เอเจนซีส์ - การสอบสวนล่าสุดคดีบินชนเทือกเขาแอลป์ พบว่าแอนเดรียส ลูบิตซ์ (Andreas Lubitz) นักบินผู้ช่วยเยอรมันวิงส์ ที่จงใจล็อกประตูห้องนักบินก่อนนำคนบนเครื่องทั้งหมด 150 คนจบชีวิตในต้นปีที่ผ่านมา พบนักบินผู้ช่วยวัย 27 ปีมีประวัติการพบแพทย์จำนวนไม่ต่ำกว่า 40 คนในช่วงเวลา 5 ปี และภายในแค่ 1 เดือนก่อนเกิดเหตุสลด ลูบิตซ์ได้พบแพทย์ไปแล้วถึง 7 คน ส่วนอัยการฝรั่งเศสเพิ่มการสอบสวนครอบคลุมการฆาตกรรม
เดลีเมล สื่ออังกฤษรายงานวันนี้(12)ว่า ในการสอบสวนล่าสุดของเหตุเครื่องบินโลว์คอสต์สัญชาติเยอรมันบินชนเทือกเขาแอลป์ อัยการฝรั่งเศสได้เพิ่มประเด็นการสอบสวนรวมไปถึงเหตุฆาตกรรมอีกด้วย ในขณะที่แอนเดรียส ลูบิตซ์ (Andreas Lubitz) นักบินผู้ช่วยเยอรมันวิงส์วัย 27 ปีมีประวัติการเข้าพบแพทย์ไม่ต่ำกว่า 40 คนในช่วงเวลา 5 ปี และอีกทั้งแพทย์บางคนที่ลูบิตซ์พบนั้นให้ความเห็นว่า นักบินผู้ช่วยรายนี้ที่มีความกังวลสูงต่อความน่าจะเป็นที่จะพิการทางสายตานั้นมีความไม่มั่นคงทางจิต และไม่เห็นควรให้หนุ่มเยอรมันรายนี้ยังคงทำหน้าที่นักบินผู้ช่วยบนเครื่อง
แต่ทว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นไม่เปิดเผยข้อมูต่อบริษัทเยอรมันวิงส์เนื่องจากติดขัดข้อกฏหมายคุ้มครองความลับของคนไข้ในเยอรมัน บริซ โรแบ็ง (Brice Robin) อัยการเมืองมาร์กเซย์ ฝรั่งเศส แถลง
และโรแบ็งแถลงเพิ่มเติมว่า นับมาจนถึงวันนี้ อย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่า ลูบิตซ์จงใจบินพุ่งชนเทือกเขาแอลป์อย่างแน่นอนในวันที่ 24 มีนาคม 2015 เพื่อต้องการสังหารคนบนเครื่องจำนวน 150 คน รวมไปถึงตัวนักบินผู้ช่วยรายนี้ โดยอัยการฝรั่งเศสชี้ว่า ลูบิตซ์กลัวว่าเขาจะตาบอด และทำให้ดับความฝันของการเป็นกัปตันขับเครื่องบินต้องจบสิ้นไป จากหลักฐานที่ว่า ภายในแค่ 1 เดือนก่อนเกิดเหตุ ลูบิตซ์ขอเข้ารับการปรึกษากับแพทย์จำนวน 7 คน และมีถึง 3 คนเป็นนักจิตวิทยา แต่อย่างไรก็ตามแพทย์เยอรมันเหล่านั้นไม่กล้าเปิดเผยถึงอาการลูบิตซ์ต่อบริษัทเยอรมันวิงส์ได้ เพราะตามกฎหมายสิทธิในการเก็บรักษาความลับของผู้ป่วย อาจทำให้แพทย์ชาวเยอรมันเหล่านั้นอาจต้องถูกจำคุกหากแพร่งพรายความลับออกไป ยกเว้นแต่ในกรณีที่แพทย์มีหลักฐานอย่างแน่นหนาว่า อาจเกิดเหตุถึงแก่ชีวิตหากปกปิดข้อมูลทางการแพทย์ของคนไข้ไว้
และสื่ออังกฤษยังรายงานเพิ่มเติมว่า โรแบ็ง อัยการเมืองมาร์กเซย์ยังได้ขยับจากการสอบสวนเบื้องต้นมาเป็นคดีฆาตกรรม เพื่อจะทำให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบสามารถสั่งฟ้องต่อบุคคลหรือองค์กรที่มีส่วนในเรื่องนี้
ทางด้านญาติผู้เสียชีวิต มีหลายครอบครัวต่างรู้สึกไม่สบอารมณ์ที่ทางฝรั่งเศสดำเนินการล่าช้าในการคืนร่างผู้เสียชีวิตเนื่องจากปัญหาการติดขัดในเรื่องข้อผิดพลาดการสะกดชื่อและนามสกุลในใบมรณะบัตรผิดพลาดที่ออกโดยหน่วยงานท้องถิ่นฝรั่งเศส ซึ่งมีเขตหมู่บ้าน Prads-Haute-Bleone ใกล้กับจุดเครื่องบินตกขึ้นตรง และมาจนถึงทุกวันนี้มีเพียงร่างผู้เสียชีวิตชาวเยอรมันจำนวน 44 คนจากจำนวนคนทั้งหมด 150 คนเท่านั้นที่ถูกส่งกลับไปยังครอบครัวอันเป็นที่รักเพื่อสามารถดำเนินการฝังได้ต่อไป
เดลีเมลรายงานต่อว่า ปีเตอร์ คอร์ตาส (Peter Kortas) ทนายความเยอรมันตัวแทนญาติของเหยื่อ 34 รายเปิดเผยว่า ได้เริ่มต้นเจรจาต่อรองเรียกร้องค่าชดเชยกับบริษัทสายการบินโลว์คอสต์ เยอรมันวิงส์ ได้ราว 4-5 วันมาแล้ว