xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’ไม่อยู่เฉยแน่ในการที่ ‘ชาวอุยกูร์อพยพ’ต่างถือ ‘พาสปอร์ตตุรกี’

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

‘Passports for Uyghurs’ story shadows Turkey’s relations with PRC
By Peter Lee
13/07/2015

ขณะที่การส่งชายชาวอุยกูร์กว่า 100 คนจากไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อให้เกิดเสียงเอะอะครึกโครม โดยที่มีเหตุการณ์อันน่าเกลียดเกิดขึ้นภายในตุรกี และสหรัฐฯกับอียูก็ออกมาประณามติเตียนอย่างเป็นทางการ ทว่าในรายงานข่าวต่างๆ ที่ปรากฏออกมาคราวนี้ กลับเผยให้เห็นร่องรอยของโครงการที่สถานทูตของตุรกีออกพาสปอร์ตให้แก่ผู้อพยพชาวอุยกูร์ และปรากฏว่าชาวอุยกูร์เหล่านี้อย่างน้อยก็บางคน เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ดังเช่นจำเลย 4 คนในคดีซึ่งอยู่ในการพิจารณาของศาลอินโดนีเซีย

การชิงชัยชักเย่อระหว่างตุรกี กับ สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน 1 ปี ในเรื่องอนาคตของผู้ต้องขังชาวอุยกูร์จำนวนหลายร้อยคนในประเทศไทย ที่สุดแล้วก็ได้รับการแก้ไขคลี่คลายในแบบอาศัยสติปัญญาอย่างสูง โดยที่ประเทศไทยจัดส่งชาวอุยกูร์ที่เป็นผู้หญิงและเด็กจำนวนกว่า 170 คนไปยังนครอิสตันบูล ของตุรกี เมื่อตอนต้นเดือนกรกฎาคมโดยที่แทบไม่มีการออกข่าวกะโตกกะตาก แล้วก็จัดการเนรเทศชาวอุยกูร์ที่เป็นชายจำนวนกว่า 100 คนไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนในอีกหลายวันถัดมา ซึ่งคราวนี้ปรากฏว่าก่อให้เกิดเสียงเอะอะครึกโครมกว่ากันมาก โดยที่มีเหตุการณ์อันน่าเกลียดบางเหตุการณ์ขึ้นภายในตุรกี และมีการประณามติเตียนอย่างเป็นทางการทว่าเป็นไปอย่างไร้น้ำยา (และผมสงสัยว่าน่าจะเป็นไปอย่างไม่ค่อยเต็มอกเต็มใจด้วย) ของสหรัฐฯ และของอียู

ในรายงานข่าวที่มีประเทศไทยเป็นตัวชูโรงนี้ ยังมีข่าวเคียงข่าวล้อมกรอบชิ้นหนึ่งซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเปิดเผยให้เห็นอย่างไม่ตั้งใจถึงแผนกโลบายอันไม่ชอบมาพากลทว่าจัดทำขึ้นอย่างสะเพร่าไร้ความเนียน ในเรื่องที่มีการออกพาสปอร์ตตุรกีให้แก่ชาวอุยกูร์

หลังจากที่มีรายงานข่าวเสนอสาธารณชน พาดพิงถึงเรื่องที่มีต่างประเทศบางประเทศซึ่งมิได้มีการระบุชื่อออกมา กำลังเป็นผู้จัดทำหนังสือเดินทางเพื่อเป็นเอกสารหลักฐานประจำตัวให้แก่ชาวอุยกูร์ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ (Public Security Bureau) ของจีน ก็ได้ออกมาสำทับทำการบรรยายสรุปต่อพวกนักหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ โดยรับรองว่า ประเทศที่มีพฤติการณ์ดังกล่าวก็คือตุรกี ถูกต้องแล้วครับอย่างที่หลายๆ ฝ่ายคาดเดานั่นแหละ

อันที่จริงกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดจนสื่อมวลชนอย่าง โกลบอลไทมส์ (Global Times เป็นหนังสือพิมพ์ในเครือของ เหรินหมินรึเป้า กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน -ผู้แปล) ได้หยิบยกประเด็นเรื่องพาสปอร์ตนี้ขึ้นมาป่าวร้องตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของปี 2015 นี้แล้วด้วยซ้ำ เบื้องต้นทีเดียว สาธารณรัฐประชาชนจีนเสนอเรื่องราวในลักษณะของการผูกเป็นนิยายที่ฟังดูแสนสุภาพไม่ได้มีการกล่าวหาประเทศใดตรงๆ โดยบอกเพียงว่ามีพวกรับจ้างอิสระซึ่งมุ่งหากำรี้กำไร กำลังขายพาสปอร์ตของตุรกีให้แก่ชาวอุยกูร์ จากนั้นก็กล่าวหารุนแรงขึ้นอีกขั้นด้วยการระบุว่า “สถานกงสุลและสถานเอกอัครราชทูตซึ่งไม่ได้มีการระบุชื่อ” กำลังประเคนหนังสือเดินทางนี้ให้แก่ชาวอุยกูร์ และมาถึงในเวลานี้ก็ขยับขึ้นสู่ขั้นไม่มีการพูดให้กำกวมกันอีกแล้ว โดยที่สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังชี้นิ้วกล่าวหารัฐบาลตุรกีกันตรงๆ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเรื่องนี้เอาไว้ดังนี้:
“สถานเอกอัครราชทูตของตุรกีหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมอบเอกสารหลักฐานประจำตัวให้แก่พวกเขา (ชาวอุยกูร์)” ต่ง ปี้ซาน (Tong Bishan) หัวหน้าแผนกในกรมสอบสวนคดีอาญา (Criminal Investigation Department) ของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน บรรยายสรุปให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งฟังในกรุงปักกิ่งเมื่อวันศุกร์ (10 ก.ค.)

“พวกเขาเป็นคนจีนชัดๆ แต่พวกเขาก็จะได้รับเอกสารประจำตัวซึ่งระบุว่าพวกเขาเป็นคนสัญชาติตุรกี”
...
ต่งบอกว่ามีชาวอุยกูร์จำนวนหลายร้อยคนได้รับเอกสารดังกล่าวจากพวกนักการทูตชาวตุรกี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักการทูตในกรุงกัวลาลัมเปอร์ จากนั้นคนเหล่านี้ก็ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไปยังตุรกี

ทั้งกระทรวงการต่างประเทศตุรกีในกรุงอังการา และสถานเอกอัครราชทูตตุรกีในกัวลาลัมเปอร์ ยังไม่สามารถที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ในทันที เมื่อรอยเตอร์ติดต่อสอบถามไป

แต่ข้อกล่าวหานี้น่าที่จะเพิ่มความโกรธแค้นให้แก่ตุรกี ซึ่งได้แสดงความไม่พอใจอยู่แล้วจากการส่งชาวอุยกูร์กว่า 100 คนจากไทยกลับไปยังจีนในสัปดาห์นี้
...
ทว่าเมื่อเดินทางไปถึงตุรกีแล้ว ชาวอุยกูร์ก็ไม่มีโอกาสใดๆ เลยที่จะหางานถูกกฎหมายทำได้ และลงท้ายบางคนก็ตกลงเข้าร่วมกับพวกกลุ่มหัวรุนแรง ต่งกลาวต่อ โดยระบุชื่อว่า อย่างเช่น “ขบวนการอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก” (East Turkestan Islamic Movement) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปักกิ่งกล่าวหาว่ากำลังรณรงค์ก่อความไม่สงบอยู่ในซินเจียง ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะสถาปนารัฐของพวกเขาเองขึ้นมา

“เป็นเรื่องง่ายดายเหลือเกินที่พวกเขาจะถูกควบคุมโดยกองกำลังท้องถิ่นบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขบวนการอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก ตลอดจนกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มอื่นๆ พวกเขาทำการจัดตั้งเยาวชน พวกเขาจัดการล้างสมองเยาวชนเหล่านี้ และนำพวกเขาไปยังแนวหน้าเพื่อให้ทำการสู้รบ พวกเขาต้องกลายเป็นเหยื่อเคราะห์ร้ายของสงคราม” ต่ง บอก

“มีการแข่งขันแย่งชิงตัวคนเหล่านี้ บางคนถูกส่งไปยังอิรัก บางคนถูกส่งไปยังซีเรีย กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ตามพื้นที่เหล่านี้ต่างก็ขาดแคลนกำลังคน พวกเขาต่างยินดีที่จะได้กำลังคนเข้ามา กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ พร้อมที่จะจ่ายเงินให้ อย่างน้อย 2,000 ดอลลาร์ต่อคน นี่เป็นวิถีทางในการระดมหากำลังทหารของพวกเขา”

(ดูรายละเอียดรายงานของรอยเตอร์ได้ที่http://news.yahoo.com/china-says-uighurs-being-sold-cannon-fodder-extremist-075947136.html)

ผมคิดว่ามิสเตอร์ต่งทราบดีทีเดียวว่าเขากำลังพูดถึงอะไร กรอบเค้าโครงคร่าวๆ ของเรื่องราวเหล่านี้ได้ปรากฏออกมาอย่างชัดเจนเป็นเวลาแรมเดือนแล้ว

เหลืออีกอย่างเดียวที่ยังคงมัวๆ อยู่ก็คือว่า ชายชาวอุยกูร์ทั้งหลายซึ่งลงท้ายเดินทางต่อไปยังซีเรียนั้น ต่างเป็นเพียงเหยื่อเคราะห์ร้ายของสงคราม ซึ่งถูกพวกนักรบญิฮัดระดมนำเอามาเป็นกำลังรับใช้ หรือว่าหน่วยงานความมั่นคงของตุรกีมีการจำแนกค้นหานักรบอุยกูร์หัวรุนแรงที่มีความสามารถพิเศษบางอย่าง จัดแจงจัดหาเอกสารต่างๆ ให้ แล้วพวกเขาก็สามารถที่จะเดินทาง, เข้ารับการฝึกอบรม, และผ่านประสบการณ์จากสนามรบในซีเรีย จากนั้นจะได้ทำหน้าที่อบรมบ่มเพาะทรัพย์สินที่เป็นมิตรกับตุรกีทั้งหลายในซีเรีย หรือเป็นไปได้ว่ากระทั่งในอัฟกานิสถานปากีสถาน/ตะวันออกกลางอีกด้วย เราอาจจะไม่มีทางสาวไปจนถึงสุดก้นบึ้งของเรื่องดังกล่าวนี้ได้เลย ยกเว้นแต่สาธารณรัฐประชาชนจีนตัดสินใจที่จะขยับหมุนเหวี่ยงเครื่องมือกลไกที่ใช้เป็นหลักฐานได้ ให้เห็นกันถนัดชัดเจนขึ้นอีกขยักหนึ่ง เพื่อเป็นเครื่องรับประกันว่าในที่สุดแล้วพวกนักหนังสือพิมพ์ตะวันตกทั้งหลาย จะสามารถมองเห็นประเด็นกันได้เสียที

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นไม่ได้มีความตั้งใจที่จะยอมแพ้ในประเด็นปัญหาเรื่อง “refoulement” (การบังคับให้ผู้ลี้ภัยกลับคืนประเทศบ้านเกิด ซึ่งทำให้ต้องเผชิญการถูกฟ้องร้องกล่าวโทษอีก), การถูกกล่าวหาว่าประพฤติผิดหลักมนุษยธรรม, หรือการต่อสู้กับจุดยืนอันตายตัวของสหรัฐฯ/อียูว่าด้วยการจัดการกับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ สาธารณรัฐประชาชนจีนยังกำลังทำอย่างดีที่สุดเพื่อลดทอนบรรเทาคลื่นความร้อนแรงทางการเมืองให้แก่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ อย่างเช่นมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งรับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์เอาไว้และอาจจะต้องการกำจัดพวกเขาให้ออกพ้นประเทศไป ดังที่รายงานข่าวของรอยเตอร์ชิ้นข้างต้นระบุเอาไว้ว่า:
เดอะเนชั่น (The Nation) หนังสือพิมพ์ที่ตั้งฐานอยู่ในกรุงเทพฯ รายงานเอาไว้เมื่อวันศุกร์ (10 ก.ค.) โดยอ้างเอกสารเผยแพร่ข่าวของกระทรวงการต่างประเทศไทย ซึ่งระบุว่า รัฐบาลจีนได้เชื้อเชิญเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยให้ไปเยือนจีน เพื่อติดตามสังเกตการณ์การปฏิบัติต่อผู้อพยพชาวอุยกูร์ซึ่งถูกส่งกลับประเทศ ในความพยายามที่จะขจัดข่าวลือต่างๆ ที่ว่าพวกเขาเหล่านี้ถูกลงโทษอย่างรุนแรงหรือกระทั่งถูกเข่นฆ่าสังหาร

สภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยจะพิจารณาเชื้อเชิญผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศต่างๆ เป็นต้นว่า คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross) ให้เดินทางไปยังจีนกับทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยด้วย

คำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศไทยระบุว่า ทางรัฐบาลจีนได้ยืนยันให้ความมั่นใจแก่รัฐบาลไทยว่า จะปฏิบัติต่อผู้คนเหล่านี้ด้วยความยุติธรรมและรับรองเรื่องความปลอดภัยของพวกเขา

ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่พบว่ามิได้กระทำความผิดอะไรก็จะได้รับการดูแลเอาใจใส่ และพวกเขาจะสามารถกลับคืนสู่สังคมได้ พวกเขายังจะได้รับการจัดสรรที่ดินทำการเกษตรด้วย รัฐบาลจีนระบุ


ผมแน่ใจว่าจะต้องมีเสียงหัวเราะเย้ยหยันเรื่องนี้ แต่สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นต้องการให้ชาวอุยกูร์เหล่านี้กลับไป โดยปราศจากความวาดหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือจากต่างแดน ไร้ความวาดหวังที่จะได้สถานที่หลบภัยในต่างแดน หรือมีต่างชาติมาคอยตามบีบคั้นด้วยข้ออ้างเรื่องมนุษยธรรม ผมคาดหมายว่ารัฐบาลส่วนกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีนจะจัดแจงประคบประหงมเอาอกเอาใจชาวอุยกูร์ผู้ถูกส่งตัวกลับเหล่านี้ (แทนที่พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายตามมาตรฐานเมื่ออยู่ในกำมือของพวกหน่วยงานความมั่นคงท้องถิ่นในซินเจียง) เพื่อเป็นการรอมชอมให้พวกชาติเพื่อนบ้านยินยอมกระทำตามข้อเรียกร้องของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ที่จริงแล้ว ยังมีกรณีอันยุ่งยากเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์อีกหลายๆ กรณีซึ่งยังต้องรอเวลาคลี่คลาย

กรณีหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในอินโดนีเซีย และดูเหมือนกับเป็นดินระเบิดไดนาไมต์บริสุทธิ์ที่ระเบิดตูมตามใส่หน้าของตุรกีทีเดียว

เมื่อวินิจฉัยจากรายงานต่างๆ เท่าที่ปรากฏออกมาในขณะนี้ ตุรกีนั้นถูกกล่าวหาว่าจัดหาพาสปอร์ตให้แก่ชาวอุยกูร์ซึ่งพัวพันเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงอย่างฉาวโฉ่อำมหิตในสถานีรถไฟเมืองคุนหมิง (ซึ่งมีประชาชนเสียชีวิตไป 33 คน และบาดเจ็บกว่า 100 คน) โดยที่กรณีซึ่งเกิดขึ้นในอินโดนีเซียนั้น ว่ากันว่าแทนที่ชาวอุยกูร์จำนวนหนึ่งจะบินไปยังตุรกีอย่างเซื่องๆ และยื่นแสดงพาสปอร์ตตุรกีอันสวยงามที่พวกเขาได้รับมา แล้วผ่านการดำเนินการตามกรรมวิธีเพื่อไปพำนักอาศัยในย่านสลัมของเคย์เซรี (Kayseri) อันเป็นเมืองเล็กๆ ในตุรกีที่ได้รับจัดสรรให้เป็นที่หลบภัยสำหรับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ แต่ปรากฏว่าพวกเขาดูเหมือนจะแอบเล็ดลอดผ่านมาเลเซียเข้าไปยังอินโดนีเซีย และพยายามที่จะติดต่อเข้าร่วมกับนักรบมุสลิมชื่อฉาวบนเกาะห่างไกลแห่งหนึ่ง ทั้งนี้ นักรบมุสลิมผู้นั้นมีรายงานว่าเป็นผู้นำขององค์กรซึ่งได้ประกาศตัวแสดงความจงรักภักดีต่อพวกไอเอส

ชาย 4 คน ซึ่งถือพาสปอร์ตตุรกีฉบับสมบูรณ์แบบไร้รอยตำหนิ อีกทั้งพยายามยืนกรานว่าพวกเขาเป็นประชาชนชาวตุรกี ถึงแม้พวกเขาไม่สามารถจดจำวันเดือนปีเกิดที่ระบุเอาไว้ในพาสปอร์ต ปัจจุบันกำลังถูกพิจารณาคดีอยู่ในศาลอินโดนีเซีย และไม่ใช่เลยครับ รัฐบาลอินโดนีเซียไม่ได้รู้สึกแฮปปี้ อีกทั้งประกาศเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า จะจัดส่งคนทั้ง 4 กลับไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นลงแล้ว

ขณะนี้สถานเอกอัครราชทูตตุรกีประจำจาการ์ตากำลังสาละวนวุ่นวายอยู่กับการหาทางหลบเลี่ยงไม่ตอบคำถามซึ่งเห็นชัดเจนอยู่ตรงหน้า นั่นคือ ตุรกีจะยังคงยืนยันหรือไม่ว่าบุคคลทั้ง 4 เป็นพลเมืองชาวตุรกี ถึงแม้ผมคาดหมายว่าทางสาธารณรัฐประชาชนจีนคงจะจัดเตรียมหาหลักฐานอันหนักแน่นชนิดหักล้างไม่ไหว ที่ยืนยันว่าพวกเขาเป็นพลเมืองชาวอุยกูร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นที่รู้จักมักคุ้นของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ หรือว่าจะเป็นการดีกว่าถ้าหากตุรกีจะยอมโยนผ้ายอมแพ้และยอมรับว่า ใช่แล้ว พวกเขาเป็นนักรบหัวรุนแรงชาวอุยกูร์ซึ่งได้รับพาสปอร์ตตุรกีจากสถานทูตตุรกีบางแห่ง แล้วก็เริ่มต้นวิ่งไปทั่วทั้งเอเชียเพื่อหาทางก่อการร้าย

โครงการอุยกูร์นี้เห็นชัดเจนว่ามีความสำคัญต่อตุรกีในทางการเมือง อีกทั้งมีศักยภาพที่จะใช้เป็นหมากทางภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียกลาง เป็นเรื่องที่ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาลตุรกีกำลังจะยินยอมปัดกวาดสะสาง พร้อมกับปฏิเสธเสียงแข็งไม่มีโครงการพาสปอร์ต แล้วปล่อยให้ชะตากรรมของชาวอุยกูร์เหล่านี้ขึ้นอยู่กับความเมตตาปรานีที่ไม่ค่อยจะมีของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือไม่

แต่ตุรกีนั้นกำลังเล่นอยู่กับไฟโดยแท้ ผมคาดหมายว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะไม่มีการผ่อนเพลาในการดำเนินการติดตาม อย่างน้อยที่สุดก็ให้ได้ตัวพวกชายชาวอุยกูร์ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในประเทศเอเชียต่างๆ เพื่อหาทางป้องกันขัดขวางเส้นทางไปสู่ตุรกีที่พวกเขาได้เคยใช้มา

ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ สามารถอ่านบทความของเขาได้ที่เว็บบล็อกของเขาชื่อ China Matters (http://chinamatters.blogspot.com/)
กำลังโหลดความคิดเห็น