xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ AIIB: ความผิดพลาดในนโยบายการต่างประเทศของโอบามา

เผยแพร่:   โดย: จอร์จ คู

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

AIIB: A foreign policy black eye for Obama
By George Koo
01/04/2015

การที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล เดินทางมาเยือนชนิดที่โอบามามิได้เชื้อเชิญ เพื่อป่าวร้องต่อชาวอเมริกันในเรื่องวิธีการที่สหรัฐฯควรนำมาใช้รับมือกับอิหร่านนั้น ยังอาจแก้ตัวได้ว่าความอับอายคราวนี้เกิดขึ้นได้ เพราะมีพวกรีพับลิกันในสภาร่วมผสมโรงด้วย ทว่าสำหรับกรณีที่เหล่าชาติพันธมิตรพากันแสดงความจำนงขอเป็นประเทศผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย (AIIB) โดยไม่ฟังเสียงโน้มน้าวห้ามปรามของโอบามานั้น เป็นรอยช้ำเขียวปั๊ดบริเวณตาซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ประธานาธิบดีอเมริกันต่อยตัวเองโดยแท้

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ช่างไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งความมีสง่าราศีสำหรับภาพลักษณ์ระดับโลกของ “ลุงแซม” เอาเสียเลย แรกทีเดียว บิบี เนทันยาฮู (Bibi Netanyahu ซึ่งก็คือ เบนจามิน เนทันยาฮู) เดินทางมาเยี่ยมเยียนโดยที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ไม่ได้เชื้อเชิญและก็ไม่ได้ยินดีต้อนรับ แต่นายกรัฐมนตรีอิสราเอลผู้นี้ยังคงเดินหน้าบอกกล่าวป่าวร้องต่อชาวอเมริกัน ในเรื่องวิธีการที่สหรัฐฯควรนำมาใช้เพื่อรับมือกับอิหร่าน

โอบามานั้นยืนยันปฏิเสธไม่ยินยอมให้เนทันยาฮูแต่งตั้งตนเองเป็น ผู้แทนพิเศษว่าด้วยอิหร่านของอเมริกา ทว่า บิบี ยังคงกลายเป็นผู้หัวเราะคนหลังสุดจนได้ ในเมื่อแสงเรืองรองจากการที่เขาได้ปรากฏตัวกล่าวคำปราศรัยต่อหน้าที่ประชุมร่วมของรัฐสภาสหรัฐฯในกรุงวอชิงตันคราวนี้ มีส่วนสำคัญทีเดียวที่ทำให้เขาเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และขึ้นครองอำนาจในเทลอาวีฟต่อไปอีก

อย่างน้อยที่สุด โอบามา ยังสามารถปลอบโยนตนเองได้ว่า การที่เขาต้องดูย่ำแย่ถึงขนาดนี้มิได้เกิดจากน้ำมือของ บิบี เพียงลำพังคนเดียว หากนายกรัฐมนตรีอิสราเอลยังได้รับความร่วมมือช่วยเหลืออย่างมากมายจากประธานสภาผู้แทนราษฎรอเมริกัน จิม โบห์เนอร์ (Jim Boehner) ตลอดจนพวก ส.ส.สังกัดพรรครีพับลิกันทั้งหลาย คณะหรรษาแห่งรัฐสภาสหรัฐฯคณะนี้ไม่รู้สึกว่าต้องใส่ใจใยดีอะไรนักกับความสุภาพงดงามของแบบแผนพิธีการทางการทูต ถ้าหากมันจะมีช่องที่พวกเขาสามารถใช้มาเล่นงานสร้างความอับอายขายหน้าแก่ประธานาธิบดีผู้ยังคงนั่งอยู่ในตำแหน่ง ของประเทศของพวกเขาเองได้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง จุดยืนของโอบามาในเรื่องเกี่ยวกับธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank ใช้อักษรย่อว่า AIIB) ซึ่งมีจีนเป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันให้จัดตั้งขึ้นมา กลับเป็นรอยช้ำเขียวปั๊ดบริเวณตาซึ่งเกิดจากการชกต่อยตัวเอง และไม่สามารถที่จะหาคำอธิบายได้ดีไปกว่าจะต้องบอกว่า มันเป็นผลพวงต่อเนื่องอีกประการหนึ่งจากความอหังการแบบอเมริกัน

ทั้งนี้ โอบามาประกาศอย่างเป็นทางการว่า ในเมื่อมีทั้ง ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) และ ธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดีภายใต้การนำของอเมริกาและญี่ปุ่น มันก็ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องก่อตั้งแบงก์ AIIB ขึ้นมาอีก ประธานาธิบดีอเมริกันยังได้ขอร้องให้พวกชาติพันธมิตรยุโรปของอเมริกา ตลอดจนชาติพันธมิตรในเอเชีย-แปซิฟิกอย่าง ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, และเกาหลีใต้ อย่าได้เข้าร่วมธนาคารแห่งใหม่นี้

ปรากฏว่ารายแรกเลยที่ผละหนีออกไปก่อนเพื่อนกลายเป็นอังกฤษ ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาก็เป็นชาติพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของอเมริกา แล้วพวกที่เหลือต่างรีบวิ่งไล่ตามเป็นแถวเพราะไม่ต้องการพลาดโอกาสในการเป็นชาติสมาชิกผู้ก่อตั้งรายหนึ่งของ AIIB

เมื่อตอนที่ประกาศข่าวการจัดตั้งแบงก์แห่งใหม่นี้ขึ้นมาในเดือนตุลาคมปีที่แล้วนั้น มี 21 ประเทศซึ่งเข้าร่วมลงนาม แต่พอมาถึงกำหนดเส้นตายวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา มี 46 ประเทศทีเดียวซึ่งยื่นความจำนงที่จะขอเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งด้วย

ทุกๆ ประเทศซึ่งโอบามาขอร้องอย่าเข้าร่วม ต่างกลับกระโดดขอเป็นชาติสมาชิกผู้ก่อตั้งกันหมด ยกเว้นแต่ญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในอาการลังเลและเกือบๆ จะไปด้วยเหมือนกัน

เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า เกียรติภูมิของประธานาธิบดีอเมริกันนั้นยัง ไม่เพียงพอที่จะโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมให้ชาติพันธมิตรเหล่านี้ เลิกล้มความคิดที่มองเห็นว่าการได้เป็นชาติสมาชิกผู้ก่อตั้งรายหนึ่งของ AIIB นั้น เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย จะสร้างประโยชน์ตอบแทนให้แก่ประเทศที่เป็นสมาชิกของธนาคารแห่งใหม่นี้อย่างไรบ้าง ยังเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามรอชมกันต่อไป แต่สิ่งซึ่งกระจ่างแจ้งตั้งแต่เดี๋ยวนี้แล้วก็คือ มีถึงสี่สิบกว่าประเทศทีเดียวซึ่งเชื่อมั่นในความเป็นผู้นำของจีน และไม่ต้องการพลาดเรือลำนี้ การที่พวกเขาพากันกระโจนขอโดยสารไปด้วยอย่างอลหม่านเช่นนี้ ทำให้จุดยืนของอเมริกันดูกระจอกและตื้นเขิน

ทุกๆ คนต่างมองเห็นกันอยู่แล้วว่า เอเชียคือภูมิภาคซึ่งกำลังเติบโตขยายตัวได้อย่างรวดเร็วที่สุดในโลก การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานจะต้องเร่งตัวและหวนกลับมาเอื้ออำนวยให้แก่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ประชาชนในเอเชียจะได้สำเริงสำราญกับความมั่งคั่งรุ่งเรืองชนิดที่ไม่มีภูมิภาคไหนเทียบเคียงได้ และส่วนอื่นๆ ของโลกก็จะได้ประโยชน์ไปด้วยเมื่อหันมาทำธุรกิจกับเอเชีย

จีนนั้นได้สาธิตให้เห็นแล้วว่าพวกเขาทราบวิธีการเกี่ยวกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ๆ ในประเทศจีน และในการแปรให้การลงทุนดังกล่าวกลายเป็นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจชนิดไม่มีใครสู้ได้ พวกเขาจึงมีผลงานอันผ่านการพิสูจน์แล้วที่จะเป็นผู้นำธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งใหม่นี้

อนิจจา สำหรับสหรัฐฯล่ะ คณะผู้นำอเมริกันไล่ตั้งแต่ประธานาธิบดีลงมา ต่างซาบซึ้งซึมซับอยู่แต่กับความเชื่อที่ว่าอเมริกันเป็นข้อยกเว้น (American exceptionalism) อเมริกาจะสามารถดำรงคงอยู่เป็นอภิมหาอำนาจของโลกได้ตลอดไป โดยไม่มีการเสื่อมทรุดเหมือนอภิมหาอำนาจอื่นๆ ที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์โลก ความเชื่อเช่นนี้เอิบอาบชุ่มโชกเสียจนกระทั่งอเมริกาพบว่าตนเองยากที่จะบังเกิดความคิดขึ้นมาว่า ชาติอื่นๆ ก็สามารถที่จะกลายเป็นข้อยกเว้นในหนทางของพวกเขาเองได้เช่นเดียวกัน

นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการสิ้นสุดลงของสงครามเย็น สหรัฐฯก็สามารถวางกร่างไปทั่วโลกในฐานะที่เป็น “เจ้า” (hegemon) ที่เหลืออยู่เพียงรายเดียว นโยบายการต่างประเทศอเมริกันโดยพื้นฐานแล้วจึงเป็นนโยบายแบบ “จงทำตามที่ข้าบอกให้แกทำ”

หลังจากวิกฤตภาคการเงินในปี 2008 จีนในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของอเมริกา ได้เข้ามาหาวอชิงอย่างเงียบๆ เพื่อเรียกร้องขอมีบทบาทอันเสมอภาคเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น ในการจัดการรับมือกับปัญหาต่างๆ ของโลกที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ปรากฏว่าถึงแม้คณะบริหารโอบามาแสดงท่าทีต้อนรับในเชิงบวก ทว่ารัฐสภากลับไม่ได้มีท่าทีเช่นนั้นด้วย การบอกปัดของอเมริกานั่นเองที่เป็นสาเหตุทำให้จีนหันไปหาหนทางอื่นๆ เพื่อสำแดงอิทธิพลของพวกเขา

ในบรรดาหนทางสำคัญๆ จำนวนมากที่แดนมังกรได้กระทำไป หนทางซึ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งได้แก่การที่จีนไปลงทุนทั้งทางด้านโรงพยาบาล, โรงเรียน, ถนนหนทาง, และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในตลอดทั่วโลก โดยสิ่งที่เรียกร้องขอเป็นค่าตอบแทนได้แก่ทรัพยากรต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นทรัพยากรในแอฟริกา และละตินอเมริกา วิธีการแบบมุ่งให้เป็นผู้ชนะกันทุกฝ่ายเช่นนี้ของพวกเขา ปรากฏว่าเป็นที่ต้อนรับได้รับความนิยมอย่างสูง และนี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ใช้อธิบายได้ว่าทำไมประเทศอื่นๆ จึงพบว่าแบงก์ AIIB มีเสน่ห์เย้ายวนใจมาก

วิธีการในการจัดการกับกิจการโลกของอเมริกา ซึ่งเป็นแบบให้มีฝ่ายหนึ่งชนะและอีกฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้ กำลังทำให้สหรัฐฯต้องแบกค่าใช้จ่ายระดับล้านล้านดอลลาร์อยู่ในอัฟกานิสถานและอิรัก และก่อให้เกิดเขตพื้นที่แห่งความไร้เสถียรภาพอันกว้างใหญ่ไพศาล ไล่ตั้งแต่ยูเครน ทะลุผ่านตะวันออกกลางไปจนถึงดินแดนซับ-ซาฮาราในแอฟริกา เพื่อฟื้นฟูให้เกิดเสถียรภาพขึ้นมาใหม่ จำเป็นที่สหรัฐฯจะต้องทบทวนวิธีการแบบ “ถ้าไม่เดินตามทางของข้า แกก็จะถูกตัดทิ้งไป” (my-way-or-the-highway) ของตน และหันมายอมรับว่าพวกเขาจำเป็นที่จะต้องร่วมไม้ร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายอื่นๆ ด้วย

ดร. จอร์จ คู เพิ่งเกษียณอายุเมื่อไม่นานมานี้จากสำนักงานให้บริการด้านคำปรึกษาระดับโลกแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการดำเนินการทางธุรกิจของพวกเขาในประเทศจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก MIT, Stevens Institute, และ Santa Clara University และเป็นผู้ก่อตั้งตลอดจนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ International Strategic Alliances เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ the Committee of 100, the Pacific Council for International Policy และเป็นกรรมการคนหนึ่งของ New America Media
กำลังโหลดความคิดเห็น