เอพี/เอเจนซีส์ - กรีซยื่นข้อเสนอประนีประนอมใหม่ล่าสุดเพื่อทำความตกลงกับเหล่าเจ้าหนี้ระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราส แถลงเปิดเผยในวันอังคาร (2 มิ.ย.) พร้อมกับแสดงความหวังว่าความเคลื่อนไหวคราวนี้ จะทำให้ได้รับเงินกู้ซึ่งจะช่วยให้เอเธนส์รอดพ้นจากการล้มละลาย อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเจ้าหนี้ตอบกลับมาอย่างรวดเร็วว่ายังไม่เพียงพอ และกรีซต้องทำอะไรเพิ่มขึ้นกว่านี้มาก
ซีปราสบอกว่า รัฐบาลของเขาได้ยินยอมประนีประนอมในระหว่างการเจรจากัน และเวลานี้ขึ้นอยู่กับพวกผู้นำของยุโรป ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายหลักของกรีซ ว่าจะยอมรับข้อตกลง หรือจะเสี่ยงให้เกิดผลสืบเนื่องที่อาจถึงขั้นสร้างความหายนะให้แก่ภูมิภาคนี้ขึ้นมา
ทั้งนี้ ถ้าหากไม่ได้รับเงินกู้ช่วยชีวิต กรีซก็อาจไม่สามารถชำระหนี้ของตนได้ในเดือนนี้ และลงท้ายอาจถึงกับต้องถอนตัวออกไปจากการใช้สกุลเงินยูโร อันเป็นจังหวะก้าวที่จะผลักดันยุโรปและระบบเศรษฐกิจของโลกให้เข้าสู่ภาวะซึ่งไม่เคยประสบและคาดเดาไม่ได้
“ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้ว การตัดสินใจว่าพวกเขาต้องการหรือไม่ที่จะยอมรับสภาพความเป็นจริงและก้าวออกไปจากวิกฤตโดยไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกของยุโรปนั้น … ขึ้นอยู่กับคณะผู้นำทางการเมืองของยุโรป” ซีปราสบอก
กรีซกับพวกเจ้าหนี้ระหว่างประเทศของตนตกอยู่ในสภาพคุมเชิงกันตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา ระหว่างการเจรจาต่อรองกันว่าประเทศนี้ควรที่จะต้องดำเนินการปฏิรูปอะไรบ้างและกระทำมากน้อยขนาดไหน โดยหากทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ พวกเจ้าหนี้ก็จะปลดล็อกปล่อยเงินกู้จำนวน 7,200 ล้านยูโร ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายของโครงการเงินกู้ช่วยไม่ให้กรีซล้มละลายฉบับปัจจุบัน
อันที่จริงโครงการดังกล่าวมีกำหนดจะสิ้นสุดตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้แล้ว ทว่าถูกยืดเวลาออกไปจนกระทั่งถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ แต่หากยังไม่มีข้อตกลงใดๆ ออกมาในตอนสิ้นสุดเดือนนี้ และโครงการให้กู้ช่วยไม่ให้ล้มละลายก็เป็นอันหมดอายุลงไป กรีซก็จะไม่สามารถร้องขอเงินกู้เช่นนี้ได้อีกต่อไป
ซีปราสกล่าวว่า ข้อเสนอประนีประนอมของรัฐบาลกรีซ ซึ่งเขามิได้แจกแจงรายละเอียด ได้ยื่นเสนอไปเมื่อคืนวันจันทร์ (1) ต่อคณะเจ้าหนี้ อันประกอบด้วย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ), คณะกรรมาธิการยุโรป ที่เป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)
ทั้งนี้ ในคืนเดียวกันนั้นเอง มาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี และ คริสทีน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ ได้เข้าไปร่วมการพบปะหารือฉุกเฉินที่นัดหมายกันเอาไว้ก่อนแล้วระหว่าง นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี, ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส และ ฌอง-โคลด จุงก์เคอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรีในกรุงเบอร์ลิน เพื่อพูดคุยกันในเรื่องของกรีซ
อย่างไรก็ตาม กระทั่งข้อเสนอล่าสุดของเอเธนส์นี้ ทางฝ่ายเจ้าหนี้ก็ยังเห็นว่าไม่เพียงพอ
“พวกเรายังไม่ได้ใกล้เคียงจุดที่ควรถือว่าไกลเพียงพอแล้วเลย” รัฐมนตรีคลังเนเธอร์แลนด์ เจอเริน ดิสเซลโบลม ซึ่งเป็นประธานของการประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซน ที่เรียกกันว่า “ยูโรกรุ๊ป” อีกทั้งเป็นผู้ที่รับทราบความคืบหน้าล่าสุดของการประชุมในกรุงเบอร์ลินเมื่อคืนวันจันทร์ กล่าวตอบอย่างรวดเร็วไม่นานนักภายหลังการแถลงของนายกรัฐมนตรีกรีซ
“เวลากำลังบีบเข้ามาทุกที” ดิสเซลโบลมบอกกับเครือข่ายทีวี อาร์ทีแอล ของดัตช์ “แต่ ... เราก็มีการพูดจาเรื่องนี้มาเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว ซึ่งจนถึงขณะนี้ กรีซยังคงสามารถชำระหนี้สินได้ ทว่าก็กำลังประสบความลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ”
กรีซมีกำหนดที่จะต้องจ่ายคืนหนี้เป็นจำนวนรวมประมาณ 1,600 ล้านยูโรให้แก่ไอเอ็มเอฟในเดือนนี้ โดยที่ก้อนแรกจะต้องจ่ายราวๆ 300 ล้านยูโรในวันศุกร์ (5) ที่จะถึงนี้
ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเอเธนส์สามารถหาเงินสดมาจ่ายในวันศุกร์ได้หรือไม่ ถึงแม้กรีซแถลงว่ามีเจตจำนงที่จะชำระตามกำหนดนัดหมาย
ดิสเซลโบลมกล่าวว่า เมื่อมาถึงตอนนี้คงแทบเป็นไปไม่ได้แล้วที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อปลดล็อกเงินกู้งวดสุดท้าย 7,200 ล้านยูโรได้ทันเวลาวันศุกร์นี้
“ในทางปฏิบัติต้องถือว่าไม่สามารถทำได้แล้ว” เขากล่าว พร้อมกับชี้ว่าข้อตกลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้น ยังจะต้องได้รับการอนุมัติจากพวกรัฐมนตรีคลังทั้งหลายของชาติยูโรโซน รวมทั้งกรีซเองก็จำเป็นต้องเริ่มปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการในข้อตกลงเสียก่อน จึงจะได้รับเงิน
กรีซสามารถเอาตัวรอดได้โดยไม่ได้รับเงินกู้ช่วยชีวิตงวดใหม่ๆ เลยตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่แล้ว ทว่าก็แถลงในระยะไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาว่าเงินสดของตนกำลังหมดเกลี้ยง และต้องพยายามหาเงินมาจ่ายหนี้ที่ถึงกำหนดชำระ ด้วยการดึงเอาเงินสำรองจากพวกรัฐวิสาหกิจต่างๆ ตลอดกระทั่งเงินสำรองของพวกสถานทูตในต่างประเทศ, โรงพยาบาล, และโรงเรียนต่างๆ ของรัฐ
มีผู้เสนอแนะว่ากรีซอาจจะประวิงเวลาด้วยการขอรวมจ่ายเงินกู้ทั้งหมดที่ต้องชำระให้แก่ไอเอ็มเอฟในเดือนนี้เป็นก้อนเดียวโดยจ่ายในวันที่ 30 มิถุนายน ทั้งนี้เป็นไปตามกฎข้อบังคับที่มีอยู่แล้วของไอเอ็มเอฟทว่าไม่ค่อยถูกนำมาใช้ แต่จวบจนถึงขณะนี้เอเธนส์ยังไม่ได้แสดงท่าทีเปิดเผยว่ากำลังพิจารณาทางเลือกนี้อยู่
พรรคไซรีซา ที่เป็นพรรคฝ่ายซ้ายแนวคิดรุนแรงของซีปราส ชนะเลือกตั้งอย่างงดงามในกรีซเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยให้สัญญาระหว่างการหาเสียงว่าจะยกเลิกมาตรการเข้มงวดงบประมาณรายจ่าย ซึ่งพวกเจ้าหนี้ระหว่างประเทศเรียกร้องเป็นเงื่อนไขในการปล่อยเงินกู้ช่วยไม่ให้ล้มละลาย ทว่าได้สร้างความลำบากเดือดร้อนและความโกรธแค้นให้แก่ชาวกรีซจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการเจรจาต่อรองช่วงหลายๆ เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลของซีปราสต้องยอมเสียคำมั่นสัญญาในเวลาหาเสียงไปจำนวนหนึ่งแล้ว
ซีปราสกล่าวในวันอังคารว่า ในข้อเสนอล่าสุด กรีซก็ได้ยอมอ่อนข้อให้หลายๆ ประการ แต่ดิสเซลโบลมตอบโต้ว่า สิ่งที่กำลังพูดจากันนี้ไม่ใช่เรื่องของการต่อรองแบบยื่นหมูยื่นแมว โดยในขณะที่สามารถเจรจากันได้ว่ากรีซควรจะดำเนินการปฏิรูปชนิดไหน แต่ผลกระทบสุทธิซึ่งมีต่อการเงินการคลังภาคสาธารณะ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถต่อรองได้