เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - “อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต” สื่อดังด้านการวิเคราะห์เศรษฐกิจซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงลอนดอนในสหราชอาณาจักรคาดการณ์ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะใช้เวลาอีกเพียง 11 ปีเท่านั้นจึงจะสามารถก้าวแซงหน้าอเมริกาขึ้นเป็นดินแดนที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกได้ และจากนั้นภายในปี ค.ศ. 2050 เศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเติบโตจนมีมูลค่าสูงลิ่วถึง “105 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ” หรือคิดเป็นยอดการเติบโตที่สูงกว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาถึง “1.5 เท่าตัว”
รายงานเชิงวิเคราะห์ฉบับล่าสุดของอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) ระบุว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนจะใช้เวลาอีกเพียง 11 ปีเท่านั้น จึงจะสามารถก้าวแซงหน้าอเมริกาขึ้นเป็นดินแดนที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกได้ในปี ค.ศ. 2026
แต่การก้าวขึ้นครองตำแหน่งดินแดนที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกของจีนเมื่อถึงปี 2026 นั้นจะถือเป็นเพียง “บันไดขั้นแรก” ของจีนในการก้าวขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างเต็มภาคภูมิ
โดยข้อมูลจากรายงานของอีไอยูล่าสุดชี้ว่า เศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตได้อย่างร้อนแรงต่อไป จนกระทั่งมีมูลค่าสูงถึง “105 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ” เมื่อถึงปี 2050 ขณะที่เมื่อถึงเวลานั้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะมีมูลค่าราว “71 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ” เท่ากับการตามหลังมูลค่าทางเศรษฐกิจของจีนถึง “1.5 เท่าตัว”
ขณะที่ “ยักษ์หลับ” อย่างอินเดียจะก้าวขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 3 ของโลกเมื่อถึงปี 2050 ด้วยมูลค่ารวมของเศรษฐกิจที่ระดับ “64 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ”
รายงานฉบับนี้ของอีไอยูคาดการณ์ว่า เมื่อถึงปี 2050 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียจะมีสัดส่วนคิดเป็น 53 เปอร์เซ็นต์ หรือ “เกินครึ่งหนึ่งของจีดีพีโลก” ถือเป็นการเพิ่มบทบาทขึ้นอย่างสำคัญของเศรษฐกิจเอเชียจากที่เอเชียเคยมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจคิดเป็น 26 เปอร์เซ็นต์ของโลกเมื่อปี 2000 และ 32 เปอร์เซ็นต์ของโลกเมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี บทวิเคราะห์ล่าสุดของสื่อดังจากอังกฤษชิ้นนี้เตือนว่า ถึงแม้เอเชียจะสามารถขยายบทบาทเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็น “ศูนย์กลางแห่งอำนาจใหม่” ในเวทีเศรษฐกิจโลก แต่หลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญยิ่งที่รอท้าทายอยู่เบื้องหน้า นั่นคือ ปัญหาการลดจำนวนลงอย่างสำคัญของ “ประชากรในวัยแรงงาน” และก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ”
ทั้งนี้ เป็นที่คาดกันว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสที่สุดจากการหดตัวของประชากรในวัยแรงงานเนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่แรงงานในแดนปลาดิบจะลดลงเหลือเพียง 47 ล้านคนเมื่อถึงปี 2050 จากระดับ 66 ล้านคนในปัจจุบัน ขณะที่จีนและเกาหลีใต้ก็จะต้องเผชิญกับปัญหาการหดตัวของประชากรวัยแรงงานราว 17-18 เปอร์เซ็นต์จากระดับปัจจุบัน