เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - องค์กรเคลื่อนไหวด้านสันติภาพชื่อดัง ระบุ ในวันอังคาร (14 ก.ค.) ทั้ง โมฮัมหมัด จาวาด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน และจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มีสิทธิ์ถูกพิจารณาให้เป็นผู้ได้รับ “รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ” ในปี 2016 จากผลงานชิ้นโบแดงในการร่วมกันผลักดันข้อตกลงประวัติศาสตร์เรื่องโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านจนบรรลุผล
รายงานข่าวซึ่งอ้างทาริก ราอุฟ ผู้อำนวยการด้านการรณรงค์ปลดอาวุธและการไม่แพร่กระจายอาวุธแห่งสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute : SIPRI) ระบุว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่สถาบันของตน ตลอดจนองค์กรเคลื่อนไหวด้านสันติภาพทั่วโลกจะเสนอชื่อของซารีฟ และเคร์รี เข้าสู่กระบวนการพิจารณามอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของปี 2016 ในฐานะที่เป็น 2 กุญแจดอกสำคัญที่ช่วยกันปลดล็อกความขัดแย้งยาวนานระหว่างวอชิงตันและเตหะราน นำไปสู่การบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์
แหล่งข่าวทางการทูตในกรุงสตอกโฮล์มของสวีเดน เผยว่า ทาริก ราอุฟ ผู้นี้ถือเป็นหนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลในด้านการรณรงค์ปลดอาวุธนิวเคลียร์ในระดับโลก และก่อนจะเข้ารับหน้าที่ผู้อำนวยการด้านการรณรงค์ปลดอาวุธ และการไม่แพร่กระจายอาวุธให้แก่สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์มนั้น ราอุฟเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตรวจสอบและนโยบายความมั่นคงให้กับทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) มาก่อนในระหว่างปี 2002-2011
ทั้งนี้ การเจรจารอบสุดท้ายที่กรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรีย ที่นำไปสู่การบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ครั้งนี้ จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กับ โมฮัมหมัด จาวาด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ตลอดจนผู้แทนจากรัฐบาลอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหภาพยุโรป รัสเซีย และจีนใช้เวลาต่อรองกันอยู่นานเกือบ 3 สัปดาห์ ท่ามกลางการจับตามองของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพและนักต่อต้านนิวเคลียร์ทั่วโลก
ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้มีขึ้นภายหลังจากที่อิหร่านและมหาอำนาจทั้ง 6 ชาติ สามารถบรรลุความตกลงประวัติศาสตร์ทางด้านนิวเคลียร์กันได้เมื่อวันอังคาร (14 ก.ค.) ซึ่งถือเป็นการปิดฉากการเจรจาแบบมาราธอนที่ใช้เวลายาวนานกว่า 1 ทศวรรษ และว่ากันว่านี่อาจเป็นข้อตกลงซึ่งน่าจะพลิกโฉมการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งใหญ่
หลังการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาแถลงยกย่องว่านี่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญไปสู่ “โลกแห่งความหวังที่เพิ่มสูงขึ้น”
ขณะที่ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่าน แถลงว่า ความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ครั้งนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่าการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ได้ผลดียิ่ง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ประกาศว่าจะเดินหน้าทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางทำลายล้างข้อตกลงอัปยศฉบับนี้ซึ่งฝ่ายอิสราเอลมองว่าเป็น “การยอมจำนนครั้งประวัติศาสตร์” ให้กับชาติที่ชั่วร้ายอย่างอิหร่าน
สำหรับในสหรัฐฯนั้น ขั้นตอนต่อจากนี้ไป จะเป็นเรื่องของการนำข้อตกลงนี้เข้าสู่การพิจารณาในสภาคองเกรสส์ ซึ่งโอบามาประกาศว่า พร้อมใช้ “อำนาจวีโต้” ของเขา ลบล้างความพยายามใดก็ตามที่จะ มาสกัดกั้นขัดขวางการมีผลบังคับใช้ของข้อตกลงเรื่องโครงการนิวเคลียร์อิหร่านครั้งนี้ พร้อมกล่าวย้ำว่า ข้อตกลงนี้เป็นการเสนอโอกาสสำหรับการเคลื่อนไปในทิศทางใหม่ๆ ซึ่งสหรัฐอเมริกาควรคว้าเอาไว้
ภายใต้ข้อตกลงนี้ มาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่านทั้งของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่บังคับใช้มายาวนานจะถูกยกเลิก เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลเตหะรานยอมตกลงตัดทอนโครงการนิวเคลียร์ของตนซึ่งสหรัฐฯ และโลกตะวันตกสงสัยมาโดยตลอดว่า มีเป้าหมายในการสร้าง “ระเบิดนิวเคลียร์” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เตหะรานยืนกรานปฏิเสธ
นักวิเคราะห์มองว่า การบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะสำคัญทั้งสำหรับบารัค โอบามา และฮัสซัน รูฮานี และถือเป็นผลดีต่อการลดทอนความตึงเครียดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่มีมายาวนาน ถึงแม้ว่าผู้นำทั้ง 2 ต่างต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากบรรดานักการเมืองสายเหยี่ยวภายในประเทศของตนเอง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่นักการเมืองจำนวนมากยังคงมองอิหร่านเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่เป็น “แกนอักษะแห่งปีศาจ”
ทั้งนี้ สภาคองเกรสส์สหรัฐฯ มีเวลา 60 วันในการพิจารณาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านนี้ โดยหากสมาชิกลงมติโหวตคัดค้าน ประธานาธิบดีโอบามาก็สามารถใช้อำนาจยับยั้งการลงมติดังกล่าว ซึ่งหากทางฝ่ายคองเกรสส์ต้องการล้มล้างอำนาจวีโต้ของโอบามา ก็ต้องรวบรวมเสียงให้ได้ 2 ใน 3 และนั่นหมายความว่า สมาชิกพรรคเดโมแครตต้องแปรพักตร์มาร่วมคัดค้านข้อตกลงนี้ ซึ่งว่ากันว่าเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญยิ่งทางด้านนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลโอบามา
ด้านสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการอิหร่านรายงานว่า ผลของข้อตกลงนี้ จะทำให้อิหร่านได้รับเงินนับหมื่นล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัดไว้กลับคืนมา ขณะที่บรรดามาตรการคว่ำที่มีต่อธนาคารกลาง บริษัทน้ำมันแห่งชาติ บริษัทชิปปิ้ง และสายการบินของอิหร่าน จะถูกยกเลิก ถึงแม้มาตรการขององค์การสหประชาชาติ ในเรื่องการคว่ำบาตรห้ามซื้อขายอาวุธกับอิหร่าน จะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปอีก 5 ปี และห้ามอิหร่านจัดซื้อเทคโนโลยีด้านขีปนาวุธอีกนาน 8 ปี
ขณะเดียวกัน ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ซึ่งเป็นองค์กรชำนัญพิเศษในสังกัดยูเอ็น ประกาศว่า ได้ร่วมลงนามข้อตกลงกับรัฐบาลเตหะรานในการแก้ไขปัญหาที่ยังค้างคาต่อกัน และจะเปิดเผยรายงานการตรวจสอบภายในวันที่ 15 ธันวาคมปีนี้
ว่ากันว่าผลประโยชน์ที่อิหร่านจะได้รับจากข้อตกลงคราวนี้ อาจสร้างความกังวลต่อพวกชาติพันธมิตรอาหรับของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในกรณีของซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่ปกครองโดยมุสลิมนิกายสุหนี่ ที่เชื่อว่า อิหร่านซึ่งเปรียบเหมือนผู้นำของฝ่ายมุสลิมนิกายชีอะต์ ให้การสนับสนุนต่อศัตรูของตนทั้งในสมรภูมิที่ซีเรีย เยเมน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
อย่างไรก็ดี รัฐบาลอเมริกันมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิหร่านที่มีศัตรูร่วมกันคือกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่กำลังยึดครองพื้นที่กว้างขวางทั้งในอิรักและซีเรียอยู่ในเวลานี้ และถือเป็น “ภัยคุกคามใหญ่หลวง” ต่อสันติภาพของโลก
ในอีกด้านหนึ่ง การยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงจะส่งเสริมให้เศรษฐกิจอิหร่านเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถกลับเข้าสู่ “ตลาดน้ำมัน” ได้อีกครั้ง แม้ในความเป็นจริงแล้วกว่าที่น้ำมันจากอิหร่านจะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดโลก ได้อาจต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2016 ก็ตาม