xs
xsm
sm
md
lg

สภายูเครนมีมติ “ยกเลิก” ข้อตกลงความมั่นคงกับ "รัสเซีย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และ ประธานาธิบดี เปโตร โปโรเชนโก แห่งยูเครน
เอเอฟพี – รัฐสภายูเครนมีมติวานนี้ (21 พ.ค.) ให้ข้อตกลงด้านความมั่นคง 5 ฉบับซึ่งอนุญาตให้กองทัพรัสเซียใช้เส้นทางผ่านยูเครนไปยังมอลโดวา โดยแลกกับการที่รัสเซียจะต้องสั่งซื้ออาวุธที่ผลิตในยูเครน กลายเป็น “โมฆะ”

ข้อตกลงชุดนี้ถูกระงับไว้ตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤตการณ์ในยูเครนตะวันออก ซึ่งเป็นการสู้รบระหว่างกองทัพยูเครนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในแคว้นโดเนตสก์และลูกานสก์ที่ตะวันตกเชื่อว่ามีรัสเซียคอยหนุนหลังอยู่

สงครามซึ่งยืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่ 13 ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 6,200 คน และบั่นทอนเศรษฐกิจของอดีตรัฐโซเวียตแห่งนี้อย่างหนัก

ทั้งนี้ ความร่วมมือในด้านกลาโหมกับรัสเซียจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ก็ต่อเมื่อสงครามแบ่งแยกดินแดนสิ้นสุด และยังต้องได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองยูเครนชาตินิยมและพรรคที่เอียงข้างยุโรปด้วย

ท่าทีของยูเครนยังแสดงให้เห็นว่า ข้อตกลงหยุดยิงกรุงมินสก์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ไม่ได้ก่อให้เกิดความไว้วางใจระหว่างเคียฟและมอสโกเลยแม้แต่น้อย

“ผมไม่เคยเห็นประเทศไหนยังยอมคบค้าสมาคมกับเพื่อนบ้านที่เข่นฆ่าพลเมืองของเขา” มุสตาฟา นัยเยม ส.ส.ยูเครนซึ่งมีจุดยืนผูกมิตรกับยุโรป เขียนไว้บนเฟซบุ๊ก

“และผมเพิ่งจะรู้เมื่อไม่นานนี้เองว่า เรายังมีข้อตกลงระหว่างประเทศกับรัสเซียในส่วนของความร่วมมือทางทหารและเทคโนโลยีด้วย”

กฎหมายความมั่นคง 5 ฉบับนี้ยังรวมถึงข้อตกลงทางยุทธศาสตร์ซึ่งอนุญาตให้กองกำลังรักษาสันติภาพรัสเซียใช้ยูเครนเป็นเส้นทางผ่านไปยังภูมิภาคทรานส์นีสเตรีย (Transdniester ) ของสาธารณรัฐมอลโดวา ซึ่งเคยเป็นดินแดนของสหภาพโซเวียตและพลเมืองส่วนใหญ่ยังพูดภาษารัสเซีย

เจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูงของยูเครนให้สัมภาษณ์ว่า การปิดเส้นทางเดินทัพผ่านยูเครนส่งผลให้มอสโกทำอะไรไม่ถูกไปพักใหญ่ แต่สุดท้ายก็หาเส้นทางอื่นที่จะส่งทหารเข้าไปยังภูมิภาคดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อาวุโสของรัสเซียกลับมีท่าทีกังวลต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น

“ไม่มีเส้นทางอื่นที่เราจะไปถึงทรานส์นีสเตรียได้นอกจากต้องผ่านยูเครน” เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอินเทอร์แฟกซ์

ข้อตกลงฉบับที่ 2 กำหนดให้รัสเซียและยูเครนปกป้องความลับซึ่งกันและกัน โดยทำขึ้นเมื่อประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ไปเยือนกรุงเคียฟในปี 2000

ฉบับที่ 3 ว่าด้วยการอนุญาตให้รัสเซียสามารถลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ทั่วๆ ไปผ่านดินแดนของยูเครน ส่วนฉบับที่ 4 เป็นข้อตกลงซื้อขายอาวุธระหว่างกัน ทั้งนี้ เนื่องจากยูเครนเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตอาวุธหลายแห่งที่เปิดดำเนินงานมาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต และถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงกองทัพแดนหมีขาว

ข้อตกลงฉบับสุดท้ายว่าด้วยการแบ่งปันข่าวกรองระหว่างยูเครนกับรัสเซีย

มึยคายโล พาชคอฟ นักวิเคราะห์ด้านการทหารอิสระ ชี้ว่า “โอกาสที่ยูเครนกับรัสเซียจะกลับมาร่วมมือกันในด้านความมั่นคงและเทคโนโลยีอย่างที่เคยเป็นมาเมื่อช่วง 2-3 ปีก่อน คงจะยากเต็มทีในระยะเวลาอันใกล้นี้”

“นโยบายต่างประเทศของรัสเซียไม่น่าจะเปลี่ยนแปลง ตราบใดที่ ปูติน ยังเป็นประธานาธิบดีอยู่”

ประธานาธิบดี เปโตร โปโรเชนโก แห่งยูเครน ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการปฏิรูปทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อนำยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปภายในปี 2020

กำลังโหลดความคิดเห็น