เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - จากการคุกคามของจีนในเขตน่านน้ำทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ รวมไปถึงการปรับปรุงสมรรถนะกองทัพจีนให้ทันสมัยครั้งใหญ่ รวมไปถึงการประกาศแสนยานุภาพด้วยการมีเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิงกลับไม่ทำให้วอชิงตันหวาดหวั่นเท่าใดในความเห็นของ The Fisical Times เพราะในความจริงแล้วทางการทหาร “กองทัพจีนเป็นเพียงแค่เสือกระดาษ” เพราะจีนยังไม่เคยมีประสบการณ์การรบนอกประเทศมาก่อน ขาดผู้เชี่ยวชาญ และกลยุทธการรบ ยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย รวมไปถึงจีนยังคงที่จะใช้ตำราทหารแบบเดิมที่เน้นการปกป้องน่านน้ำและพรมแดนตนเองเป็นสำคัญ รวมไปถึงให้ความสำคัญกับการศึกทีใช้ยุทโธปกรณ์พิสัยใกล้เป็นหลัก แต่ทว่าการกลับมาเยี่ยมเยือนของกองทัพหมีขาวล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2015 ในเวียดนามจากการรายงานของ Global Research กลับทำให้ทางวอชิงตันต้องต่อสายถึงโฮจิมินห์ ห้ามไม่ให้การสนับสนุนเครื่องบินรบทิ้งระเบิดหมีขาวสามารถมาทำการบริเวณเขตน่านน้ำประเทศได้
หลังจากความตึงเครียดบริเวณเอเชียแปซิฟิกยังคงเพิ่มขึ้น ที่มีจีนเป็นอำนาจใหม่ขึ้นมามีบทบาททางทหารในภูมิภาคนี้ โดยล่าสุดพิวรีเสิร์ชรายงานว่า ชาวเวียดนามถึง 71% ต้องการเห็นการถ่วงดุลอำนาจทางทหารในเขตมหาสมุทรแปซิฟิกด้วยการปรากฏตัวของกองทัพสหรัฐฯ เพื่อดับความเหิมเกริมของจีนในการประกาศแสนยานุภาพ และอีกทั้งจีนยังคงรุดหน้าที่นอกจากเร่งปรับปรุงให้กองทัพจีนทันสมัยแล้ว และยังต้องการเปิดตัวเป็นผู้จัดจำหน่ายอาวุธทางการทหารเจ้าใหม่ของโลก แข่งกับสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และรัสเซียที่เดิมทำตลาดขายกองทัพประเทศต่างๆ ในขณะนี้
ทั้งนี้ สื่อ The Fisical Times รายงานว่า ในความเป็นจริงแล้ววอชิงตันไม่เกรงกลัวศักยภาพกองทัพจีนเท่าใดนัก เพราะตามภาษาทางทหารกองทัพจีนได้ชื่อแค่ว่า เป็นเพียงเสือกระดาษเท่านั้น ทั้งนี้ The Fisical Times ชี้ว่า
(1) กองทัพจีนนั้นมีกรเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก ที่อาจกล่าวได้ว่า เทียบชั้นได้กับกองทัพสหรัฐฯ หรืออาจสามารถเอาชนะสหรัฐฯในการรบได้
(2) แต่ทว่าในภาษาการทหารแล้ว กองทัพจีนจะกล่าวได้ว่าเป็นเพียงแค่เสือกระดาษเท่านั้น เพราะถึงแม้จะดูเหมือนว่ากองทัพจีนนั้นมีความแข็งแกร่ง แต่ทว่ายังปราศจากความสามารถในการเข้าแทรกแซงความขัดแย้งในส่วนต่างๆ ของโลกที่ห่างไกลจากเขตน่านน้ำจีน
โดยจากการรายงานประจำปีของเพนตากอนล่าสุดปี 2015 ต่ออิทธิพลกองทัพจีนว่า “เป้าหมายของจีน คือ การปกป้องให้จีนยังคงเป็นผู้นำทางอำนาจ และในท้ายที่สุดสามารถก้าวขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ในระดับภูมิภาคได้”
ทั้งนี้ The Fisical Times ระบุว่า จีนยังไม่ใช่เป็นผู้นำทางการทหารระดับโลก และในความเป็นจริงแล้วยังไม่ต้องการที่จะเป็นอีกด้วย และในทัศนะของ The Fisical Times เมื่อเทียบกันหมัดต่อหมัดระหว่างแสนยานุภาพของกองทัพจีนและกองทัพสหรัฐฯ และพบว่า กองทัพจีนยังห่างไกลจากกองทัพสหรัฐฯมากนักเมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการสู้รบตามภูมิภาคต่างๆของโลก
เพราะ (1) จีนขาดผู้เชี่ยวชาญการทหาร (2) ขาดตำรายุทธการรบสงครามแบบใหม่ รวมไปถึงยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยและก้าวหน้า (3) กองทัพจีนไม่มีประสบการณ์ในการรบ และ (4) การฝึกซ้อมรบของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนนั้นไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เป็นต้น
The Fisical Times วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า จีนให้ความสำคัญกับการปกป้องเขตเศรษฐกิจในทะเลจีนเท่านั้น รวมไปถึงการปกป้องพรมแดนของตนเอง ซึ่งจะเป็นการง่ายสำหรับกองทัพที่ยังไม่มีประสบการรบเช่น จีนจะทำเช่นนั้นได้ แต่เมื่อเทียบกับกองทัพสหรัฐฯ ที่มีศักยภาพส่งทหารไปทำสงครามสันติภาพทั่วโลก อย่างไรก็ตาม The Fisical Times ระบุว่า หากเมื่อพิจารณาถึงภายในขอบเขตน่านน้ำของจีนที่ดูแลอยู่ มีความเป็นไปได้ว่า จากยุทโธปกรณ์และกำลังพลทั้งหมดที่จีนมี อาจสามารถเอาชนะกองกำลังรบสหรัฐฯหากมีการปะทะในน่านน้ำของจีนได้ เป็นต้นว่า การปะทะในน่านฟ้าใกล้ไต้หวัน จีนอาจจะได้เปรียบมาก แต่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ว่าฐานทัพอากาศสหรัฐฯ คาเนดะในญี่ปุ่น และฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ในเกาะกวมเป็นสำคัญ จีนอาจสนุกกับการปะทะทางอากาศแบบ 3:1 edge หากสหรัฐฯ สามารถบินออกมาจากฐานคาเนดะ RAND Corporation สถาบันธิงแทงก์ในรัฐแคลิฟอร์เนียได้วิเคราะห์ไว้ในปี 2008
ดังนั้นจึงเป็นคำถามว่า วอชิงตันควรใส่ใจมากเพียงใดต่อศักยภาพการเติบโตของกองทัพจีนในเวลานี้
ทั้งนี้ กองทัพเรือจีนได้เคยประกาศว่า “เราจะโจมตีก็ต่อเมื่อถูกโจมตีก่อนเท่านั้น” เพราะจากควันหลงสงครามระหว่างจีนและมหาอำนาจอดีตสหภาพโซเวียต ทำให้จีนต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ไป โดยพยายามดึงการสู้รบให้ห่างจากแผ่นดินใหญ่ และให้ดำเนินการนอกฝั่งหรือในที่ห่างไกลแทน และในอีก 30 ปีให้หลังจีนยังคงดำเนินตามแนวทางเช่นนี้ โดยจะพบว่าเพิ่งไม่กี่ปีมานี้ที่จีนเริ่มกล้าประกาศครอบครองหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ห่างไกลในทะเลจีนใต้ และทะเลจีนตะวันออก
นอกจากนี้ ทางปักกิ่งได้ทุ่มเงินหลายแสนพันล้านดอลลาร์ในการปรับปรุงกองทัพจีนให้ทันสมัยนับตั้งแต่เศรษฐกิจจีนเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงระหว่างปลายยุค 90s ไปจนถึงยุค 2000s แต่กระนั้นทาง The Fisical Times พบว่าเมื่อพิจารณาถึงเหตุที่อาจต้องโจมตีไต้หวัน กองทัพจีนยังคงเลือกใช้ยุทโธปกรณ์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก แบบในระยะพิสัยใกล้เท่านั้น
และ The Fisical Times ยังวิเคราะห์ต่อว่า การที่ปักกิ่งให้ความสำคัญกับการต่อสู้ในระยะใกล้เพราะปักกิ่งเชื่อว่า หากมีการสู้รบเกิดขึ้นที่ห่างไกลจากชายฝั่งจีนมาก ประสิทธิภาพในการสู้รบของกองทัพจีนจะลดลง และเป็นที่น่าเสียดายว่า การที่จีนมีพันธมิตรใกล้ชิดไม่กี่ประเทศ นั่นหมายความว่าจีนไม่มีฐานทัพเคลื่อนที่นอกประเทศที่จะคอยสนับสนุนการรบ ซึ่งต่างจากกองทัพสหรัฐฯที่มีกองกำลังย่อยต่างๆ กระจายอยู่ทั่วโลกหลายร้อยแห่งคอยสนับสนุนหากเกิดการปะทะขึ้น
และที่มากไปกว่านี้ กองกำลังจีนยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะสามารถข้ามมหาสมุทรไปประจันหน้ากับกองทัพสหรัฐฯถึงถิ่นได้ เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่ส่งกำลังทั้งทางเรือและทางอากาศเดินตรวจการณ์ห่างจากฝั่งและน่านฟ้าจีนไปไม่กี่ร้อยไมล์อย่างสม่ำเสมอ และขึ้นอยู่กับการที่วอชิงตันตัดสินใจที่จะไม่ใช้กำลังทหารนำในทุกภูมิภาคของโลก
ทั้งนี้ ต่างอย่างโดยสิ้นเชิงจากการที่ทางวอชิงตันให้ความสำคัญกับทุกย่างก้าวของกองทัพรัสเซีย โดย Global Research รายงานว่า การปรากฏตัวของ Tu-95MS Bear เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลของหมีขาวในเวียดนามทำให้วอชิงตันถึงกับนั่งไม่ติด
มีรายงานว่าวันที่ 11 มีนาคม 2015 วอชิงตันส่งจดหมายไปยังโฮจิมินห์ ร้องขอไม่ให้เวียดนามให้การสนับสนุนรัสเซียในการลาดตะเวนแถบเอเชียแปซิฟิก ซึ่งกระทั่งนับตั้งแต่นั้น เวียดนามเลือกที่จะอยู่เฉยไม่ตอบใดๆ กลับไปทางวอชิงตัน จากการเปิดเผยของ Phuong Nguyen แห่งศูนย์การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ (Center for Strategic & International Studies) ที่มีฐานในวอชิงตัน
โดย The Diplomat รายงานถึงการมาเยือนของ Tu-95MS Bear ว่า ทางฝ่ายสหรัฐฯคิดว่า การบินลาดตระเวน และการมาเยือนของเครื่องบินลำนี้เป็นเสมือนการส่งสัญญาณยั่วยุของรัสเซียในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และหากการปรากฏตัวบ่อยครั้งมากขึ้น จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันในภูมิภาคนี้ โดย พล.อ.วินเซนต์ บรูกส์ (General Vincent Brooks) ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ให้ความเห็นว่า “รัสเซียทำตัวเสมือนผู้ที่ก่อกวนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และผลประโยชน์ของพันธมิตรสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการบินเช่นนั้นเป็นเหมือนการยั่วยุ”
การบินตรวจการของ Tu-95MS Bear ในเส้นทางเฉียดฐานทัพสหรัฐฯ บนเกาะกวม และเติมน้ำมันที่ Cam Ranh เป็นการสั่งการโดยปูตินเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ และชาติตะวันตกที่โดดเดี่ยวรัสเซีย และทำการลงโทษโดยการคว่ำบาตรหลังจากที่รัสเซียได้ผนวกไครเมียสำเร็จ และการสนับสนุนทางการทหารของมอสโกในยูเครนตะวันออก
ในขณะที่เครมลินแถลงยอมรับว่า การที่ใช้ฐานทัพในเวียดนามเป็นที่สำหรับเติมน้ำมันของ Tu-95MS Bear จากคาราวานเรือบรรทุกน้ำมัน Il-78 เกิดขึ้นครั้งแรกในมกราคม 2015
ทั้งนี้ การหวนกลับมาอีกครั้งของกองทัพรัสเซียในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสร้างความกังวลให้กับวอชิงตันอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่ทางรัสเซียได้สั่งปิดฐานทัพใหญ่ Cam Ranh นอกประเทศในแถบนี้ของตนเองไปกว่า 20 ปี และทางอเมริกาวิเคราะห์ว่า สมรรถภาพกองทัพรัสเซียถดถอยลงนับตั้งแต่การล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต
แต่กระนั้นดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามซึ่งเป็นประเทศยุทธศาสตร์ทางทหารที่สำคัญที่สุดสำหรับรัสเซียในภูมิภาคนี้ที่เคยชาเย็นลงนับตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็น กลับมาหวานฉ่ำอีกครั้งหลังพบว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลของประธานาธิบดีรัสเซียวลาดิมีร์ ปูติน ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่อ่าว Cam Ranh
และถึงแม้ในช่วงหลังๆ ทางวอชิงตันสามารถชนะใจโฮจิมินห์และประชาชนขาวเวียดนามมากขึ้น แต่ Global Research ชี้ว่า รัสเซียยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่เวียดนามเลือกที่จะใกล้ชิดมากกว่า โดยจากการลงนามสนธิสัญญาความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างเวียดนามและรัสเซียในเดือนพฤศจิกายน 2014 กองเรือรบรัสเซียเดินทางไปถึงยังท่าเรือน้ำลึก Cam Ranh โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่เวียดนามล่วงหน้าก่อนเดินทางไปถึงเท่านั้น และอีกทั้งท่าเรือน้ำลึกแห่งนี้ยังจำกัดให้เรือรบต่างชาติสามารถเดินทางไปเยือนท่าเรือน้ำลึกของเวียดนามแห่งนี้ได้เพียงปีละ 1 ลำเท่านั้น ซึ่งต่างจากที่เวียดนามปฏิบัติกับรัสเซีย
Global Research รายงานเพิ่มเติมว่า เวียดนามถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ในด้านภูมิศาสตร์การเมืองของรัสเซียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฐานทัพ Cam Ranh ของรัสเซียในเวียดนามช่วงสงครามเย็นมีความสำคัญต่อกองทัพรัสเซียในการส่งอาวุธ เครื่องสนับสนุน และการเติมน้ำมันนอกยุโรป อีกทั้งยังช่วยให้รัสเซียสามารถเดินทางเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิกโดยไม่ต้องผ่านไปทางช่องแคบทะเลญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า สหรัฐฯ ตั้งฐานทัพทีญี่ปุ่น และยังสามารถตัดตรงเข้าสู่ทะเลจีนได้อย่างสะดวก
แต่อย่างไรก็ตาม Global Research ระบุว่า การปรากฏตัวอีกครั้งของกองกำลังรัสเซียในย่านเอเชียแปซิฟิกในสมัยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน “ยังน้อยมาก” เมื่อเทียบกับในสมัยอดีตสหภาพโซเวียตในยุค 80 ที่มีเรือรบถึง 826 ลำ รวมถึงเรือดำน้ำ 133 ลำ เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบระยะไกล 190 ลำและเครื่องบินรบต่อต้านเรือดำน้ำอีก 150 ลำ โดยผู้เชี่ยวชาญประจำวิทยาลัยสงครามทางทะเลของสหรัฐฯ เผยว่า “เป็นการแสดงความรอบคอบแต่ไม่ต้องการปะทะของรัสเซีย”
และจากการรายงานของ CNS News ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2015 พบว่า รัสเซียได้หาทางเจราจาความร่วมมือทางการทหารกับ 8 ประเทศ คือ คิวบา เวเนซุเอลา นิการากัว แอลจีเรีย ไซปรัส เซเชลเลส (Seychelles ) เวียดนาม และสิงคโปร์ เพื่อตั้งฐานทัพสำหรับการเติมเชื้อเพลิงให้กับกองกำลังรัสเซีย รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียให้สัมภาษณ์ผ่านการรายงานของสื่อรัสเซีย ทาซในขณะนั้น
และเป็นเพราะการมาปรากฏตัวของกองกำลังรัสเซียในเวียดนามไปจนถึงอเมริกาใต้ตามแนวยุทธศาสตร์ของปูติน ทำให้บลูมเบิร์กในเดือนมีนาคม 2015 ชี้ว่า เป็นการเสมือนทำให้สหรัฐฯ และรัสเซียหวนกลับคืนสู่บรรยากาศสงครามเย็นอีกครั้ง