี้ออกมาว่าขณะที่บริษัทดำเนินการด้วยความฉับไวเหลือเกินในการป่าวประกาศให้สื่อมวลชนทราบเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของพวกเขา บริษัทกลับยังไม่ได้พบปะหารือกับกลุ่มต่างๆ ซึ่งยื่นฟ้องร้องเพื่อจะได้เริ่มเจรจาทำความตกลงยอมความกัน พวกเขาข้องใจสงสัยว่า มิตซูบิชิ จะยอมจ่ายค่าชดเชยจริงๆ หรือ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกซึ่งแสดงความไม่พอใจในถ้อยคำที่ มิตซูบิชิ ใช้ ในการขออภัยคราวนี้

เมื่อผู้คนในประเทศจีนเริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับหนทางที่จะได้รับการเยียวยาทางกฎหมาย โดยอาศัยหลักนิติธรรมในสไตล์ตะวันตก ก็มีนับพันๆ คนทีเดียวเข้าร่วมกับกลุ่มต่างๆ เพื่อยื่นฟ้องร้องขอค่าชดเชยความทุกข์ยากเดือดร้อนที่พวกเขาเคยได้รับมา ทว่าพวกเขายังไม่ตระหนักหรอกว่ากงล้อแห่งความยุติธรรมนั้นย่างเยื้องไปด้วยฝีก้าวความเร็วแห่งการคลานคืบของหอยทาก นับจนถึงเวลานี้จำนวนของผู้ที่ยังเหลือรอดจากการทำลายล้างของกาลเวลา จึงหดฮวบลดลงเหลือเพียงแค่หยิบมือเดียวเท่านั้น

มันก็เหมือนกับชิ้นเนื้อซึ่งเลยช่วงเวลาที่กำหนดให้ขายได้ และถูกวางแบอยู่ในถังขยะ เป็นธรรมดาอยู่เองที่ต้องมีแมลงวันนานาชนิดบินว่อนโฉบเฉี่ยวรอบๆ ข้อเสนอของมิตซูบิชิที่จะจ่ายเงินให้แก่เหยื่อผู้รับทุกข์ ทนายความนักกฎหมายจำนวนหนึ่งซึ่งใช่ว่าจะมีความรู้ความสามารถเป็นที่รับรองกันทุกผู้ทุกคนไป ได้ปรากฏตัวขึ้นมากล่าวอ้างว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของเหยื่อกลุ่มนั้นเหยื่อคนนี้ และกำลังเสาะแสวงหาทางให้ได้รับส่วนแบ่งกับเขาสักชิ้นหนึ่ง ถึงแม้ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าชิ้นขนมชิ้นนี้เป็นของที่กินได้จริงๆ หรือเป็นเพียงภาพมายา

จวบจนกระทั่งถึงบัดนี้ สิ่งที่ญี่ปุ่นแสดงออกให้เห็นว่ามีความชำนิชำนาญมากที่สุด ก็คือการบิดเบนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เพื่อให้กลายเป็นประโยชน์แก่พวกเขาเอง พิพิธภัณฑ์สันติภาพแห่งเมืองฮิโรชิมา (Peace Museum of Hiroshima) ทำหน้าที่คอยเตือนให้โลกรำลึกเอาไว้เสมอว่าประชาชนของญี่ปุ่นคือเหยื่อเพียงหนึ่งเดียวของระเบิดปรมาณู ทว่าไม่มีหรอกที่เราจะพบคำอธิบายซึ่งบรรยายถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่นำมาสู่การทิ้งระเบิดมหาประลัยนี้

ต้องถือเป็นตลกร้ายเรื่องหนึ่งทีเดียว ในการที่ญี่ปุ่นได้ยื่นขอตราประทับรับรองฐานะความเป็นมรดกโลก (จากองค์การยูเนสโก -ผู้แปล) ให้แก่เหมืองแร่บางแห่งภายในแดนอาทิตย์อุทัย ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงช่วงระยะเวลาที่ญี่ปุ่นผงาดก้าวผ่านจากความเป็นรัฐยุคศักดินาเข้าสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ โดยที่เหมืองเหล่านี้บางแห่งอยู่ในความครอบครองของบริษัทมิตซูบิชิ เนื่องจากเผชิญกับการต่อต้านอย่างแข็งขันจริงจังจากเกาหลีใต้ ในที่สุดญี่ปุ่นจึงต้องยินยอมอย่างเสียไม่ได้ ที่จะเขียนถ้อยคำอธิบายในสถานที่เหล่านั้นเพื่อบ่งบอกให้ทราบว่าทาสแรงงานจากเกาหลีได้ถูกนำมาใช้ สำหรับการที่ญี่ปุ่นเดินหน้าก้าวไปสู่ความทันสมัย ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่าจะมีป้ายมีข้อความในสถานที่ตรงนั้นบ้างหรือไม่ ซึ่งแจ้งให้อาคันตุกะผู้มาเยือนได้ทราบว่าพวกเชลยศึกในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้ถูกบังคับใช้งานอยู่ในเหมืองเหล่านี้บางแห่ง ในสภาวการณ์ที่พวกเขาถูกปฏิบัติเสมือนกับไม่ได้เป็นมนุษย์

ลักษณะที่ญี่ปุ่นขาดไร้ความสามารถในการเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์อย่างเต็มๆ ตรงไปตรงมา และไม่กล้าที่จะบอกเล่าความจริงเกี่ยวกับความโหดเหี้ยมเลวร้ายทุกๆ อย่างที่พวกเขาได้กระทำไป คงต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งซึ่งแฝงฝังอย่างล้ำลึกอยู่ในพันธุกรรมของพวกเขา เห็นได้อย่างชัดเจนว่าพวกเขานั้นต้องการความช่วยเหลือ ความพยายามล่าสุดที่จะเตือนญี่ปุ่นให้ระลึกถึงอดีตของพวกเขาเอง ได้แก่เว็บไซต์ใหม่ที่เรียกชื่อขนานนามกันว่า เป็น เสียงร้อง 10,000 เสียงเพื่อความยุติธรรม http://www.10000cfj.org/ เว็บไซต์สองภาษาแห่งนี้เป็นคลังรวบรวมจดหมายนับพันนับหมื่นฉบับซึ่งเขียนโดยชาวจีนในยุคทศวรรษ 1990 บอกเล่าเรื่องราวที่ได้ประสบพบเห็นมาด้วยตนเอง เกี่ยวกับความโหดร้ายทารุณต่างๆ ของพวกทหารญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม และให้บังเอิญว่าถูกโพสต์ขึ้นเว็บไซต์นี้เพียงไม่กี่วันหลังจากข้อเสนอของ มิตซูบิชิ ได้เข้ามาอยู่ในความสนอกสนใจของสาธารณชน

นี่เป็นการรวบรวมหลักฐานอันทรงพลังยิ่งเกี่ยวกับพฤติการณ์อันโหดเหี้ยมชั่วร้ายที่กระทำโดยญี่ปุ่น เป็นต้นว่า การใช้ดาบปลายปืนแทงทารก, การข่มขืนผู้หญิงจากนั้นก็ผ่าท้องควักเครื่องในออกมา, การฆ่าตัดคอ, การนำเอามนุษย์มาเป็นสัตว์ทดลองทำการผ่าชำแหละกันเป็นๆ, การทิ้งระเบิดเคมีและระเบิดชีวภาพใส่หมู่บ้านคนจีน, และการกระทำอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นการกระทำความผิดต่อมนุษยชาติ

รัฐบาลอาเบะนั้นต้องการที่จะลืมเรื่องเหล่านี้ไปให้หมด ในความเป็นจริงแล้วเขาต้องการที่จะเขียนมาตรา 9 แห่งรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นเสียใหม่ (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่ http://www.forbes.com/sites/stephenharner/2015/07/20/abes-security-law-putsch-the-undoing-of-the-u-s-japan-alliance/?utm_source=followingweekly&utm_medium=email&utm_campaign=20150727) เพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถกลายเป็นมหาอำนาจทางทหารอย่างเต็มตัวได้อีกครั้งหนึ่ง -- หรือบางทีอาจจะกลายเป็นสมาชิกใหม่ของ “ลัทธิทหารที่ขาดความรับผิดชอบ” กระมัง? แต่จีนนั้นไม่มีวันลืมเลือน เกาหลีก็ไม่มีวันลืมเลือน ฟิลิปปินส์และส่วนอื่นๆ ของเอเชียก็ไม่มีวันลืมเลือน แล้วสหรัฐฯสามารถที่จะเพิกเฉยทำไม่รู้ไม่ชี้ต่อประวัติศาสตร์ได้หรือ?

ประธานาธิบดีโอบามา ควรที่จะเตือนให้อาเบะระลึกเอาไว้ว่า ข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคีที่ทำกันนั้น เป็นการผูกพันสหรัฐฯให้พิทักษ์คุ้มครองญี่ปุ่นจากลัทธิทหารที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่ใช่เพื่อให้ญี่ปุ่นกระทำซ้ำรอยประวัติศาสตร์และกลายเป็นลัทธิทหารที่ขาดความรับผิดชอบเสียเอง

ดร. จอร์จ คู เพิ่งเกษียณอายุเมื่อไม่นานมานี้จากสำนักงานให้บริการด้านคำปรึกษาระดับโลก แห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการดำเนินการทางธุรกิจ ของพวกเขาในประเทศจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก MIT, Stevens Institute, และ Santa Clara University และเป็นผู้ก่อตั้งตลอดจนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ International Strategic Alliances เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ the Committee of 100, the Pacific Council for International Policy และเป็นกรรมการคนหนึ่งของ New America Media
กำลังโหลดความคิดเห็น