รอยเตอร์ - องค์การควบคุมการจราจรทางอากาศเยอรมนีในวันพุธ (15 เม.ย.) เรียกร้องอุตสาหกรรมการบินพัฒนาเทคโนโลยีที่เปิดทางให้เจ้าหน้าที่ภาคพื้นใช้มาตรการฉุกเฉินเข้าควบคุมเครื่องบินจากระยะไกล เพื่อช่วยป้องกันโศกนาฏกรรมซ้ำรอยนักบินผู้ช่วยเยอรมันวิงส์บังคับเครื่องบินโหม่งโลกเมื่อเดือนที่แล้ว
คณะสืบสวนเชื่อว่า นายอันเดรียส ลูบิตซ์ นักบินผู้ช่วยล็อกประตูไม่ให้กัปตันกลับมาเข้าในห้องควบคุม และตั้งใจบังคับเครื่องบินของสายการบินเยอรมันวิงส์พุ่งชนเทือกเขาแอลป์ของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา คร่าชีวิตยกลำ 150 ศพ
เคลาส์ เดเตอร์ เชือร์เล ประธานองค์การควบคุมการจราจรทางอากาศ Deutsche Flugsicherung แถลงต่อผู้สื่อข่าวในวันพุธ (15 เม.ย.) ว่า “เราจำเป็นต้องก้าวผ่านเทคโนโลยีของวันนี้” เขากล่าวพร้อมแนะนำว่าควรมีระบบให้ทางภาคพื้นใช้ในกรณีฉุกเฉินสำหรับเข้าควบคุมเครื่องบินโดยสารจากระยะไกลและพามันลงจอดอย่างปลอดภัย
“อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้บอกว่ามันเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด เพราะความจริงแล้ว กว่าจะมีเทคโนโลยีใดๆออกมา ก็คงต้องรอไปจนถึงทศวรรษหน้า” เขาให้ความเห็น
กระนั้นก็ดี ในส่วนของสมาคมนักบินแสดงความคลางแคลงใจต่อข้อเสนอดังกล่าว โดยทางสหภาพนักบินเยอรมนีอย่าง Vereinigung Cockpit เกรงว่าการควบคุมจากระยะไกลอาจเป็นการเปิดทางสำหรับนำไปใช้ในทางที่ผิด
“เราก็อยากถามเช่นกันว่า มาตรการอย่างนั้นจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงหรือไม่ เพราะความจริงคือนักบินและนักบินผู้ช่วยคือผู้ที่นั่งอยู่ในห้องควบคุม และพวกเขาเป็นแค่สองคนที่มีข้อมูลทุกอย่าง” โฆษกสหภาพแสดงความเห็น
ในส่วนของสมาคมนักบินบริติชแอร์ไลนส์ ก็เรียกร้องให้ระมัดระวังในเรื่องนี้เช่นกัน “เราจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อรับประกันว่ามันจะไม่สร้างความเสี่ยงด้านความปลอดภัยหรือก่อความกังวลใหม่ๆ ขึ้นมา อย่างเช่นช่องโหว่ในรูปแบบต่างๆ ของการควบคุมเครื่องบินโดยสารจากระยะไกล”
นับตั้งแต่เครื่องบินของเยอรมันวิงส์ประสบอุบัติเหตุ สายการบินต่างๆ ของยุโรปบังคับใช้กฎระเบียบที่กำหนดให้มีลูกเรือคนที่ 2 นั่งประจำอยู่ในห้องนักบินตลอดเวลา ขณะที่เยอรมนีจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจร่วมกับอุตสาหกรรมการบินเพื่อพิจารณาแก้ไขการทดสอบด้านการแพทย์และจิตวิทยาสำหรับนักบิน