xs
xsm
sm
md
lg

การบริโภคน้ำมันในจีนซึ่งฮอตสุดๆ ย้ำถึงอนาคตศก.ที่แข็งแกร่ง

เผยแพร่:   โดย: เอเชียอันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Oil through a Chinese looking glass
Author: Asia Unhedged
12/05/2015

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา จีนสามารถเบียดแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นแชมป์ผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่สุดของโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ยิ่งกว่านั้น คาดกันว่าระดับการสั่งซื้อน้ำมันดิบของจีนจะสูงลิ่วนำหน้าใครแบบว่าไม่เลิกรากันง่ายๆ การทะยานขึ้นมาแบบปุบปับเกินความคาดหมายดังกล่าวชี้กันว่าเป็นอานิสงส์จากการที่ราคาน้ำมันตกต่ำลงมากนั่นเอง ประกอบกับปัจจัยเอื้อจากการหั่นลดดอกเบี้ยหลายครั้ง ที่ส่งผลให้กำลังซื้อพุ่งขึ้นมาได้

ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันของแดนมังกรที่ประกาศออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ นับเป็นอาหารสมองที่เอื้ออย่างยิ่งแก่การตรวจวัดสภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน ว่ามีความร้ายแรงแท้จริงเป็นเยี่ยงไร

ทั้งนี้ รอยเตอร์รายงานเมื่อวันจันทร์ (11 พ.ค.) ว่า ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา จีนสามารถเบียดแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นแชมป์ผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่สุดของโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ยิ่งกว่านั้น คาดกันว่าระดับการสั่งซื้อน้ำมันดิบของจีนจะสูงลิ่วนำหน้าใครแบบว่าไม่เลิกรากันง่ายๆ

อ้าว เศรษฐกิจของจีนไม่ใช่ถูกทึกทักเอาว่ากำลังอยู่ในภาวะล้มลุกคลุกคลาน แถมกูรูบางคนยังฟันธงว่ามันเป็นอาการเบื้องต้นก่อนจะทรุดลงไปเป็นวิกฤตเศรษฐกิจควงสว่างสู่หายนะทีเดียว? การทะยานขึ้นมาแบบปุบปับเกินความคาดหมายดังกล่าวชี้กันว่าเป็นอานิสงส์จากการที่ราคาน้ำมันตกต่ำลงมากนั่นเอง ประกอบกับปัจจัยเอื้อจากการหั่นลดดอกเบี้ยหลายครั้ง ที่ส่งผลให้กำลังซื้อพุ่งขึ้นมาได้ โดยล่าสุดนั้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2015 ธนาคารกลางจีนประกาศลดดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 6 เดือน

นอกจากนั้น รัฐบาลปักกิ่งยังเอาจริงอย่างยิ่งกับการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ ดังเห็นได้ว่าในเดือนเมษายน การจับจ่ายในภาคการคลังของจีนทะยานร้อนแรงในอัตรา 33.2% จากเมื่อช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ไปแตะระดับ 1.25 ล้านล้านหยวน ตามข้อมูลที่กระทรวงการคลังประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม นี้เป็นการพุ่งทะยานที่มหาศาลเมื่อเทียบกับอัตราขยายตัวเพียงแค่ 4.4% ในเดือนมีนาคม และเมื่อคิดเป็นรายสี่เดือนแรกของปี การจับจ่ายภาคการคลังพุ่งขึ้นในอัตรา 26.4% จากช่วงเดียวกันของเมื่อปีที่แล้ว

ทั้งนี้ รอยเตอร์รายงานถ้อยแถลงของกระทรวงการคลังว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงิน ได้ดำเนินนโยบายการคลังเชิงรุกอย่างจริงจัง แม้ต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจเติบโตช้าลง ตลอดจนเผชิญกับแรงกดดันด้านรายได้ในภาคการคลัง กล่าวคือ ภาษีเงินได้จากภาคการผลิตในเดือนเมษายน อ่อนตัวลง 4.5% จากเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่รายได้จากบริษัทธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ร่วงหนัก 11.9% กระนั้นก็ตาม รายได้ของรัฐบาลยังสามารถขยับสูงขึ้นมา 8.2% จากเมื่อเมษายนของปีที่แล้ว พร้อมกับขยายขึ้นกว่าเมื่อเดือนมีนาคม 5.8%

ทางการจีนออกโรงกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อพบว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวในไตรมาสแรก ลงมาเหลือ 7% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปี นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลใหม่ๆ ที่เตือนว่าอาการชะลอตัวจะดำเนินสืบเนื่องต่อในไตรมาสที่ 2

ในรอบ 4 เดือนแรกของปี การจับจ่ายภาครัฐไปทะยานแรงในหมวดการสร้างระบบปกป้องด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระโจนขึ้นไปในอัตรา 30.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อลงทุนด้านขนส่งก็พุ่งกระฉูดในอัตรา 57.8%

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้นับเป็นเครื่องชี้บ่งว่า ความพยายามของฝ่ายผู้คุมกฎในอันที่จะกระตุ้นอุปสงค์ ซึ่งแม้ว่าการดำเนินการจะไม่ถึงกับสมบูรณ์แบบ แต่ขณะนี้ก็ส่งผลในทิศทางที่พึงปรารถนา ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าเมื่อการตกต่ำของราคาน้ำมันโลกได้รับการหนุนเสริมจากปัจจัยทางการเงิน ปัจจัยทางการคลัง และปัจจัยอื่นหลายประการ สภาวะของระบบเศรษฐกิจจีนจึงเข้มแข็งขึ้นมาเกินคาด ทั้งที่จีนเจอแต่ตัวบ่งชี้ความถดถอยต่างๆ นานานับตั้งแต่เดือนมกราคม พลวัตการขยายตัวของจีนมีความแข็งแกร่งเกินกว่าจะหยุดยั้ง หรือจะถดถอยลงเป็นภาวะหดตัว

เมื่อพิจารณาในมุมมองของเอเชีย ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการดิ่งเหวของราคาน้ำมันในตลาดโลกนับจากปีที่แล้ว ก็คือจีนและญี่ปุ่น

ข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จีนนำเข้าน้ำมันดิบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คือเกือบ 7.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้จีนขึ้นแท่นแชมป์นำเข้าน้ำมัน เพราะสหรัฐฯ มียอกนำเข้าน้ำมันที่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของการบริโภคน้ำมันโลกซึ่งขยับปรับเปลี่ยนไปมาเสมอ บ่งบอกว่าสหรัฐฯ อาจคว้าแชมป์ผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกกลับคืนได้ในปลายปีนี้

กระนั้น เมื่อมองถึงการปรับเปลี่ยนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในระยะยาว มันกลับบ่งบอกว่า จีนน่าจะครองความเป็นแชมป์ได้อย่างถาวรในเวลาต่อไป เพราะปัจจุบันนี้ จีนกลายเป็นผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“การแย่งตำแหน่งผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกมาจากสหรัฐฯ ได้นั้น แสดงว่าจีนเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดในเกือบทุกหมวดของสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน แร่เหล็กและโลหะส่วนใหญ่ พร้อมกันนั้นยังบ่งบอกกว้างไกลออกไปว่า ในแง่ของตลาดแล้ว การค้าระหว่างประเทศกำลังผันผายจากซีกโลกตะวันตก สู่ซีกโลกตะวันออก” รอยเตอร์ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างนั้น

(หมายเหตุผู้แปล – ข้อเขียนชิ้นนี้ ผู้แปลได้นำเอาเรื่อง China pushes pedal on fiscal spending โดย เอเชียอันเฮดจ์ วันที่ 14 พฤษภาคม 2015 มารวมเอาไว้ด้วย)

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น