xs
xsm
sm
md
lg

In Pics : ปูตินประกาศ “รัสเซียสามารถชี้นำยูเครนตะวันออก แต่เป็นปัญหาของเคียฟที่ต้องแก้ไขวิกฤตประเทศเอง”ระหว่างพบอังเกลา แมร์เคิล ในสัปดาห์วันแห่งชัยชนะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ – เมื่อวานนี้(10)นายกรัฐมนตรีเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิล ได้กระตุ้นให้รัสเซียร่วมมือมากกว่านี้ในวิกฤตยูเครน หลังจากที่เธอได้เดินทางมากรุงมอสโกเพื่อวางพวงมาลารำลึกถึงทหารอดีตสหภาพโซเวียตที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงสัปดาห์รำลึกวันแห่งชัยชนะของรัสเซียซึ่งมีการเดินสวนสนามกลางจตุรัสแดงที่ได้จัดขึ้นก่อนหน้านั้น และทำให้ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ได้แถลงตอบโต้ว่า “การที่สัญญาหยุดยิงมินสค์ (Minsk)จะประสบความสำเร็จได้นั้นขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้กุมอำนาจ ซึ่งคือรัฐบาลเคียฟ และรัสเซียอาจจะใช้อิทธิพลเพื่อหว่านล้อมยูเครนตะวันออก แต่เป็นปัญหาของเคียฟที่ต้องแก้ไขวิกฤตประเทศเอง”

RT สื่อรัสเซีย รายงานในวันอาทิตย์(10) ถึงการพบปะระหว่างนายกรัฐมนตรีเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิล และประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ในสัปดาห์รำลึกวันแห่งชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ในกรุงมอสโก โดยเดลีเมล สื่ออังกฤษ รายงานว่า การพบปะของผู้นำทั้งคู่แสดงออกอย่างเย็นชาจากสีหน้าและท่าทาง โดยแมร์เคิลขอให้รัสเซียให้ความร่วมมือมากกว่านี้ในการทำให้สัญญายุติการหยุดยิงมินสค์(Minsk)เป็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในขณะที่เธอได้วางพวงมาลาไว้อาลัยทหารอดีตสหภาพโซเวียตที่ได้สละชีพในสงครามโลกครั้งที่ 2

ซึ่งในการเจรจาหารือกับปูตินที่กรุงมอสโกนั้น แมร์เคิลย้ำถึงความสำคัญในการหาทางออกด้วยวิถีทางการทูต “เป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเราที่ต้องทำงานร่วมกัน และให้ความร่วมมือต่อสถานการณ์ที่มีความสลับซับซ้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อหาช่องทางออกทางการทูต” แมร์เคิลกล่าว

อย่างไรก็ตาม สื่อรัสเซียรายงานว่า ในแถลงการณ์ร่วมของสองชาติผู้นำ ปูตินได้ประกาศว่า “การที่แผนการเจรจาสันติภาพจะได้ผลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้กุมอำนาจ และในที่นี้คือรัฐบาลเคียฟ แต่ในทางกลับกันรัสเซียจะยังคงพยายามใช้ความสัมพันธ์ใกล้ชิดเพื่อหว่านล้อมผู้นำใน โดเนตสค์ (Donetsk) และลูกานสค์ ( Lugansk) “

และปูตินแถลงเพิ่มเติมว่า “อย่างไรก็ตามรัสเซียเชื่อว่าเคียฟจำเป็นต้องยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อภูมิภาคดอนแบส (Donbass region) รวมไปถึงเปิดให้บริการระบบทางการการธนาคารเช่นเดิม และรวมไปถึงเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญยูเครนที่เปิดให้มีตัวแทนจากตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครนเข้าร่วม” ซึ่ง RT รายงานว่าทุกสิ่งที่ประธานาธิบดีรัสเซียได้กล่าวมานั้นล้วนถูกกำหนดในแผนการหยุดยิงมินสค์ทั้งสิ้น และถูกลงนามรับรองโดย รัสเซีย ยูเครน ฝรั่งเศส และเยอรมัน

นอกจากนี้ประธานาธิบดีรัสเซียยอมรับว่า “มีปัญหาในทางปฎิบัติตามข้อตกลงจากทั้งสองฝ่าย” แต่กระนั้นผู้นำรัสเซียชี้ว่า สถานการณ์ความรุนแรงได้ลดลงในช่วง 3 เดือนล่าสุดในยูเครนตะวันออก และพร้อมกับระบุว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากข้อตกลงสันติภาพ

ในเดือนที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติได้ประเมินยอดรวมการเสียชีวิตนับต้งแต่แรกเริ่มนั้นมีถึง 6,100 คน

ด้านแมร์เคิลได้ออกแถลงการณ์ว่า ขอให้ผู้นำรัสเซียได้ใช้อิทธิพลที่มีต่อกบฏยูเครนตะวันออก อย่างน้อยเพื่อทำให้แน่ใจว่าสัญญาการหยุดยิงสัมฤทธิ์ผล พร้อมกับเรียกร้องให้มีการเคารพเขตแดนของยูเครนอย่างจริงจัง ซึ่งผู้นำเยอรมันนั้นไม่ได้เพียงแค่หมายถึงบริเวณยูเครนตะวันออกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงไครเมีย ซึ่งได้ถูกผนวกรวมเข้ากับรัสเซียในต้นปี 2014

และในแถลงการณ์ร่วมเมื่อวานนี้(10) ปูตินยังได้กล่าวถึงการใช้ระบบสองมาตรฐานของชาติตะวันตก ในปัญหาวิกฤตเยเมนซึ่งมีซาอุดีอาระเบียเป็นชาติผู้นำในการโจมตีกบฎฮูตีเพื่อทำให้ประธานาธิบดีเยเมน อาเบด รับโบ มานซูร์ ฮาดี ( Abd-Rabbu Mansour Hadi) ที่ถูกไล่ลงจากอำนาจในต้นปี 2015 สามารถกลับคืนสู่อำนาจดังเดิมได้

“มีการทำรัฐประหารเกิด และผู้นำของประเทศประกาศยอมแพ้ แต่ทว่าในขณะนี้ประเทศต่างๆที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดอันดีกับเราพยายามหาหนทางเพื่อนำผู้นี้กลับคืนสู่อำนาจทางการเมืองอีกครั้ง ซึ่งสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนี้ถูกยอมรับรู้ว่า เป็นการทำรัฐประหาร แต่ทว่าเมื่อเกิดการทำรัฐประหารในยูเครนในต้นปีที่ผ่านมา แต่เรากลับได้ยินแต่เสียงประณามอดีตประธานาธิบดียูเครน วิกเตอร์ ยานูโควิช ที่ถูกปล้นอำนาจไป ในขณะกลุ่มผู้ที่เข้ายึดอำนาจกลับได้แรงสนับสนุนและกำลังใจอย่างท่วมท้นแทน” ปูตินกล่าวตอบในการตั้งคำถามของสื่อ

และผู้นำรัสเซียที่ได้เคยเรียกร้องขอให้ยูเอ็นเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งยังกล่าวต่อว่า “และหากเราจะต้องแก้ปัญหาในเหตุการณ์ที่คล้ายกัน แต่กลับมีความคิดที่ตรงข้ามกัน ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว เราคงไม่มีวันที่จะสามารถหาจุดยืนร่วมได้ เพราะในเวทีโลก คงไม่สามารถใช้หลักการ “มีอำนาจเท่านั้นที่จะถูกต้อง” ได้เสมอไป แต่ทว่าจากขนบของกฎหมายระหว่างประเทศ บังคับและปกป้องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”

และในช่วงท้ายปูตินยังได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีเยอรมัน ที่เป็นผู้นำชาติตะวันตกประเทศเดียวที่ได้เดินทางมาร่วมงานวันแห่งชัยชนะในกรุงมอสโก ที่รำลึกถึงการชนะกองทัพนาซีเยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่ผู้นำชาติตะวันตกอื่นๆ รวมไปถึงผู้นำสหรัฐฯ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ปฎิเสธที่จะมาร่วมงานนี้ ซึ่งปูตินยอมรับว่า สถานการณ์ความขัดแย้งยูเครนในปัจจุบันทำให้เป็นการ “ยาก” สำหรับทั้งสองประเทศจากการที่มีทัศนะที่ต่างกัน และส่งผลทำให้ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของสองชาติชาเย็นลง แต่อย่างไรก็ตามปูตินยังหวังว่า สถานการณ์ในอนาคตจะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ของสองชาติให้ดีขึ้น

ซึ่งทำให้แมร์เคิลต้องออกมาแถลงแก้ และตอกย้ำว่า “เยอรมันจะทำงานร่วมมือกับรัสเซีย ไม่ได้ต้องการเป็นศัตรูกับรัสเซีย”




























กำลังโหลดความคิดเห็น