รอยเตอร์/เอเอฟพี - พม่าเมื่อวันพฤหัสบดี (4 มิ.ย.) ระบุการกดขี่ข่มเหงชาวมุสลิมโรฮีนจาไม่ใช่ต้นตอของวิกฤตผู้อพยพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนึ่งวันหลังจากสหรัฐฯ เรียกร้องมอบสิทธิอย่างสมบูรณ์แก่ชนกลุ่มน้อยเพื่อช่วยยุติการไหลบ่าหลบหนีออกนอกประเทศ ชี้หากมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ก็น่าจะเป็นชาวพุทธที่ถูกกระทำมากกว่า
ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ บอกในช่วงต้นสัปดาห์ว่า พม่าจำเป็นต้องยุติเลือกปฏิบัติกับชาวโรฮีนจา หากต้องการประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ขณะที่วอชิงตันเพิ่มแรงกดดันต่อประเทศแห่งนี้ให้จัดการกับสิ่งที่เรียกว่าหนึ่งในรากเหง้าของปัญหาผู้อพยพที่ชาติต่างๆ ในภูมิภาคพยายามหาทางแก้ไข
พม่าไม่รับรองชาวโรฮีนจาราว 1.1 ล้านคนในฐานะพลเมือง ทำให้พวกเขาเป็นคนไร้สถานะ โดยเกือบ 140,000 คนต้องไร้ถิ่นฐานในเหตุปะทะนองเลือดกับชาวพุทธในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของประเทศเมื่อปี 2012
นายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศพม่า บอกกับเหล่าคณะผู้แทนทูตและองค์กรนานาชาติในย่างกุ้งว่า “มีความพยายามวาดภาพว่าการถูกเลือกปฏิบัติและกดขี่ข่มเหงคือต้นตอที่ทำให้ประชาชนหลบหนีจากรัฐยะไข่ แต่มันไม่เป็นความจริงเลย”
ทั้งนี้ เขาชี้ว่ากรณีมีชาวบังกลาเทศจำนวนมากอยู่บนเรือผู้อพยพซึ่งขึ้นฝั่งเมื่อเดือนพฤษภาคม เป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างดีว่าการไล่บ่าของมนษย์เรือนั้นเป็นปัญหาระดับภูมิภาคที่มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ “เหตุการณ์นี้แสดงให้ภูมิภาคเช่นเดียวกับประชาคมนานาชาติเห็นว่ามันไม่ใช่รากเหง้าของปัญหา”
เรือดังกล่าวที่ถูกอ้างถึงนั้นถูกกองทัพเรือพม่าเข้าสกัดเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งพม่าบอกในตอนนั้นว่าคนบนเรือ 200 จากทั้งหมด 208 คนเป็นผู้อพยพทางเศรษฐกิจจากบังกลาเทศ แต่จากการตรวจสอบของรอยเตอร์พบว่าบนเรือดังกล่าวมีราวโรฮีนจาอยู่ด้วยราว 150-200 คน โดยเรือลำนี้ถูกขบวนการค้ามนุษย์ทิ้งไว้กลางทะเล ก่อนถูกพบและลากขึ้นฝั่งโดยกองทัพเรือพม่า
ซอ เอ หม่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการรัฐยะไข่ กล่าวว่า หากมีเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรัฐยะไข่ตามที่มีการกล่าวหาจริง ฝ่ายที่ถูกกระทำนั้นก็น่าจะเป็นชาวพุทธยะไข่มากกว่า “ตอนนี้เรากำลังตกอยู่ในอันตรายจากการรุกล้ำของชาวบังกลาเทศเหล่านี้” ความเห็นที่ก่่อความขุ่นเคืองแก่เอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำพม่า แต่ทูตรายนี้ปฏิเสธให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว
นายฉ่วย มาน ประธานรัฐสภาพม่า เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ร้องขอองค์กรนานาชาติต่างๆหลีกเลี่ยงก่อความเข้าใจผิดต่อพม่า รวมถึงกระพือความตึงเครียดและความขัดแย้ง
การยื่นหนังสือดังกล่าวซึ่งลงวันที่ 3 มิถุนายนและเผยแพร่โดยสื่อมวลชนแห่งรัฐของพม่าเมื่อวันพฤหัสบดี (4 มิ.ย.) เกิดขึ้นหลังจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จัดการประชุมลับครั้งแรกเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในพม่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยทูตที่เข้าร่วมเปิดเผยว่านายซาอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ระบุว่าชาวโรฮีนจากำลังเผชิญการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ
พม่า อยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบถิ่นฐานของผู้อพยพ 733 คนที่กองทัพเรือนำขึ้นฝั่งเมื่อวันพุธ (3 มิ.ย.) หลังจากพบเรือของพวกเขาล่องลอยอยู่กลางทะเลอันดามันในวันศุกร์ที่แล้ว โดยเจ้าหน้าที่เผยว่าเบื้องต้นพบว่าเป็นพม่าแค่ 187 คนและอีก 546 คนเป็นชาวบังกลาเทศ