xs
xsm
sm
md
lg

เนปาลรับ “หมดหวัง” พบผู้รอดชีวิต ยอดตายดินไหวพุ่งทะลุ 6,700 บาดเจ็บกว่า 14,000

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายชาวเนปาลนั่งดูศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 25 เม.ย. ถูกนำมาฌาปนกิจที่ริมแม่น้ำในกรุงกาฐมาณฑุ
เอเอฟพี – รัฐบาลเนปาลยอมรับ “หมดโอกาส” พบผู้รอดชีวิตที่อาจติดอยู่ใต้ซากปรักหักพักจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดพุ่งสูงกว่า 6,700 คน บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 คน

หลังเหตุแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 80 ปีของเนปาลผ่านไปครบ 1 สัปดาห์ ความหวังที่จะพบสัญญาณผู้รอดชีวิตอยู่ใต้ซากอาคารที่พังถล่มในกรุงกาฐมาณฑุก็ริบหรี่ลงจนไม่มีเหลือ เวลานี้รัฐบาลเนปาลจึงต้องปรับแผนกู้ภัย โดยเน้นเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ชนบทซึ่งยังรอรับความช่วยเหลือและสิ่งของบรรเทาทุกข์

กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เตือนให้เจ้าหน้าที่เร่งทำงานแข่งกับเวลาเพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาด ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อเยาวชน 1.7 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติรุนแรง ขณะที่นักอุตุนิยมวิทยาเตือนแนวโน้มเกิดฝนตกหนักในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ตามมาตราแมกนิจูดสร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ต่อดินแดนพุทธภูมิทั้งในแง่ผู้เสียชีวิต อาคารบ้านเรือน และโบราณสถานเก่าแก่ และยังก่อให้เกิดหิมะถล่มคร่าชีวิตนักปีนเขาบริเวณเบสแคมป์ของยอดเขาเอเวอเรสต์ไปอีก 18 คน

ลักษมี ปราสาท ธากาล โฆษกกระทรวงมหาดไทยเนปาล ระบุว่า “เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 1 สัปดาห์ รัฐบาลพยายามเต็มที่ที่จะช่วยชีวิตและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน แต่ดิฉันคิดว่าเวลานี้โอกาสที่จะพบผู้รอดชีวิตอยู่ใต้ซากอาคารคงไม่มีแล้ว”

นอกจากยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ 6,621 คนในเวลานี้ ธากาล ยังแจ้งจำนวนผู้บาดเจ็บจากแผ่นดินไหวรวมทั้งสิ้น 14,023 คน

รัฐบาลต่างชาติกว่า 20 ประเทศได้จัดส่งทีมกู้ภัยพร้อมสุนัขดมกลิ่นเข้าไปช่วยค้นหาผู้ที่อาจติดอยู่ในซากปรักหักพัง ทว่าไม่มีการพบผู้รอดชีวิตรายใหม่ตั้งแต่เย็นวันพฤหัสบดี(30 เม.ย.)

แผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนี้ยังทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คนในอินเดีย และจีน

รัฐบาลเนปาลยังอยู่ระหว่างประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากภูมิประเทศที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาสลับซับซ้อนทำให้การจัดส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์เป็นไปอย่างยากลำบาก

จำนวนชาวต่างชาติที่เสียชีวิตในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเนปาลก็ยังสรุปไม่ได้ชัดเจน แต่นักการทูตระบุว่า มีพลเมืองสหภาพยุโรปราว 1,000 คนที่พำนักอยู่ในเนปาลขณะเกิดเหตุ และเวลานี้ยังไม่ทราบชะตากรรม

ชาวยุโรปสวนใหญ่เดินทางมาท่องเที่ยวเนปาลเพื่อพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ หรือไม่ก็เดินเทรกกิ้งที่ลังตัง (Langtang) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย และอยู่ไม่ไกลจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวเมื่อวันเสาร์ (25)

“เรายังติดต่อพวกเขาไม่ได้ แต่ก็ไม่ทราบว่าสถานะของพวกเขาเป็นอย่างไร” เรนสเจ ทีริงค์ เอกอัครราชทูตผู้แทนอียูประจำเนปาล ให้สัมภาษณ์ พร้อมยืนยันยอดผู้เสียชีวิต 12 คนที่เป็นพลเมืองอียู

เจ้าหน้าที่อียูอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุว่า ชาวยุโรปที่สูญหายไปส่วนใหญ่น่าจะยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่สามารถติดต่อโลกภายนอกได้ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารและการสื่อสารขัดข้อง

รัฐบาลเนปาลยอมรับว่า ภารกิจกู้ภัยครั้งนี้หนักหนาสาหัส แต่ วาเลอรี อามอส หัวหน้าฝ่ายกิจการมนุษยธรรมของยูเอ็น ก็ออกมาพูดให้กำลังใจวานนี้ (1 พ.ค.) โดยชี้ว่า “ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อกระดับนี้ย่อมจะเป็นภารกิจหนัก ไม่ว่าจะเกิดกับรัฐบาลชาติใดก็ตาม”

ยูนิเซฟ เตือนว่า สุขภาพและความเป็นอยู่ของเด็กๆ ผู้ประสบภัยในเนปาล “แขวนอยู่บนเส้นด้าย” หลายคนอยู่ในสภาพไร้บ้าน หวาดกลัว และยังไม่สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน

“โรงพยาบาลทุกแห่งมีผู้ป่วยล้นมือ น้ำดื่มขาดแคลน ศพผู้เสียชีวิตยังถูกฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพัง และประชาชนจำนวนมากต้องอาศัยอยู่ในที่เปิดโล่ง สภาวะเช่นนี้จะเป็นบ่อเกิดโรคระบาดที่สมบูรณ์แบบที่สุด” รอว์นัก ข่าน รองผู้แทนยูนิเซฟประจำเนปาล กล่าว










กำลังโหลดความคิดเห็น