xs
xsm
sm
md
lg

‘อดีตขุนคลังสหรัฐฯ’บอก ‘เศรษฐกิจจีน’ต้องหันเน้นการบริโภคภายในปท.

เผยแพร่:   โดย: เอเชีย อันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
 
Paulson: China’s economy needs to focus on domestic consumption
Author: Asia Unhedged
20/04/2015

 เฮนรี พอลสัน อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ออกมาพูดว่า ขณะที่จีนยังคงเป็น “คู่แข่งขันผู้น่าเกรงขาม” ของสหรัฐฯ  แต่เศรษฐกิจซึ่งมีมูลค่าโดยรวมระดับ 10 ล้านล้านดอลลาร์ของแดนมังกร “ได้หมดน้ำยาเสียแล้วและจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงยกเครื่องกันใหม่”  
 
เฮนรี พอลสัน (Henry Paulson) อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ บอกว่า ขณะที่จีนยังคงเป็น “คู่แข่งขันผู้น่าเกรงขาม” ของสหรัฐฯ  แต่เศรษฐกิจซึ่งมีมูลค่าโดยรวมระดับ 10 ล้านล้านดอลลาร์ของจีน “ได้หมดน้ำยาเสียแล้วและจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงยกเครื่องกันใหม่”  ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของ ฟิสคัล ไทมส์ (Fiscal Times) (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.thefiscaltimes.com/2015/04/19/Paulson-Says-China-Must-Reboot-It-s-Staggering-Economy)
 
ในเวลาที่จีนเตรียมจะเปิดเดินเครื่อง ธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) อยู่ในอีกไม่นานนี้แล้ว โดยที่ผู้คนจำนวนมากมีข้อสมมุติฐานว่า มันจะกลายเป็นคู่แข่งของพวกองค์การการเงินโลกซึ่งมีสหรัฐฯเป็นผู้นำอย่าง ธนาคารโลก-กองทุนการเงินระหว่างประเทศ พอลสันก็ได้ออกมาพูดแสดงทัศนะในเวลานี้ของเขาเกี่ยวกับเศรษฐกิจของจีน ณ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติประวัติศาสตร์อเมริกัน ของสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian’s National Museum of American History) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  พอลสัน ซึ่งเคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ โกลด์แมนแซคส์ (Goldman Sachs) วาณิชธนกิจวอลล์สตรีทชื่อดังที่สุด คือขุนคลังของคณะบริหารของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในช่วงที่ขึ้นครองทำเนียบขาวเป็นวาระที่ 2 เขาจึงเป็นผู้รับผิดชอบสำคัญยิ่งในเวลาที่เกิดวิกฤตทางการเงินการคลังในปี 2008
 
ขณะที่มีบางฝ่ายบางคนกล่าวหาสหรัฐฯว่า กำลังก้าวถอยออกมาจากการแสดงบทบาทของตนในฐานะที่เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก พอลสันก็ได้ยืนยันในการพูดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจจีนนั้น “ได้หมดน้ำยาเสียแล้วและจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงยกเครื่องกันใหม่”  ฟิสคัลไทมส์ รายงานคำพูดของอดีตรัฐมนตรีคลังผู้นี้  “จีนจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนตัวให้ห่างออกมาจากการเอาแต่พึ่งพาอาศัยการส่งออกอย่างมากมายจนถึงระดับล้นเกิน ตลอดจนออกมาจากการลงทุนภาครัฐบาลในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพและกำลังขับดันระดับหนี้สินของประเทศให้พุ่งสูงลิ่ว”
 
เส้นทางมุ่งสู่การเติบโตขยายตัวต่อไปของจีนนั้น จะต้องพึ่งพาอาศัยการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่จะขายให้แก่พลเมืองชาวจีนเอง
 
“นั่นเป็นภารกิจที่ใหญ่โตมหึมา และยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีกจากข้อเท็จจริงที่ว่าเศรษฐกิจของจีนมากมาย ยังคงอยู่ใต้การบงการของพวกนักวางแผนในส่วนกลาง ถึงแม้จะมีการปฏิรูปมาแล้วนานปี” พอลสัน กล่าว โดยอิงกับประสบการณ์ของเขาที่ได้เดินทางไปยังจีนกว่า 100 เที่ยวตลอดระยะเวลา 25 ปีทีผ่านมา
 
พอลสันออกมาพูดแสดงความเห็นคราวนี้  เพื่อโปรโมตแนะนำหนังสือเล่มใหม่ของเขา  ที่ใช้ชื่อว่า “Dealing With China: An Insider Unmasks the New Economic Superpower” ในหนังสือเล่มนี้ เขาเขียนเอาไว้ตอนหนึ่งว่า “พวก (คนจีน) ที่มีผลประโยชน์ด้านต่างๆ และคอยปกป้อง (ผลประโยชน์ของ) ตนเองอย่างแข็งขันนั้น กำลังพยายามต้านทานไม่ให้ (ประเทศจีน) มีการเปลี่ยนแปลงมากไปกว่านี้ ... ในเวลาเดียวกัน ช่วงระยะเวลาหลายๆ ปีแห่งการเพิกเฉยละเลยอย่างไม่ใช่น้อยๆ เลย ก็ได้ทำให้สิ่งแวดล้อมของจีนอยู่ในสภาพใกล้ถึงระดับหายนะ และจุดประกายให้เกิดการต่อต้านไม่พอใจในหมู่พลเมืองของจีนเพิ่มมากขึ้นทุกที”
 
ต้องขอประกาศกันก่อนว่า เอเชียอันเฮดจ์นั้นยังคงมีความเชื่อมั่นว่าจีนและเศรษฐกิจเอเชียในวงกว้างมีแนวโน้มที่เต็มไปด้วยความสดใสคึกคัก  และในขณะที่เราคงไม่อาจเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะต้องให้มีการปรับปรุงยกเครื่องกันทั้งยวง แต่เราก็เห็นด้วยว่าจีนมีปัญหาสำคัญๆ บางประการที่จะต้องต่อสู้เอาชนะให้ได้
 
จากการที่ระบบเศรษฐกิจอื่นๆ ในเอเชีย กำลังเริ่มสามารถที่จะเสนอราคาต่ำกว่าจีนในสินค้าหลายๆ ประเภทซึ่งขายให้แก่พวกชาติพัฒนาแล้ว เป็นต้นว่า รองเท้ากีฬา และเสื้อผ้า อนาคตของจีนย่อมต้องอาศัยความสำเร็จของตนในการสร้างสรรค์ข้าวของต่างๆ ซึ่งประชาชนแดนมังกรเองสามารถซื้อหามาใช้สอยไหว  ขณะเดียวกัน ในฐานะที่เป็นประเทศซึ่งค่อนข้างขาดแคลนทรัพยากรด้านพลังงาน และกำลังประสบปัญหาหนักหน่วงจากภาวะมลพิษที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง  การแก้ไขปัญหาอันสำคัญและใหญ่โตมหึมาทั้งสองนี้ ยังจะต้องดำเนินไปอีกยาวนานเพื่อให้การเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศยังคงเดินหน้าต่อไปได้  พวกเจ้าหน้าที่จีนนั้นได้จัดทำแผนโรดแม็ปเพื่อขยายเศรษฐกิจภายในประเทศ, เคลื่อนตัวไปสู่เทคโนโลยีที่มีระดับสูงขึ้น, และตัดลดการพึ่งพาอาศัยการส่งออก  เวลานี้ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับการนำเอาแผนการที่วางไว้ไปปฏิบัติให้บังเกิดผล  ทว่าในเวลาเดียวกันนั้นเอง สำหรับนักลงทุนแล้ว มันย่อมหมายความว่ามีคุณค่าอะไรอยู่อีกมากมายนักที่สามารถเข้าไปเสาะค้นแสวงหา
 
(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น