รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ของมาเลเซีย ระบุในวันนี้ (21 พ.ค.) ได้ออกคำสั่งให้กองทัพเรือดำเนินภารกิจค้นหาและช่วยเหลือผู้อพยพหลายพันคนที่ลอยเคว้งอยู่กลางทะเล ขณะที่นายกรัฐมนตรีของไทย ระบุว่า ประเทศไทยจะไม่ให้ที่พักพิง
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังรับมือกับวิกฤตผู้อพยพที่ได้เห็นผู้อพยพทางเรือหลายร้อยคน ซึ่งส่วนมากเป็นผู้อพยพชาวมุสลิมโรฮีนจาจากเมียนมาร์และชาวบังกลาเทศที่หลบหนีการข่มเหงรังแกและความยากแค้นภายในประเทศบ้านเกิดหรือถูกจับตัวมาโดนกลุ่มลักลอบค้ามนุษย์ ถูกผลักดันกลับสู่ทะเลโดยไทย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ในตอนนี้คนกลุ่มนี้จำนวนมากกำลังเผชิญกับความเจ็บไข้ได้ป่วยและภาวะอดอยาก
“ผมได้ออกคำสั่งเพิ่มเติมไปยัง @tldm_rasmi (กองทัพเรือ) และ APMM (หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางเรือของมาเลเซีย) ให้ดำเนินความพยายามค้นหาและกู้ภัยเรือชาวโรฮีนจาแล้ว” นาจิบ กล่าวในบัญทวิตเตอร์ของเขา
“เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิต” เขากล่าว และเสริมว่า ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะถูกส่งไปทางบกและทะเล
เมื่อวานนี้ (20) มาเลเซียและอินโดนีเซีย ระบุว่า พวกเขาจะปล่อยให้ผู้อพยพที่อยู่กลางทะเลมากถึง 7,000 คนในเวลานี้ขึ้นฝั่งเป็นการชั่วคราว แต่จะไม่รับไปมากกว่านี้
นับเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจาประสบทุกข์เข็ญจากเลือกปฏิบัติโดยรัฐในเมียนมาร์ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ทั้งยังถูกปฏิเสธความเป็นพลเมือง รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศแดนเสือเหลืองและแดนอิเหนาอยู่ที่เมียนมาร์ในวันนี้ (21) เพื่อเจรจาเกี่ยวกับวิกฤตดังกล่าว
อาร์มานาธา นาซีร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ระบุว่า อินโดนีเซียจะไม่กดดันเมียนมาร์
“เราจะกระตุ้นพม่าในเรื่องกระบวนการปฏิรูปและการพัฒนาประชาธิปไตย เนื่องจากในท้ายสุดแล้ว เราเชื่อว่ามันจะสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อชาวโรฮีนจา”
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาคนี้ช่วยเหลือผู้อพยพ โดยในเดือนนี้มีผู้อพยพได้รับความช่วยเหลือจากคนท้องถิ่นหรือว่ายขึ้นฝั่งในแดนอิเหนาและแดนเสือเหลืองแล้วมากกว่า 3,000 คน
อินโดนีเซียและมาเลเซียระบุว่า จะมีการจัดตั้งที่พักพิงชั่วคราวเพื่อเป็นที่อยู่ให้กับผู้อพยพ แต่ประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดผ่านทางสำหรับผู้อพยพที่พยายามจะไปยังมาเลเซียอย่างผิดกฎหมายเพื่อหางาน ระบุว่าจะไม่ทำอย่างสองประเทศเพื่อนบ้าน
“จะไม่มีที่พักพิงผู้อพยพอย่างแน่นอน” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยและผู้นำคณะรัฐประหาร บอกต่อรัฐสภาในกรุงเทพฯ เมื่อวานนี้ (20) และเสริมว่า ศูนย์กักกันที่มีอยู่จะถูกใช้ในการควบคุมตัวผู้ที่พบว่าเข้ามาประเทศไทยมาอย่างผิดกฎหมาย
ประเทศไทยระบุว่า จะยุติการลากจูงเรือกลับสู่ทะเล ซึ่งมาเลเซียและอินโดนีเซียทำอยู่ในช่วงไม่กี่วันมานี้ และจะอนุญาตให้คนป่วยขึ้นฝั่งเพื่อรับการรักษา และไม่ได้บอกว่า จะอนุญาตให้ผู้อพยพคนอื่นๆ ขึ้นฝั่งหรือไม่ ทั้งนี้ ไทยเรียกร้องใช้การประชุมระดับภูมิภาคในวันที่ 29 พฤษภาคมที่กรุงเทพจัดการกับประเด็นปัญหาดังกล่าว