xs
xsm
sm
md
lg

จับตา ! บทบาทเครื่องบินขับไล่เจ-11 ในทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เผยแพร่ภาพเครื่องบินขับไล่เจ-11 ของจีน ขณะบินเฉียดเครื่องบินลาดตระเวน พี- 8 โพไซดอนของกองทัพเรือสหรัฐฯ  ห่างจากเกาะไห่หนานราว 215 กิโลเมตรเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2557 – รอยเตอร์
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ -จีนอาจส่งเครื่องบินขับไล่ เจ - 11 ประจำการณ์บนหมู่เกาะสแปรตลีย์ ในทะเลจีนใต้ ในทันทีที่การก่อสร้างรันเวย์หลายแห่งบนหมู่เกาะแล้วเสร็จ

ท่ามกลางสถานการณ์ข้อพิพาทกรรมสิทธิ์หมู่เกาะดังกล่าวระหว่างจีนกับบางชาติอาเซียน และไต้หวัน ที่กำลังเขม็งเกลียว นักวิเคราะห์การทหารกำลังจับตามองบทบาทของเครื่องบินขับไล่ เจ-11 ซึ่งชั้นเชิงความสามารถลดน้อยลงในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่จีนเริ่มสร้างเครื่องบินซู-27 ( Su-27) ซึ่งออกแบบโดยสหภาพโซเวียต แต่เจ-11 ก็ยังนับเป็นสมบัติสำคัญของกองทัพอากาศแดนมังกร

นายหวงเจ้า อดีตนักบินของกองทัพอากาศจีน วัย 80 ปี ระบุว่า เจ-11 เป็นเครื่องบินโจมตีระยะไกล จึงอาจถูกส่งไปประจำการณ์ในทะเลจีนก็เป็นได้

“ ทุกครั้งเมื่อเห็นเจ-11 เหินเวหา ทำให้ผมหวนนึกถึงการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ ที่จะสร้างมันขึ้นเมื่อ 25 ปีก่อน และการตัดสินใจพัฒนากำลังทางอากาศของกองทัพปลดแอกประชาชนอย่างรวดเร็ว” เขากล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางของจีนอนุมัติข้อเสนอซื้อเครื่องบินซู-27 จำนวน 24 ลำเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2533 เครื่องบินซู-27 สร้างโดยสหภาพโซเวียต และมีความทันสมัยมากที่สุดในเวลานั้น

นายแอนโทนี หวังตง ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารในมาเก๊าอธิบายว่า จีนจำต้องหันมาทบทวนแสนยานุภาพทางอากาศ ภายหลังเกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่สหรัฐฯ สั่งห้ามการขายอาวุธแก่จีน เพื่อลงโทษกรณีการบดขยี้ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยจตุรัสเทียนอันเหมิน การเผด็จสงครามอ่าวเปอร์เชียครั้งแรกชนิดสายฟ้าแลบของเมกา ด้วยกำลังทางอากาศที่เหนือกว่าอิรัก และการที่สหรัฐฯ ตัดสินใจขายฝูงเครื่องบินเอฟ-15 จำนวน 150 ลำให้แก่ไต้หวัน โดยเอฟ-15 เป็นเครื่องบินรุ่นล่าสุดของสหรัฐฯ และเทคโนโลยีล้ำหน้าเครื่องบินเจ-8 ที่ 2 (J-8 II) ของกองทัพปลดแอกประชาชนหลายขุม

การสั่งซื้อเครื่องบินซู-27 เกิดขึ้นในยามที่สหภาพโซเวียตกำลังประสบภาวะขาดแคลน ทำให้จีนจ่ายค่าเครื่องบินในรูปของอาหารและสินค้าในอุตสาหกรรมเบาถึงร้อยละ 70 โดยข้อตกลงฉบับนี้ยังรวมถึงการซื้อใบอนุญาตมูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับสายการผลิต ซึ่งจะทำให้จีนสามารถเปลี่ยนแปลงเครื่องบินรุ่นนี้ในแบบต่าง ๆได้อีกด้วย โดยการส่งมอบเครื่องบินและสายการผลิตเริ่มขึ้นในเดือนก.พ. 2534 และเสร็จสิ้นในเดือนก.ย. 2552

การครอบครองซู-27 เจ-11 และเจ-11 บี ซึ่งสร้างดัดแปลงโดยบริษัทเครื่องบินเสิ่นหยาง ในปัจจุบันทำให้กองทัพอากาศจีนแข็งแกร่งและมีความยืดหยุ่นพร้อมรับสถานการณ์ ซึ่งโลกได้ประจักษ์จากเหตุการณ์เมื่อไม่นาน ที่สหรัฐฯ ส่ง พี-8 เอ โพไซดอน เครื่องบินลาดตระเวนที่มีความทันสมัยที่สุดของกองทัพสหรัฐฯ บินเหนือทะเลจีนใต้ แต่ถูกเครื่องบินเจ-11 เข้าสกัดห่างกันแค่ 10 เมตร ขณะอยู่ห่างจากเกาะไห่หนาน ไปทางทิศตะวันออกราว 220 กิโลเมตร เจ-11 ยังบินเฉียดจมูก “สมุทรเทพ” โพไซดอน พร้อมกับกระหน่ำบินวนในระยะประชิดอย่างไม่สะทกสะท้าน
เครื่องบินลาดตระเวน พี- 8 โพไซดอนบันทึกภาพเรือขุดของจีนรอบเกาะมิสชีฟ รีฟ ( Mischief Reef) ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ –รอยเตอร์
โครงการก่อสร้างบุกเบิกเกาะ 7 แห่งในหมู่เกาะสแปรตลีย์จะแล้วเสร็จในอีกไม่นาน แม้รัฐบาลปักกิ่งยืนยันเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า สิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ใช้ในด้านพลเรือน และจะอนุญาตให้ชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคเข้ามาใช้ด้วย แต่ก็ไม่อาจสยบข้อสงสัยที่ว่า แท้ที่จริงมันคือการสร้างฐานทัพบนเส้นทางขนส่งทางทะเล ที่จอแจที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยสิ่งก่อสร้างใหม่นี้รวมทั้งลานบิน 2 แห่ง ซึ่งมีขนาดยาว 3 กิโลเมตร และเจ-11 สามารถลงจอดได้อย่างสบาย ๆ

เจ-11 ทำการบินได้ในระยะ 1,500 กิโลเมตร แต่ถ้าติดตั้งถังน้ำมันเพิ่ม มันจะทะยานได้ไกลขึ้นอีก และเมื่อมาประจำการณ์บนหมู่เกาะสแปรตลีย์ย่อมหมายถึงแสนยานุภาพทางอากาศ ของจีน ที่แผ่ขยายออกไปอีกราว 1,000 กิโลเมตรจากฐานทัพ ที่มีอยู่ทางใต้สุดในเมืองซันย่า บนกาะไห่หนาน ในเวลานี้

เมื่อผนึกกำลังกับเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิงก็เท่ากับติดปีกให้พญามังกรขยับอำนาจทางทะเลจากแค่การป้องกันนอกชายฝั่ง มาเป็นการป้องกันในทะเลเปิด

อย่างไรก็ตาม นายเดวิด จู ผู้เชี่ยวชาญการทหารของมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็นมองว่า เจ-11 มีพิษสงแค่พิทักษ์เกาะ 7 แห่งนี้เท่านั้น แต่ยังไม่ลึกล้ำพอ ที่จะใช้ในการโจมตี

“จีนตระหนักดีว่า คู่ปรับสำคัญของจีนก็คือสหรัฐฯ ซึ่งจะเข้ามายุ่งกับข้อพิพาทดินแดนทันที หากกองทัพจีนเริ่มใช้มาตรการบีบบังคับ หรือใช้กำลังแก้ปัญหา” นายจูกล่าว

“เจ-15 เครื่องบินซึ่งประจำการณ์บนเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนอาจทันสมัยพอฟัดพอเหวี่ยงกับเอฟ-18 ของสหรัฐฯ แต่เครื่องบินชับไล่หลักของจีนก็คือเจ-11 และเครื่องบินรุ่นที่ดัดแปลง ซึ่งยังไม่อาจต่อกรกับเอฟ-22 และเอฟ-35 ของสหรัฐฯ ได้เลย” เขาเปรียบเทียบขุมกำลังของสองมหาอำนาจให้ฟังในตอนท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น