รอยเตอร์ - บริษัท คิวชู อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค เริ่มนำแท่งเชื้อเพลิงยูเรเนียมบรรจุใส่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ตัวหนึ่งในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เซ็นไดวันนี้ (7 ก.ค.) นับเป็นก้าวแรกสำหรับการฟื้นฟูอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นที่ถูกปิดตัวมานานเกือบ 2 ปี หลังเกิดหายนะนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะเมื่อปี 2011
รัฐบาลนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ พยายามผลักดันให้ญี่ปุ่นเปิดใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์บางแห่ง โดยอ้างว่าพลังงานนิวเคลียร์เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ถึงกระนั้นผลสำรวจความคิดเห็นที่ทำมาเป็นระยะๆ กลับพบว่าชาวเมืองปลาดิบส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้พวกเขาจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าก็ตาม
คิวชู อิเล็กทริก เพาเวอร์ ซึ่งผูกขาดการผลิตไฟฟ้าบนเกาะคิวชู ระบุว่า การเปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 1 ที่โรงไฟฟ้าเซ็นไดจะช่วยลดรายจ่ายจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ราวๆ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน
ผู้บริหารโรงไฟฟ้าระบุว่า แท่งเชื้อเพลิงยูเรเนียมเริ่มถูกบรรจุลงในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 หลังเวลา 04.30 น. GMT วันนี้ (7) หรือราวๆ 11.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย
โทโมมิตสุ ซากาตะ โฆษกบริษัท คิวชู อิเล็กทริก เพาเวอร์ เผยกับรอยเตอร์ว่า แท่งเชื้อเพลิงจำนวน 157 แท่งจะถูกบรรจุลงในเตาปฏิกรณ์ขนาด 890 เมกะวัตต์เสร็จสิ้นภายในวันศุกร์นี้ (10) หลังจากนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่ทางการเข้ามาตรวจสอบความเรียบร้อย
คิวชู อิเล็กทริก ซึ่งมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมา 4 ปีซ้อน คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 ได้ราวๆ กลางเดือนสิงหาคม และหวังที่จะเปิดใช้เตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ได้ในช่วงกลางเดือนตุลาคม
ทั้งนี้ หากเตาปฏิกรณ์ทั้ง 2 ตัวสามารถกลับมาผลิตไฟฟ้าได้ตามเดิม บริษัทจะลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 15,000 ล้านเยนต่อเดือน เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากเท่าแต่ก่อน
ซากาตะ ระบุว่า เตาปฏิกรณ์ทั้ง 2 ตัวจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ราวๆ 1,300 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อเดือนเมื่อเดินเครื่องเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารโรงไฟฟ้ายังต้องเผชิญอุปสรรคอีกหลายด่าน เนื่องจากเครื่องจักรบางตัวที่ไม่ได้งานมานานถึง 4 ปีอาจชำรุดเสียหาย ส่วนการเปิดเตาปฏิกรณ์ตัวอื่นๆ ก็อาจเผชิญกระแสคัดค้านจากชุมชน สำนักงานตรวจสอบนิวเคลียร์ รวมไปถึงคำสั่งห้ามของศาล