xs
xsm
sm
md
lg

‘องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้’ที่นำโดย ‘รัสเซีย-จีน’พลิกโฉมเพิ่มน้ำหนักความเป็น‘เอเชีย’

เผยแพร่:   โดย: เซียร์เกย์ บลากอฟ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Shanghai Cooperation Organization turns Pan Asian
By Sergei Blagov
11/07/2015

องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ซึ่งประกอบด้วย รัสเซีย, จีน, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, ทาจิกิสถาน, และ อุซเบกิสถาน มีมติในการประชุมซัมมิตเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ให้รับ อินเดีย และ ปากีสถานเข้าเป็นสมาชิกใหม่ รวมทั้งยังกำลังเคลื่อนไหวไปในทิศทางซึ่งเพิ่มความเป็นเอเชียมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่าถึงแม้มีเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าองค์การนี้กำลังมีความทะเยอทะยานในระดับโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า SCO จะสามารถขยับขยายอิทธิพลบารมีในทางระหว่างประเทศของตน และมีวิวัฒนาการเข้าสู่รูปแบบใหม่ที่มีความเป็นเอเชียเข้มข้นยิ่งขึ้นได้หรือไม่

องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization ใช้อักษรย่อว่า SCO) ในที่สุดแล้วก็ได้กระทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้นมนามก่อนหน้านี้ ในการขยายเพิ่มจำนวนรัฐสมาชิก โดยองค์การนี้ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกรวม 6 ราย ได้แก่ รัสเซีย, จีน, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, ทาจิกิสถาน, และ อุซเบกิสถาน มีมติรับ 2 ชาติใหญ่ในเอเชียใต้เข้ามาร่วม อีกทั้งยังกำลังเคลื่อนตัวไปสู่การเกิดใหม่ในรูปลักษณ์ที่มีความเป็นเอเชียมากยิ่งขึ้นอย่างถนัดชัดเจน

องค์การนี้มีต้นกำเนิดมาจากการเจรจาหารือเรื่องชายแดนระดับทวิภาคีระหว่างจีนกับอดีตสหภาพโซเวียต แต่มาถึงตอนนี้ก็กลายเป็นการรวมกลุ่มในลักษณะพหุภาคีอย่างแท้จริงแล้ว ทั้งนี้ระหว่างการประชุมซัมมิตครั้งล่าสุดที่เมืองอูฟา (Ufa) ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการลงมติรับรองให้ อินเดีย และ ปากีสถาน เข้าสู่กระบวนการในการเป็นสมาชิกสมบูรณ์ของ SCO การที่องค์การนี้เชื้อเชิญรัฐสำคัญทั้ง 2 ในเอเชียใต้เข้ามาร่วมอย่างเต็มตัวคราวนี้ ยังสามารถมองได้ว่าเป็นความพยายามของ SCO ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งและเพิ่มอิทธิพลบารมีในทางระหว่างประเทศให้แก่การรวมกลุ่มของพวกตน

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ผู้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำของ SCO คราวนี้ กล่าวตั้งข้อสังเกตว่า การรับเอา อินเดีย และปากีสถาน เข้ามาอยู่ในองค์การนี้ จะมีส่วนช่วยเหลือ SCO ในการเผชิญกับการท้าทายและภัยคุกคามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เขาชี้ด้วยว่า ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อายุ 15 ปีขององค์การนี้ ที่ SCO ลงมติขยายองค์การของตนออกไป

ปูตินระบุด้วยว่า มีชาติต่างๆ จำนวนมากทั้งในเอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, และตะวันออกกลาง ซึ่งแสดงความสนใจปรารถนาจะได้รับฐานะเป็นชาติหุ้นส่วนในการหารือ (dialogue partner) ของ SCO หรือเป็นชาติผู้สังเกตการณ์ (observer) ของ SCO

ขณะเดียวกัน การประชุมซัมมิตคราวนี้ยังมีมติปรับฐานะของ เบลารุส ให้เพิ่มสูงขึ้นจากชาติหุ้นส่วนในการหารือ ขึ้นสู่การเป็นชาติผู้สังเกตการณ์ และให้รับ อาเซอร์ไบจัน, อาร์เมเนีย, กัมพูชา, และ เนปาล เป็นชาติหุ้นส่วนในการหารือของ SCO

ปูตินแถลงว่า ที่ประชุมยังมีมติรับรองพิมพ์เขียวการพัฒนาของ SCO ตั้งแต่ระยะปัจจุบันไปจนถึงปี 2025 โดยเรื่องซึ่งต้องถือเป็นความสำคัญลำดับต้นของพิมพ์เขียวดังกล่าว ได้แก่ เสถียรภาพในภูมิภาค และการแก้ไขความขัดแย้งในภูมิภาค

นอกจากนั้นซัมมิตคราวนี้ได้อภิปรายหารือกันเกี่ยวกับภัยคุกคามของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (Islamic State หรือ ไอเอส) ในอัฟกานิสถาน รวมทั้งลงมติรับรองพิมพ์เขียวอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งก็คือ โครงการความร่วมมือเพื่อการต่อต้านการก่อการร้ายและการแบ่งแยกดินแดนในช่วงปี 2016 – 2018 (Cooperation Program to Counter Terrorism and Separatism in 2016-2018) ประธานาธิบดีรัสเซียแถลง

สำหรับคำแถลงร่วมของบรรดาผู้นำ SCO เหล่านี้ มีการเรียกร้องให้ทำความตกลงกันเพื่อยุติวิกฤตการณ์ทางการเมืองทั้งในตะวันออกกลาง และในแอฟริกาเหนือ โดยปราศจาก “การแทรกแซงจากภายนอก”

การประชุมซัมมิต SCO ครั้งต่อไปนั้น กำหนดจัดขึ้นที่กรุงทาชเคนต์ เมืองหลวงของอุซเบกิสถาน ในปี 2016 และอุซเบกิสถานก็ได้รับตำแหน่งเป็นประธานใหม่ของ SCO ตามระบบการหมุนเวียนซึ่งตกลงกันไว้

อย่างไรก็ตาม SCO ดูเหมือนยังคงตัดสินใจกันไม่ได้เกี่ยวกับการรับอิหร่านเข้าเป็นสมาชิก เมื่อถูกถามตรงๆ เกี่ยวกับแผนการขยายชาติสมาชิกของ SCO จากนี้ไป ปูตินได้ให้คำตอบโดยระบุว่า อิหร่านได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมองค์การนี้ แต่เขากล่าวต่อไปว่า ควรจะให้กระบวนการเข้าเป็นสมาชิกของ อินเดีย และปากีสถาน เสร็จสิ้นไปก่อน จากนั้นจึงค่อยพิจารณารับรัฐสมาชิกรายใหม่ๆ

มอสโกนั้นได้เสนอความเห็นมายาวนานแล้วว่า การขยาย SCO ออกไปนั้น ควรคำนึงในแง่ที่ว่ามันจะทำให้ฐานะในทางระหว่างประเทศขององค์การนี้ มีความแข็งแกร่งมากขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ดี ในช่วงก่อนหน้าและระหว่างการประชุมซัมมิตคราวนี้ พวกเจ้าหน้าที่รัสเซียแสดงท่าทีระมัดระวังตัว พยายามหลีกเลี่ยงไมใช้ถ้อยคำโวหารที่จะทำให้เกิดการเผชิญหน้าขึ้นมา

วาเลนตินา มัตวิเยนโค (Valentina Matviyenko) ประธานของสภาสหพันธรัฐ (Federation Council) ซึ่งก็คือสภาสูงของรัฐสภารัสเซีย ได้ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมว่า SCO นั้นไม่ได้ตั้งเป้ามุ่งต่อต้านฝ่ายที่สามใดๆ ทั้งสิ้น เธอกล่าวด้วยว่า ตามกระบวนการแล้ว อินเดีย กับ ปากีสถาน มีกำหนดที่จะกลายเป็นสมาชิกสมบูรณ์ของ SCO ในปี 2016

เท่าที่ผ่านมา SCO ถูกจับตามองอย่างยาวนานว่าเป็นองค์การที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมบรรดาชาติเอเชียให้รวมตัวกันต่อต้านคัดค้านสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นลัทธิแผ่ขยายอำนาจของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม องค์การนี้เองกลับไม่ค่อยอยากให้ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่กำลังแปรเปลี่ยนไปเป็นการรวมกลุ่มทางด้านการทหาร เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ดมิตริ เมเซนเซฟ (Dmitry Mezentsev) เลขาธิการของ SCO ยังคงออกมายืนยันว่า SCO จะไม่มีการแปรเปลี่ยนกลายไปเป็นกลุ่มทางการทหาร

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แรกเริ่มเดิมที SCO มีต้นกำเนิดจากการเจรจาหารือทวิภาคีในเรื่องพรมแดนระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตในอดีต ครั้นเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายไป การเจรจาก็ยังคงดำเนินต่อไป แต่คราวนี้เป็นการหารือระหว่างจีนกับชาติผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 4 ฝ่าย ได้แก่ รัสเซีย, คาซัคสถาน, คีร์กิซสถาน, และ ทาจิกิสถาน ดังนั้น รัฐสมาชิกเหล่านี้จึงได้จับมือกันก่อตั้งเป็นกลุ่ม “เซี่ยงไฮ้ 5” (Shanghai Five) ขึ้นมาในปี 1996 สำหรับ SCO นั้นมีการก่อตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 มิถุนายน 2001 ในนครเซี่ยงไฮ้ และมี อุซเบกิสถาน เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกใน SCO ด้วยอีกประเทศหนึ่ง

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2004 SCO เริ่มต้นดำเนินงานในฐานะที่เป็นองค์การระหว่างประเทศซึ่งเติบโตเต็มที่ และนับจากปี 2004 เป็นต้นมา SCO ก็มีสำนักงานเลขาธิการ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง และมีกองกำลังต่อต้านการก่อการร้ายระดับภูมิภาค (Regional Anti-Terrorist Force) ตั้งกองบัญชาการอยู่ในกรุงบิชเคก เมืองหลวงของคีร์กีซสถาน

แทบจะตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งขึ้นมา SCO ก็จับตาหมายมุ่งที่จะขยายจำนวนรัฐสมาชิกมาโดยตลอด โดยที่อินเดียถูกระบุว่ามีศักยภาพที่จะเป็นผู้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การนี้มาเป็นเวลายาวนานกว่าสิบปีแล้ว และปูตินก็ได้กล่าวย้ำตั้งแต่เมื่อปี 2002 ว่า การเข้าร่วมของอินเดียสามารถยกระดับฐานะความสำคัญของ SCO

ภายในองค์การนี้เองก็ได้มีการตระเตรียมมานานในเรื่องการรับประเทศสมาชิกใหม่ๆ ในการประชุมซัมมิต SCO ที่กรุงทาชเคนต์ปี 2010 มีการลงมติรับรองระเบียบกฎเกณฑ์ว่าด้วยการรับรัฐสมาชิกใหม่ ตามระเบียบดังกล่าวนี้ สมาชิกใหม่ของ SCO จะต้องเป็นชาติยูเรเชีย, มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐสมาชิกปัจจุบันทุกๆ ราย, และมีฐานะเป็นชาติผู้สังเกตการณ์หรือชาติหุ้นส่วนในการหารือ อย่างไรก็ดี ระเบียบนี้ระบุด้วยว่า ประเทศที่ต้องการเป็นสมาชิก จะต้องไม่ถูกสหประชาชาติลงโทษคว่ำบาตร และต้องไม่เกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อปี 2011 พวกเจ้าหน้าที่รัสเซียหยิบยกเหตุผลขึ้นมาโต้แย้งว่า SCO ลังเลใจที่จะรับเอา อินเดีย และ ปากีสถาน เข้ามาเป็นสมาชิกสมบูรณ์ของตน เนื่องจากประเทศทั้งสองยังคงมีข้อพิพาทขัดแย้งกันเรื่องดินแดนอย่างต่อเนื่อง ทว่าในเวลาต่อมา มอสโกดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงจุดยืนของตนเองแล้ว ด้วยการแสดงท่าทีว่าสนใจที่จะให้สมาชิกภาพของ SCO แก่อินเดียและปากีสถาน ถึงแม้ประเทศทั้งสองจะยังมีความขัดแย้งกันก็ตามที

การที่มอสโกให้ความสนใจต่อ SCO เพิ่มขึ้นมากในระยะหลังๆ มานี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรซ์น่าประหลาดใจอะไร เมื่อพิจารณาจากสภาพภูมิหลังที่รัสเซียกำลังมีความบาดหมางรุนแรงอย่างต่อเนื่องกับโลกตะวันตกสืบเนื่องจากกรณียูเครน เวลานี้วังเครมลินดูเหมือนจะถือว่า SCO และกลุ่มบริกส์ (BRICS กลุ่ม 5 ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่รายใหญ่ของโลก ประกอบด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, และแอฟริกาใต้ ชื่อของกลุ่มมาจากการนำเอาอักษรตัวแรกในชื่อภาษาอังกฤษของประเทศเหล่านี้มาเรียงกัน –ผู้แปล) เป็นเครื่องมือสำคัญลำดับต้น ที่วังเครมลินจะนำมาใช้ต่อต้านสิ่งที่ตนเองมองว่า เป็นความพยายามของฝ่ายตะวันตกที่จะโดดเดี่ยวรัสเซีย และลดฐานะความสำคัญของรัสเซียลงไปเรื่อยๆ

การที่อินเดียและปากีสถานกำลังจะเข้ามาเป็นสมาชิกของ SCO ยังเท่ากับเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ดุลอำนาจในองค์การนี้ด้วย จากที่ก่อนหน้านี้ จีนคือผู้ที่มีฐานะครอบงำอยู่ใน SCO ทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านการเมือง นอกจากนั้น ความเป็นไปได้ที่จะมีสมาชิกใหม่ๆ เข้ามาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง ก็มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลง SCO ให้กลายเป็นองค์การของชาติเอเชียไปเลยในอนาคต

ในอดีตที่ผ่านมา พวกรัฐสมาชิกของ SCO เคยสนับสนุนอย่างแข็งขันให้ส่งเสริมเพิ่มพูนการค้าระหว่างกัน, เสนอสกุลเงินตราระหว่างประเทศสกุลใหม่, และจัดทำระบบพลังงานที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของภูมิภาคขึ้นมา นอกจากนั้น ยังมีเสียงเรียกร้องให้สร้างสกุลเงินตราของ SCO ซึ่งจะอิงกับมาตรฐานทองคำ อย่างไรก็ดี แผนการเหล่านี้ทั้งหลายทั้งปวงยังคงไม่ได้กลายเป็นความจริงขึ้นมา อีกทั้งมีความคืบหน้าอย่างเชื่องช้ายิ่ง

ด้วยเหตุนี้ การพบปะหารือของผู้นำสุดยอดของ SCO ครั้งล่าสุด ถึงแม้เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าองค์การนี้กำลังมีความทะเยอทะยานในระดับโลกเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังคงต้องคอยติดตามกันต่อไปว่าองค์การนี้จะสามารถขยับขยายอิทธิพลบารมีในทางระหว่างประเทศของตน และมีวิวัฒนาการเข้าสู่รูปแบบใหม่ที่มีความเป็นเอเชียเข้มข้นยิ่งขึ้นได้หรือไม่

เซียร์เกย์ บลากอฟ เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักวิจัยอิสระซึ่งตั้งฐานอยู่ที่กรุงมอสโก ในอดีตเป็นเวลายาวนาน 3 ทศวรรษทีเดียว เขาเคยทำข่าวเกี่ยวกับกิจการของเอเชียจากกรุงมอสโก, รัสเซีย ตลอดจนจากกรุงฮานอย, เวียดนาม และกรุงเวียงจันทน์, ลาว เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับเวียดนามเอาไว้หลายเล่ม และเป็นผู้มีส่วนในการจัดทำหนังสือคู่มือสำหรับผู้สื่อข่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น