xs
xsm
sm
md
lg

อดีตนักข่าวชาวญี่ปุ่นยืนยันรายงานความจริง “ทาสบำเรอกาม” ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Harassed Japanese ex-reporter says he told truth about WWII ‘comfort women’
13/08/2015

เมื่อปี 1991 อูเอมูระ ทากาชิ ซึ่งเวลานั้นเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุง ของญี่ปุ่น ได้เสนอรายงานข่าวเรื่องราวของ คิม ฮัคซุน สตรีชาวเกาหลีคนแรกที่กล้าออกมาประกาศยืนยันว่าได้ถูกบังคับให้เป็นทาสบำเรอกามพวกทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สัปดาห์นี้อูเอมูระได้เดินทางมาร่วมการประชุมนานาชาติที่กรุงโซล และแถลงข่าวว่าทั้งตัวเขา ภรรยาและบุตรสาว ได้ถูกข่มขู่คุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ จากพวกนักเคลื่อนไหวขวาจัดของญี่ปุ่น สืบเนื่องจากรายงานข่าวเหล่านี้ ทั้งนี้เขายืนยันว่าเขาเขียนมันขึ้นมาโดยอิงกับข้อเท็จจริงต่างๆ ทางประวัติศาสตร์

อดีตนักหนังสือพิมพ์ชาวญี่ปุ่น ยังคงถูกข่มขู่คุกคามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าตัวเขาและครอบครัวจะถูกเล่นงานโจมตี สืบเนื่องจากการที่เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน เขารายงานข่าวเกี่ยวกับชะตากรรมของผู้หญิงที่ถูกเรียกว่า “สตรีเพื่อการผ่อนคลาย” อย่างไรก็ตาม เขากล่าวยืนยันในวันพฤหัสบดี (13 ส.ค.) ว่า เขาเขียนเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาไม่ใช่เป็นการทำงานรับใช้รัฐบาลเกาหลีใต้อย่างที่ถูกกล่าวร้ายป้ายสี หากแต่ “เป็นการบอกเล่าความจริงทางประวัติศาสตร์”

เมื่อปี 1991 อูเอมูระ ทากาชิ (Uemura Takashi) ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุง (Asahi Shimbun) ได้เขียนรายงานข่าว 2 ชิ้นเกี่ยวกับเรื่องราวของ คิม ฮัคซุน (Kim Hak-sun) ผู้ซึ่งบัดนี้ล่วงลับไปแล้ว โดยที่เธอคือสตรีชาวเกาหลีคนแรกที่กล้าออกมาประกาศยืนยันว่าได้ถูกบังคับให้เป็นทาสบำเรอกามพวกทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

นับแต่นั้นมา อูเอมูระ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกข่มขู่คุกคามว่าจะถูกทำร้ายเล่นงาน จากพวกนักเคลื่อนไหวฝ่ายขวาจัดของญี่ปุ่น ผู้ซึ่งตราหน้าเขาว่าเป็น “นักข่าวที่แต่งเรื่องขึ้นมาเอง” และเป็น “คนทรยศ”

อูเอมูระ กล่าวยอมรับระหว่างการแถลงข่าวในกรุงโซลเมื่อวันพฤหัสบดี (13) ว่า เขายังคงถูกคุกคามเรื่อยมาว่าจะถูกทำร้าย สืบเนื่องจากรายงานข่าว 2 ชิ้นที่เขาเขียนขึ้นมา

“ผมไม่ได้เป็นสมุนของรัฐบาลเกาหลีใต้ ผมเขียนรายงานข่าวพวกนั้นขึ้นมาโดยอิงอยู่กับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์” อดีตนักข่าวของไมนิจิชิ มบุง กล่าว ปัจจุบันเขาทำงานเป็นอาจารย์ปฏิบัติวิชาชีพ (adjunct lecturer) อยู่ที่มหาวิทยาลัยโฮกุเซ กากูเอน (Hokusei Gakuen University) ในเมืองซัปโปโร

อูเอมูระ บินไปกรุงโซลเพื่อเข้าร่วมเวทีประชุมทางวิชาการระดับระหว่างประเทศ ซึ่งกระทรวงเพื่อความเท่าเทียมทางเพศสภาพและครอบครัว (Ministry of Gender Equality and Family) ของเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น โดยเขาจะขึ้นพูดในประเด็นทาสบำเรอกามช่วงสงครามในวันศุกร์ (14 ส.ค.)

ครั้งนี้นับเป็นการจัดแถลงข่าวในเกาหลีใต้ครั้งแรกของอูเอมูระ ซึ่งเขาได้เล่ารายละเอียดว่า เขาเขียนรายงานข่าวทั้ง 2 ชิ้นดังกล่าวขึ้นมาได้อย่างไร ตลอดจนการคุกคามข่มขู่ต่างๆ ที่ติดตามมาหลังจากนั้น

อูเอมูระบอกว่า การคุกคามต่อตัวเขายิ่งเลวร้ายหนักขึ้นไปอีก นับตั้งแต่นิตยสารรายสัปดาห์ของญี่ปุ่นฉบับหนึ่งตีพิมพ์บทความชิ้นหนึ่ง ซึ่งกล่าวหาว่ารายงานข่าวของเขาเกี่ยวกับ คิม ฮัคซุน เป็นเรื่องแต่งขึ้นมาเอง

“พวกเขาตอนนี้ถึงขั้นคุกคามภรรยาที่เป็นชาวเกาหลีของผม ตลอดจนลูกสาวอายุ 18 ปีของเราด้วย” เขากล่าว พร้อมกับเล่าต่อไปว่า บุตรสาวของเขากระทั่งไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ถ้าไม่มีตำรวจคอยพิทักษ์คุ้มครอง เนื่องจากมีผู้ส่งจดหมายมาฉบับหนึ่งขู่ว่าจะสังหารเธอ

ขณะนี้เขาอยู่ระหว่างต่อสู้ทางกฎหมาย ซึ่งเขาฟ้องสื่อมวลชนด้านข่าวของญี่ปุ่นว่าใส่ร้ายป้ายสีเขา

ถึงแม้ต้องเผชิญกับความยากลำบากต่างๆ เหล่านี้ แต่อูเอมูระก็ไม่ได้สูญเสียความภาคภูมิใจในผลงานของเขา

“ถ้าหากผมสามารถย้อนเวลากลับไปได้ ผมก็จะยังคงทำแบบเดิม” เขากล่าว “ผมถูกโจมตีเพราะรายงานข่าว 2 ชิ้นนั้น แต่เวลาเดียวกันก็ยังมีผู้คนจำนวนมากมายที่คอยสนับสนุนผมเช่นกัน”

พวกนักประวัติศาสตร์ประมาณการว่า มีสตรีมากกว่า 200,000 คน ส่วนใหญ่ที่สุดเป็นชาวเกาหลี ซึ่งถูกบังคับให้ทำงานบำเรอกามแก่ทหารญี่ปุ่นตามซ่องที่จัดตั้งขึ้นในแนวหน้าในระหว่างสงคราม

เกาหลีใต้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นยอมรับว่า รัฐของญี่ปุ่นในเวลานั้นเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องทาสบำเรอกามนี้ ขณะที่ญี่ปุ่นยืนกรานว่าประเด็นปัญหานี้สองประเทศได้ทำความตกลงกันเสร็จสิ้นไปแล้ว ในตอนจัดทำสนธิสัญญาเพื่อการมีความสัมพันธ์ขั้นปกติระหว่างกันเมื่อปี 1965

เรื่องทาสบำเรอกามนี้ถือเป็นประเด็นปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนที่สุดประเด็นหนึ่งในสายสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ในขณะที่ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 70 ปีที่เกาหลีสามารถปลดแอกเป็นอิสรเสรีจากการถูกญี่ปุ่นปกครองแบบอาณานิคม ในช่วงระหว่างปี 1910 – 1945

(จากสำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้)
กำลังโหลดความคิดเห็น